20 เม.ย. 2021 เวลา 14:02 • ประวัติศาสตร์
นาครานี : ราชินีขาวแห่งแดนลึกลับ
นาครานี : ราชินีแดนลึกลับ
หากใครเคยดูหนังฝรั่งสักยี่สิบสามสิบปีก่อนจะมีอยู่เรื่องหนึ่งที่มีตัวเอกเป็นหญิงสาว ซึ่งเธอเป็นราชินีของคนเถื่อน เธอได้รับพลังวิเศษมาและสามารถปกครองคนในอาณาจักรได้ทั้งที่พวกนั้นเป็นชายฉกรรจ์ ว่ากันว่าเรื่องจริงมันยิ่งกว่านิยาย แต่ว่าวันหนึ่งก็มีหญิงสาวผิวขาวจากแดนผู้ดี ดั้นด้นมายังดินแดนอันป่าเถื่อน แถมยังสามารถนำทัพเหล่าชายชนเผ่าที่โหดเหี้ยมเข้าห้ำหั่นกับศัตรูโดยไม่เกรงกลัว แถมชายเหล่านั้นยังยินยอมให้เธอสั่งการซะงั้น เริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมครับว่า เธอคนนี้เป็นใครและมีที่มาอย่างไร มารับชมรับฟังไปด้วยกันครับ
เออร์ซูล่าในวัยสาวทึ่อังกฤษ
ราชินีของเราในวันนี้เธอมีนามว่า เออร์ซูล่า เกรแฮม บาวเวอร์ เธอเกิดในปี 1914 โดยพ่อของเธอนั้นเป็นนายทหารเรือผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 มาอย่างโชกโชน เขาสอนให้เธอใช้ปืนตั้งแต่ยังเล็ก แทนที่เขาจะให้ตุ๊กตาบาร์บี้แก่เธอในวัยเด็ก เขากลับพาเธอไปยิงปืนใส่กระป๋องนม แทนเข้าสูตรลูกผู้การเป๊ะๆ โดยที่หารู้ไม่ว่าเธอจะได้ใช้ทักษะนี้ต่อมาอีกยี่สิบกว่าปี
เด็กหญิงโรงเรียนโรเดี้ยน
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเข้าเรียน คุณพ่อผู้เข้มงวดก็ส่งเธอไปเรียนที่โรงเรียนโรเดี้ยน อันเป็นโรงเรียนหญิงล้วนชื่อดังในอังกฤษอยู่ที่ไบรท์ตัน เพราะคงกลัวว่าเธอจะกลายเป็นสาวห้าวเหมือนลูกสาวกำนันในละครช่องเจ็ดช่วงหัวค่ำเข้าสักวัน จนเธออายุได้สิบแปดปี เธอก็ฝันว่าจะไปเรียนคณะมนุษยศาสตร์ที่อ็อกซ์เฟิร์ด แต่ฝันก็สลายเพราะฐานะไม่ดี และพ่อแม่ก็หย่าร้างกัน
กองเรือหาคู่ : ค่านิยมของสาวโสดยุคนั้น
ดังนั้นในปี 1937 เออร์ซูล่าจึงออกเดินทางไปอินเดียตามคำชวนของเพื่อนของเธอที่มีพี่ชายทำงานที่นั่น แม่ของเออร์ซูล่าก็เห็นดีด้วย เผื่อเออร์ซูล่าจะได้ผู้ดีๆสักคนมาแต่งงาน เนื่องจากในสมัยนั้นมีค่านิยมว่าสาวๆโสดๆชาวอังกฤษมักขึ้นเรือไปอินเดียเพื่อหาทางจับคู่กับนายทหารหนุ่มๆที่เพิ่งจบและไม่ได้มีโอกาสพบเจอสาวไหนเลย เป็นการนัดบอดในตำนานก็ว่าได้
