19 เม.ย. 2021 เวลา 03:03 • การตลาด
ประยุกต์ 5 พื้นฐานการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ ให้เข้ากับคอนเทนต์ทุกรูปแบบ
ในการทำคอนเทนต์สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการนำเสนอข้อมูล ก็คือการทำยังไงคนสนใจข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยวิธีการที่น่าสนใจ นี่จึงเป็นที่มาของการใช้เทคนิค ‘การเล่าเรื่อง’ ในการประยุกต์ใช้กับการทำคอนเทนต์ที่หลากหลายนั่นเอง
และหากพูดถึงการเล่าเรื่องที่สามารถตรึงคนดูให้อยู่กับเรื่องราวบางอย่างได้เป็นชั่วโมงก็คงหนีไม่พ้นศาสตร์ของ ‘ภาพยนตร์’ จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะนำวิธีการเล่าเรื่องพื้นฐานของภาพยนตร์ มาประยุกต์ใช้กับการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น
วันนี้แอดเลยอยากจะเอาพื้นฐานการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ทั้ง 5 ขั้นตอน มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังและทำความเข้าใจถึงกระบวนการแต่ละขั้นตอนที่สามารถสร้างความสนใจให้กับผู้คนได้อย่างมหาศาล จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
(1) Introduction - การแนะนำ
ในขั้นตอนแรกไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์อะไรก็ตามเราต้องทำให้ผู้ที่ได้เสพคอนเทนต์รู้ก่อนว่าสิ่งที่เรากำลังจะเล่าคืออะไร ในภาพยนตร์จะมีการแนะนำถึง เหตุการณ์, สถานการณ์, สถานที่, ตัวละคร, เวลา, สภาพแวดล้อม, สิ่งที่เป็นในปัจจุบันของตัวละคร เพื่อให้เข้าใจถึงภาพรวมของสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นจะเล่า
หากนำมาประยุกต์ใช้กับการทำคอนเทนต์ เราจะต้องเล่าถึงสิ่งที่เราหรือแบรนด์จะเล่า ยกตัวอย่างหากกำลังจะทำคอนเทนต์การตลาดให้แบรนด์อาหารคลีน เราก็ต้องนำเสนอถึง ปัญหาของคนลดความอ้วน, วิธีการออกกำลังกาย, การเลือกกินอาหาร ฯลฯ เป็นหัวข้อใหญ่ที่ทำให้ผู้เสพคอนเทนต์รับรู้ว่าพวกเขากำลังจะได้รับรู้สิ่งใด
(2) Suspense - การสร้างเงื่อนไข
ในภาพยนตร์ส่วนนี้คือการผูกปมต่างๆ ของเรื่อง ทำให้เกิดความขัดแย้ง ให้ผู้ชมรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และตัวละครหรือเนื้อเรื่องโดยรวมกำลังจะดำเนินไปเพื่อไปสู่จุดหมายก็คือการคลายปมเหล่านี้ ซึ่งจะสามารถทำให้ผู้ชมเกิดความสงสัยและพร้อมที่จะติดตามภาพยนตร์ไปจนจบ
เมื่อนำขั้นตอนนี้มาประยุกต์ใช้กับการทำคอนเทนต์ มันก็คือการบอกถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นหรือสิ่งที่ผู้เสพคอนเทนต์จะพลาดไป หากไม่ได้อ่านหรือชมคอนเทนต์นี้ไปจนจบ มันคือกระบวนการสำคัญที่จะดึงให้ผู้คนดูคอนเทนต์ของเราไปจนจบ หาเพื่อนๆ คนไหนสามารถคิดเงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุด ก็ไม่ใช่เรื่องยากในการดึงความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย
(3) Crisis - การสร้างวิกฤต
ในภาพยนตร์กระบวนการนี้คือการสร้างเที่หตุการณ์ให้ตัวละครต้องเผชิญหน้ากับปัญหา ทำให้ผู้ชมเกิดการวิเคราะห์ว่าตัวละครและเนื้อเรื่องจะนำพาผู้ชมไปสู่จุดไหนต่อไป เป็นช่วงเวลาที่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมมากที่สุด แต่ถ้าหากกำหนดช่วงเวลาของ Crisis นานเกินไป จะทำให้ผู้ชมทนกับแรงกดดันไม่ไหว จนกลายเป็นไม่มีความสนใจต่อเนื้อเรื่องส่วนนี้ไปเลย
