25 เม.ย. 2021 เวลา 21:29 • ประวัติศาสตร์
ประภาพรรณพิไลย-ประไพพรรณพิลาส
พระธิดาแฝดใน รัชกาลที่ 5
พระราชโอรส-พระราชธิดา ทั้งหมด 97 พระองค์ ในรัชกาลที่ 5 มีพระธิดาแฝด 1 คู่ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพร้อม เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2428
โดยได้รับพระราชทานพระนามให้คล้องจองกันว่า "พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย" และ "พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส" ซึ่งทั้ง 2 พระองค์เป็นแฝดเหมือน หรือ แฝดแท้ (ปัจจุบันอธิบายทางการแพทย์คือปฏิสนธิในไข่ฟองเดียว) ซึ่งแฝดแท้นั้นมักจะออกมาเป็นเพศเดียวกัน หน้าตาเหมือนกัน ผิวเหมือนกัน เรียกว่าลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันแทบทุกอย่าง
ซึ่งในสมัยนั้นหากใครมีลูกแฝดถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดีอย่างมาก จนมีคำกล่าวว่า "ตื่นแฝด" ซึ่งรัชกาลที่ 5 เองก็ทรงออกพระอาการตื่นแฝด หรือ หลงพระธิดาเป็นอย่างมาก
ความโปรดปรานพระราชธิดาแฝดนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพี่เลี้ยงเชิญตามเสด็จไปในที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ก็ได้ตามเสด็จประพาสหัวเมืองตั้งแต่พระชันษาได้ 3 เดือน จนก่อนหน้าจะสิ้นพระชนม์เพียง 7 วัน มิได้เคยขาดเลยสักครั้งเดียว
ดั่งโคลงสี่สุภาพตอนหนึ่ง บนแผ่นศิลาจารึกภุชงคประยาตฉันท์ ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธ พระนิพนธ์ในกรมหลวงพิชิตปรีชากร อธิบายความโปรดปรานของพระพุทธเจ้าหลวงเป็นคำกลอนถวายพระอัฐิพระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส ตอนหนึ่งว่า
เต็มแรงรักเจ้าสุด หฤทัย พ่อฤๅ
ถนอมแทบนับหายใจ ออกเข้า
ไปไหนก็พาไป ไป่ห่าง เห็นเลย
เจริญจิตพ่อค่ำเช้า ชื่นน้ำใจชม ฯ
15 พฤศจิกายน 2429 พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส พระธิดาแฝดผู้น้องก็ทรงเริ่มประชวรและสิ้นพระชนม์ในอีก 2 วันถัดมา ด้วยพระชันษาเพียง 1 ปี 3 เดือน พอเรื่องทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท รัชกาลที่ 5 ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่งจนถึงกับไม่เสด็จออกราชการตามปกติ
หลังจากนั้น โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นแม่กองสร้างพระเมรุเป็นการเฉพาะ ที่สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เรียกว่า "พระเมรุบรรพต" พระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2429
พระอัฐิของพระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส บรรจุอยู่ ณ วัดราชบพิธ มีแผ่นศิลาจารึกภุชงคประยาตฉันท์ และโคลงสี่สุภาพ พระนิพนธ์โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร มี 2 ส่วน
ส่วนหนึ่งแต่งด้วย ภุชงคประยาตฉันท์
อนุสาวรีย์นี้ บิดามีฤดีถวิล
สฤษฎ์ไว้จะไว้จิน ตนานุสร์คนึงถึง
ประไพพรรณพิลาศเลิศ ทวีเกิดทวีพึง
กมลพ่อและพรากจึง ทวีทุกข์ทวีศัลย์
อุบัติมีจะมาดับ ก็รับรู้ฤแผกผัน
วิธีธาตุผสมกัน ก็จำแจกกระจายสลาย
กระนั้นรู้ก็ยังหวัง จะให้ยั้งบด่วนดาย
อำนาจสาตรและแรงกาย ผจญได้ก็ดูเอา
โอะโอ้ผู้จะอาจก่อ ชะลอเลื่อนนครเขา
และขุดสร้างสมุทรเอา ประเทศถ่อมก็ทำสม
บ่สามารถจะปกปัก ธิดารักประคองชม
ฉลาดเล่ห์และคำคม ฤคำอ่อนบวอนไหว
ฉนี้แล้ธิดาดวง สมรล่วงนิคาไลย
จะเหลือแต่เสน่ห์ใน อุราพ่อบแผกผัน
ระฦกรักฉลักโศก สถิตไว้คนึงวัน
ธิดาจากบิดาจรัล ประจักษ์ไว้ประจำใจ
อุบัติแม่ก็มีมา ณ ราตรีกำหนดใน
พฤหัสสุกกะปักษ์ไตร ดิถีสาวนามี
สหัศโทศดาเศษ จตาฬีสเจ็ดปี
รกาสัปตศกศรี สวัสดิ์สู่ประสูติสมัย
ประไพพรรณพิลาศลับ ชิวาดับปลาศไป
ณ วันพุธดิถีไทย คะรบสัตตะแรมปักษ์
ณ เดือนกรรติกาพรร ษจออัฏศกศัก
กะราชหนึ่งกะกึ่งพัก ณ โลกนี้และลี้กษัย ฯ
อีกส่วนแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ
3
โอ้ โลกย์เอ๋ยโลกย์ล้น แต่ทุกข์
ทุกข์บมีมีสุข ห่อนได้
ครั้นได้สุขทุกข์รุก เร่งกลับ ทุกข์นา
สุขมากหากต้องใช้ ทุกข์ล้ำกำไร ฯ
ดังใจใคร่ได้ลูก แฝดทวี เกิดฤๅ
รู้ว่าห่างเกินดี จักได้
ไม่หมายแต่ว่ามี ใจมุ่ง
สมที่มาดประหลาดให้ สุขล้ำคำแถลง ฯ
เต็มแรงรักเจ้าสุด หฤทัย พ่อฤๅ
ถนอมแทบนับหายใจ ออกเข้า
ไปไหนก็พาไป ไป่ห่าง เห็นเลย
เจริญจิตพ่อค่ำเช้า ชื่นน้ำใจชม ฯ
งามสมเสมอลักษณทั้ง สองสมร
นฤโรครูปอรชร แช่มช้อย
กำลังช่างอ้อชออน ออดพลอด
เนื้ออวบองค์น้อยน้อย น่าเอื้อเอ็นดู ฯ
หลัดหลัดมาพลัดม้วย พลันพลัน
ดังเด็ดบัวบทัน ผุดน้ำ
ผิดคาดพลาดนึกอัน ตรายรวด เร็วแม่
ใช่แต่ตัดสุขซ้ำ ทุกร้อยแรงทวี ฯ
มานศรีแม่ม้วยเมื่อ มัวมล
อกพ่อมืดมลทน เทวษคลุ้ม
แลหานภาดล หมายสร่าง ใจแม่
เห็นมืดตราบใดกลุ้ม อกแห้งฤๅหาย ฯ
ความหมายภายหน้าด้วย เต็มใจ
ความรักท่วมหฤทัย พ่อแท้
ความเพียรพ่อถนอมชไม แม่มาก พ้นแม่
ความจากจำพ่อแพ้ พ่อพ้นทนทาน
รู้การว่าร่ำไห้ ไป่มี คุณเลย
แต่จะลืมมีศรี ห่อนได้
นึกหน้าน่าปราณี หน้าลูก น้อยพ่อ
ไห้ใช่เห็นคุณไห้ หากให้เอ็นดู ฯ
รู้อยู่การล่วงแล้ว ไป่กลับ คืนแฮ
ใช่เหตุควรนึกนับ นั่งเพ้อ
แต่จิตจำคิดระงับ ทุกข์เพราะ ทุกข์นา
ถ้าไม่คิดคงเก้อ จักอ้างอันใด ฯ
การในเบื้องหน้านั้น ยังมี
สิ่งซึ่งคงจะดี กว่าแล้ว
ทุกข์มีสุขมีที ทางเปลี่ยน กันแฮ
ไม่มากเพียงจิตแผ้ว ทุกข์พ้นดลเสบย ฯ
สำหรับชีวิตของ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย หรือที่ชาววังเรียกว่า "เสด็จพระองค์ใหญ่" เมื่อพระชันษาได้ 13 ปี ก็สูญเสียเจ้าจอมมารดาพร้อม ซึ่งป่วยเป็นวัณโรคภายใน และถึงแก่อนิจกรรมวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2442
เมื่อสิ้นเจ้าจอมมารดาพร้อม พระบรมราชชนก ได้ทรงพระราชทาน พระองค์เจ้าหญิงประภาพรรณพิไลยและพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร (เสด็จพระองค์เล็ก) ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ไปทรงเลี้ยงอุปถัมภ์อภิบาลเป็นพระราชธิดาบุญธรรม
หลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี พระธิดาที่เหลืออยู่พระองค์เดียวในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา เพิ่งสิ้นพระชนม์ ไปเมื่อ 28 พฤษภาคม 2441
โดยขณะนั้นยังมี พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท และ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง ที่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ทรงรับมาอุปการะไว้ก่อนแล้ว
ทำให้ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา รับพระราชพระราชโอรสและพระราชธิดาจากเจ้าจอมมารดาที่ถึงแก่อนิจกรรมมาอุปการะ 4 พระองค์ ได้แก่
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ,พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ,พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย และ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร
ดังปรากฏในบันทึกต่อมาว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ พระราชโอรสในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ทรงสนิทสนมกับพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร เมื่อครั้งเสด็จไปศึกษาในยุโรป ได้ทรงส่งโปสการ์ดจำนวนนับร้อยฉบับมายังพระองค์เจ้าวาปีฯ และได้เคยจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ "ไปรษณียบัตรเจ้าฟ้า"
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี พระราชธิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา กลับไม่ได้ประทับอยู่วังเดียวกับพระชนนี เนื่องจาก สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ขอประทานไปอุปการะตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ หลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ พระราชธิดา พระองค์โตพระองค์เดียวสิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2430 เมื่อพระชันษาเพียง 9 ปี