ราชินีนาคา vs ราชินีนาคี
แต่ทว่าเออร์ซูล่าไม่ได้สนใจสิ่งนั้น วันหนึ่งเธอมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวยังนากาฮิลล์ที่อยู่ใกล้ๆรัฐมณีปุระ ทางตะวันออกเฉียงเหนือติดกับชายแดนพม่า นี่เป็นเหมือนรักแรกพบ เธอหลงใหลในวิถีชีวิตของชนเผ่านากาหรือนาคาที่ได้พบเจอ(แต่ไม่ใช่นาคี เพราะถ้าเป็นนาคีจะเปลี่ยนจากเออร์ซูล่าจะเป็นแต้วแทน) และหากมีโอกาสเธออยากจะอุทิศชีวิตให้งานมานุษวิทยาให้กับเผ่านี้อย่างที่เธอได้ใฝ่ฝันมานาน
วัยรุ่นนาคา
ขยายความนิดนึงครับว่าที่มาของชาวนากาเป็นอย่างไร "นากา"สันนิษฐานได้ว่าอาจมาจากคำว่านาคาหรือนาค แต่ที่เป็นไปได้มากกว่าคือน่าจะมาจากคำว่านากาในภาษาพม่าที่แปลว่าคนที่เจาะรูหู เพราะส่วนใหญ่นิยมเจาะหูกัน หน้าตาคนเผ่านากาจะกระเดียดไปทางมองโกลอยด์ในขณะที่คนอินเดียจะไปทางอารยัน
นักรบนาคาและอีดาบคู่ใจ
ชนเผ่านากานี้ว่ากันว่าเป็นนักรบที่เหี้ยมโหด โหดขนาดที่อินเดียหรืออังกฤษต้องออกประกาศว่าใครจะไปดินแดนนั้นจะต้องขออนุญาตจากทางการ ไม่งั้นโดนตัดหัวม่องเท่งง่ายๆ ไม่ใช่เฉพาะคนต่างชาตินะครับ ในระหว่างเผ่ากันเองถ้าไม่ใช่พวกเดียวกันวันดีคืนดีก็บุกกันไปฆ่าล้างหมู่บ้าน เอาหัวกลับมาเป็นของที่ระลึกกันเป็นว่าเล่น แถมเชื่อกันว่า ชนเผ่านากานี่เหยียดเพศหญิงมาก ถึงขั้นไม่ให้ยุ่งเรื่องการบ้านการเมือง ยิ่งถ้าไปฆ่าอะไรมาให้ ผู้ชายจะไม่ยอมกินเป็นอันขาด เพราะรู้สึกเสียศักดิ์ศรี
เออร์ซูล่าได้โอกาสกลับไปนากาแลนด์อีกครั้ง
มาต่อกันครับ จากนั้นอีกสองปีเมื่อสงครามโลกปะทุขึ้น เออร์ซูล่าเห็นช่องทางโอกาสในการกลับไปยังนากาฮิลล์ เธอร้องขอรัฐบาลอังกฤษให้ส่งเธอไปช่วยดูแลชาวนากาให้ปกป้องตนเองจากการรุกรานของญี่ปุ่น เมื่อรัฐไฟเขียว เธอก็เตรียมตัวเอาปืน กล้อง และยารักษาโรคไปด้วย เพื่อเตรียมไปใช้ชีวิตที่นั่น
เออร์ซูล่าสอนการใช้อาวุธ
ในช่วงแรกๆ เออร์ซูล่าก็ไม่ได้รับการยอมรับสักเท่าใดนัก เพราะสังคมของนากามิได้ให้การยอมรับผู้หญิงอย่างที่ได้บอกเอาไว้ แต่การที่เธอมีความรู้สามารถรักษาโรคเบื้องต้นได้ก็เริ่มทำให้คนในเผ่ายอมรับ แถมเธอยังเข้าไปคลุกคลีพูดคุยจนเข้าถึงจิตใจได้ อีกทั้งเธอยังสอนการใช้ปืนให้กับผู้ชายในเผ่า และบางครั้งก็หาญกล้าเข้านำทีมในการล่าสัตว์ โดยเป็นคนลั่นไก ทำให้บรรดากระทาชายนากาทั้งหลายต่างทึ่งและยกย่องในความสามารถของเธอ จนแทบจะสถาปนาให้เธอเป็นเหมือนดั่งราชินีผู้ลงมาโปรด
