22 เม.ย. 2021 เวลา 14:29 • การเมือง
นิทัศน์การเมืองไทย EP.006/1 - บ้านเมืองมีปัญหาต้องแก้ไข “พรรคประชากรไทย” มีวิธี
22 เมษายน จากวันนี้ เมื่อ 42 ปีก่อน
คือวันเลือกตั้ง ส.ส.
การเลือกตั้งในครั้งนั้น มีปรากฎการณ์สิ่งหนึ่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อ "พรรคเก่าแก่" อย่างพรรคประชาธิปัตย์ แพ้ให้กับ "เด็กเมื่อวานซืน" อย่างพรรคประชากรไทย
"จากสนามไชยถึงสนามหลวง" คือตำนานบทหนึ่งแห่งการเมืองไทย
จึงขอโอกาสเล่าเรื่องพรรคประชากรไทย ในฐานะประวัติศาสตร์หนึ่ง แห่งสนามการเมืองกรุงเทพฯ ผ่าน "นิทัศน์การเมืองไทย" EP นี้
ปฐมบทชีวิต “สมัคร”
สมัคร สุนทรเวช เกิดเมื่อ 13 มิถุนายน 2478 ที่กรุงเทพฯ สายตระกูลของ สมัคร เป็นถึง “ขุนนาง” มาแต่ครั้ง รัชกาลที่ 6 (ต้นตระกูลของสมัคร คือ พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น) แพทย์หลวงประจำพระองค์ของ รัชกาลที่ 6 ส่วนบิดา คือ พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน) เป็นมหาดเล็กประจำพระองค์)
ด้วยอุปนิสัยของ สมัคร ที่เป็นนักอ่านที่ดี และ นักพูดที่เก่ง จึงทำให้สิ่งนี้ กลายเป็นที่จดจำจากการหาเสียงและอภิปรายในสภาฯ
สุมิตร สุนทรเวช ในฐานะน้องชาย เล่าให้ฟังผ่าน มติชน วีคเอนต์ เมื่อปี 2559 ว่า สมัครนั้น เป็นคนที่ “พูดเก่ง” คนหนึ่ง และ เป็น “ยอดนักอ่าน” จากการเริ่มต้นการอ่านหนังสือพิมพ์ นี่เองคงเป็นคุณสมบัติประการหนึ่ง ที่ทำให้ เวลาที่ สมัคร ออกไปปราศรัยหาเสียงครั้งใด ก็มักจะตรึงผู้ชมผู้ฟังได้ติดหู อยู่ทุกครั้งไป
สมัครเรียนจบมัธยมศึกษา ตอนปลาย ที่โรงเรียนเซนต์คาเบียล รุ่น 2492 - 2493 (รุ่นเดียวกับ กำธร สุวรรณปิยะศิริ นักแสดง และ ผู้ให้เสียง “เปาบุ้นจี้น”, ภราดาประทีป ม. โกมลมาศ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) ก่อนที่จะไปจบ อนุปริญญา ที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์
ก่อนที่จะได้เรียนในระดับอุดมศึกษา ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รุ่นของ สมัคร คือ นิติฯ มธ.01) ซึ่งมีเพื่อนร่วมรุ่นนามอุโฆษ อย่าง ชวน หลีกภัย, อุทัย พิมพ์ใจชน, มานิจ สุขสมจิตร และ มีชัย ฤชุพันธ์
ภาพจาก รัฐสภาไทย, ไทยรัฐ, Positioning Magazine
ชีวิตในช่วงมหาวิทยาลัย สมัคร ถือว่าเป็นนักกิจกรรมตัวยง เพราะเป็นทั้งทีมงานเชียร์ในฟุตบอลประเพณีฯ เป็นนักโต้วาทีตัวยงของมหาวิทยาลัย และ เป็น “เกรียน” หนังสือพิมพ์คนหนึ่ง คือทั้งแต่งกลอนประชด และ เขียนบทความวิจารณ์ ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสมัยนั้น (เวลานั้น อธิการบดีของมหาวิทยาลัย คือ จอมพล ถนอม กิตติขจร-ผู้เขียน) และจากฝืมือการ “วิจารณ์” นี้เอง ก็เป็นใบเบิกทาง สู่การเป็นนักเขียนให้กับ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ยุคที่ นพพร บุณยฤทธิ์ เป็น บรรณาธิการ
