27 เม.ย. 2021 เวลา 05:37 • คริปโทเคอร์เรนซี
วงการคริปโตทำเงินมหาศาล ใครๆก็อยากเข้ามาจอยด้วย ล่าสุด NBA หรือลีกบาสเกตบอลอาชีพสหรัฐฯ ร่วมวงด้วย กับแนวโน้มจะฟันเงินแสนล้านได้ในระยะเวลาอันใกล้
4
NBA เป็นสุดยอดลีกกีฬาที่มีไอเดียในการทำเงินเข้าขั้นอัจฉริยะ ล่าสุดพวกเขาตามกระแส "คริปโต" และสร้างช่องทางทำเงินใหม่ ที่มีแนวโน้มจะทะยานถึงหลักแสนล้านบาทในอนาคต
ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่าในยุคนี้ "สินทรัพย์" ไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุที่จับต้องได้อีกต่อไปแล้ว ของที่อยู่ในออนไลน์อย่างเดียว ก็มีมูลค่าได้ เราเรียกสิ่งนั้นว่า สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset)
เมื่อก่อนถ้าเราพูดถึงเงิน เราก็จะคิดถึงธนบัตร เหรียญ สกุลเงินของประเทศต่างๆ แต่ในปัจจุบันเราก็เห็นแล้วว่า มันมี "คริปโตเคอเรนซี่" หรือสิ่งที่มีคุณค่าเทียบได้กับเงิน อย่างบิทคอยน์ หรือ ด็อกคอยน์ เป็นต้น ทั้งๆที่บิทคอยน์ เราไม่สามารถจับต้องมันได้ในชีวิตจริง คือมันมีตัวตนอยู่ในโลกออนไลน์อย่างเดียว แต่มันก็มีราคาจริงๆ สามารถแลกเปลี่ยน และนำไปซื้อสินค้าได้
ในวงการศิลปะก็เช่นกัน ในอดีตถ้าเราต้องการเป็นผู้ครอบครองรูปวาดสัก 1 รูป เราก็ต้องจ่ายเงินของเรา เอาไปแลกกับรูปวาดนั้นมา ซื้อเสร็จแล้วเอามาแขวนที่ผนังบ้าน อวดในแกลลอรี่ส่วนตัวก็ว่ากันไป แต่ในยุคนี้ งานศิลปะสามารถขายออนไลน์อย่างเดียวก็ได้ คุณจ่ายเงินมา ศิลปินส่งรูปวาดเป็นไฟล์ดิจิทัลให้คุณ แค่นี้ก็จบ คุณก็ถือเป็นเจ้าของรูปวาดนั้นอย่างเป็นทางการแล้ว
หลายคนอาจมองว่ามันพิลึก เพราะถ้าเป็นรูป .jpg ใครๆก็กดคลิกขวา save image as ก็ได้นี่หว่า ถ้าไม่ได้ของที่จับต้องได้ แล้วจะเสียเงินให้กับศิลปินทำไม จ่ายเงินเพื่อเอาไฟล์รูปมาครองเนี่ยนะ
ใช่ ฟังดูมันก็พิลึกดี แต่แนวคิดของสินทรัพย์ดิจิทัลจะเชื่อว่า คนก็อปปี้ก็ได้แค่ทำซ้ำ มันไม่ใช่รูปออนไลน์ของจริงอยู่ดี
2
เหมือนรูปวาดโมนาลิซ่า ใครๆก็วาดได้ ทำก็อปแค่ไหนก็ได้ แต่เราก็รู้กันว่าของจริงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ในปารีส เช่นเดียวกัน สินทรัพย์ออนไลน์ อย่างไฟล์รูปวาด คนอื่นจะก็อปปี้แล้วส่งต่อไปแค่ไหนไม่สำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วไฟล์รูปออริจินอล ย่อมมีแค่หนึ่งเดียวเท่านั้นในโลก
1
การซื้อขายไฟล์ออนไลน์ต้นฉบับ เราจะเรียกมันว่า "คริปโตอาร์ต" แต่ในเวลาต่อมา ถูกใช้ชื่ออย่างเป็นทางการคือ NFT
งานทุกอย่างในโลกออนไลน์ ถูกทำเป็น NFT แล้วขายเป็นเงินได้หมด ในเดือนที่แล้ว แจ๊ค ดอร์ซีย์ ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ ออกมาประมูลขาย "ทวีตแรก" ของตัวเอง ทำเงินไป 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนักธุรกิจชาวมาเลเซียผู้ประมูลชนะ ได้กล่าวว่า "นี่ไม่ใช่แค่ทวีต แต่อีกหลายปีให้หลัง ผู้คนจะได้เข้าใจคุณค่าที่แท้จริงของทวีตนี้ มันเปรียบเสมือนรูปวาดของโมนาลิซ่านั่นแหละ"
