18 เม.ย. 2021 เวลา 14:35 • การศึกษา
ทำไมนำเข้าถึงต้องใช้ “ราคา CIF”
 
จากประสบการณ์ตรงที่ ภานิ ได้เจอกับตัวเอง และที่ได้เจอกับเพื่อนร่วมงาน ต้องบอกเลยว่าโดยส่วนใหญ่คือ “ความสับสน” เอ๊ะๆๆๆ ยังไงคงสงสัยกันล่ะสิ ทุกคนที่เรียนด้านโลจิสติกส์และได้ทำงานในสายงานนี้ ภานิ เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินคำว่า “Incoterm” กันอย่างแน่นอน
 
อ่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกันล่ะ ที่หลายคนสับสนคือ และมีคำถามคือ ทำไมต้องราคา CIF ล่ะ ราคา FOB ไม่ได้หรอ แล้วมันหมายความว่ายังไง บทความนี้เราหาคำตอบมาให้แน่นอน
 
เริ่มที่คำถามยอดฮิตกันเลย “ทำไมต้องราคา CIF”
ตามกฎหมายศุลกากรบัญญัติว่า ราคาศุลกากรสำหรับของที่นำเข้าต้องรวมค่าประกันภัย ค่าขนส่ง ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น และ ค่าจัดการต่างๆที่เกี่ยวกับการขนส่งของมายังท่า หรือที่หรือสนามบินศุลกากรที่นำเข้า ดังนั้น กรณีราคาที่ตกลงซื้อขายกันเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายข้างต้นเหล่านั้นไว้ เมื่อจะสำแดงราคาของที่นำเข้าในใบขนสินค้า จำเป็นที่จะต้องปรับราคานั้นๆให้เป็นราคา CIF
 
แล้วมี Term อะไรบ้างล่ะ “ที่ต้องปรับราคาให้เป็น CIF”
ก่อนอื่นต้องขออธิบายเกี่ยวกับ Term CIF นะคะ เพราะเป็นเพราะเอกของเรื่องนี้เลย
 
