19 เม.ย. 2021 เวลา 10:59 • สิ่งแวดล้อม
EEC กับผลกระทบสู่ต้นนางพญาเสือโคร่ง
เวลาค้นหาในกูเกิลเพื่อหาสถานที่เพื่อไปชมความงดงามของต้นนางพญาเสือโคร่งก็คงจะเจอสถานที่แนะนำทางภาคเหนือเป็นส่วนมาก ไม่ว่าจะที่ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ ดอยช้าง - ดอยดาวี จ.เชียงราย หรือสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน จ.น่าน แต่คงจะมีเพียงผู้ที่ใช้ถนน 304 ช่วงสามแยกหนองปลาตะเพียนถึงอ.พนมสารคามเท่านั้นจึงจะรู้ว่าความสวยสดงดงามของดอกไม้ริมทางที่ชูช่อสีม่วงสลับขาวสะอาดตาอย่าง “ต้นนางพญาเสือโคร่ง” ไม่จำเป็นต้องไปหาชมถึงภาคเหนือก็สามารถขับรถเชยชมได้ที่ถนนทางภาคตะวันออก 304 ฉะเชิงเทรา - กบินทร์บุรี แต่ก็อาจไม่ได้เห็นดอกไม้สีสันสดใสอย่างนี้ไปอีกนานนัก เพราะมันจะถูกโค่นทิ้งจากความต้องการของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
 
ถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะเกิดความสงสัยว่าโครงการที่ว่าคือโครงการอะไร มีความเป็นมาอย่างไร แล้วมีความเกี่ยวข้องกับ “การโค่นต้นนางพญาเสือโคร่ง” อย่างไร เราก็จะขอไขสงสัยในเรื่องของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเสียก่อน โครงการนี้มีอีกชื่อว่า Eastern Economic Corridor หรือเรียกย่อ ๆ ว่า EEC เป็นโครงการในแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาพื้นที่ ตามนโนบาย Thailand 4.0 ซึ่งต่อยอดมาจากโครงการ Eastern Seaboard เพื่อจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ โดย EEC มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา แล้วทำไมต้องเป็น 3 จังหวัดล่ะ? นั่นก็เป็นเพราะว่าพื้นที่เดิมของ 3 จังหวัดนี้เป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สนามบิน ทั้งยังมีท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านมากเป็นอันกับที่ 22 ของโลก จึงเกิดความต้องการต่อยอดให้เป็นพื้นที่นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
 
EEC เกิดขึ้นตามคำสั่งของคสช.2 หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมัยที่ 2 ซึ่งสานต่อจากแผนเศรษฐกิจเดิมที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุคแรกที่ คสช. อยู่ในอำนาจ โดยมี 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกรัฐมนตรีและอดีตสมาชิก คสช. เป็นผู้ผลักดัน มีการใช้ ‘มาตรา 44’ เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดที่ทำให้โครงการเกิดความติดขัด และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ออกพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วยจำนวนเงิน 650,000 ล้านบาท ซึ่งมีเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐบาลด้วย
 
แล้ว EEC เกี่ยวข้องกับการโค่นต้นนางพญาเสือโคร่งอย่างไร เรื่องเกิดขึ้นจาก “กรมทางหลวง” วางแผนโครงการขยายเส้นทางสัญจรเพื่อรองรับภาคการขนส่งสินค้า และเชื่อมโยงโครงข่ายการสัญจรในพื้นที่ของโครงการ EEC ไปยังชายแดนประเทศเพื่อนบ้านทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ แต่เดิมถนน 304 ฉะเชิงเทรา - กบินทร์บุรีมีช่องทางจราจรเพียง 4 ช่องทางและมีต้นนางพญาเสือโคร่งอยู่ตามไหล่ทาง ต้นไม้ ตอนนี้กำลังจะถูกโค่นทิ้งเพื่อขยายถนน 8 ช่องจราจรแทนเสียแล้ว
 
นอกจากเรื่องของต้นนางพญาเสือโคร่งที่กำลังจะถูกโค่นแล้วก็ยังมีทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างได้รับผลกระทบจากโครงการ EEC ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ชายฝั่งแม่น้ำบางปะกง บริเวณ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ที่ถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศอย่างมาก เพราะมีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดในจังหวัดฉะเชิงเทรา
หรือ พื้นที่สีเขียวเพื่อการทำเกษตรกรรมในเขต EEC (พื้นที่สีเขียว หมายถึง อาณาบริเวณที่มีพืชปกคลุม ซึ่งมีข้อกำหนดชัดเจนว่าต้องใช้พื้นที่เหล่านี้เพื่อการเกษตกรรมหรือเกี่ยวข้องกับการเกษตรเท่านั้น หากนำไปใช้ประโยชน์อื่นสามารถทำได้แค่ร้อยละ 5 – 10 เท่านั้น) ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วงเพื่อธุรกิจอุตสาหกรรม
สถานการณ์ในตอนนี้คือถนน 304 ฉะเชิงเทรา - กบินทร์บุรีมีเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไถถมปรับหน้าดินเกือบตลอดทั้งสายแล้ว เริ่มนับจากถนนสาย 365 หรือสายเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา จากสามแยกบางพระมาจนถึงสี่แยกกองพลทหารราบที่ 11 เพื่อเชื่อมเข้ากับถนนสาย 304 ช่วงตอนส่วนขยายใหม่เมื่อปี 2562 ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร ถึงบริเวณหน้าวัดหัวสวนในเขตพื้นที่ อ.บางคล้า และเชื่อมต่อกับถนนสาย 304 ช่วงตอนจากหน้าวัดหัวสวนไปยังสี่แยกบางคล้า และสามแยกหนองปลาตะเพียน ที่มีผู้รับเหมากำลังเร่งมือในการปรับพื้นที่ถมดินอยู่เช่นเดียวกัน อีกระยะทางกว่า 10 กม. ก่อนที่จะถึงบริเวณถนนช่วงแห่งความงดงามของดงดอกนางพญาเสือโคร่ง จากบริเวณสามแยกหนองปลาตะเพียนผ่านบ้านทุ่งรวงทอง ในเขต อ.ราชสาส์น ไปจนถึงยังหน้าวัดโพธิ์ใหญ่ และสี่แยกพนมสารคามซึ่งเป็นเพียงช่วงตอนเดียวที่ต้นไม้ยังไม่ถูกตัดโค่น
 
ถ้าหากเราไม่เร่งลงมือเรียกร้องให้กรมทางหลวงเปลี่ยนวิธีการในการดำเนินการขยายถนน เราจะเสียต้นไม้ที่ให้ประโยชน์มากมาย รวมถึงทิวทัศน์ที่สวยงามและสดใสนี้ไปตลอดกาลอย่างแน่นอน นอกจากต้นนางพญาเสือโคร่งของถนน 304 ฉะเชิงเทรา - กบินทร์บุรี อาจจะมีต้นไม้ริมทางของถนนอีกหลาย ๆ แห่งที่จะถูกใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมในการดำเนินการ เราจึงไม่ควรเพิกเฉยต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมในครั้งนี้ของบริษัท สุวลี จำกัด ซึ่งรับงานจากกรมทางหลวง ร่วมเรียกร้องให้มีการขุดล้อมย้ายต้นไม้อยากเหมาะสมได้ในแคมเปญ… หรือติดตามการรณรงค์ได้ที่
 
IG : save304tree
Twitter : @save304tree
แหล่งอ้างอิง
ฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศ กก.EEC เหตุเปลี่ยนผังเมืองสีเขียวเป็นอุตสาหกรรม ชี้ส่งผลกระทบต่อชุมชน-สภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง
"EEC" เขตเศรษฐกิจ "พิเศษ" สำหรับใคร?
พื้นที่สีเขียว คืออะไร สำคัญอย่างไร
ความเป็นมาของ อีอีซี
บานสะพรั่งสั่งลา "ดอกพญาเสือโคร่ง" ริมถนน 304 จ่อถูกโค่นทิ้งขยายถนน
รายงานความก้าวหน้างาน/โครงการ ก่อสร้างและบูรณะและปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินและสะพาน
ถนนสาย304ช่วงที่มีต้นพญาเสือโคร่งรายล้อมริมสองข้างทาง
ถนนสาย304ที่มีการทำลายต้นไม้ไปแล้วในบางส่วน
โฆษณา