26 เม.ย. 2021 เวลา 13:01 • สิ่งแวดล้อม
แท้จริงแล้วคือต้น ”เสลา”
เนื่องจากในทุก ๆ บทความที่ได้เขียนมามักจะพูดถึงต้นนางพญาเสือโคร่งที่ถนน 304 ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี ที่กำลังจะถูกโค่นไปจากการดำเนินการขยายถนน 304 แต่ทาง @save304tree ได้มีการพูดคุยกับดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ (อาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) แล้วพบว่าต้นนางพญาเสือโคร่งนั้นขึ้นบนดอยที่มีความสูง 1,000 เมตรขึ้นไป หรือที่เราได้กล่าวไปในบทความที่แล้วว่าขึ้นบนภูเขาสูงจากน้ำทะเลประมาณ 1,000-2,000 เมตร ดังนั้นในบทความนี้จึงจะขอแก้ไขความเข้าใจผิดจากที่ว่าต้นนางพญาเสือโคร่งนั้นอยู่บริเวณถนน 304 ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรีแก้เป็นต้นเสลา ฉะนั้นจะขอเริ่มจากการอธิบายลักษณะของต้นเสลา
 
ต้นเสลาทีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Lagerstroemia loudonii Teijsm. & Binn. เป็นไม้ยืนต้นชนิดผลัดใบขนาดกลาง ความสูงประมาณ 10-20 เมตร มียอดเป็นพุ่มกลมแน่น ทึบสีเขียวเข้ม กิ่งมักจะห้อยย้อยลง ใบเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะแผ่นใบยาวแบบรูปขอบขนานกว้าง 6-10 เซนติเมตร ยาว 16-24 เซนติเมตร ปลายใบแหลมและโคนมน ดอกจะมีสีม่วงสดเมื่อถึงเวลาบานช่อดอกจะแน่นเป็นรูปทรงกระบอกโดยก้านช่อดอกและกลีบรองดอกจะมีขนนุ่ม และมีขนาดประมาณ 6.8-8.2 เซนติเมตร ผลจะกลมแข็ง ยาวประมาณ 1.5-2.1 เซนติเมตร มักจะขึ้นตามขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ และป่าชายหาด พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก และภาคกลาง ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน
ต้นเสลา
ลักษณะดอกเสลา
ต้นเสลาเป็นต้นไม้ที่มักพบในการปลูกริมถนนหรือบริเวณเกาะกลางถนนนั่นก็เป็นเพราะว่าต้นไม้ที่จะนำมาใช้ในการปลูกที่บริเวณเกาะกลางมักจะพิจารณาจากจุดประสงค์ในการปลูกซึ่งมีทั้งหมด 7 ข้อ ได้แก่
1.ปลูกเพื่อให้ร่มเงา ลดการสะท้อนแสงของถนน โดยจะใช้เป็นไม้ยืนต้นที่มีทรงเป็นพุ่มกว้าง
2.ปลูกเพื่อแบ่งเขตแนว สร้างกรอบสายตาสู่จุดหมายที่ต้องการ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี กรณีแรกคือมีพื้นที่แคบจะใช้เป็นไม้พุ่มเตี้ย กรณีต่อมาคือพื้นที่กว้างจะใช้เป็นไม้พุ่มสูง
3.ปลูกเพื่อเป็นฉากบัง ป้องกันแสงไฟจากหน้ารถยนต์ฝั่งตรงข้ามโดยเฉพาะบริเวณทางโค้ง ควรเลือกต้นไม้ที่ตัดแต่งทรงได้ กำหนดความสูงได้ และมีทรงพุ่มหนา
4.ปลูกเพื่อให้เกิดความโล่ง เห็นวิวทะลุได้ ณ บริเวณสี่แยกหรือหัวเกาะ โดยใช้ไม้พุ่มเตี้ยความสูงไม่ควรเกิน 0.50 เมตรจากพื้นถนน
5.ปลูกเพื่อสร้างจุดเด่นหรือเตือนให้ทราบว่ากำลังจะถึงทางแยก ป้ายต่างๆ หรือสถานที่เป้าหมาย ควรใช้ต้นไม้ที่มีลักษณะรูปทรงพิเศษ สวยสะดุดตา
6.ปลูกเพื่อความสวยงาม โดยเลือกพันธุ์ที่ออกตามฤดูกาล
7.ปลูกเพื่อป้องกันการกระเซาะของผิวหน้าดิน
จากจุดประสงค์ทั้ง 7 ข้อนี้ต้นเสลาสามารถตอบโจทย์ได้ถึง 2 จาก 7 ข้อเป็นอย่างน้อย ซึ่งก็ได้แก่ การปลูกเพื่อให้ร่มเงา ลดการสะท้อนแสงของถนน เพราะต้นเสลาเป็นต้นไม้พุ่มกว้างมีความคล้ายคลึงกับต้นอินทนิลน้ำ และการปลูกเพื่อความสวยงามเนื่องจากต้นเสามีดอกสีม่วงอมชมพู ทำให้เกิดสีสันสดใสและนำมาสู่สบายตาจึงช่วยลดความตึงเครียดจากการขับรถของผู้ใช้ถนนได้
ในบทความที่แล้วเราได้กล่าวถึงวิธีการขุดล้อมโดยทั่วไปไปแล้ว เพราะฉะนั้นในคราวนี้เราจึงสรุปวิธีการล้อมย้ายของต้นเสลาดังนี้
ชนิดของต้นไม้ : ไม้ยืนต้นชนิดผลัดใบ
ฤดูที่เหมาะสมในการขุดล้อม : ช่วงเวลาที่ต้นไม้มีใบแก่จัดเต็มต้นก่อนผลัดใบ ซึ่งต้นเสลาจะมีผลแก่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นช่วงเวลาในการล้อมย้ายที่เหมาะสมน่าจะอยู่ในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม
วิธีขุดล้อมที่เหมาะสม : การขุดล้อมคาหลุมแบบการขุดล้อมเพื่อให้ใบร่วง เพราะต้นเสลาเป็นต้นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง
สถานที่ที่ควรย้ายไปปลูก : อยู่ที่เดิมหรือย้ายไปปลูกที่ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ หรือป่าชายหาด
หลังจากได้กล่าวถึงต้นเสลาแล้วก็อยากจะขอแก้ความเข้าใจผิดระหว่างต้นเสลากับต้นนางพญาเสือโคร่งที่เคยได้กล่าวไป ทั้งสองต้นนี้แทบไม่มีความใกล้เคียงกันเลยซึ่งมีความแตกต่างดังนี้
จะเห็นได้ว่าทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างมาก และโอกาสที่นางพญาเสือโคร่งจะมาโตในบริเวณพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกก็มีความเป็นไปได้น้อยมากดังนั้นถ้าหากพบข่าวหรือบทความที่บอกว่านางพญาเสือโร่งอยู่ในบริเวณเหล่านี้ก็อาจจะนับได้ว่าเป็น fake news บทความของเราจึงอยากจะแก้ไขความเข้าใจผิดมา ณ ที่นี้
แหล่งอ้างอิง
นางพญาเสือโคร่ง
ต้นเสลา https://cutt.ly/8v4ncio
การปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้เกาะกลางถนน http://www.doh.go.th/uploads/tinymce/general/aboutus/plant/Guide%20to%20planting%20and%20maintaining%20island%20trees.pdf
โฆษณา