27 เม.ย. 2021 เวลา 10:58 • ท่องเที่ยว
วัดมหาธาตุ อยุธยา .. ศูนย์กลางทางศาสนาในยุครุ่งเรือง
วัดมหาธาตุ .. เป็นหนึ่งในวัดในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา .. ในสมัยก่อน วัดนี้นับได้ว่า เป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญที่สุด ด้วยเหตุที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุกลางเมือง เป็นศูนย์กลางเมืองและเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยา
… โดยมีสมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสีประทับอยู่ภายในวัด ส่วนพระสังฆราช ฝ่ายอรัญวาสีนั้น ประทับอยู่ที่วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล) .. นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ ๆ พระศรีศิลป์และจหมื่นศรีสรรักษ์ พร้อมคณะได้ซุ่มพลที่ปรางค์วัดมหาธาตุ ก่อนยกพลเข้าพระราชวังทางประตูมงคลสุนทร เพื่อจับกุมสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
วัดมหาธาตุเป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาไม่ชัดเจน ... วันวลิต พ่อค้าชาวฮอลันดาบันทึกไว้ว่า ท้าวอู่ทองเป็นผู้สร้าง แต่พงศาวดารกลับอธิบายว่าสมเด็จพระบรมราชาที่ 1 (ขุนหลวงพระงั่ว) เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1917 และเข้าใจว่าการก่อสร้างได้ล่วงเลยมาจนถึงสมัยพระราเมศวร
นักโบราณคดีหลายคนเชื่อว่า วัดมหาธาตุอาจไม่ได้เพิ่งถูกขึ้นในช่วงสมัยพระเจ้าอู่ทองหรือขุนหลวงพระงั่ว ตามที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารที่ได้บันทึกขึ้นในยุคหลัง แต่อาจสร้างขึ้นมาแล้วในยุคก่อนหน้า เห็นได้จากหลักฐานของรูปแบบสถาปัตยกรรม วัสดุในการก่อสร้าง ชิ้นส่วนหินทรายประกอบโครงสร้าง รวมทั้งชิ้นส่วนหินทรายประดับที่หลงเหลืออยู่
.. สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานอันดีที่แสดงให้เห็นว่า พระปรางค์วัดมหาธาตุอาจถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงเวลาก่อนหน้าการเกิดขึ้นของอาณาจักรอยุธยา ตามรูปแบบปราสาทขอม-เขมร ที่มีแผนผังจัตุรมุข แบบที่มีการยกฐานซ้อนชั้นสูงชะลูดขนาดใหญ่ขึ้นเป็นครั้งแรกในบริเวณเกาะเมือง ตามการขยายตัวของรัฐละโว้ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19
ภาพถ่ายวัดมหาธาตุในสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ก่อนที่พระปรางค์จะพังทลายลงเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 เวลาประมาณ 11 โมงเช้า
...ในภาพจะเห็นประกอบด้วยปรางค์ประธาน มียอดนพศูลสูง 6 เมตร มีปรางทิศทั้ง 4 องค์ และปรางบริวารรวม 5 องค์ ที่บันไดถึงซุ้มองค์พระมหาธาตุหลังพนักบันได มีนาคราชองค์โตเท่าลำตาลเลื้อยลงมาแผ่พังพอน ตรงบัลลังก์ทั้ง 4 มุมมีครุฑ จตุโลกบาล โทวาริก รากษก พิราวะและยักษ์ ที่ด้านหน้ามีเรือสัญจรไปมาคาดว่า คือบึงพระราม
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ปรางค์ของวัดองค์เดิมที่สร้างด้วยศิลาแลง ยอดพระปรางค์ได้ทลายลงมาเกือบครึ่งองค์ถึงชั้นครุฑ แต่จะด้วยเหตุผลประการใดไม่ทราบ จึงยังมิได้ซ่อมแซมให้คืนดีดังเดิมในรัชกาลนั้น ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงบูรณะใหม่รวมเป็นความสูง 25 วา เมื่อปี พ.ศ. 2176 และในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. 2275 - 2301 จนถึงช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดมหาธาตุโดนทำลายจนเหลือเพียงซากปรักหักพังและถูกทิ้งร้าง ต่อมายอดพระปรางค์ได้พังทลายลงมาอีกครั้งในรัชสมัยรัชกาลที่ 5
ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ ... มีลักษณะเป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ หันหน้าไปตามแนวแกนหลักทางทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นอาคารคูหาทรงกล่องขนาดใหญ่ ทรงจัตุรมุข มีมุขคูหาซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน เฉพาะมุขด้านหน้ายื่นยาวกว่าด้านอื่น ทำเป็นประตูเข้าภายในห้องครรภคฤหะ (ครรภธาตุ) มีห้องคูหาเล็กคั่นอยู่ภายในมุขหน้า ฐานปราสาทก่อด้วยศิลาแลงสลักเป็นบัวลูกฟักแบบยกสูงสามชั้น ตั้งอยู่บนฐานชุดบัวรูปจัตุรัสขนาดใหญ่
ทูตชาวสิงหลที่ได้มาเยือนวัดมหาธาตุในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในปี พ.ศ. 2293 ได้อธิบายลักษณะขององค์ปรางค์ไว้ว่า ...
