28 เม.ย. 2021 เวลา 03:42 • การเมือง
เมื่อขั้วโลกเหนือ กำลังท้าทาย คลองสุเอซ
เหตุการณ์เรือขนส่งสินค้า Ever Given เกยตื้นขวางคลองสุเอซ
ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของโลก เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ได้จุดประเด็นให้หลายฝ่ายต้องตระหนักว่า การค้นหาเส้นทางเดินเรือใหม่ ๆ น่าจะช่วยป้องกันความสูญเสียมูลค่ามหาศาลที่อาจเกิดขึ้นเช่นนี้ได้
3
ไม่กี่วันหลังจากเหตุการณ์นั้น มหาอำนาจโลกตะวันออกอย่างประเทศจีน
ก็เริ่มมีการพูดถึง เส้นทางเดินเรือใหม่
เส้นทางที่ว่านี้ คือการเดินเรือผ่าน “ขั้วโลกเหนือ”
2
เส้นทางนี้เป็นอย่างไร แล้วจีนเข้าไปเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
ทั้งที่ไม่มีพื้นที่อยู่ในเขตขั้วโลกเหนือหรือภูมิภาคอาร์กติกเลย ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
4
เพื่อให้เห็นภาพรวมของเรื่องนี้ เราต้องมารู้จักภูมิภาคอาร์กติก ที่เป็นพื้นที่สำคัญของเรื่องนี้กันก่อน
อาร์กติก เป็นภูมิภาคที่อยู่ตรงขั้วโลกเหนือ
โดยถ้าเรามองแผนที่โลกโดยให้ขั้วโลกเหนือเป็นศูนย์กลางนั้น ภูมิภาคอาร์กติก จะมีพื้นที่คล้ายวงกลม โดยมีจุดศูนย์กลางตรงขั้วโลกเหนือ และครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 14.1 ล้านตารางกิโลเมตร
1
โดยดินแดนของอาร์กติกนั้น ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย รัสเซีย, ฟินแลนด์, สวีเดน, นอร์เวย์, ไอซ์แลนด์, เดนมาร์ก, แคนาดา และสหรัฐอเมริกา
ประเทศที่มีความยาวชายฝั่งในอาร์กติกมากที่สุด คือ “รัสเซีย” ที่มีความยาวตามแนวชายฝั่ง 24,140 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็น 44% ของความยาวชายฝั่งทั้งหมดในอาร์กติก
พื้นที่บริเวณอาร์กติกนี้ ยังถือเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของรัสเซีย โดยนํ้ามันดิบกว่า 60% และก๊าซธรรมชาติกว่า 95% ของรัสเซีย ได้มาจากพื้นที่ในเขตนี้
Cr. High North News
ส่วนมหาอำนาจแห่งโลกตะวันตกอย่าง สหรัฐอเมริกา
มีความยาวตามแนวชายฝั่งในภูมิภาคอาร์กติกเพียงแค่ประมาณ 4,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐอะแลสกา มีประชาชนที่อาศัยในเขตขั้วโลกนี้ประมาณ 7 หมื่นคน ซึ่งน้อยกว่ารัสเซียที่มีมากถึง 2 ล้านคน
1
พูดได้ว่า รัสเซีย ถือเป็นประเทศที่มีอิทธิพลค่อนข้างมากในแถบอาร์กติก
2
และเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นสนใจของพื้นที่ในภูมิภาคนี้ ก็คือ “เส้นทางเดินเรือ”
โดยจุดสำคัญของเส้นทางการเดินเรืออาร์กติกนี้ คือช่องแคบเบริง (Bering)
ซึ่งถ้าหากเรากางแผนที่โลกออกมา ช่องแคบเบริงนี้ ก็คือบริเวณที่คั่นตรงกลางระหว่างพื้นที่ ที่ใกล้กันที่สุดของทวีปอเมริกาและเอเชีย
1
ช่องแคบนี้จะมีเกาะ Diomede ใหญ่ (Big Diomede) ที่อยู่ในเขตประเทศรัสเซีย และ Diomede น้อย (Little Diomede) ที่อยู่ในเขตของสหรัฐอเมริกาบริเวณรัฐอะแลสกา ซึ่งทั้งสองเกาะมีความห่างกันแค่ 3.8 กิโลเมตรเท่านั้น
1
Cr. Ocean Conservancy
โดยเส้นทางเดินเรือขั้วโลกนี้จะขึ้นเหนือผ่านทะเลแบเร็นตส์ตอนเหนือของรัสเซีย แล้วมาโผล่ที่ทะเลนอร์เวย์ทางตอนเหนือของนอร์เวย์ แล้วลงใต้ไปยังเมืองท่าสำคัญของยุโรป
ซึ่งมีการเก็บข้อมูลจากเรือขนส่งที่ใช้เส้นทางนี้ว่าสามารถย่นระยะการเดินเรือ ได้เกือบ 40%
ตัวอย่างเช่น
2
ถ้าเรือออกจากท่าเรือในโยโกฮามะจากประเทศญี่ปุ่น เดินทางไปยังท่าเรือในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
1
- ถ้าใช้เส้นทางผ่านทะเลจีนใต้ ผ่านช่องแคบมะละกา ทะเลอาหรับ คลองสุเอซ ช่องแคบยิบรอลตาร์ และช่องแคบอังกฤษ
เส้นทางนี้ จะมีระยะทางประมาณ 20,618 กิโลเมตร
1
- แต่ถ้าใช้เส้นทางเดินเรือที่ขึ้นเหนือ ไปพาดผ่านภูมิภาคอาร์กติก ผ่านช่องแคบเบริง ทะเลแบเร็นตส์ และผ่านทะเลนอร์เวย์
เส้นทางนี้ จะมีระยะทางเพียงแค่ประมาณ 12,982 กิโลเมตร เท่านั้น
1
จะเห็นได้ว่า เส้นทางการเดินเรือจากโลกตะวันออกไปสู่โลกตะวันตก ผ่านภูมิภาคอาร์กติก ช่วยลดระยะทางลงได้มากเลยทีเดียว
1
Cr. Arctic Today
หลายปีที่ผ่านมา เส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าผ่านทะเลอาร์กติกมีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ
ในปี 2016 มีเรือขนส่งใช้เส้นทางนี้ 297 ลำ
และปี 2020 มีเรือขนส่งใช้เส้นทางนี้ประมาณ 400 ลำ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 35%
โดยมีการขนส่งสินค้ากว่า 32 ล้านตัน ซึ่งกว่า 18 ล้านตันเป็นการขนส่งก๊าซธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม จำนวนเรือที่ใช้เส้นทางนี้ก็ยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับเส้นทางจากตะวันออกไปตะวันตกผ่านคลองสุเอซ ที่มีเรือขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางประมาณ 19,000 ลำ ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา
ที่เป็นแบบนี้ เพราะเส้นทางบริเวณอาร์กติก ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งที่ทำให้การเดินเรือทำได้ยากลำบาก ต้องอาศัยเรือทลายน้ำแข็ง (Icebreaker Ships) ในการนำหรือสร้างเส้นทางให้เรือขนส่งสินค้า
ทีนี้ หลายคนคงกำลังสงสัย แล้วจีนมาเกี่ยวอะไรกับพื้นที่นี้
ทำไมช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นจีน ที่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเส้นทางการเดินเรือผ่านขั้วโลกเหนือ ?
ต้องบอกว่าแม้จีนจะไม่ได้มีพื้นที่ประเทศในเขตอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือ
แต่จีนก็เป็นหนึ่งในประเทศ ที่ใช้บริการเส้นทางแถบอาร์กติกเป็นประจำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
2
จีนอาศัยความใกล้ชิดกับพันธมิตรอย่างรัสเซีย และใช้เส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ไปยังทวีปยุโรป สอดคล้องกับนโยบาย One Belt One Road ของจีน
1
Cr. Xinhua News Agency
ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ นโยบายและแผนงานของรัฐบาลจีนในช่วง 4-5 ปีหลัง จีนมีแผนลงทุนในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีพื้นที่อยู่ในอาร์กติก
1
เช่นปี 2018 มีแผนเช่าซื้อสนามบินใน Kemijärvi ในประเทศฟินแลนด์
นอกจากนั้นจีนยังมีแผนการลงทุนทำเหมืองแร่ที่เกาะกรีนแลนด์ ที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรอาร์กติก
และในปีเดียวกันนั้น รัฐบาลจีนได้จัดทำ “นโยบายพัฒนาขั้วโลกเหนือ” เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านทรัพยากร และเป็นเส้นทางการขนส่งสำคัญ
สรุปคือ จีนก็พยายามเข้ามามีบทบาทและสร้างอิทธิพลในแถบอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือ ผ่านการเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย และการลงทุนในหลายประเทศแถบอาร์กติก ด้วยเช่นกัน
1
ส่วนทางฝั่งยักษ์ใหญ่แห่งซีกโลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ที่แม้จะมีรัฐอะแลสกาอยู่ในภูมิภาคอาร์กติก แต่ก็เป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับทางรัสเซีย
ในปี 2019 รัฐบาลของประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์ ก็พยายามขอซื้อเกาะกรีนแลนด์ โดยเสนอแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 370 ล้านบาท แต่สุดท้ายถูกปฏิเสธจากเจ้าของพื้นที่อย่างรัฐบาลเดนมาร์ก
4
หมายความว่า สหรัฐอเมริกา ก็มีความพยายามที่จะขยายอิทธิพลในแถบนี้ให้มากขึ้น จากที่ตอนนี้มีดินแดนที่คาบเกี่ยวอยู่ในเขตอาร์กติกเพียงแค่รัฐอะแลสกาเท่านั้น
2
Cr. Politico
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ “เรือตัดนํ้าแข็ง”
ที่เป็นพาหนะสำคัญในเรื่องการเดินเรือในเส้นทางสายขั้วโลกเหนือ
ซึ่งปัจจุบันประเทศที่เชี่ยวชาญและครอบครองเรือแบบนี้มากที่สุด ก็คือ รัสเซีย
1
รัสเซีย มีเรือตัดนํ้าแข็งมากถึงเกือบ 60% ของจำนวนทั้งหมดในโลก และยังมีแผนต่อเรือรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีใหม่ขึ้นทุกปี อย่างเช่น เรือตัดน้ำแข็งพลังงานนิวเคลียร์ ที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ
3
มากไปกว่านั้น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเรื่อย ๆ แบบนี้
ก็คาดกันว่า น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายเร็วและมากขึ้น
ทำให้การเดินเรือผ่านเส้นทางนี้สะดวกและเร็วขึ้นด้วย
2
เท่ากับว่า ในอนาคตถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนน้ำแข็งขั้วโลกละลายไปมาก
รวมถึงเทคโนโลยีเรือตัดน้ำแข็งพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ
เส้นทางเดินเรือผ่านขั้วโลกเหนือ ก็น่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทกับการเดินเรือจากโลกตะวันออกไปตะวันตกได้มากขึ้น และก็น่าจะสร้างความท้าทายที่มากขึ้นให้กับเส้นทางเดินเรือที่เป็นที่นิยมในตอนนี้อย่าง คลองสุเอซ
4
Cr. Naval News
อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือเราจะเห็นว่าหลายประเทศพยายามเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในพื้นที่อาร์กติกกันมากขึ้น
3
ทั้งรัสเซีย ที่ถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลจากการมีดินแดนส่วนมากในอาร์กติก
จีน ที่อาศัยความใกล้ชิดกับรัสเซีย และการเข้าไปลงทุนในแถบอาร์กติกเพื่อหวังจะได้ประโยชน์จากทรัพยากรในภูมิภาคอันหนาวเหน็บแห่งนี้
1
และสหรัฐอเมริกา ที่แม้จะมีดินแดนส่วนน้อยในอาร์กติก แต่ก็น่าจะอาศัยการเป็นพันธมิตรที่สนิทสนมกับแคนาดาและประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ในการเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่เช่นกัน
ก็ต้องบอกว่า แม้ภูมิภาคอาร์กติก จะปกคลุมด้วยน้ำแข็งและความหนาวเหน็บ
แต่ดูแล้ว การแข่งขันกันมีอิทธิพลในพื้นที่นี้ กำลังร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ เลยทีเดียว..
1
โฆษณา