หากเปรียบกับการทำคอนเทนต์ มันคือส่วนที่ผู้ทำคอนเทนต์ทำการให้ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นการนำเสนอแนวทางให้ผู้ดูคอนเทนต์เกิดการรับรู้และวิเคราะห์ถึงสิ่งที่พวกเขาต้องทำ จนเกิดทางเลือกขึ้นยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นคอนเทนต์แบรนด์อาหารคลีนผู้ทำคอนเทนต์ก็ต้องเล่าถึงวิธีการที่จะทำให้ผู้เสพคอนเทนต์ผอมหรือหุ่นดี จากนั้นผู้เสพคอนเทนต์จะรู้ถึงทางเลือกที่พวกเขาสามารถเลือกเดินได้
(4) Climax - วิกฤตสูงสุดที่บีบให้เลือก
ในภาพยนตร์จากการปูปมตัวละครหรือการสร้างวิกฤตให้ตัวละครรับรู้ถึงทางเลือกต่างๆ ทีนี้ก็คือกระบวนการบีบให้ตัวละครต้องเลือกเส้นทางที่รับรู้เหล่านั้นเพียงทางเดียว เพื่อให้บรรลุต่อเป้าหมายจากปมหรือปัญหาที่ผูกเอาไว้ตอนแรกนั่นเอง
ในการทำคอนเทนต์ก็เหมือนกัน เมื่อเรานำเสนอทางเลือกให้ผู้เสพคอนเทนต์แล้ว จากนั้นเขาจะรับรู้ได้เองว่าเขาเหมาะหรือคืดที่เลือกเส้นทางไหน ในส่วนนี้เราต้องเพิ่มช่องทางการให้บริการในทางเลือกของเราที่จะช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ง่ายที่สุดเพียงอย่างเดียว ในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับการนำเสนอแบรนด์ของเราว่าน่าสนใจมากน้อยขนาดไหน จนทำให้ผู้เสพคอนเทนต์ตัดสินใจเลือกจุด Climax เป็นเส้นทางของเรารึเปล่า
(5) Conclusion - บทสรุป
ในส่วนนี้ของภาพยนตร์จะเป็นการเล่าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากตัวละครได้คลี่คลายปมหรือปัญหาทั้งหมดแล้วว่าจะเป็นอย่างไรต่อ จะมีทั้งการจบที่ให้คนคิดต่อไม่มีบทสรุปตายตัว หรือบทสรุปที่แฮ็ปปี้เอนดิ้งหรือจบแบบดราม่า ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้เขียนบทนั่นเอง
ในส่วนของการทำคอนเทนต์ เมื่อผู้บริโภคเลือกเส้นทางที่เรานำเสนอไปแล้ว หลังจากนั้นก็คือการเล่าถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหากเขาเลือกเส้นทางหรือสินค้าของเรานั่นเอง ในส่วนนี้ก็คือจุดเริ่มต้นของการบริการหลังการขาย เพื่อให้ผู้บริโภคยังคงไว้ใจในเส้นทางที่เขาเลือกก็คือเส้นทางที่เรานำเสนอ หากเราสามารถสร้างตอนจบของคอนเทนต์ได้ดี (การบริการที่ดี) ก็มีโอกาสที่ผู้บริโภคเหล่านั้นจะไปเล่าเรื่องของเราต่อไปจนเกิดเป็นภาพยนตร์คอนเทนต์เรื่องใหม่นั่นเอง
ทั้ง 5 ขั้นตอนของการเขียนบทภาพยนตร์นี้แอดคิดว่ามีหลายๆ ส่วนเลย ที่หากนำมาประยุกต์ใช้กับการทำคอนเทนต์ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตามก็จะสามารถสร้างความสนใจให้กับผู้คนได้เป็นอย่างดี และอาจจะไม่ต้องใช้ทั้งหมด 5 ข้อในคอนเทนต์เดียวก็ได้ การปรับใช่งานขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของคอนเทนต์ที่จะสื่อสารด้วย
แต่สิ่งสำคัญก็คือ ‘การเล่าเรื่อง’ นอกจากวิธีการนี้แล้วยังคงมีวิธีการเล่าเรื่องอีกมากที่สามารถนำมาประยุกต์กับการทำคอนเทนต์ได้ เอาไว้ครั้งหน้าถ้ามีวิธีการเล่าเรื่องแบบไหนที่น่าสนใจอีก แอดจลองนำมาวิเคราะห์แล้วเล่าให้เพื่อนๆ ได้ลองนำไปใช้กันอีกนะ
โฆษณา