“...พระปรางค์ทั้ง 8 องค์ หุ้มด้วยทองจนดูเหมือนดอกสุพรรณิการ์ (kinihiriya) มีภาพวาดจิตกรรม ทั้งสี่ด้านมีวิหารหลังคา 2 ชั้น (มุขทั้ง 4 ของปรางค์) ที่ผนังสกัด (ผนังซุ้มประตูหลอกของปรางค์ยุคแรกภายในห้องคูหายาวของมุขแต่ละด้าน) ประดับด้วยพระพุทธรูปหุ้มทอง ...ตกแต่งอย่างวิจิตร..
... มีประตูขึ้นลงทั้ง 4 ด้าน บันไดด้านหน้าประดับด้วยนาคแผ่พังพานมีลำตัวขนาดต้นตาล รอบฐานประดับรูปราชสีห์ หมี หงส์ นกยูง กินรี กวาง โค สุนัขป่า กระบือ มกร ทวารบาลถือพระขรรค์ ทั้งยังมีรูปพระพรหม พระสักกะ และพระสยัมเทพจำนวนนับไม่ถ้วน ทุกองค์ประดับทอง..
.. ที่ชั้นอัสดงของปรางค์มีรูปครุฑกางปีกชนกัน 4 รูป ในกลีบขนุนมีรูปเทวดาและท้าวจตุโลกบาลพนมหัตถ์เหนือเศียรระหว่างกลีบขนุน มีรูปทวารบาลถือพระขรรค์และยักษ์ถือกระบอง มีรูปพระไพศรพณ์ถือกระบองยาว ยอดเป็นนภศูลทำด้วยทองคำ...”
Ref : EJeab Academy
***The Ancient Capitals of Thailand (P. 263) เขียนโดย Elizabeth Moore กล่าวว่า .. รูปประดับพระปรางค์ถือว่าเป็นสิ่งของที่จะครองครองได้เฉพาะกษัตริย์ ในรัชสมัยของพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้นำรูปประดับเหล่านี้จากการพิชิตนครธม และได้แจกจ่ายไปอยู่ที่วัดมหาธาตุ และวัดพรพศรีสรรเพชญ์
ต่อมา เมื่อครั้งเหตุการณ์เสียกรุงครั้งแรก รูปประดับดังกล่าวได้ถูกนำไปที่พม่า และต่อมาได้กระจายไปตามเมืองหลวงแห่งต่างๆ รวมถึงที่มัณฑเสย์
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระปรางค์เคยพังลงมาเกือบครึ่งองค์ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นผู้บูรณะขึ้น กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระปรางค์ก็พังทลายลงมาอีกครั้งดังสภาพที่เห็นในปัจจุบัน
ในคูหาของพระปรางค์มุมองค์ตะวันตกเฉียงเหนือ มีจิตรกรรมฝาผนังหลงเหลืออยู่ เป็นภาพ “เรือนแก้ว” ขนาดใหญ่อยู่ใต้ต้นโพธิ์ สื่อถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ... ซึ่งเล่าว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ยังไม่เผยแพร่ศาสนาทันที แต่ทรงพิจารณาธรรมต่ออีก 7 สัปดาห์ และในสัปดาห์ที่ 4 พระอินทร์ได้เนรมิตเรือนทำด้วยแก้ว หรือ “เรือนแก้ว” ถวายแด่พระพุทธเจ้า
นักวิชาการเชื่อว่า แต่เดิมคูหาปรางค์น่าจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ โดยใช้ภาพเรือนแก้วเป็นฉากหลัง เข้าใจว่าในคูหาของปรางค์มุขอื่นๆ เดิมคงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเช่นเดียวกัน แต่สูญหายไปพร้อมกับการพังทลายของปรางค์ คงเหลืออยู่แต่ปรางค์ของคูหานี้เท่านั้น
ทิศตะวันตกของปรางค์ประธาน .. มีพระพุทธรูปแบบอู่ทอง สลักจากหินทราย พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการบูรณะสมบูรณ์ทั้งองค์
พื้นที่โดยรอบปรางค์ประธาน เป็นวิหารคด .. ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบ ปัจจุบันวิหารคดได้พังทลายลงมาทั้งหมด
