21 เม.ย. 2021 เวลา 02:20 • การเกษตร
ขั้นตอนการเพาะเมล็ด "ต๋าว..."
การเพาะเมล็ดของพืชตระกูลปาล์ม (palm) นั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายนักเพาะพันธุ์ต้นไม้ไม่ใช่เล่น
เพราะเมล็ดพันธุ์ของปาล์มนั้นบางเมล็ดก็ใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือน สองเดือนก็มีรากงอกออกมาให้ชื่นชม แต่ทว่าบางเมล็ดนี่ ต้องรอกันข้ามเดือน ข้ามปี ถึงจะได้มี "รากน้อย ๆ" ออกมาให้ชมเชย
1
ต้นกล้าเล็ก ๆ ของต๋าวที่เพิ่งงอกออกมาได้ไม่กี่วัน
เช่นเดียวกับเจ้าเมล็ดพันธุ์ของ "ต๋าว (ตาว หรือ ชิด (Arenga Pinnata) )" ซึ่งจัดได้ว่าเป็นพืชดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในป่าของเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบจังหวัดน่านและอุตรดิตถ์
เจ้าเมล็ดของต๋าว หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในนามของ "ลูกชิด" ซึ่งเห็นได้ทั่วไปในถ้วยไอศครีมและชามขนมหวานนั้น ถ้าหากทำการเพาะทั้งเมล็ด (แบบเม็ดใหญ่ ๆ) นี้ ต้องรอกันข้ามปีกันทีเดียว
ผลของต๋าว
การย่นระยะเวลาของการเพาะเมล็ดต๋าวนั้น ก็เช่นเดียวกันกับเมล็ดปาล์มเกือบทุกชนิดคือ เราต้องกระเทาะ "กะลา" ซึ่งหุ้มห่อเมล็ดข้างในไว้จนถึง "สะดือ (Cyrum)"
เจ้ากะลาหรือเปลือกแข็ง ๆ ที่หุ้มเมล็ดไว้นี่เอง เป็นส่วนที่ทำให้การเพาะเมล็ดปาล์มนั้นต้องกินเวลามาก
การกระเทาะเปลือกของต๋าวนั้น มีวิธีการหลัก ๆ อยู่สองวิธีด้วยกัน (เท่าที่รู้ตอนนี้) คือ
๑. ทุบเอาเปลือกออกแบบสด ๆ
วิธีนี้ก็เป็นดั่งเช่นวิธีที่เราทำ คือ เราค้อนหรือไม้มานั่งทุบเปลือกของต๋าวออกจนกระทั่งได้เมล็ดในมาแล้วนำไปเพาะ
เนื้อและเมล็ดต๋าวที่แกะออกจากเปลือก
วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ดี รวดเร็ว ได้เปอร์เซ็นต์ความสมบูรณ์ของเมล็ดสูง แต่ทว่า... ต้องเสียงกับน้ำยางของต๋าวซึ่งมีพิษร้ายแรง (ต๋าวน้อย คันนัก... และ ความคันก็ “ไม่เที่ยง...” )
๒. การนำไปแช่น้ำก่อนแล้วน้ำมาเหยียบ
วิธีการนี้ได้รับการแนะนำจากท่าน อ.ไพศาล วรอุไร ท่านบอกวิธีการมาว่า
ให้นำเมล็ดต๋าวไปแช่ในน้ำสักประมาณหนึ่งหรือสองสัปดาห์ พอเปลือกข้างนอกยุ่ยแล้ว ก็ให้เทลงในกะบะ แล้วใส่รองเท้าปู๊ตลงไปเหยียบ จนเมล็ดต๋าวปลิ้นออกมา
สำหรับวิธีการนี้เรายังไม่เคยลอง จึงไม่สามารถอธิบายได้ละเอียดนัก แต่ทว่า... สิ่งที่เราพอคิดออกได้ ณ เวลานี้คือ ถ้าเหยียบไป เหยียบมา แล้วเจ้าน้ำต๋าวที่เราเหยียบอยู่ดันกระเด็นเข้าไปในรองเท้าบู๊ต เหมือนกับที่น้ำยางของต๋าวกระเด็นเข้าไปในถุงมือตอนที่เราทุบเมล็ดต๋าวอยู่ล่ะก็.... "คันอย่าบอกใคร!"
ครั้นเมื่อได้เมล็ดต๋าวมาแล้ว วิธีการที่จะทำให้เมล็ดต๋าวขึ้นได้อย่างรวดเร็วที่สุดคือ การนำเมล็ดต๋าวนั้นไปเพาะไว้ใน "ขุยมะพร้าว"
วิธีการทำก็คือ นำขุยมะพร้าวมาผสมกับน้ำให้มีความชุ่มชื้นพอเหมาะ
ความชุ่มชื้นเพาะเหมาะในที่นี่หมายถึง เมื่อเรากำขุยมะพร้าวที่ผสมน้ำไว้ในมือแล้ว เมื่อคลายมือออก ขุยมะพร้าวยังอยู่เป็นรูป เป็นทรง คือ ไม่แตก หรือคืนรูปไปเป็นขุย ๆ เหมือนเดิม
ขุยมะพร้าวที่ผสมน้ำแล้วใช้มือบีบ
ถ้าหากกำขุยมะพร้าวดูแล้ว ขุยมะพร้าวที่กำนั้นแตก แสดงว่าเราใส่น้ำน้อยเกินไป
แต่ถ้าหากกำขุยมะพร้าวดูแล้ว "น้ำไหลโจก" ก็แสดงว่า เราใส่น้ำมากเกินไป
หากเราใส่น้ำน้อย ความชื้นที่จะทำให้เมล็ดต๋าวขึ้นได้นั้นก็จะไม่เพียงพอ จะทำให้เมล็ดฝ่อ ไม่สามารถขึ้นได้
แต่ถ้าหากเราใส่น้ำมากเกินไป "เมล็ดจะหายใจไม่ออก" โดยถ้าแช่น้ำไว้มาก ๆ เป็นเวลานาน ๆ เมล็ดต๋าวนั้นก็จะ "เน่า" และเสียหายไป
การแช่เมล็ดต๋าวในขุยมะพร้าวนี้ เมื่อเตรียมขุยมะพร้าวเสร็จแล้ว ก็ให้นำเมล็ดต๋าวคลุกเคล้าลงไปกับขุยมะพร้าวนั้น แล้วนำลงไปใส่ไว้ในถุงดำ หรือถังพลาสติก ปิดปากถุงหรือปากถังให้สนิทแล้วทิ้งไว้ประมาณ 2-3 เดือน โดยต้องทำการตรวจสอบความชื้นของขุยมะพร้าวทุก ๆ สองสัปดาห์
เมล็ดต๋าวที่ผสมไว้กับขุยมะพร้าว ใส่ไว้ในถุงพลาสติก พร้อมกับทำป้ายติดชนิดพร้อมวันเวลาที่เริ่มเพาะ
เทคนิค เคล็ดลับ ถ้าหากต้องการให้เมล็ดปาล์มที่เพาะออกรากได้เร็วขึ้น
๑. ก่อนเพาะในขุยมะพร้าวนั้น ควรจะนำเมล็ดไปแช่ในน้ำอุ่นเป็นเวลาหนึ่งคืน
๒. เมล็ดก่อนที่จะแช่ในขุยมะพร้าวนั้น ควรจะแช่ด้วยน้ำยากันรา ประมาณ 3-5 นาที เพราะเมล็ดปาล์มนั้นมีน้ำตาลค่อนข้างมาก จะทำให้เมล็ดน้ำเสียได้
๓. ควรจะวางถุงหรือถังที่ผสมขุยมะพร้าวกับเมล็ดปาล์มแล้วไว้กลางแดด เพื่อที่สร้างอุณภูมิให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เมล็ดปาล์มนั้นออกรากได้เร็วขึ้น
ข้อควรระวังในการเพาะเมล็ดพันธุ์ปาล์ม คือ
ห้ามนำเมล็ดปาล์มไปตากแดดก่อนที่จะเพาะ เพราะจะทำให้เมล็ดฝ่อ อาหารที่เมล็ดปาล์มเก็บไว้เพื่อออราก ออกใบ ออกต้นนั้นจะสูญเสียไป
การเพาะเมล็ดพันธุ์ปาล์มนั้น "ยิ่งสด ยิ่งดี..."
เมล็ดต๋าวแบบสดๆ
โฆษณา