23 เม.ย. 2021 เวลา 05:45 • หนังสือ
🏃‍♂️รีวิวหนังสือ What I Talk About When I Talk About Running หนังสือที่จะทำให้คุณอยากเอาชนะตัวเองมากขึ้น 🏃‍♂️
📍What I Talk About When I Talk About Running📍
เขียนโดย Haruki Murakami
📚 หนังสือเล่มนี้จะค่อนข้างแปลกจากแนวหนังสือที่ผมชอบอ่าน แต่ผมสนใจที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยเหตุผล 2 อย่างครับ
ข้อแรกคือ ผมเพิ่งมาเริ่มหัดวิ่งเป็นประจำเมื่อไม่นานมานี้แล้วเคยได้ยินคุณรวิศ หาญอุตสาหะแนะนำในรายการ Mission To The Moon ให้ไปอ่านหนังสือเล่มนี้ที่เกี่ยวกับการวิ่งที่น่าจะทำให้เราอยากออกไปวิ่งสุด ๆ
ข้อสองคือ ชื่อของผู้เขียน ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ที่เป็นนักเขียนผู้โด่งดังชาวญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่าในกลุ่มนักอ่านในเมืองไทยนี่รู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ส่วนใหญ่ชื่อเสียงหรือหนังสือที่โด่งดังของเค้าจะเป็นแนวนิยาย หรือ fiction ครับ
โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือแนว fiction สักเท่าไหร่เลยยังไม่มีโอกาสอ่านงานเขียนของมูราคามิ และนี่ถือว่าเป็นเล่มแรกที่ผมได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของเค้า
เรื่องตลกก็คือผมดันไปซื้อเล่มภาษาอังกฤษมา เพราะด้วยความเคยชินที่เราอยากอ่านแบบต้นฉบับแต่ลืมไปว่า ต้นฉบับหนังสือเล่มนี้มันภาษาญี่ปุ่นนี่หว่า! 🤣
ยังไงก็ตามผมรู้สึกได้ว่าผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษแปลภาษาได้เท่และสละสลวยดี ไม่แน่ใจว่าเล่มแปลไทยจะเป็นภาษาลักษณะเดียวกันมั้ย (ใครที่อ่านเล่มแปลไทยมาคอมเม้นท์บอกกันได้ครับ) แต่ถ้าให้เดาผมเข้าใจว่าการแปลเค้าก็น่าจะพยายามแปลให้ได้ “อารมณ์” และ ”ความรู้สึก”ของภาษาให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับที่สุด
สำหรับชื่อหนังสือเล่มนี้ก็บ่งบอกชัดเจนว่าจะเล่าถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับ ”การวิ่ง” ของมูราคามิเองนี่แหละ แต่ถ้าเราอ่านไป เราจะพบว่าในเรื่องราวของการวิ่งตั้งแต่ “การฝึกซ้อม” “การอดทน” “การเตรียมตัว” “การแข่งขัน”นั้นได้สะท้อนบทเรียนหลาย ๆ อย่างให้เราเห็นอยู่ไม่น้อยทีเดียวครับ
1
……………..
📚 มูราคามินั้นบอกว่าเค้าคิดมาตั้งนานครับกว่า 10 ปีเลยทีเดียวที่จะเริ่มเขียนหนังสือที่เล่าเรื่องราวการวิ่งของเค้า แต่เค้าก็คิดไม่ตกสักทีว่าจะเขียนออกมาเป็นแนวไหนดี สุดท้ายเค้าก็ตัดสินใจได้ว่า เขียนมันออกมาตรง ๆ นี่แหละ! เล่าเรื่องมันออกมาตรง ๆ เลยในแบบฉบับของตัวเค้าเอง ซึ่งนั่นเป็นการแสดงถึงการเป็นตัวของตัวเองที่สุด ซึ่งเค้าบอกว่าหนังสือเล่มนี้ก็เปรียบเหมือน “memoir” หรือบันทึกความทรงจำของเค้าเองเกี่ยวกับการวิ่งเลยครับ
1
……………..
💡 “Pain is inevitable, suffering is optional. Say you’re running and you think, ‘Man, this hurts, I can’t take it anymore.’ The ‘hurt’ part is an unavoidable reality, but whether or not you can stand anymore is up to the runner himself.” 💡
📌 ประโยคนี้เหมือนเป็นประโยคเด็ดที่ผู้เขียนสรุปเกี่ยวกับการวิ่งเอาไว้เลยครับว่า ความเจ็บปวดจากการวิ่งนั้นเป็นเรื่องปกติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราจะทนทุกข์ทรมานกับมันมั้ยหลังจากนั้นอยู่ที่เราแล้วหละครับ เป็นเรื่องปกติหากเราออกไปวิ่งแล้วรู้สึกว่ามันเจ็บ มันปวดจนเราวิ่งไม่ได้ แต่การที่คุณจะทนวิ่งต่อไปได้มั้ยนั้นมันขึ้นกับตัวคุณเอง...
……………..
“Keep up the rhythm” 🥁
เค้าได้เปรียบเทียบการวิ่งกับงานเขียนนิยายไว้ว่า ตอนเค้าซ้อมวิ่งแรก ๆ เค้าก็พยายามเพิ่มระยะทางไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้สนใจเรื่องความเร็วมากนัก บางครั้งเค้าก็วิ่งเร็วขึ้นตามความรู้สึกและเค้าก็อาจจะลดระยะทางลง ประเด็นคือเค้าจะพยายามจะรักษาความรู้สึกตรงนั้นและยกยอดความรู้สึกดี ๆ ตรงนั้นไปยังวันต่อไปด้วย ซึ่งเค้าบอกว่าก็เหมือนกับงานเขียนนิยายของเค้าที่เมื่อไหร่ก็ตามที่เค้ากำลังเขียนได้ดีและรู้สึกว่ากำลังจะเขียนต่อได้ เค้าจะหยุดไว้ก่อนเพื่อที่จะทำให้เค้ามีแรงจูงใจที่จะลุกขึ้นมาเขียนในวันต่อ ๆ ไป
4
👉🏻 การที่จะทำอะไรให้ได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานเค้าบอกว่า เราต้องพยายาม “keep up the rhythm” คือพยายามรักษาจังหวะที่ดีนั้นไว้ให้ได้ เมื่อจังหวะมันได้เค้าบอกว่ามันจะไหลต่อไปได้เองครับ อันนี้ส่วนตัวผมค่อนข้างเห็นด้วยทีเดียว คือเราต้องพยายามสร้าง “momentum” หรือแรงเหวี่ยงหรือจังหวะนี่แหละครับให้เกิดขึ้นแล้วรักษามันไว้ มันจะทำให้เราสามารถทำอะไรในระยะยาวได้สำเร็จครับ
……………..
3
มูราคามิเล่าให้ฟังว่า ตัวเค้านั้นเริ่มต้นวิ่งเมื่อปี 1982 และวิ่งติดต่อกันมา 23 ปี (นับถึงปีที่แกเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา) ตัวเค้าตั้งเป้าไว้ว่าจะลงแข่งมาราธอนทุกปีอย่างน้อยปีละครั้ง นอกจากนั้นหลัง ๆ เค้ายังพัฒนาไปลงแข่งขันไตรกีฬาด้วย 🏃🏻🏊🏻‍♀️🚴🏻‍♂️
1
🏃🏻 การที่เค้าหลงใหลในการวิ่งระยะไกลนั้นเค้าบอกว่าเพราะมันค่อนข้างเหมาะกับตัวเค้าที่เป็นคนที่ไม่เบื่อง่ายกับการทำอะไรคนเดียว หรือการอยู่กับตัวเองคนเดียวแบบการวิ่งระยะไกลที่ใช้เวลายาว ๆ อีกทั้งตัวเค้าเป็นคนที่สนใจในเป้าหมายของตัวเค้าเองมากกว่าการจะไปแข่งขันกับคนอื่น ซึ่งการวิ่งนี่ช่วยให้เค้าแข็งแกร่งทั้งทางร่างกายรวมถึงจิตใจอีกด้วย
4
เค้าได้บอกไว้อีกว่าคนที่วิ่งเป็นประจำจะรู้ดีว่าเราจะสนใจในเป้าหมายของเราเองมากกว่าสิ่งอื่นใด 🎯
ซึ่งเค้าบอกว่ามันคล้าย ๆ กับอาชีพนักเขียนของเค้าที่เค้ามองเป้าหมายของตัวเองในเรื่องของ “คุณภาพและมาตรฐาน” ของงานเขียนของเค้ามากกว่าสิ่งอื่นใด มากกว่าจำนวนหนังสือที่จะขายได้ หรือมากกว่ารางวัลอื่น ๆ ที่จะได้รับจากหนังสือเล่มนั้น ๆ
💡 ถามว่าทำไมเค้าถึงมองคุณภาพในงานเขียนจากตัวเค้าเองเป็นหลัก? เพราะเค้าบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราหลอกตัวเราเองไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราทำด้วยตัวเราเอง ไม่เหมือนกับเวลาที่เราไปดูปัจจัยภายนอกที่คนเรามักจะหาข้ออ้างโทษโน่นโทษนี่อยู่เป็นประจำ
……………..
“The only opponent you have to beat is yourself”
มูราคามิบอกว่าตัวเค้านั้นเป็นแค่นักวิ่งธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้เก่งเลิศเลออะไร สิ่งที่เค้าสนใจในการวิ่งก็คือ “เค้าได้พัฒนาตนเองจากเมื่อวานรึเปล่า” ซึ่งในการวิ่งระยะไกลนั้นสิ่งเดียวที่เราต้องแข่งขันด้วยก็คือตัวเราเอง 🏃🏻
5
มูราคามิบอกว่าการที่เค้าชอบอยู่คนเดียว ไม่เบื่อที่จะทำอะไรคนเดียว ไม่ชอบแข่งขันกับคนอื่นนั้นนั่นคือตัวเค้า ซึ่งมีหลายคนที่เหมือนเค้า และก็มีหลายคนที่แตกต่างกันออกไป เค้าบอกว่าความแตกต่างนี่เป็นเรื่องปกติที่จะทำให้คนเรามีความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกัน แต่ให้เรายอมรับความแตกต่างและความขัดแย้งนี่
3
“This kind of pain and hurt is a necessary part of the life”
1
……………..
“A running novelist” ✍️
มูราคามิได้เล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ครับว่าเค้ามาเป็นนักเขียนนิยายได้อย่างไร โดยก่อนหน้านี้เค้าเป็นเจ้าของร้าน Jazz Club ร้านหนึ่งซึ่งเค้าต้องทำงานหนักมาก ดูแลหลาย ๆ อย่างเองในช่วงแรก จนกระทั่งพอสามารถจ้างพนักงานมาช่วยได้ แต่ก็ยังเป็นงานที่หนักอยู่ดี 😣
พอเค้าอายุล่วงเข้า 30 ปี เค้าเลยเริ่มมีความคิดที่จะผันตัวเองมาเป็นนักเขียน ซึ่งมันน่าแปลกมากที่เค้าไม่เคยมีความคิดนี้มาก่อนเลย แต่อยู่ ๆ วันหนึ่งขณะที่เค้านอนอยู่ที่สนามหญ้าดูการแข่งขันเบสบอลเค้ากลับมีความคิดนี้แล่นเข้ามาในหัวว่าเค้าเขียนนิยายได้ เค้าเลยเริ่มลองเขียนดูหลังจากเลิกงานที่ร้านที่เค้าดูแลอยู่ จนสามารถเขียนหนังสือเล่มแรกออกมาได้
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเค้าเริ่มรู้สึกว่าเค้าไม่มีเวลามามุ่งมั่นให้กับการเขียนได้เต็มที่ เค้าเลยตัดสินใจปิดร้านแล้วหันมามุ่งมั่นกับการเขียนอย่างเต็มที่ เค้าบอกว่าเค้าเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นสูง “totally committed” กับสิ่งที่เค้าตั้งใจจะทำให้ได้กับการเป็นนักเขียนอาชีพ ซึ่งเค้าบอกไว้ว่าหากเค้าล้มเหลวเค้าก็จะยอมรับได้ ดีกว่าที่เค้าทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่เต็มที่แล้วล้มเหลว อย่างหลังนั้นจะเป็นสิ่งที่เค้าคงจะเสียใจมากกว่า 👍🏻
3
หลังจากที่เค้าตัดสินใจมาเป็นนักเขียนเต็มตัวนั้น เค้าก็เริ่มคิดหาทางออกกำลังกายบ้างเพื่อให้ร่างกายยังดีอยู่ และสามารถเป็นนักเขียนได้นาน ๆ เพราะการเป็นนักเขียนทำให้เค้าไม่ได้ออกแรงอะไรเยอะ วัน ๆ ก็นั่งเขียนที่โต๊ะเป็นส่วนใหญ่ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เค้าทำร้าน ที่ต้องออกแรงทำโน่นทำนี่
เค้าเลยตัดสินใจออกวิ่ง เพราะเหตุผลง่าย ๆ สามอย่าง
👉🏻 อย่างแรกคือเค้าไม่ต้องพึ่งพาใคร สามารถไปวิ่งคนเดียวได้เลย อย่างที่สองคือการวิ่งไม่ได้ต้องการอุปกรณ์พิเศษ แค่รองเท้าวิ่งเท่านั้นเอง และอย่างสุดท้ายคือ ไม่จำเป็นต้องใช้สถานที่พิเศษเลย เพียงแค่หยิบรองเท้าวิ่งออกมาใส่ก็สามารถวิ่งได้ทุกที่ ไม่เหมือนกับกีฬาอย่างอื่น
2
หลังจากเริ่มวิ่งชีวิตเค้าเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น 🔝 เค้าได้เลิกสูบบุหรี่ เพราะเค้าทนไม่ไหวที่เค้าต้องวิ่งทุกวันและการสูบบุหรี่ทำให้เค้าวิ่งได้ไม่เต็มที่
นอกจากนี้การที่เค้าเลิกทำร้าน Jazz Club มาเป็นนักเขียนเต็มตัวทำให้ตัวเค้าสามารถบริหารเวลาได้ดีขึ้น เค้าสามารถเข้านอนเร็วขึ้นได้ และตื่นเช้ามาวิ่งได้ ต่างกับสมัยทำร้านลิบลับที่ต้องทำงานอยู่ปิดร้านดึก ๆ ดื่น ๆ
แต่เค้าบอกว่าข้อเสียของการที่เค้ามีไลฟ์สไตล์แบบนี้ก็มีคือ ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงก็ลดลง เพราะเค้าเข้านอนเร็ว เค้าไม่ค่อยที่จะไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเหมือนแต่ก่อน
1
📌 แต่พอมาถึงจุดหนึ่งของชีวิตเค้าบอกว่าคนเราก็ต้อง “prioritize” หรือจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต เพราะทุกสิ่งมันอาศัย “time and energy” ของเราที่เราต้องดูความสมดุลทั้งในเรื่องของเวลาและพลังงานของตัวเราเอง ซึ่งตัวเค้าบอกชัดเจนว่าเค้าให้ความสำคัญกับการเขียนของเค้าเป็นที่สุด เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง และที่สำคัญเราต้องระลึกไว้ว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้หรอกครับ 📌
“In other words, you can’t please everybody”
ซึ่งแนวคิดอันนี้ผมว่าเป็นแนวคิดที่ดี ที่เราสามารถเอาไปปรับชีวิตในชีวิตเราได้เลยครับ 💡
1
……………..
“Routine”
การวิ่งของมูราคามินั้นเค้าก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากกับความเร็วหรือระยะทางเท่ากับการที่เค้าได้ออกไปวิ่งเป็นประจำทุกวันติดต่อกัน เค้าอยากจะทำให้มันเหมือน “routine” อย่างอื่น ทำให้เป็นนิสัย ซึ่งเค้าบอกว่า เค้าเป็นคนที่น้ำหนักขึ้นง่ายมากเลยทำให้เค้าต้องพยายามอย่างหนักที่จะทำให้น้ำหนักเค้าลดลง และการวิ่งอย่างสม่ำเสมอนี่แหละครับช่วยให้เค้ามีรูปร่างที่ดีขึ้น มีกล้ามเนื้อ แขนขาเล็กลงมากเทียบกับรูปเก่า ๆ
📍 กฎเบื้องต้นที่เค้าตั้งไว้สำหรับตัวเค้าเองคือ เค้าจะไม่หยุดวิ่งติดต่อกัน 2 วัน แม้ว่าแต่ละวันเค้าอาจจะวิ่งน้อยลงแต่เค้าจะพยายามออกไปวิ่งให้ได้ ซึ่งเค้าได้เรียนรู้เอามาใช้กับการเขียนนิยายของเค้าที่ต้องเขียนอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
นอกจากนี้เค้าจะไม่หยุดเดินเป็นอันขาดไม่ว่าเค้าจะเหนื่อยขนาดไหน เพราะเค้ามองว่าหากเราแหกกฏเหล่านี้แค่ครั้งเดียว มันก็มีโอกาสที่เราจะทำครั้งต่อไปได้อย่างง่ายดาย เราเคยได้ยินมั้ยครับว่าทำอะไรครั้งแรกจะยากมาก ๆ แต่ถ้าเราทำไปแล้ว ครั้งต่อไปมันก็ง่ายขึ้นแล้วหละครับ
1
เค้าบอกว่าการพยายามอย่างหนัก การมีวินัยนี่แหละจะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้น มีความสุขมากขึ้นได้จริง ๆ 🧘🏻‍♂️
2
……………..
