30 เม.ย. 2021 เวลา 09:04 • ข่าว
สื่อระดับโลกเลือกข้างไม่ใช่เรื่องแปลก มาดูว่าเจ้าไหนเอียงซ้าย เจ้าไหนเอียงขวา
คนไทยถูกปลูกฝัง กรอกใส่หู ใส่สมองมาตลอดว่า "เป็นสื่อต้องเป็นกลาง" จนกลายเป็นบรรทัดฐานสะกดจิตใจตัวเองว่า สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวเป็นกลางอย่าง (ที่ถูกใจ) ไม่เสนอข่าวเอนเอียง หรือให้น้ำหนักไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
1
เพราะการที่ผู้รับสาส์นรู้สึกว่าสื่อให้น้ำหนักพูดถึงฝั่งไหนมากกว่าหรือทั้งหมด นั่นแปลว่าสื่อเจ้านั้นๆ ไม่มีความเป็นกลาง เป็นสื่อไม่ดีไปทันที ทั้งๆ ที่ในใจของคนอ่าน คนเสพสื่อ คนดูก็ยังไม่เป็นกลาง และเลือกที่รักมักที่ชอบอยู่เช่นกัน
เป็นสื่อต้องเป็นกลางเหมือนเป็นการตีกรอบจากสังคมที่มีต่ออาชีพสื่อมวลชน สำนักข่าว หรือสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สื่อไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ตรงกลางเสมอ และการเป็นสื่อที่ไม่กลางก็ไม่ได้หมายความว่าสื่อๆ นั้นเป็นสื่อที่ไม่ดี ยกเว้นว่าจะมีการสร้างข้อมูลเท็จ หรือเฟกนิวส์เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างจงใจ ทำลายชื่อเสียงบุคคล หรือองค์กร สร้างความแตกแยกเกลียดชัง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สื่อมวลชนควรจะเป็น
วัฒนธรรมการทำหน้าที่ของสื่อในกลุ่มประเทศที่เจริญแล้วทั้งยุโรปและอเมริกา การที่สื่อเลือกข้างถือเป็น "เรื่องปกติ" และไม่ใช่ "ตราบาป" เพราะสื่อในต่างประเทศมีเสรีภาพที่จะเลือกสนับสนุน นำเสนอ หรือให้น้ำหนักไปในทิศทางใดก็ได้ ตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศนั้นๆ
ที่น่าสนใจก็คือ ด้วยการที่สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระเสรี ทำให้ก็จะต้องมีองค์กร หน่วยงาน หรือกลุ่มต่างๆ ที่ก็มีเสรีภาพในการจับตาดูการทำหน้าที่ของสื่อเช่นกัน เพื่อดูว่าสื่อแต่ละสำนักนั้นมีความเป็นกลางหรือว่าเอียงไปสุดตัวฝั่งไหนบ้าง อย่างข้อมูลที่นำมาให้ดู อ้างอิงมาจากเว็บไซต์ MediaBiasChart . com ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่คอยแบ่งจัดหมวดหมู่ของสื่อสำนักต่างๆ ในต่างประเทศ ถึงทัศนคติ (Bias) ของสำนักข่าวแต่ะหัว ว่านำเสนอไปในทิศทางใดโดยแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งคือ
ฝั่งซ้าย แบบเสรีนิยม (Liberalism)
ฝั่งขวา แบบอนุรักษนิยม (Conservatism)ติ
ซึ่งจะทำให้เห็นตัวตนว่าสื่อนที่เรารู้จักกันมีการวางจุดยืนของตัวเองไว้อย่างไร และมีสื่อไหน สำนักข่าวใดที่มีมุมมองการนำเสนอข่าวต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นที่เป็นกลาง หรือเลือกข้าง
ในสหรัฐฯ จะมีความชัดเจนมากถึงการเลือกข้างของสื่ออย่างเปิดเผย เพราะถือว่าเป็นเสรีภาพที่จะแสดงออกอย่างไรก็ได้ หรือสนับสนุนพรรคการเมืองฝั่งใดก็ได้ ตามกรอบของกฎหมาย เช่น CNN, NBC, หรือ ABC มีความชัดเจนอย่างมากในการสนับสนุนพรรคเดโมแครต ซึ่งภาพที่ชัดเจนที่สุดมักเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ ที่สื่อเหล่านี้จะถูกใช้เป็นกระบอกเสียงทางการเมือง และออกตัวเองอย่างชัดเจนมาตลอดว่าอิงการเมืองฝั่งซ้าย
หากพรรการเมืองหรือนักการเมืองฝั่งตรงข้าม เกิดมีประเด็นที่เป็นเรื่องผิดพลาดในการบริหารงาน หรือเปิดช่องโหว่ให้โจมตี จนเกิดความเสื่อมเสีย สื่อฝั่งซ้ายก็จะรายงานโจมตีแบบไม่ต้องกั๊ก
อย่างล่าสุดข่าวที่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐ ออกมาแถลงความสำเร็จในการฉีดวัคซีนครบ 200 ล้านโดส ในเวลาไม่ถึง 100 วัน ซึ่งซื่อฝั่งเดโมแครตต่างนำเสนอข่าวด้วยความชื่นชมยินดี นำมาด้วย CNN ที่ออกตัวก่อนใคร