พร้อมๆ กับเกือบจะโดน “ถอดชื่อ” ไม่ให้รับปริญญาบัตร แต่สุดท้ายก็ยังรอดมารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ เมื่อปี 2506
แต่หลังจากจบออกมา สมัคร เลือกไปเรียนอบรมเป็น “ไกด์” ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานเป็น เสมียน และ นักขาย อยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่อเมริกา พอกลับถึงเมืองไทย สมัคร ก็ถูกชักชวนจากเพื่อนฝูง ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2511
และ จากการชักชวนของเพื่อนในครั้งนั้น ก็ทำให้ชีวิตของ สมัคร เปลี่ยนไป
"การเมืองเรื่องตัณหา"
ช่วงเวลาที่ สมัคร เข้าร่วมชายคาพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นช่วงที่กำลังกู้ศรัทธาคืนบทบาทของเขาในเวลานั้น คือการได้ร่วมจัดตั้ง “กลุ่มสัมมนาประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นการรวบรวมคนหนุ่ม ที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาทำงานการเมือง ซึ่งตัวเขาเองก็ถือว่าเป็น "แกนหลัก" สำคัญในการดำเนินการนี้
ภาพจาก twitter @can_nw (แคน สาริกา)
ปี 2514 สมัคร เกือบมีโอกาสได้ "เดบิวต์" ในทางการเมืองสนามใหญ่ จากเหตุที่ ส.ส. พระนคร ของพรรคในเวลานั้นเสียชีวิตลง จึงต้องมีการเลือกตั้งซ่อมกันใหม่
พร้อม ๆ กับการที่มีการเลือกตั้ง เทศมนตรี เทศบาลนครกรุงเทพ ในเวลาไล่เลี่ยกันพอดี
ซึ่ง สมัคร ถูกเสนอชื่อให้ลงเลือกตั้งเทศมนตรี...
ในช่วงเวลานั้น เขาและภรรยา ต้องลงพื้นที่หาเสียง และติดป้ายหาเสียงเอง ก็เพราะมูลเหตุข้างต้น คือพรรคสนใจแต่การเลือกตั้งซ่อมกันหมด
แต่สุดท้าย ผลการเลือกตั้งเทศมนตรีออกมา สมัคร ได้รับเลือกตั้ง ชนิดที่พรรคเองก็ไม่คาดคิดด้วยซ้ำ
แต่ สมัคร ก็ เป็นเทศมนตรีได้ไม่กี่เดือน ก็ถูกผลพวงของ รัฐประหาร(ตัวเอง) ของจอมพล ถนอม กิตติขจร ในปี 2514 สภาเทศมนตรีนครกรุงเทพ ก็มีอันต้องยุบตามคำสั่ง
นักการเมือง(พึ่ง)ตกงานอย่างเขา จึงไปรับงานฆ่าเวลาเป็นเจ้าหน้าที่สถานฑูตอิสราเอล พร้อมๆ กับการเขียนคอลัมน์ประจำให้กับสยามรัฐ ในนามปากกา “นายหมอดี” ด้วยการเปิดโปงการทุจริตในภาครัฐ
ก่อนที่ในปี 2516 หลังเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” (14 ตุลาคม 2516-ผู้เขียน) สมัคร ก็ได้รับเลือกเข้าไปเป็นหนึ่งในสมัชชาแห่งชาติ (สภาสนามม้า-ผู้เขียน) และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในเวลาต่อมา
บทบาทของเขาในสภาฯ จะหนักไปทางเศรษฐกิจ (การตรวจสอบวิธีการจัดเก็บภาษีของรัฐในเวลานั้น) และ การร่างรัฐธรรมนูญฯ ใหม่ ซึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญฯ 2517 ในเวลาต่อมา พร้อม ๆ กับเสียงปี่กลองการเลือกตั้งกลับมาอีกหน...