ราคา CIF มีเงื่อนไขการส่งมอบคือผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบสินค้าเมื่อสินค้าวางบนเรือ ณ ท่าเรือต้นทาง และผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบในการทําพิธีการส่งออก รวมทั้งทำสัญญาการขนส่ง จ่ายค่าระวางเรือ และค่าประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงต่อความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่งสินค้าจนถึงท่าเรือปลายทางที่ระบุ
​ในขณะที่ ราคา FOB มีเงื่อนไขการส่งมอบคือผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบเมื่อวางสินค้าบนเรือ ณ ท่าเรือต้นทาง ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบการทําพิธีการส่งออก ผู้ซื้อจะรับภาระในการทำสัญญาการขนส่ง จ่ายค่าระวางเรือ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งค่าประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงต่อความเสียหายของสินค้าจากจุดส่งมอบ (ท่าเรือต้นทาง)
จะเห็นได้ว่าผู้ขายไม่ได้มีภาระค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าระวางเรือ และค่าประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงต่อความเสียหายของสินค้า ดังนั้นว่าด้วยเรื่องกฎหมายศุลกากรสำหรับของที่นำเข้าต้องรวมค่าประกันภัย ค่าขนส่ง ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น และ ค่าจัดการต่างๆที่เกี่ยวกับการขนส่งของมายังท่า หรือที่หรือสนามบินศุลกากร ที่นำเข้า ดังนั้น กรณีราคาที่ตกลงซื้อขายกันเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายข้างต้นเหล่านั้นไว้ เมื่อจะสำแดงราคาของที่นำเข้าในใบขนสินค้า จำเป็นที่จะต้องปรับราคานั้นๆให้เป็นราคา CIF ดังนี้
1. การปรับราคา FOB ให้เป็น CIF ให้ดำเนินการ ดังนี้
1.1 กรณีมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ให้นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมารวมกับราคา FOB
1.2. กรณีไม่มีค่าใช้จ่ายจริง อธิบดีกรมศุลกากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ดังนี้
1.2.1 กรณีไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงค่าประกันภัย ให้บวกค่าประกันภัย 1 % ของราคา FOB
1.2.2 กรณีไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงค่าขนส่ง ให้ดำเนินการตามวิธีการขนส่งดังนี้
(1) การนำเข้าทางเรือ และ ทางบก ให้บวกค่าขนส่ง 10% ของราคา FOB
(2) การนำเข้าทางอากาศยาน ให้บวกค่าขนส่งเข้ากับราคาของและค่าประกันภัย ดังนี้
(2.1) ให้ใช้ค่าขนส่งตามที่ปรากฏในต้นฉบับ HAWB (House Air Waybill) จากท่าต้นทางบรรทุกซึ่งได้รับการรับรองจากบริษัทผู้ดำเนินการคลังสินค้าอนุมัติ
(2.2) หากไม่ปรากฏค่าขนส่งของในต้นฉบับ HAWB หรือไม่มี HAWB ให้ใช้ค่าขนส่งที่ปรากฏใน MAWB (Master Air Waybill)
(2.3) หากไม่ปรากฏค่าขนส่งของในต้นฉบับ HAWB หรือไม่มี HAWB หรือไม่ปรากฏค่าขนส่งของใน MAWB ให้ใช้อัตราเฉลี่ยค่าขนส่งของตาม Full IATA Rate ตามหนังสือ The Thai Cargo Tariff
(2.4) ค่าขนส่งของสำหรับของเร่งด่วนไม่ว่าจะมีผู้โดยสารนำพาหรือไม่ก็ตาม ให้ใช้อัตราเฉลี่ยค่าขนส่งของตาม Zone ที่กรมศุลกากรอนุมัติให้ใช้
(2.5) ของที่นำเข้าทางอากาศยาน แต่มีบัญชีราคาสินค้าแสดงราคารวมค่าขนส่งทางเรือไว้ ให้หักค่าขนส่งทางเรือออกเสียแล้วบวกรวมค่าขนส่งทางอากาศยานที่ได้ชำระจริง หากไม่ทราบค่าขนส่งทางเรือที่จะนำมาหักให้หัก 10% ของราคาของ
กรณีนี้อาจเกิดขึ้นจากเป็นของที่ซื้อขายกันโดยมีเงื่อนไขส่งมอบทางเรือและเป็นราคา CIF ทางเรือ แต่ผู้ขายส่งของมาให้ผู้ซื้อทางอากาศ การสำแดงราคาเพื่อคำนวณค่าภาษีอากร ต้องเป็นราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยทางอากาศ ผู้นำเข้าต้องแปลงราคา CIF ทางเรือ ให้เป็น CIF ทางอากาศ หากสามารถทราบราคาค่าขนส่งทางเรือให้นำจำนวนดังกล่าวมาหักออกได้ แล้วบวกด้วยค่าขนส่งทางอากาศยานที่ผู้ขายหรือผู้ส่งของออกได้ชำระไป แต่หากไม่ทราบค่าขนส่งทางเรือที่จะนำมาหักออก อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดว่า ให้คำนวณค่าขนส่งของทางเรือในอัตราร้อยละ 10 ของราคาของ
(3) การนำเข้าทางไปรษณีย์ ให้บวกค่าขนส่งตามอัตราไปรษณียากรสำหรับพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่ใช้อยู่ในขณะนำเข้า
2. กรณีซื้อขายกันด้วยเงื่อนไขการส่งมอบเป็น EXW / FAS / FCA
หากไม่ปรากฏหลักฐานการชำระเงินที่เกี่ยวกับการขนส่ง การขนของลง การขนของขึ้นในการขนย้ายของจากสถานที่ส่งมอบไปยังท่าส่งออก ให้บวกด้วย 3% ของราคาดังกล่าว เพื่อแปลงให้เป็นราคา FOB ก่อน แล้วจึงคำนวณตามหลักเกณฑ์การแปลง FOB เป็น CIF ต่อไป
3. กรณีนอกเหนือจากนี้ ให้นำเสนออธิบดีกรมศุลกากร พิจารณาเป็นกรณี ๆ
ที่มา : http://www.customs.go.th/
ตัวอย่างการคำนวณ
กรณีซื้อขายเป็น Term FOB ราคาซื้อขาย 10,000 บาท โดยไม่มีเอกสารการชำระค่า Freight และ Insurance
ราคาซื้อขาย​10,000 * 10% ​= 1000 บาท
10,000 * 1% ​= 100 บาท
Freight cost ​​จะเท่ากับ 1000 บาท
Insurance cost ​​จะเท่ากับ 100 บาท
 
กรณีซื้อขายเป็น Term FCA ราคาซื้อขาย 10,000 บาท โดยไม่มีเอกสารการชำระค่า Forwarding cost, Freight และ Insurance
ราคาซื้อขาย ​10,000 * 3% ​​= 300
10,000 + 300 * 10% ​= 1030 บาท
10,000 + 300 * 1% ​= 103 บาท
Forwarding cost, Freight ​​จะเท่ากับ 300 บาท
Freight cost ​​​จะเท่ากับ 1030 บาท
Insurance cost ​​​จะเท่ากับ 103 บาท
 
*หากมีเอกสารการชำระ ให้ระบุตามเอกสาร
**ตารางสรุปนี้เป็นเพียงสิ่งที่ ภานิ ศึกษามาเท่านั้น กรุณาตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งกรณีที่นำไปใช้จริง
โฆษณา