3
หลายคนก็สงสัยว่า เฮ้ย ถ้าอยากครอบครองทวีตแรกของแจ๊ค ดอร์ซีย์ ก็แค่เปิดรูปนั้นขึ้นมา แล้วกด save image as หรือ ก็แคปรูปผ่านโทรศัพท์ก็ได้นี่หว่า แต่ก็อย่างที่บอก นั่นคือการ "ก็อปปี้" และสิ่งที่คุณได้ไป ไม่ต่างอะไรกับรูปก็อปของโมนาลิซ่า แต่ทวีตของจริง ที่สามารถนำไปซื้อขายได้นั้น ตกไปอยู่กับผู้ประมูลได้เรียบร้อยแล้ว
กระแสของ NFT ที่ร้อนแรง ทำให้ NBA เห็นช่องทางทำเงินเช่นกัน พวกเขาเชื่อว่า "ของที่จับต้องไม่ได้ แต่ในโลกนี้ก็ยังมีคน ที่อยากเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวอยู่ดี" ดังนั้น NBA จึงคิดไอเดียธุรกิจใหม่ขึ้นมา นั่นคือการ "ขายไฮไลท์สั้น" ในชื่อ NBA Top Shot
2
วิธีการก็คือ ในบาสเกตบอลหนึ่งแมตช์ สมมุติ แอลเอ เลเกอร์ส ชนะ โกลเด้นสเตต วอร์ริเออร์ส ไป 121-105 แต้ม ตลอดเกม ก็จะมีเพลย์ประทับใจเกิดขึ้นมากมาย มีการชู้ตสามแต้มสวยๆสัก 10 หน มีการดั๊งค์งามๆ สัก 10 ครั้ง มีการแอสซิสต์เหนือๆ มีการบล็อก มีการสตีล ฯลฯ ช็อตเหล่านี้ทั้งหมด จะถูก "ตัดแบ่ง" ออกมาเป็นคลิปสั้นราวๆ 10-15 วินาที แล้วเอาคลิปไฮไลท์ที่ตัดแบ่งนั่นแหละ เอาไปวางขาย
สิ่งที่น่าสนใจคือ ไฮไลท์ที่ NBA สามารถตัดแบ่งมาขายนั้น มันมากมายแทบจะไม่สิ้นสุด ในฤดูกาลปกติ มีเกมแข่งขัน 1,230 เกม เกมนึงได้ไฮไลท์ไปร้อยกว่าช็อตแล้ว ยังไม่นับเกมเพลย์ออฟ เกมออลสตาร์ รวมถึงเกมในอดีตรวมแล้วเกือบ 1 แสนเกม มันมีไฮไลท์ให้คุณตัดแบ่ง แล้วเอาไปขายได้ อย่างเยอะแยะมากมายไปหมด
เอาจริงๆ ในอินเตอร์เน็ตก็มีคนสงสัยกับปรากฏการณ์นี้เช่นกัน คอมเมนต์หนึ่งบอกว่า จะเสียเงินซื้อไฮไลท์ทำไม ในเมื่อคุณเปิด YouTube ก็ได้ไม่ใช่หรือ อยากดูก็ดูได้เลยนี่ แต่คำอธิบายก็เหมือนงานศิลปะชิ้นอื่นๆ ในคริปโตอาร์ท คือคุณเปิด YouTube คุณก็แค่ดูไฮไลท์ตัวก็อป แต่เจ้าของโมเมนต์ที่แท้จริง คือคนซื้อต่างหาก
5
ณ ปัจจุบัน NBA ทำไฮไลท์ออกมาขายทั้งหมด 7.6 ล้านโมเมนต์ และจนถึงเวลานี้ Sold Out ไปเรียบร้อยแล้ว ขายเท่าไหร่ก็ไม่พอ
สำหรับการขายไฮไลท์นั้น จะใช้วิธีเดียวกับ "การ์ดนักกีฬา" คือทาง NBA จะทำซอง (ออนไลน์) จากนั้นถ้าคุณจ่ายเงินซื้อ 1 ซอง ระบบก็จะแรนดอมให้ ว่าคุณจะได้ไฮไลท์ช็อตไหนไปครอง อารมณ์เดียวกับซื้อการ์ดนักกีฬา หรือการ์ดยูกิ ที่มันจะอยู่ในซอง คุณต้องซื้อซองเพื่อวัดดวงว่าจะได้การ์ดใบไหน
2
เมื่อคุณเปิดซองออนไลน์ออกมา ไฮไลท์ที่คุณได้ ก็เปรียบเสมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง คุณสามารถนำมันไปวางขายใน Market Place แล้วทำกำไรให้ตัวเองได้
ถ้าดวงไม่ดี แกะซองออนไลน์แล้วได้ช็อตธรรมดา จากทีมเล็กๆ ก็จะขายไม่ค่อยได้ราคาเท่าไหร่ แต่ถ้าดวงดีได้ช็อตสำคัญของผู้เล่นดังๆ ก็จะอัพราคาขายได้มหาศาลมาก
ตัวอย่างเช่น โมเมนต์หายาก ที่เลอบรอน เจมส์ ดั๊งค์แบบปั๊มอัพ ในเกมที่เลเกอร์ส เจอกับฮุสตัน ร็อคเกตส์ เมื่อต้นปีที่แล้ว มีการ "ซื้อต่อไฮไลท์" กันที่ราคา 210,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 6.6 ล้านบาท
1
ไฮไลท์ออนไลน์ที่จับต้องไม่ได้ อยู่แต่ในโลกออนไลน์อย่างเดียว แต่สามารถซื้อขายกันในราคาหลักล้านได้สบายๆ มันแสดงให้เห็นว่า สินทรัพย์ต่อให้อยู่แต่ในรูปแบบของดิจิทัล แต่มันก็มีคุณค่า และมีความต้องการในตลาดที่สูงมากๆ เช่นกัน
2
เมื่อวานนี้ NBA เอาไฮไลท์ใหม่ 50,000 แพ็ก มาวางขายในราคาซองละ 9 ดอลลาร์ ปรากฏว่าขายหมด Sold Out ใน 1 ชั่วโมง ทำเงินไปสบายๆ 450,000 ดอลลาร์ (14 ล้านบาท)
เคธี่ เท็ดแมน หัวหน้าทีมการตลาดของโครงการ NBA Top Shot อธิบายว่า "นี่เป็นสินค้าที่คุณจะเก็บสะสมไว้ได้เป็นร้อยปี" กล่าวคือถ้าเป็น Trading Card การ์ดนักกีฬา การ์ดโปเกม่อน ที่สะสมกัน ยังไงเสียมันก็เป็นกระดาษ วันหนึ่งอาจมีการย่อยสลาย หรือถ้าแพ็กเกจไม่ดี การ์ดอาจมีรอย ทำให้มูลค่าเสียไปอีก แต่ไฟล์ออนไลน์จะอยู่เหมือนเดิมไปตลอดกาล ไม่มีวันสูญสลายไปได้ ถ้าโลกนี้ยังมีอินเตอร์เน็ตอยู่
แล้วลองคิดดูว่าไฮไลท์ของนักบาสยุคปัจจุบัน มีการขายต่อ อัพมูลค่ากันถึงระดับสองแสนดอลลาร์ แล้วถ้าอนาคต NBA ปล่อยไฮไลท์ช็อตในตำนานของ ไมเคิล จอร์แดน , เมจิก จอห์นสัน, แลร์รี่ เบิร์ด หรือ โคบี้ ไบรอันต์ออกมาล่ะ มูลค่าจะกระจุยไปขนาดไหน เคธี่ เท็ดแมนกล่าวว่า "ถ้าหากธุรกิจการ์ดนักกีฬา หรือการ์ดเกม ทำเงินได้ 5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ธุรกิจขายไฮไลท์จะไม่สามารถทำเงินได้ปีละ 1 พันล้านดอลลาร์"
NBA Top Shot เปิดขายเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ปัจจุบันผ่านมาไม่ถึง 7 เดือน มียอดขายไฮไลท์ไปทั้งหมด 500 ล้านดอลลาร์แล้ว (15,736 ล้านบาท) ซึ่งถ้าด้วยเรตนี้ และกระแส NFT ยังอยู่ได้เรื่อยๆ อีกไม่กี่ปี NBA จะทำเงินระดับ 1 แสนล้านบาท ได้อย่างไม่ยากเลย
หลังจากเห็น NBA โกยเงินได้รัวๆแบบนี้ กีฬาอื่นๆ เช่นอเมริกันฟุตบอล NFL หรือ เบสบอล MLB ก็เตรียมจะเข้าสู่วงการขายไฮไลท์เช่นกัน รวมถึงพรีเมียร์ลีก อังกฤษด้วย มีข่าวลือว่าอนาคตอาจเข้ามาร่วมวงด้วยก็เป็นได้
ลองคิดดูว่า ถ้าคุณเป็นเจ้าของไฮไลท์ช็อตที่ เวย์น รูนี่ย์ ยิงโอเวอร์เฮดคิกใส่แมนฯซิตี้, กุน อเกวโร่ ยิงคว้าแชมป์ในเกมกับคิวพีอาร์ หรือช็อตเดนนิส เบิร์กแคมป์ หมุนตัว 1 ตลบ ในเกมเจอนิวคาสเซิล โมเมนต์เหล่านี้คงเอาไปขายต่อได้กำไรเละอยู่เหมือนกันนะนั่น
ในยุคนี้ สิ่งของที่จับต้องไม่ได้ ไม่ได้แปลว่ามันจะไม่มีมูลค่า คุณค่าของสินค้าใดๆ สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ความพอใจของสังคม ว่าจะให้ราคากับมันขนาดไหน
จะว่าไปแล้ว ด้วยหลักการนี้ อนาคตผมเอางานเขียนของตัวเองไปวางขายเป็นคริปโตอาร์ทดีกว่าเนอะ เพราะบทความที่ทุกคนอ่านอยู่ตอนนี้ คือผลงานตัวก็อปนะครับ ใครอยากเป็นเจ้าของบทความตัวจริง จ่ายเงินให้แอดมินมาาาาาา
4
#CRYPTO
โฆษณา