25 เม.ย. 2021 เวลา 02:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🚨🚑คู่มือตรวจสุขภาพการเงินครบทุกรายการ
[สุขภาพทางการเงินของเราเป็นอย่างไร ดีพร้อมจะเกษียณรึยัง?]
แม้ว่า #เด็กการเงิน จะเน้นเรื่องของการลงทุนเป็นหลัก การลงทุนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเดินเข้าสู่อิสรภาพทางการเงินเท่านั้น
ก่อนจะไปถึงจุดนั้นเราก็ต้องมีความพร้อมหลายด้าน ก่อนที่จะนำเงินไปลงทุนให้งอกเงย วันนี้เราขอแนะนำให้ตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินตัวเองกัน
วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องของการเงินส่วนบุคคล เจาะลึกการตรวจสุขภาพทางการเงินของเราว่าตอนนี้ฐานะทางการเงินของเราเป็นอย่างไรบ้าง และจะต้องปรับปรุงอะไรอย่างไรบ้าง
สิ่งที่จะได้จากบทความนี้
1) การเงินส่วนบุคคลคืออะไร ทำไมเราต้องให้ความสำคัญ
2) การตรวจสุขภาพทางการเงินด้วยตัวเอง ผ่านอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ
3) คำแนะนำจากแต่ละอัตราส่วนคืออะไร มีสิ่งไหนที่เราต้องปรับปรุง
มาเริ่มกันเลยดีกว่า !
แน่นอนว่าพอพูดถึงเรื่องการเงิน 💸 หลายคนอาจจะเบื่อหน่าย เพราะตัวเลขเต็มไปหมด หลายคนอาจจะชอบ บางคนอาจจะบอกว่าชีวิตไม่ต้องซีเรียสขนาดนั้น ให้ลองนึกภาพย้อนไปดูสมัยเรียนครับ จริงๆ นิสัยการออมนั้นอยู่คู่กับเรามานานแล้วนะ เราเคยเรียนวิชาที่ต้องบันทึก รายรับ-รายจ่าย คิดว่าเก็บเงินวันละเท่าไหร่ไหมแบบง่ายๆ หรือเราเคยซื้อกระปุกออมสินเพื่อมาหยอดเหรียญอดออม หรือการที่มีวิชาให้เรารู้จักขายของในตลาดของโรงเรียน สิ่งเหล่านี้มันอยู่กับเรามานานแล้วครับ
สิ่งที่เราต้องทำคือทำให้มันเป็นระบบ มีการจดบันทึกและวางแผน เพื่อให้เราสามารถคาดการณ์อนาคตได้อีกด้วย เรามาเริ่มเข้าเนื้อหากันเลย … พอพูดถึงการเงิน เราก็คิดกันง่ายๆ ครับ วิธีเช็คคือ รายรับ – รายจ่าย = เงินเก็บ แค่นี้แหละครับ 😅 คือหลักการของมัน เงินเก็บคือส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว แต่นี้เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เราจะมาแนะนำอัตราส่วนทางการเงิน ที่จะเช็คสุขภาพทางการเงินของทุกคนกันครับ เพื่อการใช้วิเคราะห์ต่อไปเพื่อที่เราจะได้เห็นภาพถึงสุขภาพทางการเงินของเรา และรู้ว่าควรปรับปรุงอะไรบ้าง เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
1
ก่อนที่จะไปลงลึก ขออธิบายความหมายก่อนครับ
📌งบการเงินส่วนบุคคลจะแบ่งเป็นสามส่วนคือ
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ความมั่งคั่ง (net worth)
📍สินทรัพย์แบ่งเป็น
1️⃣สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง ได้แก่ เงินสด / บัญชีเงินฝากต่างๆ
2️⃣สินทรัพย์เพื่อการลงทุน ได้แก่ หลักทรัพย์ต่างๆ (ตราสารหนี้ / หุ้น / อนุพันธ์ / กองทุนรวม), มูลค่าเงินสดกรมธรรม์ประกันชีวิต, เงินลงทุนเกษียณ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident funds), กบข., RMF)
3️⃣สินทรัพย์ใช้ส่วนตัว – บ้าน รถ เสื้อผ้าเครื่องประดับ ของสะสม
1
📍หนี้สินแบ่งเป็น
1️⃣หนี้สินระยะสั้น ได้แก่ หนี้ที่ต้องชำระภายใน 1 ปี, ยอดค้างบัตรเครดิต, เงินกู้อื่นๆ, หนี้ผ่อนชำระแบบผ่อน 10 เดือนแบบนี้
2️⃣หนี้สินระยะยาว ได้แก่ หนี้สินที่มากกว่า 1 ปี, ยอดค้างกู้รถยนต์ ยอดค้างค่าบ้าน หรือเงินกู้อื่นๆ มากกว่า 1 ปี
📍ความมั่งคั่งสุทธิ (net worth) คือ สินทรัพย์ทั้งหมด ลบด้วยหนี้สินทั้งหมด ส่วนที่เหลือคือ Net worth
2
📌10 อัตราส่วนทางการเงินที่ต้องรู้ !