สมัคร กลับมาร่วมงานพรรคประชาธิปัตย์ และลงเลือกตั้ง ร่วมทีมกับหัวหน้าพรรคในเวลานั้นอย่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และเพื่อนร่วมรุ่นที่ธรรมศาสตร์อย่าง พิภพ อะสิติรัตน์ ลงในเขตเลือกตั้งที่ 6 ในเวลานั้น (ประกอบด้วย พระนคร ป้อมปราบฯ บางรัก สัมพันธวงศ์-ผู้เขียน) และชนะการเลือกตั้งแบบ "ยกทีม"
หลังการเลือกตั้งครั้งนั้นเอง สปอร์ตไลท์การเมืองส่องมาที่ตัวเขาโดยพลัน เพราะชื่อของเขา ได้รับตำแหน่ง "รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ" ซึ่งกับ ส.ส. สมัยแรก นี่ถือว่า มาไกล และ มาไว มาก ๆ
ด้านในพรรคเอง ก็ต้องมองกันอย่างตรง ๆ ว่าปรากฎถึงความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่าง "อนุรักษ์นิยม" และ "หัวก้าวหน้า" ซึง่ถูกมองว่าเป็น "ซ้าย" ในเวลานั้น
สมัคร คือตัวตั้งตัวตีสำคัญในฟากของ "อนุรักษ์นิยม" เช่นเดียวกับ ธรรมนูญ เทียนเงิน ชนกับแนวคิดของนิสิตนักศึกษาในเวลานั้น รวมไปถึงกลุ่มการเมืองด้วยกันเอง
แต่เพราะการโดน "ไม่ไว้วางใจ" นโยบายของรัฐบาล เสนีย์ 2 ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี เพียง 21 วัน
แต่ว่ารัฐบาลต่อมา "รัฐบาลสหพรรค" ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แห่งพรรคกิจสังคม และชาวคณะ ก็ไปไม่รอดเช่นกัน จึงต้อง "ยุบสภา" กันใหม่
คราวนี้ สมัคร สุนทรเวช ขอนำทีมพรรคประชาธิปัตย์ สู้ในเขตดุสิต ซึ่งก็เป็นเขตที่ นายกฯ(รักษาการ) ลงชิงชัยด้วยพอดี (ในนามพรรคกิจสังคม)
ภาพจากหนังสือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี - สำนักพิมพ์มติชน
ในคราวนั้น สมัคร ได้สมาชิกร่วมทีม คือ พลเอก ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา และ ประเทศ รมยานนท์ เวลานั้น บรรดาเกจิการเมือง และ นักหนังสือพิมพ์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “แพ้แน่นอน”
ทว่า ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งในเขตนั้นแบบ “ยกทีม” หักปากกาเซียน เกจิการเมือง และส่ง "หม่อมป้า" ไปขายขนมครก...เสียอย่างนั้น
คราวนี้ สมัคร จึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯ มหาดไทย ซึ่งกลายเป็นว่า รัฐบาลนี้เข้ามาใน "จังหวะนรก" พอดี เนื่องด้วย การกลับมาของ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่กลับมาบวชเป็นพระ ซึ่งอารมณ์ของประชาชน ยังไม่อาจยอมรับได้ ทำให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
แต่พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ก็ยังมีมติเห็นชอบให้ ม.ร.ว. เสนีย์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง
แต่คราวนี้ ชื่อของ สมัคร และ สมบุญ ศิริธร ที่เป็นแกนนำกลุ่มหัวเก่าไม่ปรากฎ
ก็จึงเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ระหว่าง สมัคร กับ พรรคประชาธิปัตย์
และเป็นหนึ่งในมูลเหตุแห่งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในที่สุด...
หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไป รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร
สมัคร ก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งบทบาทของเขาในช่วง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ส่งผลต่อตำแหน่งหน้าที่ เพราะสื่อมวลชนต่างก็โจมตีว่ามีส่วนในการ “ปลุกระดมมวลชน”
แต่เจ้าตัวก็ไม่ได้สนใจ...
จนกระทั่งมีการยึดอำนาจ(อีกรอบ) ในปี 2520
สองปีจากนั้นผ่านไป สมัคร ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์นานแล้ว นี่คงถึงเวลาแล้วที่จะต้อง “เดินด้วยลำแข้งตัวเองสักที?”
"จากสนามไชยถึงสนามหลวง"
ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ ปี 2521 ซึ่งมีผลทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 120 วัน หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
ความเคลื่อนไหวในวงการเมือง ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าในเวลานั้น จะยังไม่มีกฎหมายที่ว่าด้วยพรรคการเมือง (ซึ่งทำให้ การส่งผู้สมัครในเวลานั้น คือใช้ชื่อว่าเป็น “กลุ่มการเมือง” เสียมากกว่า)
สมัคร สุนทรเวช ตัดสินใจตั้งกลุ่มพรรคการเมืองของตัวเองสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งนี้โดยมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์อย่าง พิภพ อะสีติรัตน์ อดีต ส.ส. กรุงเทพฯ และ สนิท กุลเจริญ ส.ส. สมุทรปราการ ที่ออกมาร่วมกัน
และก็ตกลงชื่อ กลุ่มพรรคการเมืองว่า “ประชากรไทย”
แต่แค่สามคน จะตั้งพรรคการเมือง คงไม่เพียงพอ….
พวกเขาเลยไปชักชวนผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนมาร่วมกันก่อร่างสร้างพรรค ไม่ว่าเป็น อดีตรองผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก สนธิ บุณยะชัย, เกษม บุญศรี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร, นักวิชาการการศึกษา ที่เคยเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการอย่าง ศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ สาธร, อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท ชนะ วงศ์ชะอุ่ม เป็นต้น
เมื่อได้ก่อตั้งพรรค ก็ต้องสรรหาผู้คนมาลงสมัคร ซึ่งได้ปรึกษาหารือกัน โดยหวังที่นั่งในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน และ สมุทรปราการ กระนั้นก็ยังมีคนที่ลงสมัครในนามพรรค แต่ลงในต่างจังหวัด ทั้ง ยิ่งพันธ์ มนะสิการ (พิษณุโลก) ชัยสิทธิ์ ภูวภิรมย์ขวัญ (พิจิตร) เป็นต้น
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ พรรคประชาธิปัตย์ อันเป็น ”พรรคยอดนิยม” และ "เก่าแก่" ของคนกรุงแล้ว ดูแล้วยังไงก็สู้ไม่ได้
แต่ “ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทนง” ทั้งที ก็ต้องลุยสักตั้ง!