“Marathon running is not a sport for everyone”
มูราคามิพูดถึงว่าการเป็นนักวิ่งมาราธอนนั้นมันไม่ได้เหมาะกับคนทุกคนนะครับ ก็เหมือนกับการเป็นนักเขียนเช่นเดียวกันที่ไม่ได้เป็นอาชีพที่เหมาะกับทุกคน แต่สิ่งสำคัญคือให้เราทำตามความชอบของเราหรือทำสิ่งที่เหมาะกับเรามากกว่าจะไปตามคนอื่น
“I didn’t start running because somebody asked me to become a runner. Just like I didn’t become a novelist because somebody asked me to”
👉🏻 เค้าเล่าว่าเค้าออกมาวิ่งเพราะเค้าอยากทำด้วยตัวเค้าเองไม่ใช่เพราะคนอื่นบังคับให้เค้าทำ และเหมือนกับที่เค้าเป็นนักเขียน ซึ่งตัวเค้าจะเป็นคนที่ทำตามสิ่งที่เค้าชอบและต้องการเสมอ แม้คนอื่นจะไม่เห็นด้วยหรือแย้ง เค้าก็จะไม่ยอมเปลี่ยนเด็ดขาด
……………..
“Failure”
อย่างที่บอกไว้ว่าปกติมูราคามิจะไม่ยอมเดินเลยในการวิ่งมาราธอน ไม่ว่าจะเหนื่อยขนาดไหน ไม่ว่าจะหนักหน่วงขนาดไหน
แต่มีการแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งหนึ่งที่เมือง Chiba ที่เค้าลงแข่งขันแล้วดันเป็นตะคริวระหว่างวิ่งแทบจะตลอดทาง ทำให้เป็นการลงแข่งวิ่งมาราธอนครั้งแรกที่เค้าต้องหยุดเดิน แต่โชคยังดีที่สุดท้ายเค้าก็ยังสามารถลากให้วิ่งจบมาราธอนได้...
หลังจบการแข่งขันเค้าบอกตัวเองเลยว่ามีเหตุผลเดียวที่ทำให้เค้าล้มเหลวในการวิ่งครั้งนั้น คือ “การซ้อมไม่พอ ซ้อมไม่พอ และก็ซ้อมไม่พอ” แค่นั้นจริง ๆ...
1
ในการแข่งขันอื่นก็มีข้อผิดพลาดมากมายที่เค้าทำ ทำให้ได้เวลาที่ไม่ดีตามที่หวัง แต่เมื่อเค้าพยายามทำเต็มที่ที่สุดแล้วสามารถจบการแข่งขันได้เค้าก็จะมีความสุขและสิ่งที่เค้ามองย้อนกลับมาก็คือเค้าได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันแต่ละครั้ง 💡
🔑 สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้นและนำไปปรับปรุงในการแข่งขันครั้งต่อไป
1
……………..
“Quality Novelist” 📚
มูราคามิได้ให้ข้อคิดของการเป็นนักเขียนที่ดีว่า ข้อแรกต้องมี “talent” คือความสามารถหรือพรสวรรค์ในการเขียน
ข้อถัดมาคือ “focus” คือความสามารถในการจดจ่อมุ่งมั่นกับการเขียน และข้อสุดท้ายคือ “endurance” คือความอดทน ที่จะสามารถจดจ่ออยู่กับการเขียนเป็นเวลานาน ๆ เพราะคุณต้องนั่งเขียนทั้งวันและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งเค้าบอกว่าสองอย่างหลังนี้เราสามารถฝึกฝนได้เหมือนกับการวิ่งมาราธอน
……………..