📍การวิเคราะห์สภาพคล่อง
1) อัตราส่วนสภาพคล่อง = สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง / หนี้สินหมุนเวียน
อัตราส่วนทางการเงินนี้ควรจะมีค่ามากกว่า 1 เท่า ถ้าต่ำกว่า 1 แสดงว่าอาจจะประสบปัญหาในการชำระหนี้ระยะสั้นและขาดสภาพคล่องได้ในอนาคต
2) อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน = สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง / กระแสเงินสดจ่ายต่อเดือน
กระแสเงินสดจ่าย เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่างๆ
อัตราส่วนทางการเงินนี้ควรจะมีค่าระหว่าง 3-6 เท่า ถึงจะถือว่ามีสภาพคล่องที่โอเค ซึ่งถ้าพึ่งพิงแหล่งรายได้ทางเดียว ก็ควรสำรองให้มากที่สุด 6 เดือน เราว่าหลังโควิดมาทำให้หลายคนต้อง re-think ว่าเราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ในระดับหนึ่ง เพราะเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แม้แต่เราคิดว่าเราทำงานบริษัทใหญ่และมั่นคงระดับหนึ่งแล้วก็ตาม หากโชคดี ไม่โดนไล่ออก ก็อาจจะต้องมีการลดเงินเดือน
**อัตราส่วนทางการเงินนี้ จริงๆ อาจจะรวมสินทรัพย์เพื่อการลงทุนบางอย่างได้นะ เช่นกองทุน และหุ้น เพราะมีสภาพคล่องเหมือนกัน (บางตัว) แต่อันนี้จะวัดยากเพราะมันขึ้นลงตลอดตามตลาด**
3) อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อความมั่งคั่งสุทธิ = สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง / ความมั่งคั่งสุทธิ
อัตราส่วนทางการเงินนี้ควรมีค่าขั้นต่ำ 15% นั่นหมายความว่า ความมั่งคั่งของเรานั้นไม่ได้มาจากสินทรัพย์ระยะยาวเช่น บ้าน รถ อย่างเดียว เพราะในเวลาเกิดอะไรขึ้น เราสามารถเปลี่ยนมันเป็นเงินสดเพื่อใช้ในยามจำเป็นได้
📍การวิเคราะห์หนี้สิน
4) อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ = หนี้สินรวม / สินทรัพย์รวม
อัตราส่วนนี้หากสูงกว่า 50% อาจจะบอกได้ว่าคนๆ นี้มีสินทรัพย์ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้สิน หากเกิดอะไรขึ้น ขายสินทรัพย์ทิ้งแล้วก็ยังมีหนี้เหลืออีก แน่นอนว่าการมีหนี้ไม่ใช่เรื่องไม่ดีครับ การมีหนี้เพื่อไปซื้อสินทรัพย์เราว่ามันเป็นเรื่องดี บางครั้งถ้าไม่ก่อหนี้ ก็อาจจะไม่มีสินทรัพย์ เช่น การกู้เพื่อซื้อบ้าน เป็นต้น แต่การมีหนี้ต้องเป็นในปริมาณที่เหมาะสมตามศักยภาพของเรา
5) อัตราส่วนแสดงการชำระคืนหนี้สินจากรายได้ = เงินชำระคืนหนี้สิน / รายรับรวม
ถ้ามีค่าน้อยกว่า 35% แสดงว่าเรามีศักยภาพในการจ่ายหนี้ที่เพียงพอ แต่ถ้ามีมากกว่า 45% เมื่อไหร่ เราควรต้องระวังแล้วว่า เราอาจจะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ในอนาคต
6) การชำระคืนหนี้สินที่ไม่ใช่การจดจำนองจากรายได้ = เงินชำระคืนหนี้สินไม่รวมภาระการจดจำนอง / รายรับรวม
