27 เม.ย. 2021 เวลา 11:01 • สุขภาพ
เข้าใจ 10 ความผิดพลาดในกระบวนการคิด (Cognitive Bias) เพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นในทุก ๆ วัน
Cognitive Bias คือความผิดพลาดในกระบวนการคิด (systematic error) ที่จะส่งผลต่อการรับรู้ การแยกแยะ มันเป็นขั้นตอนลัดในการตัดสินใจของสมองทำให้เรากระทำหรือคิดสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่เหมาะสมอย่างที่ควรจะเป็นจริง ๆ เราทุกคนมีโอกาสที่ตกอยู่ในสภาวะนี้เหมือนกันทั้งนั้นไม่ว่าอายุเท่าไหร่ เพศอะไร หรือวัฒนธรรมเบื้องหลังจะมาจากที่ไหน
อย่างที่บอกว่าเมื่อกี้ว่าสาเหตุที่มันเกิดขึ้นก็เพราะว่าสมองของเรานั้นรับข้อมูลจำนวนมหาศาลอยู่ตลอดเวลาแต่มันก็อยากจะเก็บพลังงานไว้เพื่อทำงานสำคัญ ๆ อย่างอื่นเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นมันเลยพึ่งพาข้อมูลทั่วไปที่มีและประสบการณ์ที่ผ่านมาเพื่อทำให้กระบวนการตัดสินใจรวดเร็วขึ้น
ความผิดพลาดในกระบวนการคิดมักเกิดขึ้นเมื่อเรามีอารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้องต้องรีบด่วนตัดสินใจ หรือถูกกดันโดยคนรอบข้างให้เลือกอะไรสักอย่างแต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ากระบวนการความคิดและการตัดสินใจในทุก ๆ วันนั้นจะไม่มี cognitive bias เลย ซึ่งในบทความนี้เราจะมาว่ากันถึง cognitive bias ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ และวิธีที่เราจะสามารถหลีกเลี่ยงเพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นในแต่ละวันได้
1. Self-Serving Bias (ความเอนเอียงรับใช้ตนเอง)
สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามักจะปกป้องอัตตาของตัวเองปกป้องความภูมิใจในตัวเอง ปฏิเสธคำวิจารณ์เชิงลบ เพ่งดูแต่ข้อดีและความสำเร็จของตน แต่มองข้ามข้อเสียและความล้มเหลว หรือให้เครดิตตนเองมากกว่าผู้อื่นในงานที่ทำเป็นกลุ่มในภาษาอังกฤษจะมีวลีหนึ่งที่พูดว่า “Cherry-Picking” ซึ่งหมายถึงว่าเลือกมองแต่สิ่งที่รองรับความเชื่อของตัวเองและมองข้ามทุกอย่างไปเลย
ถามตัวเองว่า
“มีคนพูดอะไรกับเราบ่อยๆไหมอาจจะเรื่องงาน เรื่องนิสัยหรือพฤติกรรมที่เราพยายามไม่สนใจเพราะรู้สึกว่าเราเป็นข้อยกเว้น?”
2. FOMO (Fear of Missing Out)
อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเราในทุกวันโดยเฉพาะในสังคมที่ทุกอย่างต้องเดี๋ยวนี้การพลาดข่าวสารอาจจะทำให้เราตกเทรนด์หรือตามคุยกับคนอื่นไม่ทันกลายเป็นความวิตกกังวลที่กลัวว่าคนอื่น ๆ กำลังสนุกหรือสนใจอะไรกันอยู่แต่คุณไม่ได้อยู่ในวงนั้นด้วย
ถามตัวเองว่า
“ที่ฉันกำลังทำอยู่ตอนนี้เพราะอยากทำจริง ๆ หรือแค่กลัวว่าจะตามเทรนด์ไม่ทันถ้าไม่ทำ?”
3. Gambler’s Fallacy (เหตุผลวิบัติของนักการพนัน)
เป็นความเชื่อผิด ๆ ว่า ถ้าเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นบ่อยกว่าปกติในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เหตุการณ์นั้นก็จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งน้อยลงในอนาคตพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเรามักจะคิดว่าเหตุการณ์หนึ่งมักมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงเมื่อมันเกิดขึ้นไปแล้วสมมุติว่าถ้าเราโยนเหรียญออกหัวร้อยครั้งติดกันครั้งต่อไปคนส่วนใหญ่ก็จะคิดว่าต้องออกก้อยแน่นอนแต่ที่จริงแล้ว การดีดเหรียญครั้งที่ 100 กับ 101 เป็นเหตุการณ์ที่แยกจากกันอย่างสมบูรณ์และความเป็นไปได้ของการออกหัวหรือก้อยก็ไม่ต่างกัน
ถามตัวเองว่า
“เหตุการณ์ทีเกิดขึ้นตอนนี้เป็นผลลัพธ์มาจากเหตุการณ์ในอดีตรึเปล่า? เรากำลังตัดสินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้กับสิ่งทีเกิดขึ้นในอดีตที่ไม่เกี่ยวข้องกันรึเปล่า? ถ้าสมมุติว่าเราไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้เกิดอะไรขึ้นเราจะยังตัดสินใจเหมือนเดิมไหม?”
4. Actor-Observer Bias (ความเอนเอียงผู้กระทำ-ผู้สังเกตการณ์)
เป็นความโน้มเอียงที่พยายามอธิบายความผิดพลาดของตนโดยเน้นอิทธิพลของสถานการณ์แต่สำหรับคนอื่นกลับเน้นอิทธิพลของบุคลิกภาพยกตัวอย่างง่าย ๆ เราไปทำงานสายเราบอกว่ารถติด เพื่อนมาทำงานสายเราคิดว่าเขาไม่มีความรับผิดชอบ
ถามตัวเองว่า
“เรากำลังสร้างสมมุติฐานเกี่ยวกับความผิดพลาดของคนอื่นอยู่รึเปล่า? เราให้เครดิตตัวเองจากสิ่งที่เราไม่ควรทำรึเปล่าแต่ถ้าเพื่อนร่วมงานหรือคนอื่นทำกลับเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง?”
5. Narrative Bias (อคติของการสร้างเรื่องราว)
คือการที่คนเราชอบทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ โดยการผูกให้เป็นเรื่องราวเป็นวิธีการที่เรามักหาเหตุผลกับสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านการสร้างเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมาแม้ว่าบางทีมันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเลยก็ตาททีกลับมาที่สมองของเราที่ต้องประมวลข้อมูลจำนวนมากเพราะฉะนั้นการสร้างเรื่องราวเพื่อเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกันปัญหาก็คือว่ามันมักทิ้งรายละเอียดบางอย่างที่อาจจะไม่ได้อยู่ในเรื่องราวนั้น ๆ ได้
ถามตัวเองว่า
 
“สิ่งที่ฉันกำลังบอกตัวเองเกี่ยวกับทางเลือกเหตุการณ์ หรือ สินค้าตัวนี้คืออะไร? มองข้ามอะไรที่จะเป็นสาเหตุหักล้างความคิดในหัวรึเปล่า? จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามองเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่ง?”
6. Survivorship Bias (อคติจากการเห็นผู้อยู่รอด)
การพุ่งความสนใจไปที่บุคคลหรือโปรเจคอะไรบางอย่างที่ประสบความสำเร็จ แล้วละเลยอย่างไม่ได้ตั้งใจบุคคลหรือสิ่งที่อยู่ไม่รอดเพราะมองไม่เห็นจนทำให้คนข้างนอกจะประเมินโอกาสประสบความสำเร็จของตัวเองสูงไปโดยอัตโนมัติเป็นเหยื่อภาพลวงตาที่ไม่รู้เลยว่าความสำเร็จนั้นเป็นเพียงเปอร์เซ็นต์ส่วนน้อยมากขนาดไหน
ถามตัวเองว่า
“เมื่อเรามองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่เราทำสำเร็จเราได้มองในสิ่งที่ไม่สำเร็จด้วยไหม? เราได้ดูไหมว่าอันที่ไม่สำเร็จมีอะไรบ้าง?”
7. Anchoring
ความมีแนวโน้มที่จะอิงข้อมูลแรกที่ได้มากเกินไปเพื่อทำการตัดสินใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหรือข้อมูลต่อมาที่จะได้รับสมมุติว่าเราเปิดเมนูไวน์ที่ร้านอาหารหรูร้านหนึ่งขวดแรกเห็น 5 หมื่น หลังจากนั้นเปิดไปอีกหน้าเห็นขวดละ 5 พัน เราก็จะรู้สึกว่าไวน์ขวดห้าพันก็ไม่แพงเลย
ลองถามตัวเองว่า
“เรากำลังมองสินค้าหรือบริการเหล่านี้ในบริบทไหน? บริษัทหรือแบรนด์เหล่านี้พยายามป้อนข้อมูลอะไรให้เราก่อนเพื่อจะโน้มน้าวการตัดสินใจของเรารึเปล่า?”
8. Halo Effect (กระบวนการคิดเชิงเทิดทูน)
ความเอนเอียงทางวิจารณญาณของบุคคลหนึ่งที่มีต่ออีกบุคคลหนึ่ง (หรือแบรนด์ สินค้า ประสบการณ์) ในภาพรวมถูกบดบังโดยลักษณะพิเศษเสียหมดยกตัวอย่างเช่นคนมักจะคิดว่าคนหน้าตาดีนั้นจะเฉลียวฉลาดมากกว่าค่าเฉลี่ยประสบความสำเร็จมากกว่า และเป็นที่ชื่นชอบมากกว่า
ถามตัวเองว่า
“ทำไมถึงชอบสิ่งนี้มากๆ? แล้วหลังจากนั้นก็ลองจินตนาการว่าคุณลักษณะตรงนั้นหายไปเราจะยังรู้สึกเหมือนเดิมไหม? สมมุติว่าเจอผู้หญิงหน้าตาสวยแล้วรู้สึกว่าชอบแล้วลองนึกว่าถ้าวันหนึ่งที่เธอแก่ชราจะยังรู้สึกเหมือนเดิมไหม?”
9. Hyperbolic Discounting (การลดค่าแบบไฮเพอร์โบลา)
ความโน้มเอียงที่บุคคลจะชอบใจได้รับสิ่ง ๆ หนึ่งทันทีอาจจะเป็นการนอนหลับขี้เซาอยู่บนเตียงแทนที่จะลุกไปออกกำลังกายหรือความรู้สึกสดชื่นเวลาดื่มน้ำอัดลม แทนที่จะดื่มน้ำเปล่าที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าในระยะยาว
ถามตัวเองว่า
“ในสมองเราสิ่งที่ปกติแล้วชนะคืออะไร? รางวัลในตอนนี้ หรือผลดีในระยะยาว? อะไรคือสิ่งที่สำคัญกว่ากันเราจะได้รับผลที่ดีกว่าในภาพใหญ่ถ้าเราสามารถอดทนได้รึเปล่า?
10. Planning Fallacy (เหตุผลวิบัติในการวางแผน)
ความโน้มเอียงที่จะกะเวลาที่จะทำงานเสร็จน้อยเกินไปพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เรามักจะมองสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภาพที่เสร็จเร็วกว่าความเป็นจริง
ลองถามตัวเองว่า
“ครั้งก่อนงานนี้ใช้เวลาเท่าไหร่? เราได้วางแผนเพื่อความผิดพลาดและความล่าช้าไว้ด้วยแล้วใช่ไหม?”
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจเรามักคิดว่าตัวเองมีเหตุผลรองรับในการตัดสินใจอะไรก็ตามแต่ในความเป็นจริงแล้วอารมณ์และความรู้สึกเป็นคนที่ผลักเราไปข้างหน้าและเหตุผลเป็นเพียงแค่สิ่งที่คอยไกด์และแนะนำอยู่ข้างเท่านั้นความผิดพลาดในกระบวนการคิดเหล่านี้แม้ว่าเราจะรู้จักมันแต่เราก็ยังต้องคอยเตือนคอยถามตัวเองอยู่ตลอดว่ามันกำลังเกิดขึ้นอยู่หรือเปล่าด้วยเสมอ
โฆษณา