“Your own pace” 🏃🏻‍♂️🏃‍♂️🏃🏾‍♂️
เวลาเค้าวิ่งก็มักจะเจอผู้คนมากมายที่ออกมาวิ่งเหมือนกัน แต่นักวิ่งแต่ละคนก็จะมี “pace” หรือความเร็วของตัวเอง (สำหรับใครที่วิ่งอยู่บ้างน่าจะรู้จักคำว่า “pace” หรือ “เพซ” ดี ซึ่งก็คืออัตราความเร็วในการวิ่งว่ากี่นาทีต่อ 1 กิโลเมตร)
ตัวเค้าก็จะมี “pace” ของเค้าเองซึ่งไม่ได้ต้องเท่ากับของคนอื่น และมันก็เป็นเรื่องปกติแบบนี้แหละ เราไม่จำเป็นจะต้องเหมือนใคร
1
……………..
“Learn to get what you need and throw out what should be discarded” 💡
ตอนมูราคามิอายุ 16 เค้าเล่าว่าเค้าเคยมองตัวเองในกระจกแล้วหาจุดบกพร่องในร่างกายของตัวเอง ซึ่งเค้าจำได้ว่าเจอตั้ง 20 กว่าอย่าง! ทำให้เค้ากังวลใจมากว่าเค้ามีจุดที่ด้อยกว่าคนทั่วไปเยอะขนาดนั้นเลยเหรอ แต่ในช่วงอายุนั้นเค้าบอกว่ามันก็เป็นแบบนั้นแหละที่คนวัยนั้นจะไปสนใจอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร
👉🏻 แต่พอเค้าโตขึ้น เค้าเริ่มที่จะเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตเค้าจากการลองผิดลองถูก และก็เรียนรู้ที่จะลืม ๆ สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิตไปบ้าง เค้าได้เรียนรู้ว่าหากเราจะมานั่งหาจุดบกพร่องในตัวเอง มันก็คงจะเยอะมากจนบรรยายได้ไม่หมด เราควรจะหาข้อดีในตัวเรามากกว่าและเรียนรู้อยู่กับสิ่งที่เรามี
“Figure out your good points and learn to get by with what you have”
1
……………..
สุดท้ายสำหรับตัวเค้าเค้าสรุปไว้ว่าเป้าหมายของการออกมาวิ่งคือการออกกำลังกาย การรักษาและพัฒนาสภาพร่างกายให้ดีขึ้นและดีต่อไปเป็นเวลานานที่จะทำให้เค้าได้เป็นนักเขียนซึ่งเป็นอาชีพที่เค้ารักต่อไปเรื่อย ๆ...😃
……………..
📌 หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ใช้ภาษาได้เท่มาก ๆ และอ่านสนุก บรรยายให้เราเห็นภาพการฝึกซ้อมหรือการวิ่งของผู้เขียนได้ดีมาก คิดว่าแฟน ๆ ของมูราคามิคงไม่พลาดกันอยู่แล้ว นอกจากนั้นผมยังได้เห็นข้อคิดที่เค้าแฝงไว้ในการเล่าเรื่องราวของเค้าอยู่ตลอด ทั้งเรื่องของการมีวินัย การทำสิ่งที่เรารักและทำให้เต็มที่ การยอมรับความแตกต่าง หรือการเป็นตัวของตัวเองที๋โดนเด่นของเค้า
ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตอนที่ผมเองก็เริ่มมาหัดวิ่งบ้างแล้วเหมือนกัน นอกจากมันทำให้เรามีไฟอยากออกไปวิ่งเป็นประจำ หรือมองไปถึงการอยากลองไปวิ่งมาราธอนกับเค้าบ้างซักครั้ง ยังทำให้เราได้เห็นถึงความมีวินัยและความอดทนที่ผู้เขียนสื่อออกมาเป็นตัวอักษรได้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้ผมนึกไปถึงคำพูดของ “Eliud Kipchoge” นักวิ่งมาราธอนเจ้าของสถิติโลกและเป็นมนุษย์คนแรกในโลกที่วิ่งมาราธอนจบในเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ที่กล่าวเอาไว้ว่า
“Only the discipline ones are free in life”
ผู้ที่มีวินัยเท่านั้นที่จะเป็นอิสระ...🏖
1
#WhatITalkAboutWhenITalkAboutRunning #BookReview #รีวิวหนังสือ #สิงห์นักอ่าน
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกทางทาง facebook : สิงห์นักอ่าน
โฆษณา