18 เม.ย. 2021 เวลา 15:16 • ไลฟ์สไตล์
เมื่อบ้านไม่ใช่บ้านอีกต่อไป (Reverse Culture Shock) Episode 3
ก่อนอ่านบทความนี้ อย่าลืมไปอ่านบทความก่อนหน้านี้ก่อนนะคะ
• เมื่อบ้านไม่ใช่บ้านอีกต่อไป (Reverse Culture Shock) Episode 1
• เมื่อบ้านไม่ใช่บ้านอีกต่อไป (Reverse Culture Shock) Episode 2
มาต่อกันเลย … 😊
อารมณ์ขัน (sense of humor) ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ต้องปรับตัวเมื่อกลับมาที่ไทย แต่ละประเทศก็จะมีมุขหรืออารมณ์ขันที่ไม่เหมือนกัน จำได้ว่า ตอนแรกที่เข้าไปดูหนังในโรงหนังที่อเมริกาครั้งแรก ดูๆอยู่คนอเมริกันก็หัวเราะกันทั้งโรง เราก็มองหน้าสามี (ที่เป็นคนไทยแต่เกิดที่อเมริกา) ว่าขำอะไร ไม่เห็นมีอะไรให้ต้องหัวเราะเลย เผลอๆอยู่ที่โน่นหลายปีก็จำไม่ได้ว่าเริ่มหัวเราะไปกับมุขเขาตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วสิ่งเดิมก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ตอนที่ไปดูหนังในโรงหนังตอนที่กลับมาเมืองไทยแล้ว เราสองคนหัวเราะขึ้นมาในขณะที่คนไทยนั่งเงียบกันทั้งโรง ทำให้ต้องมองหน้าสามีอีกทีเป็นอันรู้กัน ถ้าอยากรู้ว่าความรู้สึกเป็นไงก็ลองเปิด standing comedy ของคนอเมริกันดู แล้วลองสังเกตุว่าตอนที่เขาหัวเราะแล้วเราหัวเราะไปกับเขาด้วยหรือเปล่า 😊
เรื่องอารมณ์ขันก็มีความสำคัญเหมือนกันนะ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเข้าสังคม เช่น คุยกับคนอื่นอยู่แล้วเขาหัวเราะกัน แต่เราไม่หัวเราะเพราะเราไม่ get ก็จะดูตลก ไม่เข้าพวก หรือ อยู่ๆเราก็หัวเราะขึ้นมาคนเดียวในขณะที่คนอื่นนั่งเงียบ ก็จะดูเราเป็นคนแปลก ไม่เข้าพวกอีกเหมือนกัน คนอเมริกันจะใช้อารมณ์ขันในการเข้าสังคมเพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง แทบทุกครั้งในการประชุมหรือการพูดคุยกันในที่ทำงาน หัวหน้าและเพื่อนๆคนอเมริกันจะพูดให้หัวเราะก่อนเริ่มการประชุม หรือ ตอนที่คนเริ่มจะเครียดกัน เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศให้ไม่เครียดจนเกินไป นีน่าก็ติดนิสัยนั้นกลับมาที่เมืองไทยด้วย เวลาประชุมนีน่าก็จะติดนิสัยส่งมุขเบาๆให้คนหัวเราะกัน แต่ก็มีหลายครั้งที่เห็นหัวหน้าคนไทยหันมามองหน้า เหมือนกับเราไม่มีกาลเทศะ คนไทยเวลาเครียดแล้วต้องขอเครียดให้สุดๆไปเลย แสดงออกว่าตั้งใจทำงานเต็มที่ แต่จริงๆแล้วเวลาทำงาน เราต้องเครียดกันขนาดนั้นเลยหรือ … นีน่าขอเดินทางสายกลางดีกว่า