ซึ่งเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงเรียกสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชมารดาว่า "สมเด็จป้า" และเรียก พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ผู้เป็นน้าว่า "เสด็จแม่"
จากการที่ได้รับพระราชอุปการะจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และได้เห็นการอุปการะจากวังอื่นๆ ทำให้ในกาลต่อมาเมื่อทั้ง 2 พระะองค์ทรงพระชันษามากขึ้นทั้งพระองค์เจ้าหญิงประภาพรรณพิไลยและพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร เสด็จไปประทับอยู่ที่วังดุสิต ก็ซึมซับรับอุปการะเด็กที่ขาดที่พึ่งพาตามที่ได้รับการสั่งสอนมา
พ.ศ. 2460 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่หรือที่เรียกกันว่า "น้ำท่วมปีมะเส็ง" พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย และพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ได้ย้ายไปประทับชั่วคราวที่วังสระประทุมเป็นเวลา 2 เดือน เมื่อเสด็จกลับมา พระองค์เจ้าหญิงประภาพรรณพิไลยจึงย้ายไปประทับที่วังสระปทุม ส่วนพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ย้ายไปประทับที่วังสวนสุนันทา ณ พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ตราบจนกระทั่งวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จึงได้ย้ายเสด็จมาประทับกับพระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย ที่วังสระประทุมอยู่ระยะหนึ่ง
ความเป็นอยู่ของพระราชวงศ์ ผู้เป็นพระราชโอรส พระราชธิดา ในรัชกาลที่ 5 ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลายพระองค์ได้ทยอยเสด็จไปประทับข้างนอก บ้างก็ประทับในวังของพระเชษฐา พระอนุชา หรือพระราชโอรส บ้างก็เสด็จต่างประเทศ หรือบางพระองค์ประทับที่สวนนอก ซึ่งเป็นที่ดินอยู่นอกเขตวังสวนดุสิตที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้แก่บรรดาเจ้าจอมที่มีแต่พระเจ้าลูกเธอประทับและพำนัก โดยเฉพาะที่ดินพระราชทานส่วนใหญ่จะอยู่ติดริมคลองสามเสนเพราะว่าสะดวกในการสัญจรทางน้ำ
พระองค์เจ้าหญิงประภาพรรณพิไลย สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2491 สิริพระชันษา 63 ปี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยใช้พระเมรุมาศองค์เดียวกับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
อย่างไรก็ตาม เรื่องคู่แฝดนี้ มีบันทึกว่า เคยมีในราชวงศ์ 3 คู่ ได้แก่
1.พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (แฝดชาย-หญิง) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังทรงพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์" ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทรัพย์ เมื่อพ.ศ. 2353 แต่สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ
2.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (แฝดหญิง-หญิง) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหนูจีน เมื่อพ.ศ. 2354ก่อนจะสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาเพียง 6 - 7 วัน
3"พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (แฝดชาย-ชาย) ซึ่งเป็นลูกแฝดคู่แรกของ "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร" หรือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์จักรี ก่อนจะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ โดยประสูติแต่จอมมารดาหม่อมหลวงปริก เมื่อพ.ศ. 2400 และสิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน
บทความเรียบเรียงโดย : ธนก บังผล
ภาพ สุสานหลวงวัดราชบพิธ- โพสต์ทูเดย์ : เสกสรร โรจนเมธากุล
โฆษณา