20 เม.ย. 2021 เวลา 19:00 • การเมือง
"คนไทยไม่จำเป็นต้องจน" แต่เราจนเพราะเราไม่จำ มีบางสิ่งบางอย่างที่เราอนุญาตให้เกิดขึ้นในอดีต แล้วก็พาเรามาที่ความจน
"คนไทยจนเพราะทน" เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราก็ตาม ใครจะทำอะไรกับเราก็ตาม เราก็ยังทนได้ เราเป็นคนที่ไม่ออกมาโวยวายว่าสิ่งนี้ใช้การไม่ได้ ถ้าเรายังทนอยู่เราก็ยังต้องจนต่อไป
"...ผมเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถ เราเก่งที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคราฟต์งานฝีมือก็ดี เรื่องของศิลปะ เรื่องของการออกแบบ คนไทยเป็นชนชาติที่เก่งที่สุดในโลก...แต่ถ้าคนไทยมีสติปัญญามีความสามารถเยอะขนาดนี้ ทำไมเรายังจนอยู่ล่ะครับ..."
ในปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มต้นกลุ่ม CARE เราได้มีการเสนอแนวคิดหลายอย่าง เพื่อจะให้คนไทยพ้นจากความหายนะมาโดยตลอด ความคิดเหล่านั้นได้รับการตอบสนองบ้าง ไม่ได้รับการตอบสนองบ้าง
มาดูกันว่าสถานการณ์ที่เราอยู่ตอนนี้หน้าตาเป็นยังไง
1. เราไม่มีเงินเหลือในประเทศ อันนี้คือสิ่งที่เราเห็น มันไม่มีเงินเหลือในประเทศแล้ว เงินมันหายไปไหนหมด
ในช่วงปี 2544 ถึง 2549 เรามีอัตราของการลงทุนจากต่างประเทศอยู่ประมาณ 41% ของกลุ่มอาเซียน แปลว่าเงินจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในกลุ่มอาเซียนทั้งหมด มาลงทุนที่ไทยไปแล้ว 41%
แต่ปี 2559 ถึง 2561 เหลืออยู่แค่ 14% มันต่างกันมาก แล้วนี่คือ 14% ของกลุ่มประเทศอาเซียน แปลว่าเขาไม่มาลงทุนเมืองไทยแล้ว เขาไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
แล้วในช่วงปี 2559 การลงทุนที่คนไทยเอาเงินไปลงทุนในต่างประเทศประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2561 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แปลว่านอกจากต่างประเทศไม่ลงทุนในเมืองไทยแล้ว คนไทยยังไม่ลงทุนในเมืองไทยเลย คนไทยยังขนเงินไปลงทุนต่างประเทศเลย
ข้อเสนอของ CARE คือ ทำให้เกิดการลงทุน ไม่ใช่การกู้เงิน
มุมมองของคนทำธุรกิจ ถ้าคุณทำการค้าไม่ได้แล้วคุณกู้อย่างเดียว สิ่งที่จะเหลือกับคนไทยทุกคนก็คือพวกเราได้เป็นหนี้กันถ้วนหน้า เช่น รัฐบาลกู้เงินจากแบงค์ชาติในรูปของพันธบัตร 100 ปี ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อที่จะดึงเงินบางส่วนที่เรามีอยู่ออกมาเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ
2. สร้างทุนหมุนเวียนสำหรับ SMEs
SMEs มีเงินอยู่ แล้วสิ่งที่เราเจอคือโควิด สิ่งที่รัฐบาลบอกคือปิดธุรกิจ ปิดร้านอาหาร ปิดห้าง ปิด ปิด ปิด ปิด ปิด เราก็ไม่มีรายได้ เราก็ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน เงินก็เริ่มหมด
ข้อเสนอของ CARE คือ ปล่อยเงินกู้ให้กับ SMEs
ปล่อยกู้โดยที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับ SMEs แล้วให้ธนาคารหรือรัฐบาลเป็นคนค้ำประกันเงินกู้เหล่านั้น เพื่อให้ SMEs มีเงินกลับเข้ามาในระบบ เพื่อจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ หรือแม้กระทั่งการเสนอแนวคิดแนวคิดเรื่องการให้รัฐเข้ามาถือหุ้นร่วมกับ SMEs บางอันที่มีประวัติดีมีแนวทางธุรกิจดี รัฐเข้ามาถือหุ้นเลย ถือหุ้นร่วมกันเลยเพื่อประคับประคองให้ SMEs ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้
3. พักการชำระภาษี
เวลาที่เราไม่มีตังค์เนี่ยไม่มีเงินเนี่ยก็แปลว่าจากภาษีน้อยลง เพราะเราไม่มีเงินในกระเป๋า
สิ่งที่รัฐทำได้ก็คือบอกว่ารัฐบอกว่ารัฐไม่มีรายได้ รัฐต้องการได้เงินมากขึ้น รัฐทำยังไง ก็เก็บภาษีหนักขึ้น ประชาชนจน รายได้น้อยสิ่งที่รัฐทำคือเก็บภาษีหนักขึ้นไปอีก แล้วประชาชนจนหนักเข้าไปอีก เป็นวงจรอุบาทว์
ข้อเสนอของ CARE คือ Negative Income Tax
ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ของประชาชนให้พ้นขีดของความจนที่ 2,700 กว่าบาท
อันนี้เป็นสิ่งซึ่งไม่ได้ช่วยเฉพาะแต่ SMEs ช่วยประชาชนโดยตรง ช่วย SMEs แล้วก็ช่วยธุรกิจ ทำให้คนทั้งประเทศมีศักยภาพในการทำธุรกิจมากขึ้น แล้วก็ขยายขอบเขตความสามารถในการจ่ายภาษี ซึ่งจะช่วยประเทศในที่สุดได้
4. ทำให้กล้า อย่าทำให้กลัว
ประเด็นคือว่าไม่ใช่เรากลัวอย่างเดียว ต่างประเทศก็กลัวไปด้วย คนที่จะมาลงทุนเขาเห็นว่าเรามีพรก.ฉุกเฉิน เขาไม่มาลงทุน เพราะเขาก็พลอยกลัวไปด้วย ทุกคนตอนนี้กลัวไปหมด ต่างประเทศกลัวไม่ลงทุน นักลงทุนก็ไม่ลงทุนเพราะกลัว ประชาชนเองก็อยู่ด้วยความกลัว
ข้อเสนอของ CARE คือ ตระหนักแต่ไม่ตระหนก
เราต้องการความมั่นใจที่จะก้าวไปข้างหน้า รัฐบาลจะต้องสื่อสารไปในวิธีที่ทำให้เกิดความมั่นใจ
ความมั่นใจสำหรับประชาชน สำหรับพวกเรา สำหรับนักลงทุน ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่าแล้วจะไปจากจุดนี้เราจะไปกันต่อยังไง
ผมเชื่อว่า "คนไทยต้องไม่จน" แล้วถ้าทุกคนเชื่อกันแบบนั้น "เราก็จะไม่จน" คิดไว้เสมอว่าพวกเราต้องไม่จน แล้วเดี๋ยวเราจะหาทางออกที่จะพาประเทศเราไปข้างหน้า "แล้วเราก็จะรอดไปพร้อม ๆ กัน"
ดวงฤทธิ์ บุนนาค
#คนไทยไร้จน
#ฝันเฟื่องหรือเรื่องจริง
#คิดเคลื่อนไทย
บทความเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564
โฆษณา