กรุวัดมหาธาตุ .. ในปี พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งพระปรางค์วัดมหาธาตุ ตามโครงการบูรณะพัฒนาจังหวัด ของ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม
การดำเนินการเริ่มขึ้นราวเดือน สิงหาคม หลังจากการขุดลอกดิน อิฐ และหินที่กองทับถมออกจนหมด เจ้าหน้าที่พบ “ปล่อง” ที่ริมผนังปรางค์ ซึ่งน่าจะเป็นทางระบายอากาศของกรุที่อยู่ด้านล่าง ... กรมศิลปากรจึงเสนอให้ขุดกรุทันที และรัฐบาลก็อนุมัติโดยเร็ว เพราะเกรงว่าหากปล่อยทิ้งไว้ต้องมีคนร้ายมาลักลอบขุดกรุแน่นอน
การขุดในครั้งนั้นดำเนินการอย่างเร่งรีบและทุลักทุเล ท่ามกลางสายฝนและน้ำใต้ดินที่เอ่อท่วมหลุมขุดค้นตลอดเวลา จนในที่สุดปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 จึงพบผอบหินบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฝังอยู่ใต้ดินลึกกว่า 10 เมตร
.. ชาวบ้านเล่าว่า ก่อนที่กรมศิลปากรจะเข้ามาขุดกรุ เดิมมีเจดีย์ตั้งอยู่ แต่ถูกขโมยทุบและเจาะใต้เจดีย์ ได้ขันใบใหญ่บรรจุพระเครื่องทองคำไปจำนวนหนึ่ง เมื่อเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาขุดและยกฐานเจดีย์ที่เหลือออกไป พบห้องเล็กๆ แบ่งเป็นช่องๆ ช่องตรงกลางมีตลับหินทำเป็นรูปปลาเขียนลายทองรอบตัว ข้างในมีสิงห์โตทองคำ และเครื่องประดับมากมาย ส่วนห้องข้างๆมีเถ้าอังคารบรรจุอยู่ด้วย
ภายในแกนอิฐทึบตันที่ความลึก 17 เมตร บรรจุผอบพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ เป็นผอบหินสูง 1.6 เมตร ผนังภายในบุด้วยแผ่นทอง มีพระพิมพ์ และสถูปขนาดเล็กซ้อนกันอยู่ 6 ชั้นอยู่ข้างใน ชั้นในสุดบรรจุพระบรมธาตุ
กรมศิลปากรพบว่า มีผู้ลักลอบขุดฐานชุกชีพระวิหารลงไป 2 เมตร จึงดำเนินการขุดค้นต่อลงไปอีก 2 เมตร พบภาชนะดินเผาขนาดเล็ก 5 ใบ บรรจุแผ่นทองบางๆ วางซ้อนอยู่บนแผ่นทองดุนลายเป็นรูปพระพุทธรูป ปนอยู่กับแผ่นทองรูปเต่า ช้าง ม้า และปลา ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการประดิษฐานพระพุทธรูป
เจดีย์แปดเหลี่ยม เพียงหนึ่งเดียวในกรุงศรีอยุธยา ..
บริเวณด้านนอกของระเบียงคดมุมตะวันออกเฉียงใต้ ภายใน วัดมหาธาตุ มีเจดีย์บริวารองค์หนึ่งรูปทรงแปลกตา ตั้งอยู่ตรงบริเวณที่เคยเป็นเจดีย์ทรงพระปรางค์บริวารมุมระเบียงคด เช่นเดียวกับอีกสามด้านที่เหลือ เจดีย์องค์นี้ รูปลักษณะซ้อนลดหลั่นกัน 4 ชั้น ดังในภาพ ซึ่งรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและมีรายละเอียดการประดับตกแต่งที่แตกต่างไปจากพระเจดีย์โดยทั่วไป
แต่ละชั้นมีซุ้มอยู่รอบๆ ปัจจุบันมีปูนปั้นรูปเจดีย์เหลืออยู่ในซุ้มหนึ่ง คาดวาซุ้มอื่นๆก็น่าจะประดับเจดีย์เช่นเดียวกัน และหากสังเกตุให้ดีจะเห็นว่าด้านข้างซุ้มแต่ละชั้นล้วนประดับด้วยรูปเทวดา ยกเว้นชั้นที่ 4 ทำเป็นรูปพระพรหม ส่วนยอดบนสุดประดิษฐานปรางค์ขนาดเล็ก ลายประดับเหล่านี้อาจแสดงระดับชั้นต่างๆของสวรรค์ จัดเป็นเจดีย์ที่แปลกตา เป็นพระเจดีย์นอกแบบศิลปะนิยม ที่มีเพียงองค์เดียวในประเทศไทย
คาดกันว่า .. พระปรางค์บริวารที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยาในมุมนี้ อาจได้เกิดพังทลายลงมาก่อน จึงได้มีการสร้างพระเจดีย์ทรง 8 เหลี่ยมขึ้นใหม่ แต่ยังคงรักษาคติคิดของการจัดวางชั้นรัดประคดแบบปรางค์ปราสาทที่ต้องมีวิมานเทวดาจำลองประดับหน้าบัญชร จึงดัดแปลงมาทำเป็นจระนำซุ้มบนผนังในแต่ละชั้นที่ลดหลั่นสอบเข้าทั้ง 8 ด้าน
ตำหนักพระสังฒราช .. บริเวณพื้นที่ที่ว่างด้านหลังสุดทางทิศตะวันตกคงเป็นที่ตั้งของกุฏิสงฆ์ และตำหนักพระสังฆราช ราชทูตลังกาที่เข้ามาชมวัดมหาธาตุในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศบันทึกไว้ว่า ตำหนักของสมเด็จพระสังฆราชเป็นตำหนักสลักลวดลายปิดทอง มีม่านปักทอง พื้นปูพรม มีขวดปักดอกไม้เรียงรายเป็นแถว เพดานแขวนอัจกลับ (โคม) ในตำหนักมีบัลลังภ์ 2 แห่ง ใช้ตั้งพัดยศแห่งหนึ่ง และสำหรับพระสังฆราชประทับอีกแห่งหนึ่ง
วิหารเล็ก .. วิหารเล็กๆแห่งนี้ มีต้นไม้แผ่รากขึ้นเกาะเต็มผนัง ...
รากไม้ส่วนหนึ่งได้ล้อมเศียรพระพุทธรูปเป็นที่แปลกตา จนกลายเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ปกติเมื่อกรมศิลปากรทำการบูรณะโบราณสถานมักจะถอนรากไม้ออกไปหมด แต่ที่นี่เป็นข้อยกเว้น
วิหารหลวง .. ตั้งอยู่ด้านหน้าของปรางค์ประธาน เป็นวิหารขนาดใหญ่ แค่ปัจจุบันเหลือเสาย่อมุมเพียง 1 ต้น ส่วนผนังด้านข้างเหลือเพียงด้านเดียว ผนังเจาะเป็นซี่ลูกกรง เอาไวใช้ระบายอากาศ
บริเวณรอบๆปราวค์ประธาน
การมาเยี่ยมเยียนอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาทุกครั้ง ฉันรู้สึกหดหู่ใจอย่างช่วยไม่ได้.. อาจจะด้วยบันทึกทางประวัติศาสตร์และบางข้อเขียน บางบทความที่ได้อ่านไปก่อนการเดินทาง .. กอร์ปกับบรรยากาศของโบราณวัตถุต่างๆรายรอบตัวที่มองเห็นเมื่อไปนั่งที่นั่น ..
เคยไปนั่งมองวัดไชยมงคล ในขณะที่นักเรียนวัยรุ่นกลุ่มใหญ่ ทั้งชาย หญิง .. ใบหน้าเบิกบาน เปื้อนยิ้มกว้างขวาง .. วิ่งเล่นไล่คว้าตัวกันไปตามระเบียงคด และพระอุโบสถ ด้วยการแสดงออกที่ไม่ได้บ่งบอกถึงอาการสำรวมเท่าที่ควร .. ต่อหน้าพระพุทธรูปที่ตั้งโดดเด่นอยู่ ณ ที่นั้น .. เห็นแล้วหงุดหงิด พร้อมความรู้สึกหดหู่แล่นเข้ามาจับหัวใจอย่างช่วยไม่ได้ ..
จะว่าไปแล้ว .. จะไปโทษเด็ก หรือผู้ที่ไปเยือน ทั้งหมดก็คงได้ หรือไม่ได้ .. คนไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ หรือนักอนุรักษ์ .. การปลูกฝังให้รักและหวงแหนโบราณสถานที่เป็นรากเหง้า จิตวิญญาณของเชื้อชาติไทย มีไม่มากเท่าที่เราอยากให้มี
ดังนั้น .. เกือบจะคาดเดาได้อย่างไม่ผิดพลาดว่า .. การลักลอบขุด ลักลอบขาย ลักลอบครอบครอง .. สิ่งที่เป็นจิตวิญญาณของเราทุกคนเคยเกิดขึ้นจริงๆ และจะยังคงมีอยู่ต่อไป .. ตราบที่การปลูกฝังจิตสำนึกไม่ได้รับการขานรับจากคนทุกระดับชั้น เรื่อยมาจนถึงครัวเรือน ..
ขอบคุณ .. ข้อความบางส่วนจากหนังสือ อยุธยา และหนังสือ เครื่องทองอยุธยา และบางส่วนของบทความจาก EJeab Academy
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา