30 เม.ย. 2021 เวลา 06:00 • ข่าว
วัคซีนโควิด-19 “100ล้านโดส เพื่อคนไทย”
เมื่อประเทศไทยประกาศ “จัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส”
จากการระบาดระลอก “เมษายน64” ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทำสถิติใหม่รายวันนับพันราย กับตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สูงกว่าการระบาดทุกรอบที่ผ่านมา
โจทย์ใหญ่ขณะนี้ของรัฐบาลคือจะทำอย่างไรให้ตัวเลขการติดเชื้อลดลงให้ได้มากที่สุด แม้จะผุดมาตรการ ออกมามากมาย ทั้งการปิดสถาบันเทิง การคุมเข้มในหลายพื้นที่ แต่มาตรการเหล่านี้ก็ถูกพิสูจน์แล้วว่า สามารถลดการติดเชื้อได้เพียงระยะหนึ่ง และพร้อมจะปะทุขึ้นมาเมื่อเจอคลัสเตอร์ใหม่อย่างที่เราเจอมาแล้วในช่วงก่อนปีใหม่ และก่อนสงกรานต์ 2564 ที่ผ่านมา
“วัคซีน” ดูเหมือนจะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับการรับมือโควิด-19 ทั้งมิติด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจ
หากย้อนไปในปี 2563 ในช่วงที่สถานการณ์ทั้งโลกยังน่ากังวล ขณะที่ประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อต่อเนื่องนานหลายเดือน รัฐบาลได้มีแผนจัดหาวัคซีน 63 ล้านโดส โดยวัคซีนหลักของไทยจำนวน 61 ล้านโดสจะใช้ Astrazeneca ที่จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ สยามไบโอไซม์ และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตของอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มส่งมอบ และฉีดให้คนไทยได้ในเดือนมิถุนายน 2564
ในช่วงแรกที่ “ตลาดวัคซีน” ยังเป็นของผู้ผลิตที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่า
ไทยเดินหน้าเจรจาเพื่อจัดหาวัคซีนกับบริษัทอื่น ๆ และเปิดโอกาสให้ตัวแทนของบริษัทหลายรายยื่นข้อเสนอ โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่ามี 14 บริษัทที่ติดต่อเพื่อขอนำเข้าวัคซีน แต่มีเพียง 4 รายที่ยื่นเอกสาร และได้พิจารณาอนุมัติไปแล้ว 3 ราย คือ 1.วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นำเข้าโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด 2.วัคซีนโคโรนาแวค โดยบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ 3.วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด
วัคซีนล็อตแรก ก้าวแรกคืนรอยยิ้มให้ประเทศไทย
24 กุมภาพันธ์ 2564 วัคซีนล็อตแรกมาถึงไทยจำนวน 2 แสนโดส โดยเป็นวัคซีนซิโนแวค จากประเทศจีน และในวันเดียวกันยังมีวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน117,600 โดส ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิดจะถูกใช้ในกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ซิโนแวค จะใช้กับคนอายุ 18-59 ปี ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้าจะใช้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
เดินหน้าฉีดวัคซีนปูพรมให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้า (ระยะที่ 1)
นับตั้งวันที่ได้รับวัคซีนล็อตแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนสิ้นเดือนเมษายน 2564 ไทยมีวัคซีนทั้งสิ้น 2,617,600 โดส (รายละเอียดตามตาราง) ซึ่งจนถึงวันนี้ (29 เม.ย.64) เราฉีดวัคซีนไปแล้ว 1,344,646 โดส นับว่าเกินครึ่งนึงของจำนวนวัคซีนที่มีทั้งประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มดังกล่าวที่ต้องทำหน้าที่ในการดูแลประชาชน โดยตั้งเป้าบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนต้องได้รับวัคซีน
เมื่อหมอพร้อม...ก็พร้อมเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชน (ระยะที่ 2)
แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีบางคนได้รับวัคซีน โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดรุนแรงอย่าง กรุงเทพฯ สมุทรสาคร และพื้นท่องเที่ยวสำคัญเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่าง จ.ภูเก็ต แต่ก็ยังอยู่ในช่วงของการวางระบบเพื่อเตรียมพร้อมรับวัคซีนล็อตใหญ่ของแอสตร้าเซนเนก้าที่จะส่งมอบในช่วงเดือน พฤษภาคม และจะเริ่มฉีดได้ในเดือน มิถุนายน โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 เป็นต้นไปจะเปิดให้ประชาชน 2 กลุ่มแรก คือ 1. ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11.7ล้านคน และ 2. ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 4.3 ล้านคน รวม 2 กลุ่ม “16 ล้านคน 16 ล้านโดส” ซึ่งคาดว่าจะเริ่มฉีดในวันที่ 7 มิ.ย.64 และจะฉีดครบ 16 ล้านโดสในภายใน 31 ก.ค.64
ขยายกลุ่มเป้าหมาย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม (ระยะที่ 3)
สำหรับประชาชนที่มีอายุ 18-59 ปี ราว 31 ล้านคน จะเริ่มลงทะเบียนนัดหมายฉีดวัคซีนในวันที่ 1 ก.ค.64 และเริ่มฉีดในเดือน ส.ค. 2564 โดยคาดว่าจะสามารถฉีดได้เดือนละ 15-30 ล้านโดส หรือประมาณวันละ 5 แสนถึง 1ล้านคน โดยหน่วยบริการวัคซีน 1,000แห่ง ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล โดยจุดที่ให้บริการจะต้องมีพื้นที่ให้ผู้รับวัคซีนรอสังเกตอาการ 30 นาที ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มเข้ามาถึงจุดรับบริการ 35-40 นาทีต่อคน
เดินหน้าจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประเทศไทย
“ภูมิคุ้มกันหมู่” (Herd immunity) ดูเหมือนจะเป็นความหวังของทุกประเทศ ที่จะก้าวพ้นปัญหาโควิด-19 และหันหน้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยที่มีประชากรประมาณ 66 ล้านคน การจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากร ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าไว้ 50 ล้านคน หากดูตามแผนการจัดหาวัคซีนเดิมเราจะมีวัคซีน 63 ล้านโดสให้คนไทย 31.5 ล้านคน
ข้อมูลล่าสุด (28เม.ย.64) รัฐบาลประกาศจัดหาเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส จาก Pfizer 5-20 ล้านโดส Sputnik V, johnson & johnson และ Sinovac อีกรายละ 5-10 ล้านโดส และคาดว่าจะได้ความร่วมมือจากภาคเอกชนร่วมจัดหาอีก 7 ล้านโดส เพื่อเป็นวัคซีนทางเลือกและบางส่วนฉีดให้กับบุคลากรของตัวเอง โดยรัฐบาลจะอำนวยความสะดวกในการปรับแก้ระเบียบบางอย่างที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการจัดหาวัคซีน เพื่อให้วัคซีน 100 ล้านโดส ได้ฉีดให้กับคนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคน ภายในเดือน ธันวาคม 2564”
ผู้เรียบเรียง : สุภนันท์ ฤทธิ์มนตรี
โฆษณา