ฮัวมู่หลานและโจนออฟอาร์ค
ถ้าถามว่าเออร์ซูล่าทำให้ความเชื่อของชาวนากาเปลี่ยนไปหรือเปล่าเรื่องสตรีเพศ ตอบเลยว่าไม่ เธอกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "จริงๆ ชาวนากาก็ไม่ได้มองอิชั้นว่าเป็นหญิงสักเท่าไหร่หรอกนะ เค้าออกจะมองว่าดิชั้นใกล้เคียงกับโจนออฟอาร์กหรือมู่หลานเสียมากกว่า คิดว่าคงมองว่าอิชั้นเป็นคนวิเศษ" ซึ่งชาวนากามักจะยอมรับนับถือในความกล้าหาญของคนเป็นหลัก
กองกำลังบาวเยอร์นำโดยเออร์ซูล่า
เมื่อครั้นญี่ปุ่นยึดพม่าไว้ได้แล้วและมีแนวโน้มว่าจะเข้าตีอินเดีย ก็มีการตั้งกองกำลัง V force ที่ประกอบจากชนเผ่าพื้นเมืองโดยมีเจ้าหน้าที่จากอังกฤษที่คุ้นเคยกับชนเผ่านั้นๆ เป็นผู้ควบคุม ส่วนมากมักจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร เว้นแต่ในส่วนของนากาฮิลล์นี่แหละครับ ที่มีผู้นำเป็นผู้หญิงซึ่งก็เป็นใครไม่ได้นอกเสียจากเออร์ซูล่า ราชินีขาวคนนี้นี่เอง
เออร์ซูล่าและปืนคู่ใจ
กองกำลัง V force ในส่วนการนำของเออร์ซูล่าประกอบด้วยเธอและชายชาวนากาอีก 150 คนซึ่งได้รับสมญานามจากผู้บังคับบัญชาว่า "กองกำลังบาวเยอร์" เพื่อให้เกียรติแก่ราชินีขาวคนนี้ โดยอาวุธหลักก็เป็นดาบคู่ใจของชาวนากาที่เอาไว้ตัดหัวข้าศึก และปืนโบราณรุ่นเก๋ากึ้ก ในขณะที่อาวุธคู่ใจของเออร์ซูล่าเป็นปืนกลมือสเตนคู่ใจสองกระบอกสะพายข้างที่คุณพ่อของเธอสอนเธอใช้ตั้งแต่ยังเยาว์วัย
นากาฮิลล์
โดยพื้นที่ปฏิบัติการของกองกำลังบาวเยอร์อยู่บริเวณชายแดนอินเดีย-พม่าทางตอนเหนือพื้นที่ราวๆ 800 ตารางไมล์ หน้าที่หลักคือการลาดตระเวนหาข่าวและใช้ยุทธวิธีกองโจรในการซุ่มโจมตีทหารญี่ปุ่น ซึ่งผลงานของหน่วยงานของเธอก็สามารถสกัดกั้น หยุดยั้งกองทัพลูกพระอาทิตย์ไม่ให้รุกรานมาเส้นทางนี้ได้ เพราะความชำนาญในพื้นที่และยุทธวิธีกองโจร ทำให้ญี่ปุ่นต้องล้มเลิกแผนที่จะเข้าตีอินเดีย จนทำให้ญี่ปุ่นต้องตั้งค่าหัวของเธอ
รางวัลชีวิตของเออร์ซูล่า
เมื่อจบสงครามเออร์ซูล่าก็ได้รับเหรียญกล้าหาญจากรัฐบาลอังกฤษ และได้เหรียญ Lawrence Memorial Medal ที่ตั้งชื่อจากลอว์เรนซ์แห่งอาระเบียในฐานะงานด้านมานุษวิทยาที่เธอได้ไปทำงานวิจัยชนเผ่านากา ที่แม้ว่าเธอจะไม่ได้จบจากอ็อกซ์เฟิร์ดแต่ก็มีผลงานอย่างดีเยี่ยม นอกจากเหรียญทั้งสองแล้วเธอยังได้บรรลุเป้าหมายในชีวิตอีกอย่างคือได้สามีมาจนได้
ลอดซุ้มกระบี่ฉบับทหารกุรข่า
สามีของเออร์ซูล่าเป็นนายทหารยศพันโท เขาชื่อว่าพันโทเฟรดเดอริก นิโคลสัน เบทส์ โดยทั้งคู่พบรักกันในขณะที่ร่วมทำงานกันใน V force ในปฏิบัติการที่พม่า โดยผู้พันนำกองกำลังอัสสัม ส่วนเออร์ซูล่าก็นำกองกำลังนากา จนเมื่อมาพบกันตรงชายแดนอินเดีย-พม่าในตะวันออกเฉียงเหนือ คนเหงาย่อมเข้าใจคนเหงาเมื่อสายตาเศร้าๆส่งไปทักทายกัน ทำให้ดอกรักผลิบาน ณ ที่ชายแดน จนแต่งงานกันหลังจบสงครามไม่กี่เดือน สมประสงค์ของคุณแม่จนได้นะเออร์ซูล่า
เออร์ซูล่าในช่วงหลังสงคราม
จากนั้นทั้งคู่ก็ใช้ชีวิตในอินเดียได้สักสองสามปี ก่อนที่จะต้องย้ายออกไปเพราะอินเดียประกาศอิสรภาพในปี 1948 โดยไปอยู่ที่เคนย่าแต่ก็อยู่ได้สักพักต้องย้ายกลับมาอังกฤษพร้อมกับลูกสาวสองคนในที่สุด เพราะเกิดการลุกฮือขึ้นของชาวพื้นเมือง โดยในที่สุดเธอก็ได้ปริญญากิตติมศักดิ์สาขามนุษยวิทยาจนได้ในปี 1950 จากมหาวิทยาลัยลอนดอน เธอก็ใช้ชีวิตในอังกฤษเรื่อยมาจนในปี 1988 เออร์ซูล่าในวัย 74 ปี ก็เสียชีวิตอย่างสงบท่ามกลางครอบครัวที่อบอุ่น อันเป็นการปิดฉากชีวิตราชินีขาวแห่งเผ่านากา
ช่วงชีวิตของเออร์ซูล่า
ไม่น่าเชื่อครับว่าการที่เออร์ซูล่าคนนี้ที่เป็นคนต่างแดนและสตรีเพศจะได้รับการยอมรับจากคนในเผ่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้เลยว่าเธอไม่ได้มาที่เผ่านากาตามแบบอย่างลัทธิอาณานิคม และเธอไม่ได้มาที่นี่ด้วยเรื่องเผยแผ่ศาสนา แต่การที่เธอมาที่นี่ เธอมาด้วยใจล้วนๆ เมื่อใจถึงใจ การได้ใจจึงเกิดขึ้น เธอจึงกลายเป็นราชินีที่แม้ว่าจะไม่ได้ครองบัลลังก์ แต่เธอก็ได้ครองใจของคนในเผ่าทุกคนจนก่อเกิดเป็นตำนานให้เล่าขานกันจนถึงปัจจุบัน เรื่องราวก็มีจบลงเพียงเท่านี้ ขอขอบคุณทุกท่านและสวัสดี
นากาควีน
โฆษณา