19 เม.ย. 2021 เวลา 12:50 • ครอบครัว & เด็ก
เหงา กับ เศร้าต่างกันนะ เช่นเดียวกับ เป็นห่วง กับคิดถึง ก็ต่างกันเช่นกัน
"แค่รู้สึกเหงา เหงานะแม่ แต่ไม่ได้เศร้า"
ประโยคนี้ออกจากปากลูกสาววัย 12 ขวบ ข้ามประเทศมาถึงเรา ในวันที่เธอต้องไปใช้ชีวิตที่หอพักนักเรียนต่างแดนเพียงลำพัง
เราพบว่า การถูกฝึกให้รู้จัก "ความรู้สึก" ของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในวันเวลาแบบนี้ของมนุษย์คนนึง
"รู้สึกเหงา กับ รู้สึกเศร้าต่างกันยังไง?" เหงา มันก็จะเคว้ง เคว้ง เหมือนไม่มีใคร แม้มีเพื่อนอยู่ก็เหอะ ส่วน เศร้า ก็จะ โหวง โหวง อยากจะร้องให้ อยากกลับบ้าน นี่คือคำตอบจากลูกสาวในวันที่เราคุยกัน......เมื่อสามารถแยกได้ว่าความรู้สึกนี้คืออะไร และเป็นยังไง มันก็จะง่ายในการหาทางออกเพื่อให้อยู่กับความรู้สึกนั้นได้อย่างไม่เป็นทุกข์ ไม่ใช่ง่ายแค่กับคนที่รู้สึกนะ ง่ายสำหรับคนที่ต้องทำหน้าที่ประคับประคอง หรือปลอบใจด้วยเช่นกัน
สิ่งที่เราคุยกันในตอนนั้นคือ การตั้งคำถามให้ลูกเห็นว่า ความเหงานั้น เราเป็นคนเดียวหรือไม่ และคิดว่าเพื่อนๆคนอื่นรวมทั้งแม่เป็นมั๊ย เมื่อชี้ชวนให้ลูกเห็นว่า ความเหงาเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับทุกคน งั้นแสดงว่าไม่ได้มีไรผิดปกติ ไม่มีไรยาก แค่เราเข้าไปทำความสนิสนมกับความเหงาให้เป็น เพราะเขาเป็นเพื่อนใหม่ของเรา
เราชวนลูกลองหาวิธีดูว่า จะมีวิธีใดบ้างที่จะทำความสนิทสนมกับความเหงาได้ อยู่ด้วยกันได้โดยไม่ต้องทำให้ทุกข์ใจ หลังจากนั้นเรามาแบ่งปันวิธีการกันว่าเราต่างใช้วิธีแบบไหนที่ได้ผล
2-3 ชั่วโมงต่อมาเธอโทรมาเสียงใสว่า เธอพบว่าการโทรคุยกับพี่คนนึง (เธอเอ่ยชื่อพี่ที่เธอสนิทด้วยที่เมืองไทย) ทำให้เธอลืมความเหงา และรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดามากที่เป็นแบบนี้ เธอโอเคมากๆเลย และในวันต่อๆมาเธอก็ยังแบ่งปันอีกหลายวิธีที่เธอใช้รับมือกับความเหงา ให้เราฟัง
การเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง หรือจะเรียกว่า เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน
เคยมั๊ย? เคยเห็นมั๊ย? เวลาเด็กวิ่งล้ม ร้องให้บอกว่า เจ็บ คนเป็นพ่อแม่มักบอกลูกว่า "ไม่เจ็บนะลูก ไม่เจ็บ" แล้วเป่าผ่วง พร้อมทั้งเบี่ยงเบนความสนใจให้ลูกลืมเจ็บ เวลานั้นเราว่าเด็กคงสับสนนะว่า ใครกันแน่ที่เป็นคนเจ็บ เรา ต่างหากที่เจ็บ แต่ทำไม แม่/พ่อ บอกว่าไม่เจ็บ
เรากำลังปฏิเสธความรู้สึกนั้นให้พ้นไปจากลูก
เคยมั๊ย? เคยเห็นมั๊ย? เช้าวันอากาศหนาว กำลังแต่งตัวให้ลูกไปโรงเรียน กลัวลูกจะหนาว เลยใส่เสื้อกันหนาวให้ลูก ลูกถอดออกและบอกว่า "ไม่ใส่ หนูไม่หนาว" แน่นอน ผู้ใหญ่ที่กำลังแต่งตัวให้ มักจะบอกว่า "หนาวนะลูก ใส่เสื้อซะ เดี๋ยวป่วย" ถ้าเด็กไม่ดื้อมากก็อาจจะใส่ไปแบบ งง งง แต่สำหรับเด็กบางคน อาจไม่ยอมและยืนยันว่า ไม่หนาว ผู้ใหญ่ก็ไม่ยอม ยืนยันว่า หนาว จนเช้านั้นอาจกลายเป็นสงครามย่อมๆไปได้
เวลานั้น เรากำลังยัดเยียด "ความรู้สึก" ของเรา ให้เด็ก
ความรู้สึกเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละบุคคล จะเจ็บ ร้อน หนาว เหนื่อย หิว ชอบ ไม่ชอบ เป็นของใครก็ของคนนั้น ไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นพ่อ แม่ลูกกัน เพื่อนรักกัน หรือเป็นแฟนกันก็ตาม
ฉะนั้นลองคิดดูว่า สำหรับคนเป็นพ่อแม่ เราทำ 2 สิ่งนี้หรือไม่ 1.ปฏิเสธความรู้สึกลูก 2 ยัดเยียดความรู้สึกของเราให้ลูก จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แค่เลิกทำ 2 อย่างนี้ แล้วเพิ่มข้อ 3 ทำหน้าที่ช่วยลูกหาวิธีรับมือหากความรู้สึกนั้นกำลังทำให้ลูกเป็นทุกข์
ทำได้ ทำบ่อยๆ ลูกยังเล็ก ยิ่งต้องเริ่มทำ เพราะผลลัพธ์มันจะส่งผลชัดในวันที่ลูกต้องรับมือกับความรู้สึกเหล่านั้นตามลำพัง
"หนูจะไปเรียนไกล แม่จะเป็นห่วงหนูมั๊ย" เธอถามก่อนเดินทาง
"แม่คิดว่าไม่ห่วงมากนะ เพราะเชื่อว่าหนูดูแลตัวเองได้ แต่คงคิดถึงมากแน่เลย"
ความเป็นห่วง กับ ความคิดถึง คล้ายกันแต่ก็ต่างกันนะ และก็รับมือต่างกันด้วย
เหมือนความเหงา กับ ความเศร้าแหละ แค่เรารู้ เราก็จะรับมืออย่างถูกจุด
โฆษณา