30 เม.ย. 2021 เวลา 07:00 • กีฬา
เรื่องราว Man Management สุดคลาสสิค ของอดีตประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ "วิชัย ศรีวัฒนประภา" คนไทยที่ใช้กลยุทธ์แบบไทยๆ จนได้ผลกับระบบองค์กรที่อังกฤษ
1
ถ้าวิชัย ศรีวัฒนประภา ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีอายุครบ 63 ปีพอดี
เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นี่คือหนึ่งในคนไทยที่คนต่างชาติ รักและชื่นชมมากที่สุด จากผลงานปลุกปั้นเลสเตอร์ จากทีมที่ทรงๆ ทรุดๆ ในแชมเปี้ยนชิพ ให้ก้าวมาเป็นทีมแถวหน้าของพรีเมียร์ลีกได้
วันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา เลสเตอร์ ลงโพสต์ Tribute แก่คุณวิชัยที่เฟซบุ๊กสโมสร ปรากฏว่าคนมากด Like กด Love รวมแล้วเป็นหมื่น โดยหนึ่งในคอมเมนต์ของแฟนบอลเขียนว่า
Happy birthday Boss.who knows where we would be now if it hadn’t been for you. You completely transformed our club and made all our wildest dreams come true
2
แปลว่า "แฮปปี้เบิร์ธเดย์นะบอส เราไม่มีทางมาอยู่จุดที่ยืนตรงนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะคุณ คุณแปลงโฉมสโมสรของเราอย่างสิ้นเชิง และทำให้ความฝันที่เหลือเชื่อที่สุดเกิดขึ้นได้จริง"
1
สมแล้วกับสำนวนที่ว่า อยู่ให้รัก จากไปให้คิดถึง ถ้าเราเสียชีวิตไปแล้ว แต่คนยังพูดถึงเราในทางบวกเสมอ นั่นแปลว่า ชีวิตที่ผ่านมา เราได้ทำเรื่องที่ถูกต้องแล้วจริงๆ
สำหรับการบริหารสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ของตระกูลศรีวัฒนประภานั้น ในช่วงหลังๆ ในยุคที่เลื่อนชั้นมาสู่พรีเมียร์ลีกแล้ว ก็เป็นความยากแบบหนึ่ง การยกระดับทีมให้สู้กับทีมใหญ่ทีมอื่นได้ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
3
แต่โมเมนต์ที่ยากที่สุดในการบริหารงานจริงๆ คือ "ช่วงปีแรก" ที่สโมสรกำลังตั้งไข่ การต้องปลุกปั้นรื้อทุกสิ่งอย่างใหม่ นี่แหละสาหัสของจริง
1
ในยุคแรกนั้น สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างมันยาก ไม่ใช่เรื่องเงิน คือเรื่องเงินน่ะ ฝั่งคิงเพาเวอร์เขามีอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เจอจริงๆ คือเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรต่างหาก
2
การเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยน Mindset ของคนทำงาน ให้มองไปในทิศทางเดียวกันกับเรา เป็นภารกิจที่หนักหนาสาหัสมาก ชนิดที่คุณมีเงินเท่าไหร่ ก็ซื้อ Mindset ที่ดีของพนักงานไม่ได้
2
มีคำกล่าวว่า ในสงครามถ้าอยากชนะ แม่ทัพเก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่พลทหารก็ต้องมีศักยภาพด้วย แม่ทัพเก่งแต่สั่งซ้าย พลทหารไปขวา สั่งขวา พลทหารไปซ้าย แบบนี้ก็ยากจะประสบความสำเร็จได้
4
ย้อนกลับไปในเดือนกรกฎาคมปี 2010 มิลาน มันดาริช เจ้าของทีมเลสเตอร์ มาคุยกับคิงเพาเวอร์ เพื่อขอสปอนเซอร์ติดหน้าอกเสื้อ ในราคา 300,000 ปอนด์ แต่พอคุยไปคุยมา มิลาน มันดาริชบอกว่า ผมพร้อมจะขายทีมนะ คุณสนใจไหม ฝั่งวิชัยเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่คิงเพาเวอร์จะขยายตลาดในยุโรป จึงตอบตกลง และจ่ายเงิน 40 ล้านปอนด์ ซื้อเลสเตอร์มาบริหาร
1
คนที่ดูแลทีม คือวิชัยที่จะมองภาพรวม และลูกชายอัยยวัฒน์ ที่ตอนนั้นอายุ 25 ปี จะเป็นคนลงไปจัดการถึงขั้นรายละเอียด
1
วันแรกที่ทีมงานของศรีวัฒนประภาเข้าไปบริหารเลสเตอร์ ปัญหาที่เจอคือ เรื่องเงิน เรื่องหนี้สินของสโมสร อันนี้ไม่มีปัญหาก็จ่ายเงินเคลียร์กันไป แต่ปัญหาที่ยากกว่านั้นคือสตาฟฟ์ของทีม ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม กล่าวคือทำงานให้มันเสร็จๆไป 4 โมงเย็น ก็กลับบ้าน ทุกอย่างเป็นรูทีนหมด
1
คนขายตั๋วก็ขายตั๋วไป ไม่รู้จักสโมสรในส่วนอื่นๆ ไม่สนใจพนักงานแผนกอื่น ไม่มีความฝันความหวังอะไร ทำงานเสร็จจบเดือน รับเงิน แค่นั้น
อัยยวัฒน์เล่าว่า "ผมรู้สึกว่ามันประหลาดตรงที่คนทำงาน เขาก็ทำอยู่แค่นั้น พนักงานส่งเอกสาร ก็ส่งแค่เอกสาร จัดเอกสารก็จัดมันทั้งวัน อาจเพราะหัวหน้าไม่เคยบอกว่าเขามีศักยภาพมากกว่านี้"
พนักงานหลายคนกลัวว่า เมื่อเจ้าของใหม่เข้ามา จะไล่คนออกจำนวนมาก แล้วเอาสตาฟฟ์กลุ่มใหม่มาทำงานแทน แต่วิชัยและอัยยวัฒน์ไม่ทำแบบนั้น พวกเขาเลือกจะกางรายชื่อสตาฟฟ์ทั้งหมดของสโมสรจำนวน 200 คน เอามาวางเรียงกันบนโต๊ะ เพื่อทำความรู้จักทั้งพนักงานประจำ และพนักงานพาร์ทไทม์
6
จากนั้นเขาให้พนักงานทุกคนเขียน Wishlist หรือสิ่งที่คุณหวังจะให้สโมสรเป็น ซึ่งปรากฎว่าบางคนเขียนเป็น 10 หน้ากระดาษ บอกปัญหาในส่วนหลังบ้านว่าทีมต้องแก้ไขอะไรบ้าง เพื่อให้ทีมเดินหน้าไปได้ดีกว่านี้
14
ปัญหาที่ทีมคิงเพาเวอร์เห็น คือพนักงานจริงๆรักสโมสรนะ แต่ไม่เคยมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น หลายคนคิดว่าตัวเอง เป็นคนตัวเล็กๆ ในองค์กร ความเห็นของตัวเอง ก็อาจไม่มีอิมแพ็กต์อะไรขนาดนั้น
3
ซึ่งจุดนี้เจ้าของใหม่ เข้าไปเปลี่ยนแนวคิด ให้พนักงานรู้ว่าความจริงแล้วทีมฟุตบอลเป็นของทุกคน ผู้บริหารพร้อมมานั่งคุยกับพนักงานตัวต่อตัว ในทุกๆแผนก เพื่อยืนยันว่า สตาฟฟ์ทุกคนสามารถช่วยยกระดับให้ทีมดีขึ้นกว่านี้ได้จริงๆ
4
อัยยวัฒน์กล่าวว่า "เวลาเราคุยกับพนักงาน เราไม่ได้คุยแค่คนละชั่วโมงนะ แต่คุยกัน 3-4 ชั่วโมง แล้วกี่คนก็คูณไป ผมคุยตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงสามทุ่ม ผมต้องการรู้จักเขาทั้งหมด ว่าเขาทำอะไรบ้าง และต้องการอะไรต่อไป นั่งคุยกัน ข้าวไม่ได้กินสักเม็ด เพื่อที่เราจะรู้จักเขา และเขาจะรู้จักเรา"
3
แม้ว่าจะเป็นสตาฟฟ์ในตำแหน่งที่เล็กแค่ไหน แต่ผู้บริหาร จะอธิบายอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายของทีมคืออะไร ทั้งในด้านธุรกิจ และในด้านฟุตบอล เพื่อที่สตาฟฟ์จะได้มี Goal เดียวกัน รู้ว่าทุกอย่างที่ทำไป เพื่ออะไร
4
นี่คือกลยุทธ์แรก ที่วิชัยและอัยยวัฒน์ทำ นั่นคือเมื่อเข้าไปบริหารที่ทำงานใหม่ อย่าเพิ่งไปตัดสินคนที่อยู่มาก่อน จงทำความรู้จักกับเขาซะ เพื่อรู้ว่าเขาทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ บางคนอาจมีศักยภาพที่เก่งมากอย่างคาดไม่ถึง เพียงแต่ในยุคก่อน เขาอาจไม่มีโอกาสได้ปล่อยของแค่นั้นเอง
11
อีกปัญหาหนึ่งที่เจ้าของใหม่ต้องพบเจอ นั่นคือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสตาฟฟ์ด้วยกันเอง โดยในสโมสรฟุตบอล พนักงานจะแบ่งเป็น 2 หน่วยงานหลักๆ คือฝั่ง Training Ground คือพวกดูแลเรื่องการซ้อม การซื้อตัว การต่อสัญญานักเตะ กับอีกฝั่งคือ Operation พวกงานเอกสาร งานโฆษณา งานขายตั๋ว ขายของที่ระลึก
8
ปัญหาที่สั่งสมมาตั้งแต่ประธานยุคก่อนๆ ตั้งแต่สมัยกลุ่มทุนอเมริกัน ทีชเชอร์ส เป็นเจ้าของทีม ไล่มาจนถึงยุคมิลาน มันดาริช ไม่มีใครแก้ไขมันเสียที คือความขัดแย้งระหว่างฝั่ง Training Ground กับฝั่ง Operation ที่บาดหมางกันเอง ทะเลาะกันเอง
3
ฝั่งหนึ่งเป็นคนใช้เงิน ต้องซื้อนักเตะใหม่ๆเข้ามา ส่วนอีกฝั่งเป็นคนหาเงิน กว่าจะได้งบมาสักก้อน ทำได้อย่างยากลำบาก มันก็เลยมีดราม่าตลอด สองฝ่ายจึงต่างคนต่างทำงาน ไม่คุยกัน และไม่ถูกกัน
2
จุดนี้วิชัย และอัยยวัฒน์ ก็มองว่ามันจะปล่อยเป็นแบบนี้ไม่ได้แล้ว คนเป็นพ่อ ถ้าเห็นลูกสองคนทะเลาะกันเอง พ่อบางคนอาจจะปล่อยให้เด็กจัดการปัญหากันเอง แต่ในสไตล์ของศรีวัฒนประภา พ่อต้องเข้าไปจัดการกับปัญหา ต้องทำให้ลูกสองคนรักกัน และต้องรู้สิว่าพี่น้องกันต้องช่วยเหลือกัน ไม่ใช่มาเลื่อยขากันเอง
3
สิ่งที่เจ้าของทีมเลือกจะทำคือใช้วิธี "แบบไทยๆ" นั่นคือ จัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม เริ่มจากจัดการแข่งขันฟุตบอลภายในสโมสร โดยตัวอัยยวัฒน์ก็ลงไปร่วมเล่นฟุตบอลด้วย สร้างกิจกรรมให้ 2 แผนกรู้จักกัน
4
จากนั้นพอบริหารทีมได้ 5 เดือน เข้าสู่ช่วงคริสต์มาส สโมสรจ่ายเงิน 4 หมื่นปอนด์ ปิดผับแห่งหนึ่งในเมืองเลสเตอร์ โดยเอาพนักงานทั้งหมด ทุกแผนกมากินเลี้ยงกัน ร่วมเฮฮาปาร์ตี้ไปด้วยกัน
4
ต้องนึกภาพในคาแรคเตอร์ของคนอังกฤษ เวลาไปกินเหล้าเบียร์กัน ก็ไปกันกลุ่มเล็กๆ 3-4 คน แต่นี่คือไปกันทั้งสโมสร และตามปกติเวลาสโมสรฟุตบอลอื่นๆจัดปาร์ตี้ ก็จะจัดให้แค่นักเตะเท่านั้น แต่กรณีของเลสเตอร์ พนักงานทุกหน่วยได้รับเชิญมาสนุกด้วยกันหมด
มีคนถามอัยยวัฒน์ว่า คุณจ่ายเงิน 4 หมื่นปอนด์ (ราวๆ 2 ล้านบาท) เพื่องานปาร์ตี้ให้พนักงานเนี่ยนะ อัยยวัฒน์ตอบว่า ใช่ เดี๋ยวเขาเลี้ยงเอง ไม่ต้องห่วง
4
คนอังกฤษมีจุดเด่นเรื่องการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ แต่จุดอ่อน คือเรื่องปฏิสัมพันธ์กับคนในออฟฟิศ เลิกงานแล้วต่างคนก็ต่างไปมีชีวิตส่วนตัว ซึ่งในจุดนี้จะต่างกับที่ไทย หลายๆออฟฟิศ สนิทกับเพื่อนที่ทำงานมากกว่าเพื่อนสมัยเรียนเสียอีก ดังนั้นการเอาวัฒนธรรมความสนิทสนมกันในองค์กรแบบไทยๆ มาประยุกต์ใช้กับสตาฟฟ์ชาวอังกฤษ จึงเป็นการละลายพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพมาก
2
ท้ายที่สุด หลักคิดที่วิชัยและอัยยวัฒน์เชื่อว่า จะทำให้องค์กรแข็งแกร่งขึ้น คือหลักคิดการ "เอาใจแลกใจ" ถ้าอยากได้ใจของใคร ก็ต้องเอาใจตัวเองไปแลกมา
8
สโมสรอยากให้พนักงานทำงานเต็มที่ ดังนั้นก็จะรับฟังทุกสิ่งที่พนักงานคิด ถ้าอยากได้อะไร เพื่อให้ทำงานอย่างแฮปปี้ก็ขอให้บอก มีปัญหาอะไรอยากให้สโมสรไปช่วยจัดการก็แจ้งได้ตลอด
ทุกอย่างที่ทำ สโมสรแสดงให้เห็นว่า เฮ้ย เจ้าของทีมใส่ใจคุณนะ เรารับฟังสิ่งที่คุณคิด ไม่เคยมองข้าม คุณอยากได้อะไรเพื่อจะทำให้การทำงานอย่างมีความสุขขึ้น ขอให้บอกเรา และปัญหาอะไรก็ตามที่สโมสรเห็น เราจะไม่เพิกเฉย แต่จะเข้าไป Take Action เพื่อให้ทุกอย่างมันดีขึ้นให้ได้
2
"ผมต้องการให้เขาเห็นว่าเราเข้ามาบริหารด้วยใจ" อัยยวัฒน์กล่าว "เราดูแลลูกน้อง เราเห็นว่าลูกน้องสำคัญแค่ไหน เราเห็นว่าเขาอาจจะไม่ได้ทำงานหนักตอนแรก แต่ถ้าเกิดเราใส่ใจ เราให้เขา เขาคงทำงานหนักขึ้นเอง โดยที่เราไม่ต้องร้องขอซึ่งพอเป็นอย่างนั้น ตัวพนักงานก็ค่อยๆเปลี่ยน ภาพลักษณ์ของเลสเตอร์ก็เปลี่ยน กลายเป็นว่าหลังจากที่เราเข้าไป พนักงานก็สนิทกัน ผมใช้เวลาเป็นปี เป็นฤดูกาล กว่าจะซื้อใจทุกคนได้สำเร็จ"
6
จากนั้นมา เลสเตอร์ ก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดด นี่คือหนึ่งในสโมสรที่ได้รับคำชมอย่างมากเรื่องการบริหารงาน โดยสตาฟฟ์แต่ละแผนกผลงานโดดเด่นมาก
