19 เม.ย. 2021 เวลา 15:11 • ประวัติศาสตร์
การสูญพันธุ์ของพิราบนักเดินทาง......ผลงานล้างผลาญของอเมริกันชนเมื่อเกือบร้อยปีก่อน
พิราบนักเดินทาง (passenger pegion) หรือ พิราบป่าอเมริกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ectopistes migratorius พวกมันได้ชื่อว่าเป็นนกที่ฉลาด สีสันสวยงาม เป็นสัตว์สังคมและที่สำคัญที่สุดคือเชื่องมากจนคนสามารถนำมาฝึกให้เป็นนกส่งสารได้ ครั้งหนึ่งนกชนิดนี้เคยโบยบินอยู่เหนือท้องฟ้าของทวีปอเมริกาเหนือนับพันล้านตัว แต่แล้วในเวลาไม่ถึงห้าสิบปีในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 พวกมันก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนสูญพันธุ์ในที่สุด ที่น่าตกใจที่สุดคือพวกมันสูญพันธุ์เพราะมนุษย์นี้เอง
เส้นทางในหน้าประวัติศาสตร์ก่อนการสูญพันธุ์
จากหลักฐานทางบรรพชีวินวิทยาระบุว่านกพิราบนักเดินทางเพิ่งมีวิวัฒนาการขึ้นเมื่อราว 5.3 ถึง 3.6 ล้านปีที่แล้ว พวกมันอยู่อาศัยในทวีปอเมริกาเรื่อยมา ในอดีตนั้นชนพื้นเมืองในทวีปอย่างอินเดียนแดงต่างก็ล่าพิราบชนิดนี้เป็นอาหารโดยเฉพาะลูกนกอ่อนที่บินไม่ได้โดยใช้อุปกรณ์ง่ายๆอย่างธนูกับตาข่าย แต่ก็ไม่ได้ล่าแบบล้างผลาญ
ด้วยความที่นกพิราบชนิดนี้มักอาศัยอยู่กันเป็นนิคมขนาดใหญ่ ชาวอินเดียนจึงนิยมลอบเข้าไปล่าลูกนกในตอนกลางคืนเพื่อป้องกันไม่ให้นกเต็มวัยตกใจและทิ้งนิคมไป การล่าแบบนี้จึงไม่ค่อยทำลายนิคมพวกมันมากนัก แต่แล้วเมื่อชาวยุโรปเริ่มอพยพหลั่งไหลเข้ามาพร้อมอาวุธปืน ทำให้เกิดวิธีการล่าพิราบแบบล้างผลาญเพิ่มขึ้น [1]
ด้วยความที่พิราบนักเดินทางมีจำนวนมหาศาลแถมเนื้อของมันยังอร่อยและใช้เป็นเสบียงได้ดี พวกมันจึงถูกล่ามากขึ้นจนถึงขนาดที่ชาวยุโรปเรียกมันว่า "ป่าของอาหาร (Forest of food)" ภาพที่ชาวยุโรปคุ้นตาในช่วงนั้นคือฝูงพิราบมโหฬารพร้อมเศษขี้นกที่โปรยปรายเหมือนหิมะจนขาวโพลนจนกระทั่งเมื่อถึงช่วงหลังสงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกา (ค.ศ.1775 - ค.ศ.1781) สิ้นสุดได้ราวยี่สิบปี จำนวนนกพิราบเหล่านี้ก็เริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว
การล่านกพิราบนักเดินทางแบบล้างผลาญได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 จากความต้องการเสบียงอาหารของอเมริกันชน
เนื่องจากมีการขยายตัวของชุมชนเมืองและเร่งก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ตามนโยบายการเคลื่อนย้ายไปตะวันตก (westward movement; “Go West”) และการบุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier expansion) ทำให้นกพิราบกลายเป็นเสบียงสำคัญของชาวอเมริกันในยุคนั้น ว่ากันว่าในเมืองใหญ่ๆอย่างนิวยอร์กก็มีการล่าพิราบมากถึงปีละกว่าสองล้านตัว
การล่าพิราบยังคงทำกันต่อเนื่องเพราะผู้คนไม่ตระหนักว่าพวกมันจะสูญพันธุ์ ในช่วงศตวรรษที่ 19 การล่าพิราบนักเดินทางเป็นไปอย่างดุเดือดและใช้วิธีที่ทำลายล้างกว่าเดิมมาก ภาพพิมพ์ในยุคนั้นแสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันใช้วิธีล่าที่หลากหลาย ทั้งใช้ตาข่ายขนาดยักษ์ขึงไว้บนต้นไม้สูงแล้วใช้หมาไล่ต้อนให้พิราบมาติดตาข่าย หรือแม้กระทั้งทหารก็ใช้กระสุนปืนใหญ่ชนิดลูกปรายยิงใส่ฝูงนกพิราบโต้งๆ !!!
