26 เม.ย. 2021 เวลา 16:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบหลุมดำจิ๋วที่มีมวลน้อยที่สุดเท่าที่เคยพบมา และมันยังเป็นหลุมดำที่อยู่ใกล้โลกเรามากที่สุดด้วย
ภาพจำลองของหลุมดำ the Unicorn ที่โคจรอยู่คู่กับดาวยักษ์แดงเพื่อนบ้านของมัน
หลุมดำที่มีมวลเพียงประมาณ 3 เท่าของมวลดวงอาทิตย์นี้ถูกค้นพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ อเมริกา
ซึ่งทำให้มันเป็นหลุมดำที่มีมวลน้อยที่สุดเท่าที่มนุษย์เราเคยตรวจพบมาก่อน (เคยมีการประมาณการณ์ว่าหลุมดำสามารถมีมวลน้อยที่สุดได้ 2.17 เท่าของดวงอาทิตย์)
ถือว่ามีมวลน้อยมากสำหรับการเป็นหลุมดำ
แล้วเขาค้นพบมันได้ยังไง ก็ในเมื่อเรามองไม่เห็นหลุมดำ??
ก็ด้วยการสังเกตดาวยักษ์แดงดวงหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros ) ซึ่งห่างจากโลกไปประมาณ 1,500 ปีแสง
โดยจากการสังเกตดาวยักษ์แดงนี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างตามช่วงเวลาที่แน่นอน ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานถึงการมีอยู่ของหลุมดำที่โคจรอยู่คู่กับดาวยักษ์แดงนี้
แนววิถีการโคจรรอบกันและกันของดาวยักษ์แดงและหลุมดำ the Unicorn
เพราะพวกมันทั้งคู่โคจรรอบศูนย์กลางความโน้มถ่วงของพวกมันจึงทำให้ดาวยักษ์แดงนั้นมีรูปร่างที่จะดูเว้าในลักษณะต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามดำแหน่งการโคจรและระยะห่าง
ลักษณะรูปทรงของดาวที่บิดเบี้ยวไปนี้เรียกว่า tidal distortion ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่ามีหลุมดำอยู่ใกล้เคียงกับดาวดวงนั้น และเราก็ตรวจพบหลุมดำหลายแห่งด้วยการสังเกตปรากฎการณ์ลักษณะนี้
เมื่อตำแหน่งเปลี่ยนรูปทรงของดาวก็จะเปลี่ยน
ซึ่งตอนแรกทีมนักวิจัยก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นหลุมดำเพราะว่า tidal distortion ของดาวยักษ์แดงนี้มีน้อยมาก แต่สุดท้ายก็สามารถยืนยันได้ว่าเป็นหลุมดำที่มีมวลน้อยกว่าที่เราเคยเจอนั่นเอง
โดยนอกจากเจ้าหลุมดำ the Unicorn นี้จะทุบสถิติการเป็นหลุมดำที่มีมวลน้อยที่สุดที่เคยพบมาแล้ว มันยังทุบสถิติการเป็นหลุมดำที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดด้วยระยะห่างออกไปเพียง 1,500 ปีแสง
แต่ก็ถือว่ายังอยู่ไกลมากอยู่ครับ เราคงไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเจ้ายูนิคอร์นนี่ดูดจ๊วบหายแน่นอน ^^
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา