18 เม.ย. 2021 เวลา 13:34 • หุ้น & เศรษฐกิจ
นักเก็งกำไร(2) ต่อ...
นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันนาม มอริส อ็อบส์เฟลด์ (Maurice Obsfeld 1952) แสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆก็เกิดวิกฤตค่าเงินได้แม้จะไม่พิมพ์เงิน โดยกรณีนี้จะเกิดกับประเทศร่ำรวยในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ประเทศยุโรปหลายแห่งปักหมุดค่าเงินของตัวเองไว้กับเงินมาร์คเยอรมันของประเทศเยอรมันนี ที่่เป็นประเทศผู้นำเศรษฐกิจยุโรปในยุคนั้น ทว่าประเทศต่างๆกำลังเผชิญทางแพร่ง เช่นในอังกฤษ ซึ่งด้านหนึ่งอยากให้เงินตัวเองปักหมุดกับค่าเงินมาร์ค นายกรัฐมนตรีจอห์น เมเยอร์ เดิมพันชื่อเสียงของตนหากการปักหมุดค่าเงิน หากอังกฤษเลิกใช้นโยบายดังกล่าว ธนาคารต่างๆก็อาจไม่เชื่อใจอังกฤษเท่าเดิม ทำให้ไม่ค่อยอยากปล่อยกู้แก่อังกฤษ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็อยากยกเลิกการปักหมุดค่าเงินเสีย แล้วปล่อยให้เงินปอนด์อ่อนค่าลง รัฐบาลต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเพื่อตรึงค่าเงินปอนด์ ทั้งนี้เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูง ผู้คนจะได้ผลตอบแทนสูงหากเก็บความมั่งคั่งของตนในรูปเงินปอนด์ พวกเขาจึงซื้อเงินปอนด์ ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ทรงตัวอยู่ได้ ทว่าอัตราดอกเบี้ยสูงส่งผลเสียต่อเจ้าของบ้านชาวอังกฤษซึ่งกู้เงินก้อนใหญ่มาซื้อบ้าน และตอนนี้ต้องดิ้นรนเพื่อชำระดอกเบี้ยก้อนยักษ์
อังกฤษเผชิญวิกฤตเมื่อนักเก็งกำไรไม่เชื่อแล้วว่ารัฐบาลจะคงนโยบายปักหมุดค่าเงินไว้ได้ พวกเขาคาดว่าเงินปอนด์จะอ่อนค่าลง การโจมตีเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 1992 ในวันที่เรียกว่าพุธทมิฬ (Black Wednesday) มันคือการปะทะกันระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับนักเก็งกำไรอย่างโซรอสซึ่งเชื่อว่าเงินปอนด์จะอ่อนค่า
เมื่อนักเก็งกำไรเริ่มเทขายเงินปอนด์ปริมาณมหาศาล ธนาคารอังกฤษพยายามสวนกลับด้วยการซื้อคืนเงินปอนด์ จอห์น เมเยอร์ เข้าประชุมกับบรรดารัฐมนตรี และตัดสินใจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจาก 10 เป็น 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเพิ่มเยอะมาก หลังการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคนเนธ คลาร์ก ขึ้นรถกลับไปยังที่ทำงานของตัวเอง คนขับรถหันมากล่าวกับเขาว่า “มันไม่ได้ผลครับท่าน” คนขับรถได้ฟังข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทางวิทยุที่ตอนนี้ไม่สู้ดีนัก ค่าเงินปอนด์ยังคงร่วงหนัก ไม่กี่นาทีให้หลัง คลาร์ก ต้องกลับมาพบนายกรัฐมนตรีอีก แล้วประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็น 15% ตามมาอีกระลอกจนดูเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ นักเก็งกำไรเห็นแล้วว่าธนาคารกลางจะยอมแพ้ในที่สุด จึงเทขายเงินปอนด์ต่อไป เย็นวันนั้น รัฐบาลตัดสินใจถอนหมุดออก ส่วนจอห์น เมเยอร์ ตัดสินใจลาออก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นอร์แมน ลามอนด์ กล่าวว่า นั่นเป็นคืนแรกในรอบหลายสัปดาห์ที่เขาหลับได้อย่างเป็นสุข เพราะไม่ต้องคอยกังวลเรื่องค่าเงินปอนด์ สรุปแล้วรัฐบาลใช้เงินไปหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อปกป้องค่าเงินปอนด์ ส่วนจอร์จ โซรอส เสร็จศึกรับกำไร 1000 ล้านปอนด์ พร้อมฉายา “ชายผู้ขยี้คลังธนาคารอังกฤษ”
