28 เม.ย. 2021 เวลา 01:00 • หนังสือ
ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา, วรเจตน์ ภาคีรัตน์
กว่าจะอ่านจบก็สูบพลังชีวิตไปมากโข ต้องใช้จินตนาการเยอะพอสมควร อ่านไปบางทีนึกถึงบางฉากใน Interstella แบบไม่รู้ตัว
ซื้อมานี่อยากรู้ว่ากฎหมายที่ดีควรเป็นยังไง แต่อ่านจบก็ยังไม่ได้คำตอบ (ก็ปรัชญาอ่ะนะ) ถามว่าอ่านสนุกมั้ย สนุกบ้าง ไม่สนุกบ้าง (แต่สนุกมากกว่า) ควรอ่านมั้ย ถ้ามีเวลาอ่านก็ดีช่วยเบิกเนตรทีเดียว
หนังสือนำเสนอความคิดของนักคิดเกี่ยวกับกฎหมาย ย้อนไปตั้งแต่สมัยกรีกโบราณจนถึงศตวรรษที่ 20 โดยนำเสนอแบบไล่เรียง timeline ไม่ได้นำเสนอแบบจัดกลุ่มนักคิดตามสำนักคิดแต่ละกลุ่ม
หลักๆ แล้วแบ่งนักคิดด้านกฎหมายออกเป็นสองสำนัก คือ สำนักกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law School) กับสำนักกฎหมายบ้านเมือง หรือปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย (Legal Positivism)
สำนักกฎหมายธรรมชาติเกิดมาก่อน แรกๆ ก็มีที่มาจากเทพเจ้า ต่อมาก็เริ่มอ้างนามธรรมอย่างความสุข ความดี หรือศีลธรรม ช่วงคริสตจักรรุ่งเรืองก็อ้างพระผู้เป็นเจ้า
โดยรวมๆ สำนักนี้พยายามมองหาภววิสัย (objective) หรือความจริงเพียงหนึ่งเดียวของกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งสากล ประมาณว่ากฎหมายธรรมชาตินี้มันไม่ขึ้นกับกาลและเทศะใดๆ ใช้แบบปูพรมได้เลย
แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ จึงมีการศึกษากฎหมายที่ถูกใช้ในสังคมควบคู่ไปด้วย กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการแตกสาขาออกมาของสำนักกฎหมายบ้านเมือง
อย่างไรก็ตามช่วงแรกๆ กฎหมายธรรมชาติ กับกฎหมายบ้านเมืองจะมีความสัมพันธ์กันอยู่ในลักษณะที่ว่ากฎหมายธรรมชาติเป็นบรรทัดฐานที่กฎหมายบ้านเมืองควรจะพยายามไปให้ถึง
แต่พวกปฏิฐานนิยมยุคหลังก็รู้สึกว่ามันมัวๆ ไป ไม่ชัด กฎหมายมันควรจะชัดเจน เพื่อความง่ายอย่าไปมองถึงคุณค่าของกฎหมายเลย เราศึกษากฎหมายแบบวัตถุทางวิทยาศาสตร์ดีกว่า กฎหมายจะดีจะเลวเป็นหน้าที่คนอื่นบอก เรามีหน้าที่บอกแค่ว่ากฎหมายนี้มีสถานะเป็นกฎหมายหรือไม่ก็พอ
ระหว่างนี้พวก naturalist ก็ยังคงพยายามหาความจริงเพียงหนึ่งเดียวต่อไป หลังการเสื่อมของศาสนจักรก็ออกมาจากทุ่งลาเวนเดอร์ และพยายามมองหาคุณค่าของกฎหมายผ่านธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น อันเป็นที่มาของเรื่องหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
สองค่ายนี้ก็บลัฟกันไปมา ค่ายบ้านป่าบอกนักกฎหมายควรชี้นำสังคมสิเว้ย คุณค่าน่ะมันต้องมี ส่วนค่ายเด็กเทพบอกของมึงนะเอาแน่เอานอนไม่ได้ ของกูเนี่ยชัดๆ ไม่ต้องงง
โดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย จู่ๆ ก็มีใครไม่รู้ (รู้แหละ...เอาจริงๆ) ตะโกนบอกว่ากูไม่เอามึงทั้งคู่แหละ ไม่ต้องมาสะเหร่อชี้นำสังคม ไม่ต้องมาพูดหล่อๆ ว่าผมเป็นคนชัดเจน ของจริงต้องนี่ครับ ดูเอาจากประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมว่าไง จารีตว่าไง ต้องตามนั้นสิครับ บูม...กลายเป็นสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ (History School of Law)
ถามว่าประเทศไทยเราโปรสำนักไหน คำตอบคือเราเป็นแบบ mixed system คือเราออกกฎหมายด้วยความคลุมเครือ ตามแนวสำนักกฎหมายธรรมชาติ แต่บังคับใช้กฎหมายแบบไม่สนคุณค่าใดๆ ตามแนวสำนักกฎหมายบ้านเมือง โดยเรียกรวมๆ เป็นกฎหมายแบบไทยๆ ตามสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์...เอวัง
ปล. สำนักกฎหมายทั้งหมดมีมากกว่าที่ในหนังสือกล่าวไว้
สรุป สาระไปอ่านเอาจากหนังสือเถอะ คือเยอะเกินสรุปไม่ถูก เข้าใจไม่หมดด้วย ใครอ่านของเฮเกิลรู้เรื่องช่วยอธิบายด้วย อ่านแล้วรู้สึกว่านางสามารถรับรู้ถึงมิติเวลาได้
โฆษณา