30 เม.ย. 2021 เวลา 03:30
สรุปว่า ฉันเป็นคนคิดบวกหรือแค่โลกสวยกันนะ? รู้จัก Romanticize เมื่อมุมที่เคยคิดว่าสวยงาม อาจไม่เป็นตามจริง แนวคิดที่สังคมต้องให้ความสำคัญ
บ่อยครั้งที่เราเห็นการแชร์ข้อมูล คนไม่มีจะกินแบ่งปันกับข้าวกัน เห็นการอยู่ในชนบทเป็นเรื่องที่น่าถวิลหา ออกต่างจังหวัดคราใดก็อยากใช้ชีวิตแบบนั้น นั่นแหละคือความ Romanticized ความจน และมองว่าความจนเป็นเรื่องสวยงาม วันนี้จะพาไปรู้จักกับ Romanticize แนวคิดโลกสวย ที่ไม่มีใครได้อะไรจากเรื่องนี้เลย
เปิดนิยาม Romanticize คืออะไร?
บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำว่า Romanticize (โระแมน-ทิไซส) ในโลก Social Media มากขึ้นในทุกวันนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วในคำนี้โดดๆ นั้น ก็น่าจะแปลว่า ทำให้ดูสวยงาม หรือแปลแบบบ้านๆ ก็คือ ทำให้ดูโลกสวย อะไรประมาณนั้น ซึ่งเรามักจะเห็นการใช้คำนี้กับเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่คนมักมองว่าเป็นเรื่องที่สวยงาม ทั้งที่ความเป็นจริง มันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น อย่างในกรณีที่ผ่านๆ มาของ ครูที่ยอมควักเงินส่วนตัวซื้อโน้ตบุ๊คเพื่อการศึกษาให้กับลูกศิษย์ตัวเอง, การเห็นคนรากหญ้าแบ่งปันข้าว 1 กล่องกันด้วยรอยยิ้ม, การมองสภาพชนบทที่เรียบง่ายเป็นเรื่องที่น่าถวิลหา หรือแม้กระทั่งล่าสุดที่มองว่าโควิดเป็นเรื่องดีที่ทำให้ธรรมชาติกลับมาสวยงาม ได้ใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น... ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือการ Romanticized ในเรื่องที่มันไม่ควรจะเป็น
1
สังคมเรา Romanticize เรื่องอะไรกันบ้าง?
มันเลยทำให้เราจะได้เห็นแนวคิดบางอย่างเกิดขึ้น อย่างเช่น การวาดฝันที่จะมีบั้นปลายชีวิตมีบ้านในทุ่งนาแสนสงบสักหลัง วันๆ นึงก็สามารถปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ไว้กินกันเอง ก็น่าจะมีความสุขไปกับชีวิตที่เรียบง่ายแบบนี้ โดยที่ก็ลืมคิดไปว่า หากชีวิตแบบนี้มันน่าถวิลหาจริงๆ ทำไมทุกวันนี้คนถึงยังพยายามแห่กันเข้ามาหางานทำในเมืองกัน นั่นอาจเป็นเพราะการที่เราได้ไปท่องเที่ยวในชนบท ได้สัมผัสวิถี Slow Life หรือต๊ะต่อนยอน อะไรนั้น มันเป็นการสัมผัสแค่เพียงผิวเผิน
การได้เห็น ได้ลองใช้ชีวิตแค่เพียงไม่กี่วัน ต่างกับชีวิตชาวบ้านที่ต้องใช้ชีวิตอยู่แบบนเต็มตัว ที่อาจจะต้องเผชิญกับปัญหามากมาย เช่น สภาวะอากาศที่ไม่เป็นใจต่อการเพาะปลูกที่อาจต้องเผชิญทั้งหน้าแล้งและน้ำท่วม, การถูกกดราคาผลผลิตทางการเกษตรจนแทบไม่เหลือกำไร แต่กลับมาเป็นราคาที่สูงในมือผู้บริโภค, การทำการเกษตรที่ต้องลงแรงมากกว่าที่คิด, การทำมาหากินต่างๆ ที่อาจไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอจากทางภาครัฐ ไปจนถึงความกลัวที่ไม่รู้ว่าจะหาเงินมาจากไหนมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากเรื่องอาหารที่คิดว่าผลิตเองได้ จนทำให้จริงๆ แล้ว มุมที่เราเคยมองว่าสวยงาม หรือ Romanticize มันนั้น ก็อาจไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด ทาง Uppercuz เลยอยากพามาเจาะถึงเรื่องนี้กันดูว่า แนวคิดความ Romanticize นั้น เราได้แต่ใดมา
แล้วเรา Romanticize สิ่งเหล่านี้จากอะไร?
1) เพราะเมืองมันพัง คนเลยไขว้คว้าหาชนบท
แม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่า การ Romanticize ชนบทนั้น มักเกิดจากคนเมืองที่เอามุมตัวเองเข้าไปให้ค่าความสวยงามในชีวิตชนบท ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะการอยู่ในเมืองของเรามันพังไปแล้ว เพราะตลอดเวลาเราต้องใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ ทั้งสภาพการจราจรที่ติดขัด การเดินทางสาธารณะที่ย่ำแย่ และการแข่งขันที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เลยทำให้คนเมืองที่หวังอยากจะหาความสงบในเมืองจึงทำไม่ได้อย่างที่เคย
ชนบทจึงกลายเป็นความหวังของเรา ในการที่เข้าไปพักผ่อน และหลีกหนีความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ดังนั้นคนเมืองจึงมักมีแนวคิดที่มองชนบทเป็นความสวยงาม และวิถีชาวบ้านก็อยากให้เป็นอะไรที่คงเอาไว้เช่นนั้น จนทำให้เรามักได้ยินคำกล่าวของนักท่องเที่ยวบางส่วนอยู่เสมอ เมื่อบ่นถึงสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งว่า “ไม่อยากให้ชนบทมีการเปลี่ยนแปลง อยากคงวิถีชีวิตชาวบ้านเอาไว้อย่างนั้น”
ซึ่งนั้นเป็นแนวคิดที่เราเองนำไปยัดเยียดให้กับพวกเขา โดยที่ไม่ถามความต้องการของพวกเขาสักคำว่า ต้องการชีวิตความเป็นอยู่แบบนี้ไหม หรืออยากมีอะไรดีขึ้นหรือพัฒนาแบบในเมืองหรือเปล่า ทำให้บางครั้งการขึ้นเขาขึ้นดอยที่เห็นชาวเขาใช้ Smart Phone หรือเทคโนโลยีต่างๆ จึงกลับกลายเป็นเรื่องแปลกตาหรือผิดปกติ สำหรับคนเมืองที่ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เพราะพวกเขากลัวจะสูญเสียที่พักใจของตัวเองไปอีก
2) สื่อต่างๆ ที่กล่อมเกลาความคิดทีละน้อย
สังเกตได้ว่าวิถีชนบท วิถีความเรียบง่าย หรือแม้แต่คำว่า ความพอเพียง นั้น ค่อยๆ ถูกฝังหัวเรามาเรื่อยๆ จนมันกลายเป็นปลายทางของชีวิตบางคนไปเสียแล้ว ทั้งโฆษณาต่างๆ เอยที่เราได้เห็นในโรงภาพยนตร์เจ้าหนึ่ง ที่มักออกมาพูดถึงวิถีความพอเพียง และมีความสุขกับในแบบวิถีชาวบ้าน จนเราเองก็เริ่มมองว่า อ่อ แบบนี้แหละคือความสุข ที่ชาวบ้านอยู่กันแบบทุกวันนี้ก็คือมีความสุขแล้ว มันเลยเป็นความคิดที่ถูกล็อคเอาไว้ว่า วิถีชาวบ้าน = Happy จากตัวอย่างแค่ไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้น
ในส่วนของรายการโทรทัศน์เอง ที่ทำรายการเกมโชว์ต่างๆ ที่มาช่วยปลดหนี้ สู้ชีวิตอะไรต่างๆ นานา ก็กลายมาเป็นความบันเทิงของคนมีอันจะกิน ที่จะมาช่วยเชียร์พวกเขาให้เอาชนะเกม เอาชนะเงินรางวัลไปให้ได้ โดยที่ไม่ได้คิดถึงสาเหตุที่แท้จริงของความจนก่อนหน้า หรือแม้แต่เหตุการณ์หลังจากนี้ ว่าถึงพวกเขาจะได้เงินก้อนนี้ไปได้ มันจะอยู่ได้อีกนานเท่าไร ต่อชีวิตไปได้สักเท่าไรกัน ก่อนที่จะต้องมาประสบปัญหาเดิม นี่คือสิ่งที่รายการเหล่านี้ไม่ได้บอก และไม่เคยสอนให้เราคิด และมองไปถึงโครงสร้างของปัญหาที่แท้จริง
3) เพราะการมองในมุมของตัวเอง
บางครั้งเรามักลืมไปว่า เราเองอาจมี Privilege มากกว่าคนที่เรากำลังไปตัดสิน เช่นการที่เรามองคนบ้านนอกหรือคนรากหญ้าว่าไม่มีการศึกษา ถึงใช้ชีวิตอยู่กันได้แค่นี้ เลยต้องอยู่กันแบบนี้ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ไม่ได้มองไปถึงต้นตอของปัญหา ว่าโครงสร้างมันพัง โอกาสของแต่ละคนเลยไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษา โอกาสที่จะประกอบอาชีพ โอกาสที่จะหารายได้ เลยทำให้เราตัดสินพวกเขาว่าเป็นแบบนั้น
เพราะหากเรามองในมุมกลับกัน ถ้าเราต้องเกิดมาด้วยสถานภาพแบบนั้น เราจะสามารถเอาตัวรอดและลืมตาอ้าปากมาได้อย่างไร ดังนั้นการสวมหมวกมองจากมุมตัวเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายช่วงว่างระหว่างคนมีอันจะกินกับคนหาเช้ากินค่ำเป็นอย่างมาก เหมือนที่หลายๆ คนมักชอบตัดสินกันว่า ถ้ารัฐบาลแจกเงิน คนพวกนี้ก็คงเอาเงินไปกินเหล้าหมด โดยที่ลืมคิดไปว่า หากพวกเขามีโอกาสและช่องทางในการทำมาหากินที่ดีกว่านี้ ก็คงมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้กันไปหมดแล้ว
1) เสริมสร้างระบบชนชั้นในสังคม
เสริมสร้างระบบชนชั้นในสังคม
 
ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนจะยิ่งขยายวงกว้างอย่างแน่นอน ตราบใดที่ต่างๆ ฝ่ายต่างยังมองปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ออก เพราะคนรวยเองก็มองว่าคนจนนั้นก็อยู่ในวิถีชีวิตในแบบพอเพียงของเขาก็ดีอยู่แล้วไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนตัวเองอยู่ในจุดที่เหนือกว่าคนเหล่านี้ได้ก็เป็นเพราะตัวเองมีการศึกษามีความพยายามต่างจากคนเหล่านั้น (ทั้งที่ลืมมองว่าโอกาสเข้าถึงทรัพยากรไม่เท่ากัน) ส่วนคนจนเองหากไม่โทษปัญหาโครงสร้าง ก็มักโทษโชคชะตาของตัวเอง ที่เกิดมาจน เกิดมาไม่มีโอกาสอย่างใครเขา และรับสภาพเช่นนี้กันไป จนโอเคกับคำว่า พอเพียง ที่อาจไม่พอที่จะอยู่ด้วยซ้ำ
2) การแก้ปัญหาฉาบฉวยไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อปัญหาที่แท้จริงดันไม่ได้ถูกแก้ การแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้นกันเองด้วยภาพของการ “บริจาค” หรือการ “ให้” ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งกันไปแล้ว โดยมีคนเมืองที่รับอาสาบทคนใจบุญที่เข้ามาช่วยเหลือในการมอบสิ่งของต่างๆ ให้กับผู้ยากไร้หรือผู้ขาดแคลน ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ปีต่อกี่ปี ภาพเหล่านี้ก็จะยังเป็นการวนซ้ำไปซ้ำมาเช่นเดิมอยู่เสมอ เพราะคนมัก Romanticize กับการให้เหล่านี้ เป็นภาพการช่วยเหลือที่ทรงคุณค่า เป็นการทำบุญทำทาน และเป็นคุณงามความดีในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งที่ผู้รับเองก็คงไม่ได้อยากอยู่ในสถานะนี้ไปตลอด หากมีโอกาสที่มากกว่านี้
3) ภาพของปัญหายิ่งเลือนลาง
เมื่อความ Romanticize เกิดขึ้นจนเป็นนิสัยแล้วนั้น จะทำให้การมองเห็นปัญหาที่แท้จริงของคนเราค่อยๆ เลือนลางตามไป เพราะทุกสิ่งที่เราเห็นก็กลับกลายเป็นความสวยงามไปหมด อย่างทุกวันนี้ การไปต่างจังหวัดที่ใช้ชีวิต Slow Life หรือกินอยู่แบบวิถีชาวบ้านนั้น มันทำให้เรามองเห็นความสุข จากความเรียบง่าย จนเราเข้าใจว่า เรามีความสุข คนที่เขาอยู่แบบนี้ก็คงมีความสุขไม่ต่างกัน โดยที่ลืมคิดไปว่า เราแค่เปลี่ยนวิถีชีวิตเดิมแค่ไม่กี่วัน แต่กลับตัดสินไปแล้วว่าชีวิตแบบนี้คือชีวิตที่ดี
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเราควรจะเห็นปัญหาในอีกมุมหนึ่งเสมอ เช่น
Case 1: ครูควักเงินซื้อโน้ตบุ๊คให้ลูกศิษย์
มุมมองแบบ Romanticize: เราจะเห็นความสวยงาม ที่ครูคนหนึ่งที่เงินเดือนตัวเองก็ไม่ได้มาก แต่กลับเสียสละเงินส่วนนี้มาเพื่อช่วยการศึกษาของลูกศิษย์
มุมมองปัญหาที่แท้จริง: ในแง่ของปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ปัญหาเรื่องระบบการศึกษา ที่เด็กไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้ ทั้งที่จริงแล้วควรจะมีงบจากทางกระทรวงเข้ามา และมีคอมพิวเตอร์ที่เป็นส่วนกลางของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสใช้งานและเข้าถึง
 
Case 2: การไม่อยากเปลี่ยนแปลงวิถีชนบท
 
มุมมองแบบ Romanticize: เราจะเห็นวิถีดั้งเดิมชาวบ้านที่สืบทอดกันมา การใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายเดิมๆ ที่พอมีพอกิน Slow Life แบบนี้ ก็สวยงามดีอยู่แล้ว
มุมมองปัญหาที่แท้จริง: ทำไมคนเมืองกลับเป็นกลุ่มคนที่ได้รับอะไรทุกอย่าง ในขณะที่ชาวบ้านกลับไม่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองได้ ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีต่างๆ สามารถอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตมากขึ้น ทำไมยังต้องทนใช้ชีวิตในแบบที่ความเจริญยังไม่เข้าถึงอยู่อีก ทำไมรัฐบาลถึงไม่สามารถกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรเหล่านี้ ให้สามารถประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ได้มากกว่าเดิม
อย่าตัดสินทุกอย่างจากมุมมองตัวเอง!
บางทีก่อนที่จะตัดสินในเรื่องอะไรนั้น เราอาจต้องแวะย้อนกลับมาตรวจสอบ Privilege ตัวเองกันอีกทีก่อนว่า ทุกวันนี้เราตัดสินจากแค่ในมุมมองของเราในส่วนที่เราเหนือกว่า หรือต่างจากคนอื่นหรือเปล่า เพราะการมองในมุมนี้ มันมักจะนำไปสู่การ Romanticize กับเรื่องที่ไม่สมควรอยู่บ่อยครั้ง อย่างในทุกวันนี้ก็ยังคงมีคนที่ยังดูหาความสุขได้แม้แต่ในยุคโควิด-19 ที่มองว่าการกักตัวคือการได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกันกับครอบครัวอีกครั้ง ได้เห็นสถานที่ท่องเที่ยวและธรรมชาติฟื้นฟู จนลืมคิดไปว่ายังมีหลายครอบครัว และยังมีอีกหลายคนที่ต่างต้องประสบชะตากรรมอันเลวร้ายกับสถานการณ์เช่นนี้อยู่ไม่น้อย มีหลายธุรกิจที่ต้องปิดตัวลง มีหลายคนที่ต้องตกงาน การที่จะมามองความสวยงามจากสถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเป็นอย่างมาก เพราะตราบใดที่ยังมีคนประสบปัญหาในแต่ละเรื่องอยู่แล้วนั้น มันคงไม่ใช่เรื่องดีที่เราจะไปหาความดีความชอบจากสิ่งที่เกิดขึ้น เพียงแค่เพราะเราพอใจ และเห็นความสวยงามจากแค่ในมุมตัวเองเท่านั้น
อ่านบทความเต็มได้ที่
โฆษณา