ภาพจาก หนังสือจากสนามชัยถึงสนามหลวง
วันที่ 9 มีนาคม 2522 กลุ่มประชากรไทยเริ่มต้นหาเสียง “เปิดรายการ” ครั้งแรกที่ สนามไชย
สมัคร เล่าบรรยากาศในวันนั้นให้ฟังว่า “...ตอนที่ผมปืนขึ้นบันไดไปปรากฎตัวบนหลังคารถปราศรัยนั้น ก็ได้เวลา 5 โมงเย็นพอดี ขึ้นไปอยู่บนที่สูงแล้วก็แลเห็นผู้คนไหลมาจากทุกทิศทุกทาง มองลงไปข้างล่างด้านหน้ารถปราศรัยนั้น ท่านผู้สนใจในการเมืองไปจับจองที่นั่งกันหน้าสลอนยาวเหยียดไปตามแนวสนาม และนั่งกันเลยข้างฟากจากถนนแบ่งครึ่งไปจนจรดเวทีดนตรีของทาง กทม. ที่สร้างเอาไว้ตอนใกล้กับต้นไทรใหญ่ท้ายสนาม…”
“...ผมขอเรียนว่าในชีวิตผมที่เคยเจอกับความตื่นเต้นระทึกใจอะไรแบบนี้มานักหนาแล้ว ผมยังไม่ตื่นเต้นเท่ากับการได้แลเห็นท่านผู้สนใจการบ้านการเมืองทั้งหลายไปชุมนุมกันอยู่ที่นั่น...”
การหาเสียงครั้งแรกของกลุ่มประชากรไทย ที่ สนามไชย 9 มีนาคม 2522 - ภาพจาก หนังสือจากสนามชัยถึงสนามหลวง
ยุทธวิธีการหาเสียงของ กลุ่มประชากรไทย ในเวลานั้น คือ “การสร้างความสนิทสนม” กับประชาชน ซึ่งทำให้คะแนนนิยม สูสีกับทางพรรคประชาธิปัตย์ โดยบดูได้จากจำนวนคนมาฟังการหาเสียงของพรรค ที่ขี่กันไม่มาก ซึ่งสมัครกล่าวว่า "สร้างขวัญกำลังใจดีไม่น้อย"
43 วันผ่านไป สมัคร และ พรรค เลือกที่จะ "ปิดรายการ" หาเสียงที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2522 ซึ่งเขาตั้งใจเลือกที่นี่เป็นปักหมุดหมาย ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นในชัยชนะของพรรค ก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึง ด้วยมวลชนที่มาฟังอย่างล้นหลาม
การหาเสียงครั้งสุดท้ายที่สนามหลวง 20 เมษายน 2522  - ภาพจาก หนังสือจากสนามชัยถึงสนามหลวง
แต่สื่อมวลชนสมัยนั้น ก็คงไม่ได้คาดคิดว่า กลุมพรรคประชากรไทย ที่นำโดย สมัคร สุนทรเวช จะหาญกล้า ล้มพรรคยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อย่างถล่มทลาย!
"ประชากรไทยฟิเวอร์"
22 เมษายน 2522 วันเลือกตั้ง
สมัคร เล่าบรรยากาศในวันนั้นไว้ว่า วันนั้น “ขนลุกซู่” ไปทั้งตัว เมื่อได้ไปสังเกตการณ์ หน่วยเลือกตั้ง ทั่วกรุงเทพฯ
ซึ่งผลออกมา… กลุ่มประชากรไทย ชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ แบบถล่มทลาย!
ในเวลานั้น กรุงเทพฯ มีที่นั่ง ส.ส. รวมกัน 32 ที่นั่ง
กลุ่มประชากรไทย ชนะ 29 ที่นั่ง
เหลือให้ พรรคกิจสังคม ของ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช 2 ที่นั่ง
และ พรรคประชาธิปัตย์ เพียงที่นั่งเดียว!
ซึ่งเมื่อดูรายชื่อผู้สมัครแล้วนั้น มีแค่ สมัคร กับ พิภพ ที่เคยเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ มาก่อน และถือเป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองที่มี “อิมแพค” พอสมควร ถึงขั้นที่ว่า มีนักวิชาการทางรัฐศาสตร์บางคน ถึงขั้น “ต้องเผาตำราทิ้ง”
หรือแม้กระทั่ง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในเวลานั้น อย่าง หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ที่ยังสอบตก! (และ เลิกเล่นการเมืองถาวร) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไว้ว่า
“...คนกรุงเทพฯ ไปเลือกพรรคประชากรไทยเข้าไปแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบเอาเองที่ไปเลือกคบโจรเข้าบ้าน…” และสำทับด้วยเพลงว่า “ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก”
ข้อหนึ่งที่ทำให้พรรคชนะการเลือกตั้ง ก็มาจาก กฎหมายที่บัญญัติในเวลานั้น (พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓) ที่ จำกัดสิทธิ์คนไทยที่มีบรรพบุรุษ “เป็นต่างด้าว” ไม่ได้สิทธิ์เลือกตั้ง
รวมไปถึงฐานเสียง จากชนชั้นล่าง ที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ และ ฐานความนิยมในหมู่ หัวฝ่ายขวา ซึ่งก็คือ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน อ้อ! อาจจะรวมไปถึงคะแนนสงสารมาด้วย
สมัคร พูดถึงชัยชนะครั้งนั้นว่า
“ครับ ชัยชนะของพรรคประชากรไทย ที่ส่งผู้สมัครของตัวเอง 37 กับผู้สมทบอีก 6 เป็น 43 แล้วได้รับเลือกเข้ามา 32 คนนั้น เป็นชัยชนะที่ยังมีคนสงสัย
ก็คนที่ไม่เคยสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง คนที่ไม่เคยสนใจว่าใครเขาจะพูดจาหาเสียงกันที่ไหน ใครที่มัวแต่อ่านหนังสือพิมพ์ประเภทหัวเขียวหางแสดกันทุกวันเท่านั้นแหละครับที่ยังสงสัยกันอยู่
แต่สำหรับคนที่เขาฟังการหาเสียงมาตลอด เขาตื่นเต้นแต่เช้าออกไปหน่วยเลือกตั้ง แล้วลงคะแนนตามสิทธิและหน้าที่ของเขาแล้ว เขาจะไม่แปลกใจเลยที่ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างนี้”
ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก การจัดตั้งรัฐบาลจึงเกิดขึ้น กลุ่มพรรคประชากรไทย ในเวลานั้น เลือกสนับสนุน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จากพรรคกิจสังคม แต่….
ด้วยกลไกรัฐธรรมนูญ ที่ให้วุฒิสภา “สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี” ได้ (วุฒิสภา ในเวลานั้น มีฐานเสียงทหาร รุ่น จปร.7 เป็นจำนวนมาก) ทีนี้พอบวกกับเสียง กลุ่มพรรคการเมืองเล็กๆ นิดหน่อย ก็สามารถเป็นรัฐบาลได้ไม่ยาก
นั่นทำให้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กลับมาเป็น นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง
ภาพจาก Way Magazine
อย่างไรก็ดี แม้จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เสถียรภาพของรัฐบาล กลับไม่แข็งแรงอย่างที่คิด เพราะเสียง ส.ส. กลับมีน้อยกว่า ซ้ำยังโดน เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เกิดขึ้นถึงสองครั้ง และ ปัญหาเศรษฐกิจที่มารุมทิ้ง
เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ พลเอก เกรียงศักดิ์ จึงต้อง “ประกาศลาออก” กลางสภาฯ ในคราวอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่สอง
และนายกฯ คนต่อไป ก็คือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์…
เมื่อมีการเปลี่ยนนายกฯ ด้วยนิสัยของนายกฯ คนใหม่ที่ “ไม่ปฏิเสธ” พรรคการเมือง
พรรคใหญ่ๆ ที่เคยเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลเกรียงศักดิ์ เลยมาเข้าร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
แต่ไม่ใช่กับ พรรคประชากรไทย…
แม้ว่า ทาง พลเอก เปรม จะต่อสายไปถึงสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค แต่ สมัคร เลือกที่จะ “ปฏิเสธ”
สมัคร เล่าว่า
“นโยบายตอนนั้น พรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่คงไม่เห็นด้วยที่พรรคเราจะเข้าไปร่วมด้วย…
...ปรากฎว่าคุณเปรมจะขอเชิญผมไปพบท่านที่บ้านสี่เสาฯ ผมบอกว่าไม่ได้หรอกในทางการเมือง ผมไปงั้นไม่ได้ มีคนบอกคุณเปรมว่านายสมัครอ่อนอาวุโสกว่า ที่ไปหานั้นแก่อาวุโสกว่าคุณเปรม…
...ผมบอกว่าผมเป็นถึงระดับหัวหน้าพรรค ถ้ามาบ้านผมไม่ได้ก็เจรจากันไม่ได้ ท่าน (พลเอกเปรม) ก็พยายามอ้อนวอนให้คนโทรศัพท์มาแล้ว มาอีก ผมบอกเป็นไปไม่ได้”
อย่างไรก็ดี สมัคร เองก็ไม่ได้ค้านแบบหัวชนฝา
เพราะในช่วงที่สถานการณ์การเมืองใกล้ถึงคราวเลือกตั้ง ซึ่งเผอิญสอดคล้องกับการที่ "บทเฉพาะกาล" ในรัฐธรรมนูญฯ 2521 กำลังจะหมดอายุลง
และ พลเอก เปรม คิดจะต่ออายุบทเฉพาะกาล ออกไป
สมัคร และ นายทหาร “ลูกป๋า” อย่างพลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ จึงร่วมกันจับมือออกสื่อ สนับสนุนการต่ออายุบทเฉพาะกาลนี้
แต่ประชาชนไม่ได้คิดแบบนั้น ซึ่งรวมไปถึงความขัดแย้งระหว่าง วุฒิสภา(สายทหาร) และ ส.ส. ในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ซ้ำด้วยความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาล จากกรณี “เทเล็กซ์น้ำมันอัปยศ”
ป๋าเปรม เลยต้อง ยุบสภาก่อนกำหนดไม่กี่เดือน...
ร่วมรัฐนาวา ”ป๋า”
การเลือกตั้งปี 2526 พรรคโดนกระแสต่อต้าน จาก กลุ่มชนชั้นกลาง และ นิสิตนักศึกษาจากกรณี “ไปเห็นดีเห็นงาม” กับการต่ออายุบทเฉพาะกาล
แต่ฐานเสียงชนชั้นล่าง ที่ยังแข็งแกร่งนี้ ก็ยังประคับประคองให้พรรค ได้คะแนน popular vote มากที่สุดในกรุงเทพฯ แม้ที่นั่งจะลดลงก็ตาม
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ พูดถึงพรรคประชากรไทย ไว้ตอนหนึ่งว่า
“แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ เป็นพรรคที่มีนโยบายรูปธรรมบางอย่าง สมัยที่คุณสมัครเป็นที่นิยม พรรคประชากรไทย ก็จะมีสไตล์ของการเป็นพรรคประชานิยมแนวเก่าหน่อย แจกของเลย หรือมีโครงการเช่น ป้ายรถเมล์ประชากรไทย, มีข้าวของพรรคประชากรไทย, มีหนังสือพิมพ์ของพรรค ก็คือ เดลี่มิเรอร์ ในยุคหนึ่ง ซึ่งคนที่ชอบพรรคประชากรไทย ก็จะมีลักษณะเป็น “สาวก” คือใช้ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างของพรรคเลย เป็นเหมือนชุมชนรูปแบบหนึ่ง”
ภาพจาก หนังสือสมัคร ๖๐
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์การตอยแทนคะแนนเสียง และ การทำหน้าที่พรรคการเมืองในสมัยนิยมนั้น ๆ ที่ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม จับต้องได้
ผลการเลือกตั้งที่ออกมา แม้ว่าพรรคชาติไทย จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า สุดท้าย ก็ต้องสนับสนุน พลเอก เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
พรรคเองก็เกือบที่จะตั้งรัฐบาลกับ พรรคชาติไทย แต่ไม่สำเร็จ ซึ่ง สมัคร พูดถึงเหตุการณ์นี้ว่า
“จริงๆ แล้วเรา (พรรคประชากรไทย) ไป O.K. กับทางนั้นไว้แล้วกับคุณประมาณ (พรรคชาติไทย) กับใครต่อใครไว้แล้ว แต่ในทางการเมืองฝ่ายทหาร เขา (ทหาร) บอกเขาให้คุณประมาณขึ้น (เป็นนายกรัฐมนตรี) ไม่ได้ตอนนั้น เพราะว่าเขา (ทหาร) เพิ่งเจรจากับผู้ก่อการร้ายได้สำเร็จใหม่ ๆ ถ้าพรรคชาติไทยตั้งรัฐบาล ทหารด็ต้องตายอีก ต้องรบกับผู้ก่อการร้ายอีก… เขา (ทหาร) บอกว่า ต้องเอาคนกลางอย่างคุณเปรมต่อไป เพราะคุณเปรมเป็นคนเซ็นสัญญา 66/23 คุณเปรมเป็นทหาร คุณเปรมเป็นนายเก่า...”
ก็เป็นเหตุที่ทำให้ คราวนี้ พรรคประชากรไทย เข้าร่วมรัฐบาล ป๋าเปรม 4 (2526-2529) กะเขาด้วย ซึ่งต้องมาร่วมรัฐบาลกับ พรรคประชาธิปัตย์ อันเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” มานาน ในตรงนี้ได้มีการพูดถึงไว้ว่า
“ถึงอย่างไรพรรคเด็กฝากเรา (พรรคประชากรไทย) ก็ตัดไม่ได้แน่ พรรคชาติประขาธิปไตยนั้นเป็นเพียงตัวเสริมเพื่อให้รัฐบาลมีเสียง 200 กว่าเสียง ซึ่งนายกฯ ท่านบอกว่า ท่านต้องการให้ครบ 200 เสียง”
จากคำพูดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า พรรคประชากรไทยในเวลานั้น ก็ความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเลย เพราะในเวลานั้น พรรคชาติไทย ได้กลายมาเป็นฝ่ายค้านไปเสียแล้ว
สมัคร ได้อธิบายเหตุผลการเข้าร่วมรัฐบาล เปรม 4 ในครัั้งนั้นว่า
“ตอนนั้นผมขออนุญาตทางพรรคว่ารอบนี้ (หมายถึงการร่วมรัฐบาล) ผมขออนุญาตให้สิทธิหัวหน้าพรรคเป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรี ผมก็เลือกตามความเหมาะสมที่ผมเห้นพอสมควรและดูแล้ว 6 คน คือไม่เอาใครคนใดคนหนึ่งก็จะเป็นปัญหา… เมื่อติดต่อมาอีก เราก็ยืนยันว่าถ้าไม่ 6 คน ทางผมไม่ยอมและไม่ร่วมด้วย เงื่อนไขนี้ผมเป็นคนยื่นเองเลยไม่ต้องใช้พรรค (เสนอต่อผู้จัดตั้งรัฐบาล-พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ) แล้วผมก็เอาเข้าที่ประชุมพรรค (ภายหลังจากเข้าร่วมรัฐบาล) บอกว่าผมขอใช้สิทธิหัวหน้าพรรคเป็นคนเลือก (ตัวรัฐมนตรี) จะได้ไม่มีปัญหา”
บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไม หัวหน้าพรรคอย่าง สมัคร ถึงไม่เป็น รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือกันว่า “สูงสุดแล้ว” สำหรับหัวหน้าพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล
เรื่องนี้ สมัคร ได้ให้ความเห็นคือการเป็นรัฐมนตรี “ทำงานได้มากกว่า” ซึ่งไม่ใช่แค่ สมัคร ที่ทำเช่นนี้ พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา ที่เป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม ก็เลือกตำแหน่งรัฐมนตรี(ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) มากกว่า
ทว่า พรรคประชากรไทย ที่ดูเหมือนจะมั่นคง
จะเกิดร้อยร้าว ที่สะเทือนและยุ่ง จนถึงขั้นต้องให้ตุลาการรัฐธรรมนูญ ต้องมาข้องเกี่ยว!
จากเรื่องเล็ก ๆ เมื่อ สราวุธ นิยมทรัพย์ ส.ส. นครปฐมของพรรค “โดนลบชื่อ” ออกจากพรรค เพียงแค่แสดงความเห็นเรื่องการขึ้นค่ารถเมล์ ในกรรมาธิการคมนาคม สมัคร ซึ่งเป็นทั้งหัวหน้าพรรค และ รัฐมนตรีว่าการคมนาคมในขณะนั้น ก็ย่อมไม่พอใจ
ภาพจาก ไทยรัฐ
ภาพจาก ไทยรัฐ
ความเห็นของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนฯ ในเวลานั้น แตกออกเป็นหลายฝ่าย จนประธานสภาผู้แทนฯ ในเวลานั้น (อุทัย พิมพ์ใจชน-ผู้เขียน) ต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยอนุญาตให้ทำหน้าที่ต่อได้ แต่ในเวลาต่อมาก็ต้องยื่นให้ตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณา...
แต่สุดท้าย เป็นสราวุธ เอง ที่เลือกลาออกไปสมัครรับเลือกตั้งในนาม พรรคชาติไทย และชนะเสียด้วย
ซึ่งจากเหตุการณ์คราวนั้น พรรคก็เสียบุคคลากรที่เคยก่อตั้งพรรคด้วยกันมาหลายคน เช่น จารุตม์ จารุประการ, สนั่น ศิลปบรรเลง (ส.ส. กรุงเทพฯ ทั้งคู่) รวมไปถึงการเสียฐานเสียงจากผู้สนับสนุนพรรคคนสำคัญ อย่าง มงคล สิมะโรจน์
แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาความแตกแยก ที่ไม่ใช่แค่พรรคประชากรไทย แต่มีทั้งพรรคกิจสังคม (ซึ่งแตกหักกันรุนแรงกว่า เพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลัก) นี้เอง
รวมไปถึงการ “ทาบชั้น” ของ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก และ ปัญหาเศรษฐกิจที่ยังแก้ไขไม่ได้
ก็ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล “เปรม 4”
สุดท้ายก็เลยต้องจบที่การยุบสภาในปี 2529
และในครั้งนี้เองที่ดูเหมือนว่า จะเริ่มมีสัญญาณที่ไม่ดีบ้างแล้ว...
จบตอนที่ 1
อ้างอิง
หนังสือ
สมัคร สุนทรเวช. (2551). การเมืองเรื่องตัณหา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
สมัคร สุนทรเวช. (2522). จากสนามไชยถึงสนามหลวง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : เกษมการพิมพ์.
ไม่ระบุ. (2538). สมัคร 60. กรุงเทพฯ: ซี.พี. การพิมพ์.
ฐานเศรษฐกิจ. (2535). 360 เจ้ายุทธจักรสภาหินอ่อน. กรุงเทพฯ : บริษัทฐานเศรษฐกิจ
ทีมข่าวการเมืองมติชน. (2549). ฉะ แฉ ฉาว นักการเมืองไทย พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน.
จรัญ พงษ์จีน. (2550). ลึกแต่ไม่ลับ คนการเมือง. กรุงเทพฯ : มติชน.
วิษณุ เครืองาม. (2557). เล่าเรื่องผู้นำ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน.
พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว. (2544). รัฐบาลผสม. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เชาวนะ ไตรมาศ. (2540). พรรคการเมือง : ปูมหลังทางโครงสร้าง-หน้าที่ และพัฒนาการทางสถาบัน. กรุงเทพฯ. : สถาบันนโยบายศึกษา.
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต. (2541). ชนชั้นกับการเลือกตั้ง : ความรุ่งเรืองและความตกต่ำของสามพรรคการเมืองในกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิภาษา.
จำลอง สาลีสังข์, จำนงค์ เทพสวัสดื์, ปราโมทย์ สันตยากร (2519). พรรคการเมืองไทยและ ผลการเลือกตั้ง 2519 กรุงเทพฯ : สหประชาพาณิช
ชาติชาย เย็นบำรุง, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, บรรณาธิการ. (2530). บันทึกการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเอเชีย.
สัมภาษณ์/สอบถาม
สัมภาษณ์ บัณฑิต จันทศรีคำ (แคน สาริกา) วันที่ 1 มกราคม 2563
วิทยานิพนธ์
สันติ ทางธนกุล. (2531). รัฐบาลผสมในการเมืองไทย. (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). จากเว็บไซต์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/49126
ปิยะพันธ์ ปิงเมือง. (2533). ปัญหาพฤติกรรมการออกเสียงเลือกตั้งในระบบการเมืองไทย : ศึกษา เฉพาะกรณีการเลือกตั้งทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). จากเว็บไซต์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30978
อภิชาติ พุ่มแก้ว. (2533). พรรคการเมืองไทยกับฐานคะแนนเสียง ศึกษากรณีของพรรคประชากรไทยในเขตกรุงเทพมหานคร. (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). จากเว็บไซต์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/31741
วทัญญู ทิพยมณฑา. (2534). การศึกษาเปรียบเทียบสมรรถนะของพรรคการเมืองไทย ในการสนองตอบความต้องการของประชาชน ในช่วงสมัยของรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ชุดที่ 1. (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). จากเว็บไซต์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/23294
ปริญญา โพธิสัตย์. (2535). การกำหนดตัวรัฐมนตรีของพรรคการเมือง ศึกษาเฉพาะกรณีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชากรไทย. (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). จากเว็บไซต์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/32250
เว็บไซต์
https://www.youtube.com/watch?v=XM4Wg54m0PQ - ตำนานเทป (หาเสียง) สมัคร และพรรคประชากรไทย : มติชน วีกเอ็นด์ 17 ก.ค.59
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=22_%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2522 - 22 เมษายน พ.ศ. 2522 - ฐานข้อมูลการเมือง สถาบันพระปกเกล้า
https://prachatai.com/journal/2008/02/15775 - ประวัติ สมัคร สุนทรเวช ฉบับบาดแผล : บทบาทในการช่วยให้เกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 19
https://waymagazine.org/dirty-election-2522/ - ย้อนดูเลือกตั้ง พ.ศ. 2522 ตุน ส.ว. ไว้แล้ว 225 เสียง - เวย์ แม็กกาซีนส์
https://www.the101.world/premocracy-2/ - 30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา - 101 World
https://www.thairath.co.th/column/oversea/worldsky/49051 - ตัวตนของหัวหน้าสมัคร สุนทรเวช - ไทยรัฐ
โฆษณา