20 เม.ย. 2021 เวลา 05:03 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปิดอาณาจักรแสนล้าน “GULF” ทำธุรกิจอะไรบ้าง
ก่อนที่ Wealthy Thai จะพานักลงทุนไปเจาะเบื้องลึกของบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตไฟฟ้าอย่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF คงจะต้องขอย้อนหลังเหตุการณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่โตที่ทำให้ GULF กลับมาอยู่ในจอเรดาร์ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และประชาขนทั่วไป ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น Wealthy Thai จะมาเล่าให้ฟัง
หลังจากที่ล่าสุด GULF หรือ “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” เจ้าพ่อโรงไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย ที่มีเจ้าของเป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งอย่าง “สารัชถ์ รัตนาวะดี” บุคคลที่รวยที่สุดในตลาดหุ้นไทย ณ ขณะนี้ ได้ทำดีลขนาดใหญ่มูลค่ามหาศาลกว่า 5.32 แสนล้านบาท
ด้วยการเข้าทำเทนเดอร์ขอซื้อหุ้นต่อจากผู้ถือหุ้นทั้งหมดใน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH และ ADVANC โดย INTUCH เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งใน ADVANC หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม AIS ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับหนึ่งของประเทศ
อาจจะมีคำถามว่าทำไมจะต้องใช้เงินมากถึงขนาดนั้นเลยหรือ? คำตอบคือใช่ เพราะทาง GULF จะต้องทำเทนเดอร์หุ้นทั้งหมดของ INTUCH จำนวน 81% ของหุ้นที่เหลือทั้งหมด (เพราะก่อนหน้านี้ GULFเข้าไปถือหุ้น INTUCH แล้วประมาณ 19% นั่นเอง) โดย GULF จะต้องซื้อหุ้นที่เหลือสัดส่วน 81% หรือประมาณ 2,599,631,112 หุ้น ในราคา 65บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่า 1.68 แสนบาท
ขณะเดียวกันทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ Chain Principle จะต้องทำเทนเดอร์หุ้น ADVANC ด้วย เพราะ INTUCH ถือหุ้นใน 40% ซึ่งทำให้ GULF จะต้องทำเทนเดอร์หุ้น ADVANC ทั้งหมด 100% คิดเป็นจำนวน 2,973,554,313 หุ้น ที่ราคา 122 บาทต่อหุ้น คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 3.62 แสนล้านบาท ประเด็นที่ทำให้ GULF เป็นที่พูดถึงในกระแสสังคมอยู่ ณ ขณะนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องนี้เป็นแน่แท้
ทั้งนี้ Wealthy Thai จะพานักลงทุนมาดูว่า GULF ตอนนี้ทำธุรกิจอะไรบ้าง และมีมูลค่าบริษัทใหญ่ขนาดไหนถึงกล้าที่จะก้าวข้ามเป็นเจ้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับที่ 1 ของไทย ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกลุ่มทุนจากสิงคโปร์ และเป็นอดีตภายใต้กลุ่มบริษัทชินคอร์ป
GULF เริ่มต้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 6 ธ.ค. 2560 กลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค โดยประกอบธุรกิจ ถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ การลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลังงานชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซและพลังงานหมุนเวียน โดยให้บริการทั้งภาครัฐ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.) และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้เรายังบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาและการก่อสร้าง ไปจนถึงการบริหารหลังจากเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์
สำหรับ โครงสร้างธุรกิจหลักของบริษัทฯ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Power generation business), ธุรกิจก๊าซ (Gas business), ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewables business), ธุรกิจพลังงานน้ำ (Hydropower business), และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค (Infrastructure & utilities business) เราจะพานักลงทุนไปลงลึกถึงในรายละเอียดในแต่ละหมวดธุรกิจของ GULF
ธุรกิจผลิตไฟฟ้า
.
เริ่มที่ธุรกิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่ง GULF มีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ สามารถผลิตและจำหน่ายไฟให้กับกฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปี ในขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดเล็ก มีการผลิตและจำหน่ายไฟให้กับกฟผ. ในปริมาณ 70% - 80% ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 25 ปี โดยไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับกฟผ. จะกระจายผ่านเครือข่ายสายส่งทั่วประเทศของกฟผ. จากนั้นจึงจำหน่ายต่อไปยังกฟภ. และกฟน. ซึ่งเป็นผู้จ่ายไฟต่อไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศ
นอกจากนี้โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติยังจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเย็นให้กับผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ข้อมูลตามเว็ปไซต์ระบุว่า GULF มีโรงไฟฟ้าที่ดำเนิน 5,800 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7,766 MW
ธุรกิจก๊าซ
.
ธุรกิจจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติภายใต้บริษัทย่อย (Gulf LNG) เพื่อจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้า SPP ในเครือ 19 โรง ในปริมาณรวม 300,000 ตันต่อปี อีกทั้งยังได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติภายใต้กิจการร่วมค้า (HKH) เพื่อจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ในปริมาณรวม 1.4 ล้านตันต่อปี
ส่วนธุรกิจสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวGulf MTP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 70.0 เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาและดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ในจังหวัดระยอง และได้รับสิทธิในการออกแบบ ก่อสร้าง และประกอบกิจการท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) โดยสามารถรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวได้ถึง 10.8 ล้านตันต่อปี
ขณะที่ธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อ GULF ถือหุ้น 40% ในบริษัท PTT NGD เพื่อลงทุนในการก่อสร้างระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดระยอง นอกจากนี้ ยังถือหุ้นผ่านกิจการร่วมค้า Gulf WHA MT 35% เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อจำนวน 2 โครงการ (NGD2 และ NGD4) โดยจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมในบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (eastern seaboard)
ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
.
สำหรับโครงการในประเทศ กัลฟ์พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป 4 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง รวมทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 25 MW สำหรับโครงการในต่างประเทศ กัลฟ์ถือหุ้นโดยตรงในโซลาร์ฟาร์มและฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งในประเทศเวียดนาม ด้วยกำลังการผลิตรวม 246.8​ เมกะวัตต์ นอกจากนี้ กัลฟ์เข้าถือหุ้น 50% ในโครงการ Borkum Riffgrund II ในประเทศเยอรมนี โดยมีกำลังการผลิตรวม 464.8 MW โดยมีโรงไฟฟ้า ที่ดำเนินการ 609.2 MW​ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 128 MW
ธุรกิจพลังงานน้ำ
.
กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนลุ่มแม่น้ำโขงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ตามกรอบความร่วมมือ (MOU) ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทย กับ สปป.ลาว โดยโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภท Run-of-the-river หรือ เขื่อนแบบน้ำไหลผ่านที่ไม่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยจะใช้การไหลของน้ำตามธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเท่ากับน้ำไหลออก จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน
.
ในปี 2562 กัลฟ์ เริ่มลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ในส่วนการก่อสร้างสถานีขนส่ง LNG, การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 (อาคาร F) ในส่วนการก่อสร้าง การเดินเครื่อง และการบำรุงรักษาท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) โครงการบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง บางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81) ในส่วนงานออกแบบและก่อสร้างงานระบบ รวมถึงบริการเดินเครื่อง บำรุงรักษา และยังมีโครงการร่วมทุนเพื่อลงทุนและดำเนินงานระบบจำหน่ายไฟฟ้าและระบบทำความเย็นสำหรับโครงการ One Bangkok ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
ติดตามอัพเดตความรู้ทางการเงิน-การลงทุนได้ที่
.
Facebook : Wealthy Thai
โฆษณา