1
- ฝ่ายฟุตบอลไม่ต้องพูดถึง พาทีมเลื่อนชั้น และคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้อย่างยิ่งใหญ่ ปัจจุบันมีลุ้นโควต้าแชมเปี้ยนส์ลีกทุกปี
- ฝ่ายแมวมองไปเล็งเห็นนักเตะคุณภาพสูงที่ใครๆก็มองข้าม ตัวอย่างเช่น เจมี่ วาร์ดี้ จากสโมสรนอกลีก ใครจะไปเชื่อว่าแมวมองจะไปเจอเพชรเม็ดงามขนาดนี้
3
- ฝ่ายซื้อขายไปดีลซื้อริยาด มาห์เรซได้สำเร็จในราคาแค่ 350,000 ปอนด์ หรืออย่างดีลของแดนนี่ ดริงค์วอเตอร์ซื้อจากแมนฯยูไนเต็ดในราคาไม่ถึง 1 ล้านปอนด์ แต่ปล่อยขายไปได้ 40 ล้านปอนด์ ทำกำไรให้สโมสรเละเทะ
3
- ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไม่เคยตกยุค สร้างฐานแฟนๆในโลกออนไลน์ได้ตลอด ปัจจุบันเลสเตอร์ เป็นสโมสรที่มีคนติดตามในทวิตเตอร์สูงสุดอันดับ 8 ในอังกฤษ ตามหลังแค่บรรดาบิ๊กทีมเท่านั้น
3
- ฝ่ายขายของที่ระลึก ผลิตสินค้าใหม่ๆ มาตลอดเวลา จิวเวอรี่ ,นาฬิกา รวมไปถึงจับมือกับช็อคโกแลต Cadbury ผลิตช็อคโกแลตแบรนด์เลสเตอร์ ซิตี้ และเหล้าแบรนด์ Burleighs ผลิตเหล้าจินเวอร์ชั่นของเลสเตอร์ โดยเฉพาะ
3
- ฝ่ายสนาม ดูแลสนามได้อย่างเพอร์เฟ็กต์ จนผู้มาเยือนโหวตให้คะแนน 5 ดาวเต็มผ่านทาง Tripadvisor
1
แต่ละฝ่าย มุ่งมั่นทำหน้าที่ของตัวเองอย่างตั้งใจ ซึ่งเมื่อพนักงานในทีมขยันและมีความสามัคคี คราวนี้คนเป็นเจ้าของทีมก็ทำงานได้ง่าย แค่วางนโยบายเอาไว้ก็หายห่วง เพราะรู้ว่าพนักงานจะสามารถเดินหน้าต่อตามแผนได้ทันที
ในทุกๆองค์กร เป้าหมายหลักคือทำกำไร อันนั้นแน่นอน นั่นทำให้ผู้บริหารบางคน เมื่อรับงานปั๊บ จึงวางแผนเรื่องการหาเงินก่อนเป็นอันดับแรก ทำอย่างไรบริษัทจะประสบความสำเร็จอย่างเร็วที่สุด
2
แต่กลยุทธ์ของวิชัย และอัยยวัฒน์คือ ก่อนจะไปทำสงครามกับคนอื่นทั่วโลก ก่อนที่จะคิดถึงเรื่องหาเงินใดๆก็ตาม ขั้นแรกสุดต้องจัดการ "สงครามภายใน" ของตัวเองให้จบก่อน ถ้าในบ้านยังมีปัญหา พนักงานยังไม่ให้ใจ ยังขาดความสามัคคี แล้วมันจะไปหวังชนะใครคนอื่นเขาได้
9
การพัฒนาสโมสรอย่างถูกจุด ทำให้เลสเตอร์ค่อยๆพัฒนา ยกระดับจากสโมสรระดับท้องถิ่น ไปสู่สโมสรระดับประเทศอย่างน่าภาคภูมิใจ ซึ่งคงแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า จากทีมของมิลาน มันดาริชเมื่อ 11 ปีก่อน จะก้าวหน้ามาได้ไกล ราวกับคนละทีมขนาดนี้
และสำหรับวิชัย ศรีวัฒนประภา แม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่วิธีคิด และผลงานที่ฝากไว้ให้กับสโมสร ก็ไม่แปลกที่เขาจะถูกแฟนบอลเลสเตอร์จดจำไว้ในใจไปอีกนานแสนนาน
2
#Leicester
1
โฆษณา