อีกเรื่องที่ต้องปรับตัวก็คือ เรื่องชีวิตของการแต่งงานหรือการมีครอบครัว ถ้าเราแต่งงานแล้วคนอเมริกันเขาจะ recognize หรือทำการรับรู้ข้อนี้โดยการเชิญสามีหรือภรรยามาสังสรรค์ด้วย จะเป็นเรื่องปกติมากเวลาที่บริษัทนีน่ามีงานหรือเพื่อนชวนไปปาร์ตี้ ถ้าเขารู้ว่าเราแต่งงานแล้ว เขาจะเชิญอีกฝ่ายซึ่งอาจจะเป็นสามีหรือภรรยามาด้วยเสมอ เพื่อนอเมริกันที่เป็นผู้ชายเวลาไปดื่มหลังเวลาทำงาน เขาจะบอกตรงๆเลยว่าถึงเวลาต้องกลับบ้านแล้วเพราะภรรยาโทรมาตาม หรือถึงเวลากลับบ้านแล้วตามที่ได้รับอนุญาติจากภรรยา เป็นการให้เกียรติหรือ recognize อีกฝ่ายหนึ่ง
จำได้ว่าพอนีน่ากลับมาเมืองไทยใหม่ๆและได้ไปปาร์ตี้กับเพื่อนของสามี เพื่อนๆของสามีก็มีการแซวกัน โดยส่วนใหญ่จะพูดว่า “กลัวเมียนี่หว่า” โห ไม่ได้ยินคำนี้มานานมาก พอกลับมาเมืองไทยปุ๊บ ก็ได้ยินคำนี้ต้อนรับการกลับมาเลย สังคมไทยควรเลิกพูดคำนี้กันได้แล้ว ถามตรงๆมีใครไม่กลัวเมียบ้าง? 😊 แต่นีน่าไม่อยากใช้คำว่ากลัว การอยู่กับใครไม่ควรเป็นเรื่องกลัวหรือไม่กลัว แต่เป็นการให้เกียรติกันและกันมากกว่า ไม่ต้องมีใครมากกว่าใคร แต่เป็นการให้เกียรติที่เท่าเทียมกัน
"R E S P E C T" is a two-way street. If you want to get it, you've got to give it. - R.G. Risch
สุดท้ายคือเรื่องทั่วๆไป เช่น การโทรศัพทย์หากัน คนอเมริกันโดยส่วนใหญ่จะไม่โทรหากันหลังเลิกงาน แม้แต่หัวหน้านีน่าก็ไม่เคยโทรมาหาเลยหลังเวลาเลิกงาน ถ้ามีเพื่อนๆโทรมาคุยบ้าง ก็จะไม่เกินทุ่มหรือสองทุ่ม เขาจะรู้กันว่าทุกคนต้องการเวลาพักผ่อนและจะไม่รบกวนกัน ถ้ามีโทรมากันดึกกว่านั้น ส่วนใหญ่คือต้องเป็นเรื่อง emergency หรือเรื่องด่วนร้ายแรง แต่ที่เมืองไทยไม่เหมือนกัน นีน่าได้รับโทรศัพทย์ตลอด บางครั้งมีโทรมาตอนเกือบจะเที่ยงคืน จำได้ว่าตอนแรกๆก็ตกใจว่ามีเรื่องด่วนอะไร แต่พอรับก็บอกว่าโทรมาคุยเล่นๆ ทำเอางงไปเลยว่ามีอย่างนี้ด้วยเหรอ ตอนแรกรู้สึกว่า rude มากที่โทรมาดึกขนาดนี้ แต่พอผ่านไปก็ต้องทำความเข้าใจว่าวัฒนธรรมคนไทยเป็นแบบนี้ ซึ่งตอนนี้ก็พอโอเคแล้ว
อีกเรื่องที่อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่นักก็คือเรื่องหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยที่ชอบลงรูปศพหรือรูปคนเสียชีวิตบนหน้าหนึ่งเลย (แต่เดี๋ยวนี้เห็นน้อยลงแล้ว) ที่อเมริกาจะไม่มีแบบนี้เลย ตอนแรกที่เห็นก็รู้สึก shock และจำได้ว่าตอนเด็กๆที่อยู่เมืองไทย ก็จะเห็นแบบนี้จนเป็นเรื่องธรรมดา แค่รู้สึกว่าการลงภาพแบบนั้นไม่ให้เกียรติคนตายเลย เป็นเราก็คงไม่อยากเห็นตัวเองไปลงหน้าหนึ่งอย่างนั้น เคยได้ยินคนต่างชาติบ่นเรื่องนี้เหมือนกันว่าเขาตกใจและไม่เห็นด้วย เขาก็รู้สึกช๊อคตอนเห็นภาพศพในหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งที่เมืองไทย
