18 เม.ย. 2021 เวลา 16:27 • ท่องเที่ยว
**คาวาอีเจี้ยน” (Kawah Ijen)** บ่อลาวาเพลิงสีน้ำเงินแห่งเดียวของโลก
หากใครได้ไปเยือน “ภูเขาไฟคาวาอีเจี้ยน” (Kawah Ijen) ในเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย คงจะตื่นตาตื่นใจอย่างมากเมื่อได้เห็นเปลวไฟสีน้ำเงินพวยพุ่งออกมาจากภูเขาไฟลูกนี้ แต่อะไรทำให้เราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ เราจะมาหาคำตอบกัน
2
ภูเขาไฟคาวาอีเจี้ยนเป็นภูเขาไฟรูปกรวยขนาดใหญ่ที่สูงถึง 2,600 เมตร ก่อตัวขึ้นเมื่อราว 50,000 ปีก่อน ภูเขาไฟลูกนี้มีความพิเศษตรงที่มันคือที่เดียวในโลกที่เราจะได้เห็น “ลาวาสีน้ำเงิน” ซึ่งจริง ๆ แล้วมันกลับไม่ใช่ลาวาแต่เป็น “กำมะถัน” ที่หลอมเหลวและไหลลงมาตามผาชันของภูเขาไฟ
5
เปลวไฟสีน้ำเงินที่เกิดจากการเผาไหม้ก๊าซภูเขาไฟและกำมะถันหลอมเหลวบริเวณปากปล่องภูเขาไฟคาวาอีเจี้ยน Cr.Martin Rietze
ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อกำมะถันถูกหลอมละลายที่อุณหภูมิต่ำๆไม่เกิน 600 องศาเซลเซียสแลัวสัมผัสกับอากาศทำให้เกิดเปลวสีน้ำเงินนั่นเอง โดยลาวาสีน้ำเงินนี้จะสังเกตเห็นได้เฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น เนื่องจากภูเขาไฟลูกนี้ยังคงตื่นตัวอยู่พวกมันจึงยังพ่นพวยกำมะถัน (Sulfur fumarole) ออกมาเป็นจำนวนมากตามรอยแยกของชั้นหิน จนทำให้เกิดก้อนกำมะถันดิบสะสมตามรอบๆรอยแยกพวกนี้
นอกจากลาวาสีน้ำเงินแล้ว ที่ปล่องภูเขาไฟคาวาอีเจี้ยนยังมีทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟ (Caldera Lake) ที่ว่ากันว่ามีความเป็นกรดสูงที่สุดในโลก โดยวัดค่า pH ได้ประมาณ 0.5 ซึ่งเมื่อเทียบกับกรดในกระเพาะที่มีค่า pH ระหว่าง 1.5 ถึง 3.5 แล้วน้ำในทะเลสาบนี้มีความกรดสูงกว่าถึงราวๆ 1,000-10,000 เท่าเลยทีเดียว [1] [2]
ทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟ (Caldera Lake) สีฟ้าคราสดใสของคาวาอีเจี้ยน ในทางตะวันออกของชวาเกิดจากโลหะและก๊าซที่ละลายจนทำให้น้ำเป็นกรดสูง
ความสวยงามที่ซ่อนอันตรายร้ายแรงไว้
แม้ภูเขาไฟคาวาอีเจี้ยนจะได้ชื่อว่าสวยงามและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาคนี้ แต่ที่นี้คือสถานที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่เพราะอะไรล่ะ?? คำตอบคือพิษจากสารกำมะถันที่พวยพุ่งอยู่ตลอดเวลานั่นเอง ก๊าซกำมะถันมีฤทธิ์กัดกร่อนผิวหนังรุนแรง อาจทำให้ผิวไหม้และอักเสบ อีกทั้งมันยังละลายน้ำได้ค่อนข้างดี เมื่อดูดซึมเข้าร่างกายมันจะไปทำลายเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้แสบจมูก ระคายเคือง จนกระทั่งทำลายปอดและระบบหลอดลมได้ในระยะยาว
แต่สิ่งนี้ป้องกันได้เมื่อคุณสวมหน้ากากกันก๊าซพิษ ซึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่เตรียมอุปกรณ์ป้องกันมาอย่างดีแล้วคงไม่ได้รับอันตรายมากนัก แต่ในทางกลับกันคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลับเป็นชาวบ้านในละแวกนั้นที่ทำงานเป็นคนขุดกำมะถัน
พวยแก๊สกำมะถัน (Sulfur fumarole) รอบๆปากปล่องภูเขาไฟ พุ่งออกมาอย่างหนาแน่นตามรอยแยกของขั้นหินจนทำให้กำมะถันควบแน่นเป็นก้อนกำมะถันดิบ
เหมืองกำมะถันดิบแห่งคาวาอีเจี้ยน งานอันตรายที่ทำให้ตายได้ภายในไม่กี่ปี
ด้วยปริมาณกำมะถันดิบจำนวนมหาศาลรอบ ๆ พื้นที่ภูเขาไฟ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต่างนิยมทำอาชีพคนงานเหมืองกำมะถัน โดยส่วนมากจะเป็นผู้ชายในพื้นที่ พวกเขาจะเดินขึ้นไปปากปล่องภูเขาไฟเพื่อเก็บเอากำมะถันดิบราวๆ 100 กิโลกรัมต่อรอบมาขายข้างล่าง ซึ่งจะได้รับค่าแรงในอัตรากิโลกรัมละไม่กี่บาทเท่านั้น
ที่สำคัญคือคนงานเหมืองเหล่านี้ไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันแก๊สพิษขึ้นไปเลย!!! พวกเขาต้องสูดดมพิษเหล่านี้ทุกวันเพื่อแลกกับค่าแรงอันน้อยนิด แต่เมื่อไม่มีทางเหลือมากนักงานเหมือนที่อันตรายนี้จึงเป็นแหล่งรายได้เพียงไม่กี่แห่งของคนในพื้นที่ ว่ากันว่าผู้ชายที่ทำงานขนกำมะถันบนภูเขาไฟลูกนี้ เมื่อทำงานไปสักระยะต่างก็มีอาการปอดอักเสบและเสียชีวิตในเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้น
คนงานเหมืองกำมะถันต้องแบกกำมะถันดิบที่หนักกว่าร่างกายมาก แต่ปัจจุบันคนงานเหมืองมักติดตั้งท่อดักจับก๊าซภูเขาไฟเพื่อควบแน่นกำมะถันในพื้นที่ปลอดภัย
แม้ทุกวันนี้จะยังคงมีคนงานขนกำมะถันอยู่บ้างแต่ก็เหลือน้อยลงทุกที เพราะคนรุ่นใหม่หันไปทำอาชีพที่คุ้มค่าแรง การทำเหมืองกำมะถันยังพอมีอยู่บ้าง แต่คนงานจะเปลี่ยนจากการเดินขึ้นไปขุดเป็นการต่อท่อแก๊สจากปากปล่องภูเขาไฟเพื่อให้กำมะถันสะสมตัวเป็นก้อนที่ข้างล่าง เพื่ออำนวยความสะดวกในการรวบรวมและเตรียมพื้นที่ขนย้ายกำมะถันที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับคนงานเหมือง
ปัจจุบันเหมืองกำมะถันที่คาวาอีเจี้ยนมีกำลังผลิตอยู่ที่ราวๆ 70,000 ตันต่อปี และถือเป็นส่วนน้อยของกำลังผลิตทั้งโลก (ซึ่งกำมะถันส่วนมากในปัจจุบันได้จากการขุดเจาะปิโตเลียม) นี้ล่ะมั่งครับที่เขาเรียกว่าสวยอันตราย หากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวที่นี้อย่าลืมแวะชมความสวยงามของแดนอิเหนาแห่งนี้กันนะครับ
โฆษณา