นอกจากการล่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นกพิราบลดจำนวนลงแล้ว เกษตรกรก็มองว่าพวกมันเป็นศัตรูพืชที่ฉกาจ จนทำให้เกิดนโยบายการล่าเพื่อลดจำนวนพิราบอย่างเป็นระบบ นกพิราบที่เหลืออยู่จึงรวมฝูงกันหนาแน่นขึ้นซึ่งเป็นกลยุทธที่ได้ผลในการหลบผู้ล่าในธรรมชาติของมัน แต่สำหรับคนแล้วการรวมฝูงอย่างหนาแน่นกลับทำให้พิราบเป็นเป้านิ่งในการล่าอย่างง่ายดาย
การล่าเกินขนาดแบบนี้ทำให้นกพิราบลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจากจำนวนกว่าสี่พันล้านตัวในช่วงศตวรรษที่ 18 ลดลงเหลือราวๆ พันล้านตัวในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 แต่ในเวลาเพียงห้าสิบปี ฉากสุดท้ายก็เดินทางมาถึงเมื่อจำนวนของพวกมันลดลงอย่างน่าตกใจ จนในปี 1912 นกพิราบนักเดินทางตัวสุดท้ายของโลกที่ชื่อ "มาธาร์" ก็ตายในสวนสัตว์ซินซินนาติ สหรัฐฯ ปิดฉากตำนานนกที่ครั้งหนึ่งเคยมีจำนวนมากที่สุดในโลกไปตลอดกาล
"มาธาร์" คือนกพิราบนักเดินทางตัวสุดท้ายที่ตายในปี ค.ศ.1912
คำถามคือนกพิราบเหล่านี้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วได้อย่างไร?
แม้เราจะรู้ว่าการล่าเกินขีดจำกัดคือสาเหตุหลักที่ทำให้นกพิราบนักเดินทางสูญพันธุ์แต่อะไรคือสาเหตุเบื้องหลังจริงๆ กันแน่ ในที่สุดงานวิจัยในปี 2014 [2] ก็อาจจะช่วยตอบคำถามนี้ เมื่อนักวิจัยวิเคราะห์ตัวอย่างสารพันธุกรรมจากซากนกพิราบนักเดินทางที่เหลืออยู่จากพิพิทธภัณฑ์ต่างๆ
ผลลัพธ์ที่ได้น่าตกใจมาก เพราะนกพิราบทั้งหมดในอเมริกากลับมีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ต่ำกว่าที่เราคิดกันไว้มาก นั้นทำให้เกิดอันตรายต่อประชากรของพวกมัน แต่เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น
การประเมินจำนวนประชากรคร่าวๆจากความผันแปรทางพันธุกรรมในพิราบนักเดินทางชี้ให้เห็นว่าพวกมันมีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยกว่าที่เราเคยคิดมาก
คำตอบถึงแม้ประชากรนกพิราบนักเดินทางจะมีมหาศาลแต่การมีรูปแบบพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกันมากเกินไปจะทำให้เกิดการคัดเลือกโดยธรรมชาติจนส่งผลให้พวกมันสูญเสียความหลากหลายระหว่างยีน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือนกพิราบนักเดินทางพวกมันจงใจคัดเลือกยีนที่ทำให้พวกมันมีพฤติกรรมรวมเป็นฝูงขนาดใหญ่เอาไว้
แน่นอนว่ากลยุทธ์นี้ใช้ได้ผลกับผู้ล่าในธรรมชาติ แต่เมื่อเผชิญหน้ากับชาวยุโรปที่อพยพเข้ามาใหม่ กลยุทธ์รวมกลุ่มเป็นฝูงกลับกลายเป็นโทษมากกว่าคุณ แม้จำนวนมหาศาลของพวกมันน่าจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเอาชีวิตรอดที่มีประสิทธิภาพที่สุดเพราะไม่มีนักล่าตัวใดสามารถฆ่าพวกมันได้ทั้งหมด กลยุทธ์นี้พบเห็นได้ในแมลงบางชนิดและสัตว์อื่น ๆ และแม้แต่ในสัตว์มีกระดูกสันหลังบางชนิด
กลยุทธ์รวมกลุ่มเป็นฝูงนอกจากจะพบในพิราบนักเดินทางแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือปลาแฮรริ่งที่พบว่ายิ่งมันรวมฝูงใหญ่ยิ่งง่ายต่อการถูกล่า จนประชากรของพวกมันลดจำนวนลงจนใกล้สูญพันธุ์แบบเดียวกับที่เกิดในพิราบ
แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือพวกมันกลับต้องสูญเสียทรัพยากรทางพันธุกรรมที่จำเป็นในการปรับเปลี่ยนสรีรวิทยาและพฤติกรรมของพวกมันให้เร็วพอที่จะอาศัยอยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดแบบเดียวกับพิราบชนิดอื่น บางครั้งสิ่งที่ชัดเจนที่สุดจากเรื่องนกพิราบนักเดินทางคือ ทุกชีวิตในธรรมชาติล้วนต้องปรับตัวอยู่เสมอเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนไป
โฆษณา