27 เม.ย. 2021 เวลา 05:00 • ถ่ายภาพ
Bloody Saturday - ภาพ 136 ล้านวิว
หนึ่งภาพ กับยอดวิว 136 ล้านวิว ในปีค.ศ. 1937 ยุคที่ยังไม่มี Social Network
1 ใน 100 ภาพ ทรงอิทธิพลตลอดกาล ของนิตยสาร Time
ภาพเด็กน้อยตัวไหม้เกรียม ร้องไห้อยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง ตีแผ่ความโหดร้ายของสงครามให้คนทั่วโลกตระหนัก
Bloody Saturday, H.S.Wong, 1937
28 สิงหาคม 1937 เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
ท่ามกลางไฟสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น บ่ายสี่โมงเย็นวันที่ 28 สิงหาคม สถานีรถไฟเซี่ยงไฮ้ใต้ กำลังคลาคล่ำไปด้วยผู้สัญจรไปมามากกว่า 1,800 คนทุกคนไม่รู้เลยว่า เครื่องบินทิ้งระเบิด 16 ลำของกองทัพญี่ปุ่นกำลังมุ่งตรงมาที่สถานี เพื่อที่จะถล่มสถานีรถไฟให้ราบเป็นหน้ากลอง
ลุยเลือดถ่าย
เมื่อเสียงระเบิดดังขึ้น H.S.Wong ช่างถ่ายภาพยนต์ของหนังสือพิมพ์ Hearst Metrotone News ที่เตรียมพร้อมตลอดเวลา ได้รีบรุดไปที่เกิดเหตุ เพื่อเก็บภาพเหตุการณ์(สมัยนั้น หนังสือพิมพ์หลายสำนัก มีหนังข่าวเอาไว้ฉายก่อนเริ่มฉายหนัง)
เมื่อเขาไปถึงสถานีรถไฟ สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของเขาคือ ซากปรักหักพัง เศษอวัยวะ ร่างผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ กระจายไปทั่วบริเวณสถานีรถไฟเซี่ยงไฮ้ใต้ ผู้บาดเจ็บหลายคนพยายามหยัดกายลุกขึ้น ขณะที่คนที่ไม่ได้รับบาดเจ็บเข้ามาช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเท่าที่จะทำได้
ท่ามกลางเสียงร้องครวญครางของผู้บาดเจ็บ ซากศพ เศษอวัยวะ และเลือดของผู้เคราะห์ร้าย สิ่งเดียวที่ทำให้ Wong กัดฟันถ่ายภาพยนต์และภาพนิ่งต่อไปได้คือความมุ่งมั่น ที่จะนำภาพความโหดร้ายนี้ ที่กองทัพญี่ปุ่น ทำกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ออกสู่สายตาชาวโลก
เมื่อ Wong หยุดเพื่อเปลี่ยนฟิล์ม เขาพบว่า เขากำลังเดินลุยเลือดของเหยื่อระเบิดซึ่งนองเต็มพื้นสถานีรถไฟ จนรองเท้าของเขานั้น ชุ่มโชกไปด้วยเลือด
เหยื่อ
ขณะที่ Wong ตะเวนเก็บภาพในสถานีรถไฟ เขาพบเด็กน้อย ที่ร่างไหม้เกรียม ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดอยู่บนพื้นชานชาลา เมื่อ Wong เดินเข้าไปใกล้ เขาพบร่างไร้ชีวิตของแม่เด็กอยู่บนรางรถไฟ ส่วนตัวเด็กน้อยนั้น Wong ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเด็กชายหรือหญิง เพราะเด็กโดนไฟไหม้อย่างสาหัส Wong ถ่ายภาพหนูน้อยอย่างรวดเร็ว และกำลังจะเข้าไปอุ้มเด็กน้อยที่กำลังร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดเพื่อปลอบโยน ก่อนที่ชายที่น่าจะเป็นพ่อของเด็กน้อยได้เข้ามาอุ้มเด็กไป เพื่อนำไปปฐมพยาบาล
เผยความโหดร้าย สู่สายตาชาวโลกกว่า 136 ล้านคน
Wong ส่งฟิล์มจากจีน ไปที่ต้นสังกัดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือน กันยายน 1937 ฟิล์มถูกล้างและนำออกฉายในโรงภาพยนต์ (หนังข่าว) มีผู้รับชมถึง 50 ล้านคน ในประเทศสหรัฐอเมริกา และอีก 30 ล้านคน นอกประเทศสหรัฐอเมริกา Hearst Metrotone News ได้นำภาพนี้ลงหนังสือพิมพ์ อีกกว่า 25 ล้านฉบับ นอกจากนี้ยังมีสื่ออื่นๆที่ลงภาพนี้ และมีผู้รับชมมากกว่า 31 ล้านคน จนในที่สุด เมื่อนิตยสาร Life นำภาพนี้ลงตีพิมพ์ ในเดือนตุลาคม 1937 ก็มีคนเห็นภาพนี้แล้วกว่า 136 ล้านคนทั่วโลกภายในระยะเวลาแค่3เดือน ในยุคสมัยที่ยังไม่มี Social Network และโทรทัศน์ก็ยังไม่แพร่หลายด้วยซ้ำ
ภาพนี้ได้ทำให้เกิดกระแสต่อต้านญี่ปุ่นอย่างรุนแรงในโลกตะวันตก และได้นำความช่วยเหลืออย่างมากมายมาสู่ประเทศจีน ส่วนกองทัพญี่ปุ่น ได้ยอมรับว่าทิ้งระเบิดสถานีรถไฟจริง แต่อ้างว่าเป็นเพราะเข้าใจว่าผู้โดยสาร (ประมาณ1,800 คน) เป็นกองทหาร และยังกล่าวหาว่าภาพนี้เป็นการจัดฉาก ทั้งๆที่มีภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับภาพนี้ด้วย
อีกภาพแสดงถึงชายที่ช่วยเด็กน้อยขึ้นมานั่งบนชานชาลา และภาพแม่ของเด็กที่รางรถไฟ
เด็กน้อยได้รับการปฐมพยาบาล
Wong ถูกตั้งค่าหัวโดยกองทัพญี่ปุ่น เป็นเงิน 50,000 ดอลล่าสหรัฐ หรือคิดเป็นค่าเงินปัจจุบัน เท่ากับ 890,000 ดอลล่าสหรัฐ และการถูกคุกคามทำให้เขาต้องหนีจากเซี่ยงไฮ้ ไปที่ฮ่องกงในปี 1938
สงคราม ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ต่างก็ทิ้งบาดแผล และความเจ็บปวดให้กับผู้คน โดยเฉพาะประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่ก็แปลก ที่มนุษย์เราก็ยังก่อสงคราม โดยอ้างเหตุผลต่างต่างนานาอยู่ แปลกดีไหมครับ?
โฆษณา