28 เม.ย. 2021 เวลา 22:00 • การศึกษา
เรื่องเล่าจากหมอเด็กปอเนาะ EP 4
เริ่มเรียนกิตาบ
หลังจากเข้าอยู่ในปอเนาะ และฝากตัวเป็นศิษย์ ปอเนาะดาลอ ได้ประมาณสัปดาห์กว่าๆ ข้าพเจ้าก็ได้รู้จักกับเพื่อน และรุ่นพี่หลายๆคน ทั้งที่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน คือ อายุราว 20 ปี และรุ่นใหญ่ขึ้นไป คือ 25 ปี ไปจนถึง 30 ปีกว่าๆ ซึ่งสำหรับเด็กปอเนาะแล้ว นับเป็นช่วงปลายของชีวิตเด็กปอเนาะ เพราะถึงวัยที่เตรียมตัวออกจากปอเนาะ บ้างก็ออกไปมีครอบครัว บ้างก็ออกไปทำงาน บ้างก็ออกไปเปิดปอเนาะของตัวเอง ถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาต่อไป นอกจากนี้ก็จะพบเด็กที่อายุน้อยๆ เพิ่งเรียนจบระดับประถมศึกษาได้บ้าง และก็มีบ้างเช่นกันที่อายุมากเลยวัย 40 ปี หรือ กระทั้งอายุ 60 ปี ก็ยังพบได้
เพราะระบบปอเนาะ เป็นระบบการศึกษาตามอัธยาศัย เรียนไปพร้อมๆกับการฝึกปฏิบัติ เรียนไปจนกว่าจะรู้ ยิ่งเรียนเป็นเวลานานก็จะยิ่งเพิ่มพูน แตกฉานในวิชาความรู้ และเรียนรู้ได้ จนไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับคนที่เรียนปอเนาะจึงไม่ใช้คำกล่าวกันว่าเรียนจบระดับไหน แต่จะกล่าวกันว่าเรียนนานเท่าไหร่ เพื่อบ่งบอกถึงการผ่านการเรียนรู้ที่มากหรือน้อย ฉะนั้นบางคนก็เรียนกันจนแก่จนเฒ่าเลยก็มี
กิตาบยาวี
ในจำนวนเพื่อนวัยเดียวกัน ที่ข้าพเจ้ารู้จักนั้น ก็เป็นเพื่อนที่มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเราจะเรียกชื่อเขาว่าบาซีร(ออกเสียงว่าบาซีด) ซึ่งได้เข้าเรียนก่อนหน้าข้าพเจ้า หนึ่งปี บาซีรจะรู้จักกับรุ่นพี่หลายๆท่าน ที่เป็นระดับปาลอฏอละอะห์ คือรุ่นพี่ที่เป็นเหมือนครู พี่เลี้ยง ที่คอยชี้แนะ และสอนวิชาความรู้ให้กับรุ่นน้องๆ บาซีรได้แนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักกับรุ่นพี่ที่พูดไทย ซึ่งข้าพเจ้าได้เรียนกิตาบจากท่านเหล่านั้น ได้แก่ บังย๊ะโก๊บ หัวไทร บังมูซา นนทบุรี บังอับดุลบาริ รัตภูมิ บังรอเฉด พัทลุง บังยาสีด สตูล และท่านอื่นๆ ข้าพเจ้าได้มีโอกาส ตอละอะห์ ( อ่านตำรา หรือติวตำรา) กิตาบ กับท่านเหล่านี้
แต่ในระยะเริ่มแรกนั้น เนื่องจากข้าพเจ้า มีพื้นฐานการเรียนศาสนามาน้อย เรียนเพียงหลักสูตร สมาคมคุรุสัมพันธ์ ชั้นที่ 6 เท่านั้น การอ่านการเขียน ทั้งยาวี และอาหรับ จึงเหมือนกับต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ข้าพเจ้าไม่เข้าใจการใช้สำนวน หรือการเรียบเรียงประโยค ทั้งยาวี และอาหรับ ยิ่งไปกว่านั้น ข้าพเจ้า แทบจะไม่รู้ความหมายคำศัพท์เลยด้วยซ้ำ จึงเป็นการเริ่มต้นที่ยากพอดูสำหรับข้าพเจ้า บางทีก็ย้อนคิดกับตัวเองเหมือนกัน ว่าเรานี้เรียนทางสามัญมา ผ่านวิชาที่ยากๆ และสอบเข้ามาเรียนแพทย์ได้ แต่พอมาจับตำราศาสนา ศึกษาจริงจัง ก็ไม่ต่างอะไรกับเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง แต่นับว่าเป็นความโชคดี ที่ปอเนาะมีระบบฏอลาอะห์ ที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยง ที่คอยสอนน้อง มีคนที่สามารถสอนเราจากพื้นฐานได้ และเราสามารถซักถามได้เมื่อเราไม่เข้าใจ ในเวลาน้้นข้าพเจ้ามีรุ่นพี่ที่คอยชีแนะคือ บังบาริ รัตภูมิ และบังอับดุลเลาะห์ กระบี่ คอยช่วยเหลือ ชี้แนะ จนสามารถเข้าใจสิ่งที่ยากๆได้ ในเวลาต่อมา
การเรียนกับปอลอฏอละอะห์(พี่ติวให้น้อง)
และสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้า ได้ยึดเอาเป็นแรงผลักดัน เสมอมา ก็คือคำพูดของบาบอการีม ที่ท่านได้เล่าเรื่องราวของท่านว่า ท่านมาจากฉะเชิงเทรา มาเรียนปัตตานี ท่านก็แทบจะไม่รู้คำศัพท์ อาศัยท่องเอาวันละ 2-3 คำ เขียนไว้ในฝ่ามือ เมื่อเวลาผ่านไปความรู้ และทักษะ ในการอ่าน การฟัง การพูด ก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้น จนกระทั่งท่านอ่าน เขียน พูด จนคล่อง ข้าพเจ้าก็ได้ถือเอาแบบอย่างจากท่าน ค่อยๆจดจำคำศัพท์ และสังเกตการใช้คำไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจ และอ่าน เขียน และพูดได้คล่อง ในเวลาต่อมา
บาบอการีม
เมื่อมีโอกาส ข้าพเจ้าก็จะพูดให้ผู้เรียนรุ่นหลังฟังเสมอว่า ถ้าใครที่เรียนผ่านระบบชั้นเรียนศาสนามา ถือว่ามีต้นทุนในการเรียนรู้ศาสนา จงใช้มันเป็นจุดแข็ง ในการต่อยอดวิชาความรู้ ยิ่งถ้าใครสามารถ ฟังภาษา สื่อสารได้อย่างเข้าใจ ก็จงใช้มันสำหรับการแสวงหาความรู้ แต่ถ้าใครที่ฟังไม่ได้ อ่านไม่ออก เขียนไม่คล่อง ดังเช่นข้าพเจ้า ก็จงขอบคุณต่ออัลอฮ์ ที่นำพาท่านมารู้จักการเรียน และจงอดทน อยู่กับการเรียน และให้มองว่าการเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ง่าย และขอให้อัลลอฮ์ทรงเปิดให้เราเห็นหนทางที่ง่าย ในการที่จะได้วิชาความรู้ และอย่าได้ละทิ้งการเรียนโดยเด็ดขาด เพราะหน้าที่ของเราก็คือการพยายามที่จะเรียนรู้ แต่สำหรับความรู้นั้น เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ จะประทานให้กับบ่าว ที่พระองค์ทรงประสงค์ จงเดินหน้าเรียนต่อไป
ปล. ข้าพเจ้าเอ่ยนามทุกท่าน ณ ที่นี้ เพื่อรำลึกถึงความดีของท่านเหล่านั้น ที่ข้าพเจ้าเคยได้รับ ถ้าไม่ได้กล่าวนามของท่านใด ก็ขออภัยด้วย แต่ขอให้ทราบว่าข้าพเจ้าไม่เคยลืมความดีของพวกท่าน ที่ปฏิบัติต่อข้าพเจ้าเลย
โฆษณา