แต่ถ้าไปดูข่าวจาก Fox News ที่เป็นสื่อฝั่งตรงกันข้าม จะนำเสนอในอีกอารมณ์พร้อมกับโจมตีกลับไปที่ไบเดนโดยเปิดประเด็นเรื่องการกักตุนวัคซีน และวิพากษ์วิจารณ์อย่างเจ็บแสบ ถึงความเห็นแต่ตัวของรัฐบาลไบเดนที่กักตุนวัคซีนจนทำชาติอื่นๆ เดือดร้อนเป็นต้น
1
เช่นเดียวกับ Fox News, The Washington Time หรือ New York Post ก็สนับสนุนฝั่งพรรคริพับลิกัน โดยเฉพาะ Fox News ที่มีความชัดเจนเรื่องความสัมพันธ์กับ "โดนัลด์ ทรัมป์" อดีตประธานาธิบดี เพราะทรัมป์ถือว่าเป็นผู้ถือหุ้นของ Fox มาก่อน แม้ตอนหลัง Fox จะไม่สนับสนุนทรัมป์เนื่องจากช่วงก่อนหนดยุคของเขา ได้มีการใช้พื้นที่สื่อแถลงข่าวเพื่อปลุกระดมมวลชนให้ออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อขัดขวางการรับตำแหน่งของไบเดน แต่ก็ทำให้เห็นว่า Fox และสื่อฝั่งขวามีการสนับสนุนริพับลิกันมาต่อเนื่อง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเลือกข้างของสื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลางเสมอไป เพราะถึงแม้ว่าสื่อจะไม่เลือกฝั่งการเมือง ก็ต้องเลือกฝั่งนายทุนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้องค์กรอยู่รอดอยู่ดี
ทำให้ทุกวันนี้การเสพสื่อ และรับข้อมูลข่าวสาร ประชาชนอาจต้องใช้วิจารณญาณมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพราะต้องยอมรับว่าสื่อทุกวันนี้มีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง หรือการใส่สีตีใข่โจมตีให้ร้ายฝั่งตรงข้าม ซึ่งจะประชาชนอาจจะตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่รู้ตัวจากการสร้างเฟคนิวส์ หรือยุยงปลุกปั่น และทำให้จะต้องรับฟังข่าวสารอย่างรอบด้าน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของสื่อในการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลกเหมือนกัน
ส่วนใครที่รู้จักสำนักข่าวใดในภาพนี้แล้วกำลังรับข่าวสารจากสำนักข่าวดังกล่าว โพสต์นี้ก็อาจจะเป็นประโยชน์ประกอบการตัดสินใจของผู้อ่านได้บ้างว่า จะเลือกรับข่าวสารอย่างชาญฉลาดได้อย่างไร
ส่วนตัวผู้เขียนและ Reporter Journey ไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นกลางนับตั้งแต่ก่อตั้ง แต่การนำเสนอมุมมองของเรื่องราวต่างๆ จะอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและความถูกต้อง ณ เวลานั้น ซึ่งจะมาจากฝั่งไหนก็ได้ ตามเหตุผลที่สมควร โดยไม่นำอคติเข้ามาปะปน ไม่ชี้นำสังคมว่าผิดหรือถูก เพราะสื่อไม่ใช่ศาล ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม เพียงแต่จะให้ข้อมูลจากหลายๆ ด้านไปประกอบการพิจารณา ส่วนคนรับสารก็เลือกพิจารณาและวิเคราะห์จากข้อมูลและเหตผลตามวิจารณญานของแต่ละคน
อย่างไรก็ตามผลการจัดข้อมูลนี้ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าการประเมินนี้มีความเป็นกลางมากน้อยขนาดไหน เพียงแต่นำมาเสนอให้ดูว่าในต่างประเทศมีการเปรียบเทียบที่น่าสนใจแบบนี้ ถ้ามีเวอร์ชั่นของสื่อเมืองไทย ก็อยากรู้เหมือนกันว่าสื่อใด สำนักข่าวใดจะอยู่ตรงไหน และจะมีหน่วยงานไหนที่เป็นกลางและกล้าทำการประเมินแบบนี้หรือไม่?
เราอาจจะเลิกยึดติดกับดักว่าเป็นสื่อต้องเป็นกลาง เพราะสื่อก็เลือกข้างได้ และผู้รับสารก็เลือกที่จะเสพหรือไม่เสพได้เช่นกัน แต่ให้ยึดข้อมูลข้อเท็จจริงของหลักการณ์เหตุผล เพราะให้รู้เท่าทันสื่อในยุคนี้ที่เป็นเหมือนกับ "สงครามข่าวสาร" เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในใจของคนนั่นเอง
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา