23 เม.ย. 2021 เวลา 04:08 • หนังสือ
EP3 : สัญชาตญาณของ "การให้" มีหลายระดับ
บทความจากหนังสือ "ทำไมต้องให้"
โดย หลวงพ่ออลงกต เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ลพบุรี
พระราชวิสุทธิประชานาถ (หลวงพ่ออลงกต)
เสือไล่ล่าขย้ำกวางที่อ่อนแอกว่าเป็นอาหาร พอได้กวางตัวนั้นมา เสือบางประเภทก็แบ่งกันกิน แต่เสือบางชนิดก็กินตัวเดียวหรือยอมแบ่งเฉพาะในหมู่ครอบครัวของตัวเอง
แต่หลังจากที่เสือกินเสร็จหมดแล้ว ก็จะมีสัตว์อื่นๆ เช่น อีแร้ง มากินซากสัตว์ ซึ่งก็ไม่ว่าอะไร เพราะตัวเองอิ่มแล้ว อันนี้ถือเป็นการให้หรือแบ่งปันโดยวิถีของธรรมชาติ เป็นรูปแบบหนึ่งของการให้ คือให้โอกาส
นี่ก็ถือว่าเป็นการให้ในระดับสัญชาตญาณ เพราะสัญชาตญาณมันจะมองแค่ว่า ใครเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู เสื้อไม่ได้มองอีแร้งเป็นศัตรูหรือคู่แข่ง เพราะลักษณะการอยู่ร่วมกัน ก็มีปฏิสัมพันธ์กันตามธรรมชาติ มีการเกื้อกูลด้วยกันให้ซึ่งกันและกัน
แต่สัตว์บางชนิด พอล่าอาหารมาได้ปั๊ป มันจะเอาไปเก็บซุกซ่อน เช่น หมาบางตัว มันจะเอาอาหารไปฝังและขุดขึ้นมากินทีหลัง อันนี้ก็เป็นสัญชาตญาณที่มีการให้ตัวเองสูง มองถึงความทุกข์ยากลำบากของตัวเองเป็นสำคัญ
ต่างจากสัตว์บางชนิดที่ไม่เก็บสะสมอาหารเลย ก็จะเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณแสวงหา เหมือนพวกเสือที่เวลาออกหากิน ก็จะออกล่าและมองว่าจะกินตัวไหน โดยจะไม่ล่าเกินความจำเป็น
มนุษย์เรานั้นก็มีการให้ตามสัญชาตญาณเหมือนกัน แต่ต้องมาพูดถึงการให้ในเชิงที่มันสูงกว่าระดับสัวต์ คือการให้ที่เรียกว่า "ทาน" หรือ "จาคะ" ที่หมายถึงการเสียสละ การสละหรือการให้ การแบ่งปัน ซึ่งการเสียสละนี้แตกต่างกับการให้ตามสัญชาตญาณของสัตว์ คือเหนือกว่า เกิดในสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณสูงกว่าละเอียดกว่า ซับซ้อนกว่า
หนังสือ "ทำไมต้องให้" ข้อมูลจาก www.busy-day.com
"จาคะ" จาคะ แปลว่า ความเสียสละ หมายถึง ความตัดใจ หรือตัดกรรมสิทธิ์ของตน ตัดความยึดถือเสีย ความเสียสละในคำว่า "จาคะ" นี้มี 2 นัย คือ สละวัตถุ และสละอารมณ์
"สละวัตถุ" หมายความว่า สละทรัพย์สิ่งของของตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่คนอื่น เช่น สละเงินทำสาธารณประโยชน์ สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน บำรุงศาสนา บริจาค สงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ตกทุกข์ได้ยากต่างๆ ผู้ที่อยู่ในสังคมและให้ประโยชน์ต่อสังคม ก็ย่อมทำให้สังคมนั้นๆ เป็นสุขกันถ้วนหน้า
"สละอารมณ์" หมายความว่า เป็นคนรู้จักปล่อยวางอารมณ์ที่เป็นข้าศึกต่อความสงบของจิตใจ เช่น ความโกรธเคืองขัดใจกับผู้อื่น กับคู่สมรส กับเพื่อนฝูง หรือกับเพื่อนบ้านก็ตาม คนที่เก็บอารมณ์เหล่านี้หมักหมมไว้ในใจย่อมนำมาซึ่งความร้าวรานไม่มีสิ้นสุด และทำให้ตัวเองนั้นเป็นทุกข์เดือดร้อนเสียเอง
พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้มีจาคะ คือให้เสียสละปล่อยวางอารมณ์ประเภทนี้เสีย การปล่อยวางอารมณ์อย่างนี้ ก็เป็นจาคะอย่างหนึ่ง
โปรดติดตาม EP ต่อๆไปด้วยนะครับ
โฆษณา