ในส่วนนี้มันไม่เอาหนี้สินที่เกิดจากการจำนองมาคิด โดยถ้าอัตราส่วนมีค่ามากกว่า 20% บอกได้ว่าไม่มีความมั่งคงทางการเงิน แต่หากต่ำกว่า 15% แสดงว่าโอเค ถ้า % มันสูงเนี่ยมันทำให้ช่องว่างในการกู้เงินมันก็น้อยลงด้วย
📍การวิเคราะห์การออมและการลงทุน
7) อัตราส่วนการออม = เงินออม / รายได้รวม
เราควรเก็บเงินกันอย่างน้อย 10% ของรายได้รวมครับ ซึ่งหากให้ดีก็ควร 30-40% หรือ 50% สำหรับคนที่ไม่มีภาระและสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงิน อัตราส่วนนี้มันก็สามารถผันแปรไปตามช่วงอายุ เป้าหมายทางการเงินแต่ละคนด้วยครับ โดยรวมแล้วหากอายุยังน้อยก็อยากให้เริ่มเร็วและเก็บในส่วนที่เยอะ หากอายุเริ่มมากขึ้น เงินเดือนเยอะขึ้นสัดส่วนตัวนี้อาจจะลดลงก็ได้ เพราะเงินมันเยอะขึ้นแล้วบวกกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหากเริ่มมีการซื้อบ้าน มีครอบครัว ทั้งนี้เราควรสร้างนิสัยออมก่อนใช้ด้วยครับ
😎 อัตราส่วนลงทุน = สินทรัพย์ที่ลงทุนรวม / ความมั่งคั่งสุทธิ
อัตราส่วนนี้ควรมีค่ามากกว่า 50% หมายความว่ามีสถานภาพทางการเงินที่มั่นคง ซึ่งตีความได้ว่าสินทรัพย์ที่เรามีอยู่นั้นเป็นของเรามากกว่าครึ่งแล้ว
📍การวิเคราะห์ความอยู่รอดและอิสระภาพทางการเงิน
9) Survival Ratio หรือ อัตราส่วนความอยู่รอด
อัตราส่วนความอยู่รอด = (รายได้หลักจากเงินเดือน + รายได้จากลงทุน) / รายจ่ายทั้งหมด
รายได้จากลงทุน คือ เช่น กำไรจากการลงทุน หรือเงินปันผล โดยอัตราส่วนทางเงินนี้ ถ้ามากกว่าหรือเท่ากับ 1 มันบอกได้ว่า เราเนี่ยอยู่รอดแล้ว พูดง่ายๆคือ รายรับมากกว่ารายจ่าย
10) Wealth Ratio หรือ อัตราส่วนอิสรภาพทางการเงิน
อัตราส่วนอิสรภาพทางการเงิน = รายได้จาก Passive Income / รายจ่าย (คิดเป็นเดือนหรือปีก็ได้)
อัตราส่วนนี้แสดงให้เห็นว่า รายจ่ายทั้งหมดของเราถูกดูแลด้วยรายได้จาก Passive Income หรือรายได้จากทรัพย์สินที่เราสร้างขึ้นมาโดยไม่ต้องออกแรง เช่น Bond กองทุน หุ้น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ถ้าอัตราส่วนตรงนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน ซึ่งหลายคนมีความต้องการมากน้อย เช่น 5 เท่าสำหรับการลาออกจากงานประจำ เกษียณเพื่อมีอิสรภาพทางการเงิน เป็นต้น
มาถึงตรงนี้ อยากจะให้ทุกคนลองจดดูครับ✍️ ว่าสินทรัพย์เรามีอะไรบ้าง หนี้สินเรามีอะไรบ้าง ความมั่งคั่งของเราคือเท่าไหร่ และลองเอาอัตราส่วนทางการเงินทั้ง 10 ข้อด้านบนมาลองคำนวณ แค่นี้เราก็พอเห็นภาพแล้วว่าสุขภาพทางเงินของเราเป็นอย่างไร 👀
📌สิ่งที่สามารถปรับปรุงได้
1) เพิ่มรายได้
2) ลดรายจ่าย
3) ออมมากขึ้น และออมก่อนใช้
4) มีเงินสำรองไว้ใช้ยามจำเป็นที่เพียงพอ
5) สินทรัพย์ > หนี้สิน
1
วันนี้เราคงเข้าใจแล้วว่า “สุขภาพทางเงินของเราเป็นอย่างไร ?” ❓🤨 ลองทำตามดูครับ เราจะเข้าใจตัวเอง และ จัดการเรื่องเงินได้อยู่หมัด
โฆษณา