20 เม.ย. 2021 เวลา 19:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นโยบายที่เรียก "UBI" หรือ "รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า" เป็นที่สนใจสำหรับนักวิชาการและคนทั่วไปจำนวนมาก ในฐานะ "นโยบายบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ"
หลายประเทศมีการทดลองใช้นโยบายแจกเงินที่คล้าย ๆ กับ UBI
เช่น ที่เมืองสต็อกตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศนอร์เวย์ เป็นต้น
แล้ว UBI คืออะไรกันล่ะ ?
UBI จะทำให้กินเหล้า เมายากันมากขึ้นไหม ?
UBI จะทำให้คนไม่ทำมาหากินกันรึเปล่า ?
แล้ว UBI มีอะไรดี ทำไมผู้คนทั่วโลกถึงหันมาสนใจขนาดนี้ ?
มาร่วมกันหาคำตอบและทำความรู้จัก "UBI" นโยบายแห่งอนาคตที่จะทำให้ "คนไทยไร้จน" กับ "ปราชญ์ ปัญจคุณาธร" 1 ในผู้รู้จริงเรื่อง UBI ผู้เชี่ยวชาญจาก Stanford Income Lab
.
#CARE #คิดเคลื่อนไทย #UBI
บทความเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
"UBI คือ การประกันความเสี่ยงในชีวิตให้คน ช่วยบรรเทาความเสี่ยงในชีวิตที่ไม่เคยแน่นอน และช่วยให้คนรับความเสี่ยงได้มากขึ้น Mark Zuckerberg เคยพูดสนับสนุน UBI ไว้โดยใช้แนวคิดนี้แหละว่า 'The greatest successes come from having the freedom to fail' คือ ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาจากการมีเสรีภาพที่จะล้มเหลวได้"
- ปราชญ์ ปัญจคุณาธร -
UBI คืออะไร?
UBI หรือ Universal Basic Income คือ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ซึ่งต้องมีคุณสมบัติทั้ง 5 ข้อ คือ
1. เป็นสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้คนในรูปแบบเงิน ไม่ใช่สินค้า
2. เป็นสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้อย่างถ้วนหน้าที่ต้องให้ทุกคนไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม
3. เป็นสวัสดิการที่ไม่ตั้งเงื่อนไข ทั้งเงื่อนไขในการรับและเงื่อนไขในการใช้จ่ายเงิน
4. เป็นสวัสดิการที่แจกให้กับปัจเจกบุคคล ไม่ใช่แจกให้กับครัวเรือน
5. เป็นสวัสดิการที่แจกอย่างประจำสม่ำเสมอ เป็นงวด ไม่ใช่แจกครั้งเดียวจบ
.
แล้ว UBI เชื่อในอะไร?
1. Anti-Paternalism - รัฐไม่ใช่ผู้ปกครอง ประชาชนคิดเองเป็น
.
UBI เชื่อว่าประชาชนสามารถคิดเองได้ เลือกได้ว่าอะไรจำเป็นสำหรับเขา รัฐไม่ควรมาบอกชนิดสินค้าที่ประชาชนควรได้รับเป็นสวัสดิการ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม UBI ถึงมุ่งแจกเป็นเงินมากกว่าเป็นสินค้า
2. ความเท่าเทียมในฐานะพลเมือง
.
UBI เชื่อว่าประชาชนทุกคนมีความเป็นพลเมืองเท่าเทียมกัน สวัสดิการจึงควรจ่ายให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จ่ายอย่างถ้วนหน้าและไม่มีเงื่อนไข
.
สวัสดิการไม่ใช่เงินสงเคราะห์ที่จะมาสงเคราะห์คนเฉพาะกลุ่ม และไม่ใช่เงินรางวัลที่มาตอบแทนการผ่านเงื่อนไขอะไรบางอย่าง
3. No stigma - ไม่ตีตราใครว่าเป็นภาระเงินภาษี
.
UBI เชื่อว่าสวัสดิการไม่ควรถูกตีตราว่าเป็นภาระเงินภาษี นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม UBI ถึงจ่ายให้ทุกคน เพราะไม่อยากให้มีกลุ่มคนที่ได้รับสวัสดิการแล้วถูกตีตราว่าเป็นภาระเงินภาษี
4. Individualism
.
UBI เชื่อในปัจเจกบุคคล การจ่ายเงินจึงจ่ายให้ปัจเจก ไม่ใช่จ่ายให้ครัวเรือน เพราะเชื่อว่าความเป็นพลเมืองอยู่ที่ปัจเจก ไม่ได้อยู่ที่ครัวเรือน
.
และการจ่ายให้ปัจเจกอาจจะเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศได้ ถ้าจ่ายให้กับครัวเรือนอาจจะไปเพิ่มอำนาจให้กับหัวหน้าครอบครัวที่มีอำนาจในการบริหารเงิน การจ่ายให้ปัจเจกอาจเพิ่มอิสรภาพทางการเงินให้คนหนุ่มสาว จึงไม่ต้องพึ่งพาหัวหน้าครอบครัวมาก
5. Safety net - บรรเทาความเสี่ยงในชีวิต
.
UBI เชื่อในการประกันความเสี่ยงให้คน การประกันความเสี่ยงจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงในชีวิตที่คนไม่อาจคาดคิดได้
.
ช่วยให้คนรับความเสี่ยงได้มากขึ้น ทำให้เกิดนวัตกรรมมากขึ้น ทำให้คนกล้าทำงานสร้างสรรค์มากขึ้น ช่วยระบบเศรษฐกิจให้เกิด Gig Economy มากขึ้น
แปลว่าคนที่จะเชื่อว่า UBI สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับสังคม จะต้องเชื่อใน 1 ใน 5 แนวคิดเหล่านี้
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ UBI ที่ใครหลายคนยังไม่เข้าใจ
1. UBI จะทำให้มีการบริโภคอบายมุขเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากงานวิจัยทุกชิ้น รวมถึงข้อมูลจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และจากประเทศกำลังพัฒนาในอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย
ทุกที่พูดตรงกันว่า UBI ไม่ทำให้การบริโภคแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาสูบ ยาเสพติด หรือการพนัน มากขึ้น
2. UBI จะทำให้คนขี้เกียจทำงาน
หลายคนกังวลงว่า UBI จะทำให้คนทำงานกันน้อยลง ทรัพยากรมนุษย์สูญเปล่า หรือเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน และทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น
แต่ข้อสรุปขององค์กร Oversea Development Institute ซึ่งได้ศึกษางานวิจัยกว่า 165 ชิ้น พบว่า UBI ไม่ได้ทำให้คนทำงานกันน้อยลง UBI ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุปทานแรงงาน หรือถ้ามีผลก็มีผลในทางบวก
3. UBI จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ
ผลจากการศึกษาวิจัยหลายชิ้นบอกชัดเจนว่า UBI ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ โดยแทบไม่มีหลักฐานเลยว่า UBI จะทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างมีนัยยะสำคัญ
.
แล้วคนจะใช้เงินไปกับอะไรล่ะ?
การเลือกใช้เงินของประชาชนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
ผลการศึกษาจากเคนย่าพบว่า ถ้าจ่าย UBI ขนาดเล็กแต่จ่ายถี่ ส่วนมากคนจะใช้เงินไปซื้ออาหาร ถ้าจ่าย UBI ขนาดใหญ่ แต่จ่ายไม่ถี่ คนจะซื้อสินค้าคงทน เช่น หลังคาสังกะสี
และถ้าจ่ายอย่างประจำ แน่นอน ตัวเลขคาดการณ์ได้ คนจะบริโภคกันมากขึ้น แต่ถ้าจ่ายไม่แน่นอน ไม่สม่ำเสมอ คนจะออมเงินกันมากขึ้น
3 เทรนด์ที่ทำให้คนหันมาสนใจ UBI กันมากขึ้น
1. Technology Disruption
คนมีความกังวลว่าเทคโนโลยีจะมาทำให้คนตกงานจำนวนมาก ทำให้ความสนใจเกี่ยวกับ UBI เพิ่มขึ้นในฐานะที่เป็นเบาะรองสำหรับคนที่ตกงานแล้วเปลี่ยนทักษะไม่ทัน
2. ความไม่พอใจในระบบทุนนิยม
ความไม่พอใจเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่พอใจต่อทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ซึ่งกระตุ้นให้คนพยายามหาทางออก หามาตรการที่มาบรรเทาผลกระทบจากทุนนิยม
3. ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจน
นักวิชาการในสาย Development และ NGO เริ่มมีความเห็นมากขึ้นว่าสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความยากจน คือการให้เงินคนจน ไม่ใช่การให้สินค้า
มีงานวิจัยจำนวนมากระบุว่าการให้เงินมีประสิทธิภาพกว่าการให้สินค้า ทำให้เอ็นจีโอระดับนานาชาติเริ่มมาให้ความสนใจกับการให้เงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้เกิดความสนใจใน UBI มากขึ้น
.
รู้หรือไม่?
.
Andrew Yang ผู้สมัครขั้นต้นเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอ UBI เป็นโยบายหลัก
รวมถึง Mark Zuckerberg และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ UN ก็ออกมาเรียกร้องให้แต่ละประเทศพิจารณาใช้ UBI ในฐานะเป็นนโยบายบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน
โฆษณา