30 เม.ย. 2021 เวลา 14:19 • ประวัติศาสตร์
"ข้อตกลงปางโหลง" สัญญาที่ไม่เป็นสัญญา และเหตุแห่งความยุ่งเหยิงในพม่าปัจจุบัน
ข่าวการปะทะกันระหว่างทหารพม่าและกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่เราคงเคยได้ยิน หรือบางทีอาจชินชากับมันไปแล้ว ราวกับว่าความขัดแย้ง แตกแยกและบาดหมาง อาจกลายเป็นภาพจำที่ผู้คนมีต่อดินแดนแห่งนี้ไปแล้วก็ว่าได้ แต่เรื่องราวทั้งหมดมันเริ่มมาจากอะไรล่ะ
19 พฤศจิกายน 2428 วันที่พม่าต้องสูญสิ้นเอกราช และตกอยู่ภายใต้ผืนธงแห่งจักรวรรดิอังกฤษ พระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายถูกริบบัลลังก์ และต้องระหกระเหินไปอยู่อินเดีย ช่วงเวลาของการเป็นอาณานิคมนั้นยาวนานนับสิบๆปี จนกระทั่งชายที่ชื่อนายพลอองซานและพรรคพวก ได้ร่วมมือกันเคลื่อนไหว เพื่อปลดแอกพม่าให้พ้นจากเงาของอังกฤษ จนกระทั่งวันที่ 27 มกราคม 2490 ความพยายามของนายพลอองซานก็เป็นผล เมื่อทางอังกฤษยินยอมที่จะส่งมอบเอกราชคืนแก่พม่า และได้เชิญนายอองซานให้มาเข้าร่วมการเจรจาเพื่อหาแนวทางร่วมกัน
3
นายพลอองซาน(บิดาของอองซาน ซูจี)
การเจรจาถูกจัดขึ้น ณ สถานที่ที่มีชื่อว่าเวียงปางโหลง มี 3 ฝ่ายหลักที่เข้าร่วมโต๊ะเจรจากัน ได้แก่ ฝ่ายนายพลอองซาน(พม่า) ฝ่ายเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และอีกหนึ่งฝ่ายที่เพิ่มเข้ามา คือ ฝ่ายสภาผู้นำร่วมแห่งสหพันธรัฐเทือกเขา(Supereme Council of the United Hill People/ S.C.O.U.H.P) อันประกอบไปด้วย ตัวแทนชาวไทใหญ่จากรัฐฉาน ตัวแทนจากรัฐกะฉิ่น และตัวแทนจากรัฐชิน เข้านั่งโต๊ะเจรจานี้ด้วย
สาเหตุที่ต้องมี S.C.O.U.H.P เข้าร่วมด้วย นั่นก็เพราะในประเทศพม่ามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่สูงมาก ประกอบไปด้วยชนเผ่าน้อยใหญ่ต่างๆมากมาย ชาวพม่าเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
ลำพังแค่เสียงของนายอองซานและชาวพม่านั้นคงยากที่จะไปเจรจาต่อรองกับทางอังกฤษ ดังนั้นจึงมีความพยายามอย่างหนักที่จะรวบรวมเสียงต่างๆในพม่าเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้สามารถต่อรองกับอังกฤษได้ นั้นจึงทำให้เราได้เห็นภาพที่เหล่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆได้มานั่งรวมโต๊ะเดียวกัน เพื่อเจรจาหาทางออกให้กับแผ่นดินของพวกเขา
การเจรจาและลงนามในครั้งนั้น เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ข้อตกลงปางโหลง" โดยสาระสำคัญที่ระบุไว้ในสัญญามีด้วยกัน 9 ข้อ ได้แก่
1. ให้ตัวแทนของสภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา(Supreme Council of the United Hill People) เข้าร่วมในคณะรัฐบาลจำนวน 1 คนโดยให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ปรึกษา
2. รัฐมนตรีผู้นั้นจะไม่สังกัดกระทรวงใดสำหรับการทหารและการต่างประเทศของสหพันธรัฐเทือกเขา จะต้องมีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนซึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล
3. ตัวแทนของสหพันธรัฐเทือกเขา(United Hill People) สามารถเลือกรัฐมนตรีช่วยได้อีก 2 ตำแหน่ง ซึ่งในจำนวน 2 ตำแหน่งนี้จะต้องมิใช่ชนชาติเดียวกัน และต้องมิใช่ชนชาติเดียวกับรัฐมนตรีด้วย
4. รัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 คน มีสิทธิเข้าร่วมการประชุมก็ต่อเมื่อมีการประชุมเกี่ยวกับสหพันธรัฐเทือกเขา (ไทใหญ่ กะฉิ่นและชิน) เท่านั้น นอกเหนือจากนี้รัฐมนตรีเท่านั้นที่จะมีสิทธิเข้าร่วมในการประชุมสภาฯ
5. สหพันธรัฐเทือกเขา มีสิทธิปกครองตนเองโดยอิสระเหมือนดังเช่นที่เคยปฏิบัติ
6. ในหลักการให้การรับรองว่าให้รัฐกะฉิ่นเป็นรัฐรัฐหนึ่ง แต่ในการนี้จะต้องนำเข้าสู่วาระการประชุมร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง
7. ตามหลักการระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดไว้ สหพันธรัฐเทือกเขาต้องได้รับสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับพม่าทุกประการ
1
8. รัฐฉานมีสิทธิในการใช้จ่ายเงินทองตามเดิม (เหมือนสมัยที่อยู่ในการอารักขาของอังกฤษ)
9. ต้องนำเงินส่วนกลางจากทางรัฐบาลไปช่วยเหลือแก่รัฐกะฉิ่นและชิน ส่วนหนี้สินระหว่างพม่าและไทใหญ่นั้น ให้รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยของสหพันธรัฐเทือกเขา ทำการตรวจสอบและเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
ข้อตกลงปางโหลง
สัญญานั้นถูกเขียนขึ้นด้วยความพึงพอใจและผาสุกของทุกฝ่ายบนโต๊ะเจรจา ฝ่ายพม่าได้เอกราชคืน ฝ่ายอังกฤษก็ได้ปลดเปลื้องภาระจากการต้องมีอาณานิคมในความดูแลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และฝ่ายชาติพันธุ์นั้นก็ได้สิทธิ์และอธิปไตยที่จะได้ปกครองตนเอง นับว่าว่าหาได้ยากยิ่ง ที่จะมีข้อตกลงใดที่ลงตัวและเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายเช่นนี้ และที่พิเศษเป็นอย่างมาก คือการที่ทุกฝ่ายต่างได้มีการทำความเข้าใจร่วมกัน ว่าการตกลงในครั้งนี้ จะเป็นไปแต่เพียงเพื่อเรียกร้องเอกราชเท่านั้น โดยหลังจากที่ได้รับเอกราชคืนมาแล้ว สหพันธรัฐเทือกเขาและชนเผ่าต่างๆจะได้รับอนุญาตให้สามารถแยกตัวเป็นอิสระได้ ตามแต่ที่ใจต้องการ
5
อย่างไรก็ดีความตกลงในเรื่องการแยกตัวนั้น ไม่ได้ถูกระบุลงไปในสัญญา แต่เป็นคำมั่นทางวาจาที่ประกาศโดยนายพลอองซานเอง ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น และพรรคของนายพลอองซานก็ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายตามคาดหมาย
1
นายพลอองซานได้ทำตามที่เคยลั่นวาจาไว้ เขาได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ภายในนั้นได้ยึดเอาแนวทางของข้อตกลงปางโหลง และที่สำคัญคือได้มีการระบุถึงการให้เอกราชแก่ชนเผ่า ตามที่เขาเคยให้สัญญาไว้จริงๆ โดยรัฐธรรมนูญระบุว่าให้ชนเผ่าต่างๆอยู่ร่วมกับสหภาพเป็นเวลา 10 ปีและจึงสามารถแยกตัวออกไปเป็นอิสระได้ อีกทั้งได้มีการไปเชิญให้เจ้าฟ้าส่วยใต้ เจ้าฟ้าไทใหญ่ แห่งเมืองยองห้วย ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรก เพื่อเป็นการให้เกียรติชาติพันธุ์อื่น ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและความดีใจเป็นอย่างมากที่ประตูแห่งสันติภาพของพม่าถูกเปิดออกแล้ว
1
แต่เรื่องราวที่สวยงามเหล่านั้นก็คงอยู่ได้ไม่นาน ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2490 ได้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองของพม่าไปตลอดกาล ในขณะที่กำลังมีการประชุมคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวพม่า ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธปืน ได้บุกเข้าไปยังที่ทำการรัฐสภา และกราดกระสุนเข้าใส่ผู้ร่วมประชุมในครั้งนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 8 คนด้วยกัน แต่ที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นคือหนึ่งในร่างของผู้เสียชีวิตทั้ง 8 มีร่างของนายพลอองซานรวมอยู่ด้วย เป็นการจบชีวิตของชายผู้เป็นความหวังและวีรบุรุษของชาวพม่าลงอย่างถาวร
1
การจากไปของนายพลอองซานนั้นสร้างความเศร้าสลดแก่ชาวพม่าเป็นอย่างมาก ซึ่งในภายหลังได้มีการสืบสาวไปยังตัวผู้กระทำการอันเหี้ยมโหดในครั้งนี้ ผลปรากฏว่าเป็น นายอูซอ ซึ่งเป็นเพื่อนและสามสิบสหายกู้ชาติ ผู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับนายพลอองซานเมื่อครั้งที่ก่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ เป็นผู้จ้างวานฆ่าในครั้งนี้ โดยเขาได้ให้เหตุผลว่านายพลอองซานนั้นอ่อนข้อให้กับฝ่ายอังกฤษมากเกินไป และเขาไม่เห็นด้วย ซึ่งจากเหตุนี้ทำให้นายอูซอถูกตัดสินประหารชีวิต
1
เหตุการณ์ลอบสังหารครั้งนั้น ไม่ได้ดับเพียงชีวิตของนายพลอองซานลงอย่างเดียว แต่ยังดับความหวังแห่งสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในพม่าลงอีกด้วย เพราะสุดท้ายพม่าได้สูญเสียผู้นำที่น่าศรัทธาและมีประสบการณ์ อีกทั้งแผนสันติภาพต่างๆที่วางไว้ก็ต้องหยุดชะงักลง และเริ่มมีผู้ทวงถามสัญญาแห่งอิสรภาพเคยว่ากันไว้
1
หลังจากการตายของนายพลอองซาน นายอูนุ ผู้เป็นหนึ่งในสามสิบสหายกู้ชาติร่วมกับนายพลอองซานเช่นกัน ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ในคราวนั้นได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อปราบปรามชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกร้องอิสรภาพในชื่อ "สภาฟื้นฟูกฏหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อยแห่งชาติ"(SLORC)
นายอูนุยอมบัญญัติเรื่องการแยกตัว ลงในรัฐธรรมนูญเพื่อลดแรงกดดันจากฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังโกรธแค้นเป็นอย่างมาก แต่กลับเพิ่มเงื่อนไขต่างๆเพิ่มเข้าไป ทั้งการที่ชาติพันธุ์ต่างๆจะต้องอยู่ภายในสหภาพเป็นเวลา 10 ปีหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษจึงจะแยกตัวได้ อีกทั้งต้องได้รับเสียง 2 ใน 3 ของสภา และต้องผ่านการทำประชามติอีกด้วย ซึ่งมีความยุ่งยากกว่าในสมัยของนายพลอองซานเป็นอย่างมาก ราวกับว่าเป็นความพยายามเพื่อไม่ให้ชนเผ่าต่างๆแยกตัวได้สำเร็จ
1
"ตามข้อตกลงขั้นแรกที่เวียงปางโหลง ที่อูอองซานได้ตกลงทำสัญญานั้น ชาวไตมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะแยกเป็นชาติได้โดยอิสระในปี 2500 แต่เมื่อแยกออกไปแล้วจะกระทบกระเทือนต่อเอกราชและความยิ่งใหญ่ของพม่าเป็นอย่างมาก ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้พม่าจะปล่อยให้แยกตัวไปไม่ได้เด็ดขาด ชนชาติไตที่คิดจะแยกตัวไปควรล้มเลิกความคิดได้แล้ว เพราะมันเป็นการผิดกฏหมายใหม่ ซึ่งถือว่าการแยกชาตินั้น มีโทษขั้นประหารชีวิตทีเดียว" เหตุผลข้างต้นที่ถูกยกขึ้นมากล่าวอ้าง ทำให้เห็นถึงประตูแห่งความหวังของสันติภาพในพม่าที่กำลังค่อยๆปิดลง
2
อูนุ
เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป ก่อนที่ชนเผ่าต่างๆจะสามารถแยกตัวเป็นอิสระได้นั้น ก็เกิดความวุ่นวายทางการเมืองต่างๆ และตามด้วยการเกิดรัฐประหารโดยนายพลเนวิน มีการจับกุม คุมขัง ลอบสังหารรวมถึงอุ้มหายผู้นำรัฐชายแดนต่างๆ ซึ่งถือเป็นการทำลายข้อตกลงปางโหลงอีกทั้งรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนเอาไว้ ก็ถูกฉีกทิ้งโดยคณะรัฐประหาร ส่งผลให้ความพยายามที่ผ่านมานั้นสูญเปล่าและถือเป็นการปิดตายประตูแห่งสันติภาพของพม่าลงอย่าถาวร
เหตุนี้เองทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก ได้มีการจัดตั้งกองกำลังต่างๆพร้อมอาวุธลุกขึ้นสู้เพื่อทวงสิทธิ์คืน เกิดเป็นไฟสงคราม และความบาดหมางระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ตราบจนปัจจุบัน และยังคงคุกรุ่นพร้อมที่จะปะทุขึ้นอยู่เสมอมา
1
กองกำลังติดอาวุธในพม่า
โฆษณา