นักเศรษฐศาสตร์บางคนคิดว่าการเก็งกำไรเป็นเรื่องดี นักเก็งกำไรค่าเงินสนองตอบความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นจริงในระบบเศรษฐกิจเท่านั้น พวกเขาโจมตีหมุดค่าเงินเมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายย่ำแย่ เช่น ใช้เงินมือเติบหรือกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงจนเกินจะเป็นไปได้ หากเป็นเช่นนั้น จอร์จ โซรอส ก็แค่หาเงินจากวิกฤตที่อย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว บางคนถึงขั้นบอกว่าการโจมตีของนักเก็งกำไรยิ่งส่งเสริมรัฐบาลดำเนินนโยบายอยู่กับร่องกับรอย แต่พอถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ผู้คนประนามนักเก็งกำไรอย่างหนักที่ทำให้เกิดมหันตภัยทางเศรษฐกิจหลายระลอกในเอเชีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า พวกนักเก็งกำไร คืออาชญากร เขาบอกว่าโซรอสโง่บรมและกล่าวว่าควรห้ามการซื้อขายเงินตราเสีย ส่วนโซรอสก็เรียกมหาเธร์ว่าไอ้ตัววายร้ายและเป็นคนที่เราไม่ควรใส่ใจมากนัก
ปัญหาในเอเชียเกิดขึ้นตอนปลายทศวรรษ 1990 เมื่อเศรษฐกิจไทยดิ่งเหว บริษัทและธนาคารหลายแห่งต้องเลิกกิจการ อาคารมากมายในกรุงเทพฯ ถูกปล่อยทิ้งร้างสร้างไม่เสร็จเพราะเจ้าของไม่เหลือเงินแล้ว ส่วนมาเลเซียกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้และอินโดนีเซียก็ติดโรคจากเศรษฐกิจอันป่วยไข้ของไทยหลังจากนั้น
แต่ว่าปัญหาในไทยเกี่ยวอะไรกับเทศอื่นด้วย? นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าวิกฤตเศรษฐกิจติดต่อกันได้เหมือนคนติดหวัด พวกเขาเรียกว่า “การระบาด ทางเศรษฐกิจ” (economic contagion) ส่วนคนที่แพร่เชื้อคือนักเก็งกำไร หลังจากเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยแล้ว บรรดานักเก็งกำไรก็กังวลว่าจะเกิดเรื่องแบบเดียวกันในมาเลเซียและประเทศอื่นข้างเคียง และถ้ามันจะเกิดขึ้น พวกเขาก็อยากเทขายเงินสกุลมาเลเซียที่ตัวเองถือไว้ให้หมด ทว่าพวกเขาไม่ได้กังวลแค่เศรษฐกิจของมาเลเซียเท่านั้น หากยังกังวลกับความคิดของนักเก็งกำไรคนอื่นด้วย หากนักเก็งกำไรคิดว่านักเก็งกำไรคนอื่นคงกังวลและจะเทขายเงินตรามาเลเซีย พวกเขาก็จะขายเงินตรามาเลเซียที่ตัวเองมีด้วย และหากมีนักเก็งกำไรคิดแบบนี้มากพอ สกุลเงินก็จะอ่อนค่าแบบดิ่งเหวเข้าจริงๆ ซึ่งคล้ายกับตะโกนว่า “ไฟไหม้ ไฟไหม้!!” ทั้งที่ไฟไม่ได้ไหม้ แต่ทำให้ผู้คนกรูกันวิ่งหนี นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “วิกฤตที่คนเชื่อกันจนเกินจริง”(Self-fulfilling crisis)
นักเศรษฐศาสตร์นาม เจฟฟรีย์ แซกส์(Jeffrey Sachs 1954) มองว่านักเก็งกำไรเป็นผู้จุดชนวนวิกฤตได้ทั้งที่เศรษฐกิจไม่มีอะไรผิดปกติร้ายแรง เศรษฐกิจของประเทศตางๆในเอชียดำเนินไปได้ด้วยดี และรัฐบาลเองก็บริหารจัดการแบบสมเหตุ สมผล ไม่เหมือนในเม็กซิโกทศวรรษ 1970 คนที่วิจารณ์กล่าวว่า การโจมตีค่าเงินเกิดจากนักเก็งกำไรออกอาการกระต่ายตื่นตูมไปเองทั้งสิ้น นี่เป็นเหตุให้มหาเธร์โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ
หลายคนซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนกว่าเงินดอลลาร์กับเงินเยนอย่างมาก พอถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 21 นักเก็งกำไรเหล่านี้ก็ซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ยากจะเข้าใจ จนผู้คนเริ่มกังขาว่าแวดวงการเงินเป็นเพียงการต้มตุ๋นที่อันตราย พวกเขาบอกว่านักเก็งกำไรเหล่านี้ขาดสติและไร้วินัย ต้องมีใครสักคนมาหยุดคนกลุ่มนี้
บางส่วนจาก A Little History of Economics
โฆษณา