เรื่องสุดท้ายก็เป็นเรื่องการขับรถในประเทศไทย การเคารพกฏหมายจราจรและการจอดรถที่ไม่เป็นที่เป็นทางบนถนน เหมือนอยากจอดตรงไหนก็จอด ทั้งๆที่เป็นถนนใหญ่หรืออาจจะกีดขวางทางคนอื่นๆที่รอกันเป็นแถวยาว ตอนช่วงแรกๆที่นีน่าไปอยู่ที่อเมริกา ก็ได้ไปอยู่ในเมืองเล็กๆที่รัฐโอไฮโอ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขับรถไปถึง 4 แยกในเมืองเล็กๆ ซึ่งจะไม่มีสัญญานไฟเลย ทุกคนจะจอดและให้คนที่จอดก่อนได้ไปก่อน จำได้ว่ารู้สึกประทับใจมากที่ทุกคนรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร ไม่ต้องมีกฏหมายมาจัดการ แต่ทำกันโดยความเคารพในสิทธิของผู้อื่นและระเบียบของสังคม ผ่านที่ตรงนี้มาหลายปีก็ไม่เคยเห็นคนแหกกฏเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทุกคน“มองประโยชน์ของส่วนร่วมมากกว่าหรือมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว”
กฏหมายมีไว้เพื่อความเป็นระเบียบของสังคม            และความปลอดภัยของทุกคน ...
เรื่องนี้เรื่องเดียวที่นีน่าหวังว่าคนไทยทุกคนควรจะเรียนรู้และทำให้ได้ดีขึ้น เช่น การที่ไม่ยอมหยุดรถให้รถพยาบาลผ่านไปก่อน ที่อเมริกา พอได้ยินเสียงหวอ รถทุกคัน ย้ำว่า“ทุกคัน” จะหลบชิดขวา (ที่นั่นขับรถคนละด้านกับที่เมืองไทย) แล้วให้รถพยาบาลผ่านไปก่อน ไม่เหมือนเมืองไทยที่เราจะเห็นในคลิปบ่อยๆว่าจะมาขับกันรถพยาบาล ไม่ยอมหลบ นีน่าไม่เข้าใจตรรกะของคนที่ทำแบบนี้ รู้สึกว่าเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมาก หรือรถมอเตอร์ไซด์ที่ขับบนทางเท้า ขับบนสะพาน หรือขับเลนขวาสุด รวมทั้งการขับรถสวนทางกัน ถ้าเป็นตอนกลางคืนก็โดนแสงไฟส่องเข้าตา ต้องบอกว่าขับรถเดี๋ยวนี้เครียดมาก ต้องดู 360 องศากันเลยทีเดียว
อยากให้พี่ๆน้องๆที่ขับรถมอเตอร์ด์รู้ว่ากฏหมายที่มี มีไว้เพื่อความเป็นระเบียบของสังคมและความปลอดภัยของทุกคน ตอนเด็กๆคิดว่าเมืองไทยไม่เป็นขนาดนี้นะ เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นแย่ลงทั้งๆที่เรามีความเจริญมากขึ้น อยากให้ความเจริญของวัตถุเจริญควบคู่ไปกับความเจริญและความศิวิไลซ์ของจิตใจคนไทยด้วย
เรื่องสุดท้าย (สุดท้ายจริงๆ) นีน่าอยากให้คนไทยที่กลับมาเมืองไทยแล้ว พยายามพูดภาษาไทยให้ถูกและไม่ควรพูดไทยคำอังกฤษคำ ภาษาทุกภาษามีความสวยงามของมันและควรมีการใช้ที่ถูกต้อง นีน่าก็เป็นแบบนี้เพราะอยู่ที่อเมริกา เราต้องคิดและพูดอังกฤษตลอดในการใช้ชีวิตประจำวันและในการทำงานมาหลายปี จนกระทั่งฝันเป็นภาษาอังกฤษ กลับมาก็จะใช้ภาษาอังกฤษในบางคำที่คิดภาษาไทยไม่ทัน จนกระทั่งมาเจอคนพูดแบบนี้กับเรา ก็เป็นกระจกส่องตัวเอง เวลาคุยด้วยก็รู้สึกว่าฟังไปก็งงไป เพราะเยอะเกิน พอถามว่าอยู่ที่ต่างประเทศมานานแล้วเหรอคะ ก็ได้คำตอบว่าอยู่มาปีเดียว … อย่างนี้ก็ได้เหรอ 😉
เขียนมาซะ 3 episodes เลย แต่นีน่าว่าหัวข้อนี้น่าสนใจมาก การกระทำมาจากความเชื่อและวัฒนธรรม ซึ่งจะถูกแสดงออกโดยผ่านทางความคิดและการกระทำของชนชาตินั้นๆ ซึ่งจะเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ การกระทำเดียวกันของชนชาติหนึ่งอาจจะดูเป็น positive เป็นบวกหรือเป็นสิ่งที่ดี ในขณะที่อีกชนชาติหนึ่งอาจจะดูเป็น negative เป็นลบหรือเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่มีถูกไม่มีผิด หรือใครดีกว่าใคร การนำหัวข้อนี้มาแชร์ นีน่าก็แค่อยากให้เกิดความเข้าใจเพื่อช่วยเพื่อนๆในการปรับตัว ให้เกิดประโยชน์ในการใช้ชีวิตในต่างแดน หรือแค่ได้ข้อคิดสนุกๆในการใช้ชีวิตในประเทศไทย
เวลาไปเห็นหรือไปเรียนรู้วัฒนธรรมอื่น สิ่งดีคือทำให้เรามีการเรียนรู้และปรับตัว ทำให้โลกของเรากว้างขึ้น แล้วเมื่อเรานำสิ่งที่เราเรียนรู้ มาประสมประสานกันให้เหมาะกับตัวเรา ที่ไม่ว่าจะไปอยู่ตรงจุดไหนของโลกใบนี้ เราก็จะมีความเข้าใจและสามารถปรับตัวได้ โดยไม่มีความกดดันที่ต้องเปลี่ยนตัวเองเกินไป จนไม่มีความเป็นตัวของตัวเองหรือไม่มีความสุข …. นีน่าขอให้ทุกคนเจอตัวเองในโลกใบนี้
Find your "happy" place in this world ...
เข้าใจว่าหลายๆคนก็คงมีประสบการณ์คล้ายๆนีน่า อยากให้ช่วยแชร์กันนะคะว่าเจออะไรกันมาบ้างและต้องปรับตัวกันอย่างไรเวลากลับมาที่เมืองไทย จะได้รู้สึกไม่โดดเดี่ยวเหมือนนีน่าเจออยู่คนเดียว หรือเห็นด้วยไม่เห็นด้วยตรงไหน comment มาคุยกันได้เลยคะ 😉
Until next time …
สนใจอ่านบทความก่อนหน้านี้ กดที่ links ข้างล่างนี้เลยคะ
1. ทำไมควรต้องเรียนรู้คำด่าหรือคำสบถเวลาใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ Ep. 1
2. ทำไมควรต้องเรียนรู้คำด่าหรือคำสบถเวลาใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ Ep. 2
3. ทำไมควรต้องเรียนรู้คำด่าหรือคำสบถเวลาใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ Ep. 3
4. Culture Shocks เมื่อนีน่าอยู่อเมริกา Ep. 1
5. Culture Shocks เมื่อนีน่าอยู่อเมริกา Ep. 2
6. คนไทยกับภาษาอังกฤษ ... ปัญหาแห่งชาติที่แก้ไม่ตก Ep. 1
7. คนไทยกับภาษาอังกฤษ ... ปัญหาแห่งชาติที่แก้ไม่ตก Ep. 2
8. CoVID 19 กับความคิดของคนอเมริกัน
9. การเหยียดสีผิวในอเมริกา (Racism in America)
10. เมื่อบ้านไม่ใช่บ้านอีกต่อไป (Reverse Culture Shock) Episode 1
11. เมื่อบ้านไม่ใช่บ้านอีกต่อไป (Reverse Culture Shock) Episode 2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา