28 เม.ย. 2021 เวลา 04:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รีวิวหุ้นต่างประเทศ Zuora Inc. [ZUO:NYSE]
By อัพน้อย - Security Analysis
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปีที่แล้วเป็นปีทองของหุ้นเทคโนโลยีจริงๆ เรียกได้ว่าเราจิ้มไปที่หุ้นตัวไหน ถ้าหุ้นตัวนั้นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ส่วนใหญ่ปีที่แล้วก็จะทำผลตอบแทนได้ดีเกือบทั้งหมด
แต่ก็ไม่ใช่ว่าหุ้น Tech ทุกตัวจะขึ้นทั้งหมดครับ ยังมีบางตัวที่ไม่ไปไหนเลย หรือบางตัวก็ทำผลตอบแทนในปีที่แล้วได้เป็นลบด้วยซ้ำ และบริษัท Zuora ก็เป็น 1 ใน Tech Stock ที่ปีที่แล้วทำผลตอบแทนได้ไม่ดีเลยครับเมื่อเทียบเพื่อนๆในกลุ่ม Tech
แล้วเหตุผลอะไรทำให้หุ้น Tech ตัวนี้อยู่นอกสายตานักลงทุน? มันไม่น่าสนใจขนาดนั้นเลยเหรอ? หรือว่าจริงๆแล้วมันเป็นหุ้นดีที่ยังไม่ค่อยมีใครเห็นกันแน่? วันนี้เรามาทำความรู้จักบริษัทนี้กันค้าบ
Zuora ทำธุรกิจให้บริการการจัดการกับระบบ Subscription ขององค์กร อธิบายการ Subscription ง่ายๆก็คือบริการที่เราต้องถูกตัดเงินเป็นรายเดือนหรือรายปีเรื่อยๆเพื่อที่จะได้รับบริการนั้นๆ เช่นที่ทุกวันนี้เราถูกตัดบัตรเครดิตทุกเดือนจาก Netflix, Youtube Premium, Apple Music, Spotify, Playstation Plus, Nintendo Switch Online บริการที่เราใช้ในชีวิตประจำวันเหล่านี้ล้วนเรียกว่า Subscription ทั้งนั้น
และถ้าเราลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่าช่วงหลังๆนี้มีบริษัทที่ให้บริการแบบ Subsciption นี้หลายบริษัทมาก จนเรียกได้ว่าการให้บริการแบบขายเป็นชิ้นๆ หรือ Product based นั้นดูจะเป็น Model การหารายได้เข้าบริษัทที่เก่าไปแล้ว
โดยจาก Report ของ Zuora แจ้งว่า ปัจจุบัน 90% ของ Tech Company ใช้วิธีหารายได้แบบ Subscription และในอนาคต Zuora คาดการณ์ว่า
รายได้มากกว่า 50% ของ GDP โลก จะมาจาก Subscription Model นี่แหละ ประมาณว่ามันเป็น Model ที่ทุกธุรกิจต้องเปลี่ยนมาใช้แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
ฟังดูแล้วเหมือนว่า Zuora นี่จะออกแนวโม้ๆ แต่ถ้าลองจินตนาการตามดูมันก็พอมีปัจจัยที่เรื่องนี่จะสามารถเป็นไปได้อยู่ครับ ลองจินตนาการถึงอนาคตที่คนเราอาจจะไม่ต้องการครอบครองอะไรเป็นของตัวเองเลย แต่ใช้ระบบ Subscription ในการตอบโจทย์ชีวิตเราแทน
ยกตัวอย่างเช่นทุกวันนี้เราซื้อรถมาใช้เพื่อต้องการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย เราอาจจะไม่ได้ต้องการครอบครองรถ แต่เราแค่ต้องการเคลื่อนที่ และนี่คือสิ่งที่รถทำมาเพื่อตอบโจทย์ชีวิตเรา ซึ่งตอนนี้การซื้อรถมาครอบครองเพื่อใช้งานตรงนี้มันเลยดูแล้วคุ้มค่า
แต่ถ้าสมมุติว่าในอนาคต Tesla สามารถผลิตรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ(ไร้คนขับ)ขึ้นมาได้เต็มถนนหละ Tesla อาจจะนำระบบ Subscription เข้ามาใช้ ให้เราเป็นสมาชิกจ่ายเงินให้เค้ารายเดือน โดยที่เราอยากจะไปที่ไหนก็กดเรียกรถ Tesla ที่วิ่งไปวิ่งมาทั่วเมืองผ่านแอพพลิเคชั่น ให้มารับเราไปส่งได้ทันที ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นในอนาคตจริงๆ เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อรถเลยด้วยซ้ำครับ อันนี้ยกตัวอย่างแค่ในเรื่องของรถอย่างเดียวนะ จริงๆระบบ Subscription นี่ยังตอบโจทย์ในเรื่องอื่นได้อีกเยอะครับ(ถ้าเรามโนได้มากกว่านี้🤣)
ตัวอย่างสมมุติของ Tesla ข้างต้นนี่อาจจะดูมโนและใช้เวลาอีกนานกว่าจะเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันนี้ผมก็เห็นหลายครอบครัวที่ไม่ซื้อรถ และเลือกที่จะใช้วิธีเช่ารถแบบจ่ายเป็นรายเดือนแทน รวมถึงตัวผมเองด้วยที่ใช้รถยนต์แบบวิธีนี้ ซึ่งเป็น Subscription Model (ผมใช้ของบริษัท Toyota อยู่) โดยที่ข้อดีก็คือผมไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องค่าซ่อมบำรุงรถ, ค่าประกันชั้น 1, ค่าผ่อนต่างๆ เพราะทุกอย่างถูกรวมไว้ในค่าเช่าที่จ่ายรายเดือนเรียบร้อยแล้ว ผมก็สามารถประเมินรายจ่ายต่อเดือนได้แม่นยำขึ้น ถ้าเบื่อคันนี้ปีหน้าก็เปลี่ยนไปเช่าคันใหม่ก็ได้
เราจะเห็นว่าขนาดในทุกวันนี้ที่รถยนต์ยังไม่ได้ถึงขั้นอัจฉริยะแบบที่ผมสมมุติกรณีของ Tesla แต่ระบบ Subscription Model ก็ถูกนำมาเป็นตัวเลือกในการขายของ ของบริษัทใหญ่ๆหลายๆที่แล้ว และถ้าเรามองไปในอนาคต แนวโน้มของการหารายได้เข้าบริษัทด้วย Model นี้ มันก็น่าจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆครับ
ซึ่งมันก็สะท้อนไปที่ตัวเลข เมื่อเทียบรายได้เฉลี่ยกันระหว่างบริษัทที่ใช้ Subscription Model กับบริษัทที่ใช้ Product Based Model โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา
บริษัทที่ใช้ Subcription Model เฉลี่ยแล้วมีรายได้เติบโต 11.6%
ส่วนบริษัทที่ใช้ Product Based Model เฉลี่ยแล้วมี รายได้ลดลง -1.6%
ปล. ใครที่อยากศึกษาเรื่อง Subscription Model นี้เพิ่มเติมก็สามารถซื้อหนังสือชื่อ Subscribed มาอ่านได้ครับ ซึ่งผู้เขียนก็คือคุณ Tien Tzuo CEO ของบริษัท Zuora นั่นแหละ โดยเล่มนี้มีฉบับแปลไทยด้วยแล้วครับ อ่านไปก็จะได้เข้าใจมุมมองของ CEO ก่อนที่จะลงทุนกับ Zuora ด้วยค้าบ
จากทั้งหมดนี้เราจะเห็นว่าการให้บริการแบบ Subscription นั้นกำลังเติบโตมากๆ โดยที่ Zuora เป็นผู้เล่นหลักในการทำให้ระบบ Subscription ของแต่ละบริษัทเกิดขึ้นครับ เริ่มตั้งแต่ถ้าบริษัทไหนอยากจะเริ่มหรือเปลี่ยนจาก Product Based Model มาเป็น Subscription ทาง Zuora ก็ช่วยจัดการให้ได้ และหลังจากที่ลูกค้าให้บริการแบบ Subscription ไปแล้ว ทาง Zuora ก็ช่วยดูแลระบบให้ต่อได้อีก
โดย Zuora จะทำให้ระบบ Subcription ที่ซับซ้อนเหล่านี้มันง่ายขึ้นสำหรับบริษัทของลูกค้าในการจัดการครับ โดยบริการที่ Zuora ทำให้กับบริษัทของลูกค้าก็เริ่มตั้งแต่ ช่วยคำนวนค่าบริการที่จะเก็บให้ เหมือนที่เราถูก Netflix เก็บเดือนละ 419 บาท แชร์กันได้ 5 คน ช่องทางการตัดเงินอะไรแบบนี้ พวกนี้ต้องถูกผ่านการคำนวนอย่างดีมาแล้วทั้งนั้นครับ และนอกเหนือจากนั้น Zuora ก็ช่วยดูแลให้ทุกๆอย่างที่เกี่ยวกับระบบ Subscription ทั้งการเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน ไปจนถึงช่วยบริษัทของลูกค้าในการลงบัญชีรายได้ให้พร้อมส่งงบเลย เรียกได้ว่าถ้าบริษัทไหนอยากใช้ Subscription Model มาที่ Zuora ที่เดียวจบครับ
ซึ่งถ้าใครอยากจะมาเป็นลูกค้าของ Zuora ก็ต้องจ่ายเงินให้เค้าแบบ Subscribe ครับ ก็บริษัทให้บริการด้านนี้อ่ะเน้าะ ตัวเองจะไปใช้ Model อื่นก็ยังไงๆอยู่🤣
โดยปัจจุบันมีบริษัทมากกว่า 1,000 บริษัทดำเนินระบบ Subscription ผ่าน Platform ของ Zuora และในจำนวนทั้งหมดนี้ มี 26 บริษัทเป็นบริษัทที่อยู่ใน Fortune 100
Zuora ยังมีลูกค้าที่เป็นบริษัทดังๆ ใช้บริการของเค้าอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น Zoom, Docusign, Ford, Philips, Bridgestone, Xerox, GM, Theguardian
ซึ่งเราจะเห็นว่าบริษัทพวกนี้มาจากอุตสาหกรรมที่หลากหลายครับ แปลว่าระบบ Subscription Model นี่มันนำไปดัดแปลงใช้ได้กับทุกที่จริงๆ
แล้วลูกค้าติด Zuora ขนาดไหน ก็ดูได้จาก Net Dollar Retention ครับ โดยในปี 2021 บริษัทมี Net Dollar Retention อยู่ที่ 100% คือแปลว่าลูกค้าซื้อบริการกับ Zuora เท่ากับปีก่อนหน้าเลย ไม่มีเพิ่มขึ้น ไม่มีลดลง ซึ่งตรงนี้บริษัทก็ได้ให้เป้าหมายในปีหน้าไว้ครับ ว่าจะต้องทำให้ได้ 105%+ และในปี 2025 Net Dollar Retention ของ Zuora จะต้องเป็น 112%-115%
เข้าใจการให้บริการของบริษัทนี้แล้ว เราอาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมปีที่แล้วหุ้น Zuora ถึงทำผลตอบแทนได้ไม่ดีเลย โดยในปี 2020 หุ้น Zuora ทำผลตอบแทนติดลบ -5% ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเติบโตของรายได้ที่ทำให้นักลงทุนผิดหวังครับ
โดยรายได้ 5 ปีย้อนหลังของบริษัทเป็นดังนี้
ปี 2017 มีรายได้รวม $113 million
ปี 2018 มีรายได้รวม $171 million (เติบโต 51%)
ปี 2019 มีรายได้รวม $234 million (เติบโต 37%)
ปี 2020 มีรายได้รวม $276 million (เติบโต 17%)
ปี 2021 มีรายได้รวม $305 million (เติบโต 11%)
จะเห็นว่ารายได้ของบริษัทนั้นเติบโตทุกปีมาตลอด แต่เติบโตในอัตราที่น้อยลงเรื่อยๆเลยครับ ตรงนี้อาจจะทำให้นักลงทุนผิดหวัง ราคาหุ้นก็เลยไม่วิ่งตามเพื่อนๆในกลุ่ม Tech Stock
มาดูกำไรขั้นต้นของบริษัทกันบ้างครับ
ปี 2017 กำไรขั้นต้น $64 million (GPM 56%)
ปี 2018 กำไรขั้นต้น $91 million (GPM 53%)
ปี 2019 กำไรขั้นต้น $118 million (GPM 50%)
ปี 2020 กำไรขั้นต้น $141 million (GPM 51%)
ปี 2021 กำไรขั้นต้น $174 million (GPM 57%)
ตัวอัตรากำไรขั้นต้นนี้ ถ้าเทียบกับบริษัท Software Platform อื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะมี GPM 70%+ Zuora ก็ดูน้อยไปเลยครับ แต่ในปี 2021 เหมือนจะมีแนวโน้มดีขึ้น ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปครับ ว่าถ้า Zuora ลูกค้าเยอะขึ้น มีรายได้มากขึ้นจะสามารถเพิ่ม GPM ตรงนี้ให้เท่าเพื่อนๆในกลุ่มได้มั้ย
และสุดท้ายบริษัทยังขาดทุนอยู่ครับ
โดยในปี 2020 ขาดทุนอยู่ $83 million
และในปี 2021 ขาดทุนอยู่ $73 million
ซึ่งปีที่แล้ว(ปีบัญชี 2021 ของบริษัท) น่าจะเป็นปีแรกที่ขาดทุนน้อยลงตั้งแต่ Zuora เข้าตลาดมาในปี 2018 อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีก็ได้ครับ
โดยปัจจัยที่น่าจะสร้างความหวังให้กับนักลงทุนว่า Zuora จะ Turnaround กลับมาเติบโตเพิ่มขึ้นได้ก็น่าจะมาจาก การเปลี่ยนทีมบริหารใหม่ครับ ซึ่ง Zuora เพิ่งได้คุณ Robbie Traube ที่มีประสบการณ์ทำงาน 9 ปี ใน Adobe มาเป็น Chief Revenue Officer เมื่อสิ้นปี 2019 นี่เอง
และอย่างที่เรารู้กันว่า Adobe นี่เป็นบริษัทแรกๆที่เปลี่ยนตัวเองจาก Product Based Model มาใช้ระบบ Subscription Model ตั้งแต่ปี 2013 และ Abode ก็ประสบความสำเร็จในการใช้ Model นี้ตลอดมา โดยที่ในช่วงนั้นคุณ Robbie Traube เป็น Vice President, Strategic Accounts ที่ Adobe อยู่ ตั้งแต่ปี 2012 แปลว่าเค้าต้องมีเอี่ยวในการตัดสินใจเรื่องนี้บ้างแหละ หลังจากได้เค้ามาก็คงมีส่วนช่วยทำให้ Zuora ไปถูกทิศถูกทางมากขึ้น อาจจะเป็นที่มาที่ทำให้งบปีที่แล้ว ตัวเลขของ Zuora มันดูดีกว่าปกติ ถึงแม้จะดีขึ้นมานิดเดียว แต่ก็สร้างความหวังให้นักลงทุนได้ครับ🤣
สรุป
ถ้าเรามองว่า Subscription Model จะเข้ามา Disrupt Product Based Model และสามารถเติบโตไปได้เรื่อยๆจริงๆ Zuora ก็เป็นบริษัทที่จะต้องได้ผลรับผลกระทบเชิงบวกจากเรื่องนี้แน่ๆ ราคาแถวนี้ความคาดหวังในตัวหุ้นอาจจะยังไม่เยอะ ถ้าเชื่อใน Subscription Model จะมองว่าเป็นโอกาสในการเข้าซื้อก็ได้ครับ
โดยความเสี่ยงก็อาจจะมาจากการแข่งขันที่สูงในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น Chargify, Chargebee และการเข้ามาแข่งขันของบริษัทใหญ่อื่นๆในอุตสาหกรรมใกล้เคียงเช่น Oracle หรือ SAP ที่ทำธุรกิจอยู่ในแวดวง Management System คล้ายๆกันนี้อยู่แล้วครับ ซึ่ง Zuora ก็เคลมว่าเค้าเป็น Leader ในอุตสาหกรรม Subscription Management นี้อยู่นะ นักลงทุนไม่ต้องกลัว🤣
ปล. หุ้น Zuora เข้าตลาดมาช่วงเดือนเมษายน ปี 2018 ที่ราคา IPO $14 และหลังจากนั้นก็วิ่งขึ้นไปที่ $34 ภายในไม่กี่เดือน และตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ราคาของ Zuora ก็ไหลลงมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน ราคาหุ้นกลับมาอยู่แถว $16 ซึ่งก็ใกล้ๆกับราคา IPO เลยครับ
โดยถ้าใครสนใจอยากศึกษาหุ้นตัวนี้เพิ่มเติม สามารถอ่านรายงานประจำปีของบริษัทได้ที่นี่ครับ
#อัพน้อย #หุ้นอเมริกา #หุ้นต่างประเทศ #หุ้น
ติดตามเราผ่านช่องทาง Facebook ได้ที่ :
โฆษณา