30 เม.ย. 2021 เวลา 10:57 • ท่องเที่ยว
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม พระนครศรีอยุธยา
"วัดพระเมรุราชการาม" หรือวัดหน้าพระเมรุฯ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด พิจารณาได้ว่า น่าจะเป็นวัดสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งต้นสมัยอยุธยา
มีแต่เพียงตำนานกล่าวว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2046 แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน
วัดหน้าพระเมรุฯ .. ตั้งอยู่ตรงข้ามพระราชวัง แต่กลับมีชื่อว่า “หน้าพระเมรุ” ให้ให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า วัดแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับพระเมรุ หรือที่เผาศพเจ้านายอย่างไร?
เรื่องนี้มีผู้รู้อธิบายว่า ... ด้านหลังของวัดแห่งนี้ มีวัดเล็กๆชื่อ วัดโคกพระยา” เชื่อกันว่าเป็นที่ประหารชีวิตเจ้านายชั้นสูงที่ต้องคดีการเมือง ตามที่กฎมณเฑียรอธิบายไว้ว่า “.. ถ้าแลโทษหนักถึงชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทลวงฟันหลัง แลนายแวงหลังเอาไปมล้างที่โคกพญา …. ” แล้วอาจมีการสร้างพระเมรุขึ้นในบริเวณนี้ก็เป็นได้
.. แต่บางท่านก็อธิบายต่างออกไปว่า ลานหน้าวัดริมแม่น้ำลพบุรีน่าจะเคยเป็นที่ตั้งของพระเมรุ ทำให้วัดนี้มีชื่อว่า “วัดหน้าพระเมรุ”
บริเวณหน้าวัดหน้าพระเมรุยังเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเคยเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ในการทำสัญญาสงบศึกเมื่อครั้งสงครามช้างเผือก
พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ .. นับเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาเพียงแห่งเดียวที่รอดจากการทำลายเมื่อครั้งกรุงแตกมาได้ เนื่องจากเป็นที่ตั้งทัพพม่า ...
แต่นักวิชาการบางท่านเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะเล่าลือกันไปเอง เพราะที่จริงแล้ว สงครามคราวนั้นข้าศึกไม่ได้เผาทั้งเมือง แต่เลือกทำลายจุดที่เป็นหัวใจของเมือง เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดมหาธาตุ และวัดพระศรีสรรเพชญ์เท่านั้น ส่วนวัดที่เหลือแต่ซากทุกวันนี้ มีทั้งถูกรื้ออิฐไปขาย โจรลักลอบขุดหาของเก่าและถูกทิ้งร้างให้พังไปเอง
วัดหน้าพระเมรุก็เช่นกัน หลังจากกรุงแตกแล้วก็รกร้างเรื่อยมา .. จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุงเก่าจึงมาบูรณะครั้งใหญ่บนรากฐานและเค้าโครงเดิม จารึกในอุโบสถบันทึกถึงการก่อผนัง ทำหลังคาเครื่องบน ทำประตูใหม่ ก่อบุษบกที่ประตูกลาง และวาดจิตรกรรมฝาผนังเรื่องอสีติมหาสาวก (ลบไปเมื่อปี พ.ศ. 2500) กลายเป็นพระอารามที่สวยงามสมบูรณ์ท่ามกลางซากวัดมากมายในอยุธยา
พระอุโบสถแห่งนี้ จึงไม่ได้เป็นสถาปัตยกรรมอยุธยาโดยสมบูรณ์ หากผสมผสานศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 เข้าไว้ด้วย
หน้าบันของพระอุโบสถ .. เป็นไม้แกะสลักปิดทองที่แสดงรูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคประทับราหูแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดา (ด้านหน้าพระอุโบสถมีเทวดาแวดล้อม 26 องค์ ด้านหลังพระอุโบสถมีเทวดาแวดล้อม 22 องค์ รวมเทวดา 48 องค์) คติดังกล่าวเป็นที่นิยมในสมัยโบราณที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ คือเป็นพระนารายณ์อวตาร ดังนั้น หน้าบันของโบสถ์ วิหาร หรือปราสาทราชวังที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือทรงบูรณะก็มักจะทำรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเป็นสำคัญ อันมีความหมายว่าวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง
พระประธานในพระอุโบสถ ... เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยสมัยอยุธยาที่มีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่ง เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ต่อมาได้รับการบูรณะในสมัยของพระเจ้าปราสาททอง
อาจถูกบูรณะอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 3 ... ชื่อนาม “พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ” ซึ่งเป็นชื่อที่เพิ่งถูกถวายพระนามขึ้นใหม่โดย “พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรามหาประเทศราชชาติเสนาบดี” (เผือก) ผู้รักษา (รั้ง) กรุงเก่า แม่กองในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดหน้าพระเมรุฯ ในปี พ.ศ. 2378 เพื่อเป็นการเฉลิมพระยศพระเกียรติล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ 3
พระพุทธรูปทรงเครื่องประธานวัดหน้าพระเมรุ ฯ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลศิลปะร่วม ระหว่างศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา และศิลปะเขมร ที่เรียกว่า ศิลปะอยุธยา-ปราสาททอง ที่ถือกำเนิดหลังจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททองปราบปรามกัมพูชาได้สำเร็จ และได้กวาดต้อนช่างฝีมือมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการสร้างงานฝีมือที่เป็นศิลปะผสมระหว่างอยุธยากับเขมร
พระประธานในพระอุโบสถวัดพระเมรุฯ สร้าง “แบบทรงเครื่องใหญ่” อันเกิดจากการผสมผสานคติความเชื่อแบบ “เทวราชา” ของกัมพูชา กับแบบ “ธรรมราชา” ของกรุงศรีอยุธยา รวมถึงเป็นงานพุทธศิลป์ที่สร้างขึ้นตามคติ “พระอนาคตสุมงคลพุทธเจ้า” ทรงเครื่องกษัตริย์ตามแบบพุทธศิลป์พระศรีอาริยเมตไตรย ที่เคยเป็นความนิยมของราชสำนักกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 - 21
ประกอบกับโหรหลวงได้ทำนายว่า จะเกิดภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงต่อกรุงศรีอยุธยา .. พระเจ้าปราสาททองจึงโปรดฯให้ประกอบพระราชพิธีลบศักราชเปลี่ยนดวงเมือง และพระราชพธีปราบดาภิเษกพระองค์เป็น “อินทรราชา” เพื่อข่มคำทำนายของโหรหลวง พร้อมสร้างพระพุทธรูปให้มีความอลังการทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ แสดงความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์เหนือสิ่งใด
พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ... จะทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ตามที่บาทหลวงกีย์ ตาชารต์ ชาวฝรั่งเศส ได้บรรยายเครื่องทรงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อครั้งเสก็จทางชลมาร์คเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลว่า ..
.. สมเด็จพระนารายณ์ทรงประทับอยู่บนพระราชบัลลังก์ในเรือพระที่นั่งยอดมณฑปปิดทองระยิบระยับ ทรงฉลองพระองค์ผ้าตาดประดับอัญมณี เรือพระที่นั่งปิดทองกระทั่งจรดผิวน้ำ ฝีพาย 120 คน สวมหมวกทรงระฆังคว่ำประดับเกร็ดเลื่อมทองคำ สวมเกราะอ่อนประดับเลื่อมทองคำเช่นเดียวกัน
ต่อมา บาทหลวงกีย์ ตาชารต์ ได้บรรยายเครื่องทรงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้อีก เมื่อครั้งเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นว่า ..
.. สมเด็จพระนารายณ์ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎอันแพรวพรายไปด้วยอัญมณี พระมาลามงกุฎและพระมาลาทรงสูงมียอดแหลม มีเกี้ยวทองคำสามชั้น อยู่ห่างกันพอสมควร สวมพระธำมรงค์เพชรเม็ดใหญ่ที่นิ้วพระหัตถ์หลายวงส่งประกายวาววับ ฉลองพระองค์สีแดงพื้นสีทองฉลองพระองค์ชั้นนอกเป็นทองโปร่ง มีกระดุมเพชรเม็ดใหญ่
การสร้างพระทรงเครื่ององค์นี้ ยังสะท้อนคติความเชื่อที่ว่า พระองค์คือ “พระจักรพรรดิราชา” (พระจักรพรรดิเหนือเหล่าราชา) แห่งอาณาจักร ดังปรากฏความในฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ ว่า "...ล้ำจักรพรรดาธิราชเรืองฤทธิไกร..." เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระองค์จะได้ไปจุติเป็นพระอนาคตสุมงคลพุทธเจ้า
นอกจากนี้ การสร้างยังเกี่ยวข้องกับกับความเชื่อเรื่อง “พระอนาคตพุทธเจ้า” ... ที่ระบุว่าพระชาติที่แล้วของพระองค์นั้นเป็นช้างปาลิไลยก์ในครั้งพุทธกาล ที่ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าสมณโคตมว่า ช้างปาลิไลยก์นั้นจะได้ตรัสรู้เป็น “อนาคโตทศพุทธ” ที่หมายความถึง “พระสุมังคลพุทธเจ้า” พระอนาคตพุทธเจ้าองค์ที่ 10
... การสร้างพระทรงเครื่องจึงอาจหมายถึง “การรวมพระพุทธเจ้ากับพระมหากษัตริย์เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน” ถือเป็นการพยายามสร้างบารมีอย่างหนึ่งของพระองค์ เพราะพระองค์คือขุนนางที่ปราบดาภิเษก (รัฐประหาร) ขึ้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องทำให้เหล่าขุนนางยำเกรง และนั่นก็อาจจะอธิบายได้ด้วยว่า ทำไมในรัชสมัยของพระองค์จึงมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่มากมาย
พระพุทธรูปแบบทรงเครื่องใหญ่ พัฒนามาจากพระพุทธรูปแบบทรงเครื่องน้อยผสมผสานกับแนวความคิดในการจำลองเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ให้เข้ากับปรัชญาและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยนั้น
พุทธลักษณะ ... เป็นพระพุทธปฏิมาประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ครองจีวรห่มดอง มีชายผ้าสังฆาฏิทิ้งเป็นแถบยาวหน้าพระนาภี ประดับด้วยอุณหิสเทริดทรงมงกุฎยอดชัย ทัดด้วยครีบข้าง (หูเทริด) ปลายแหลมคั่นหน้าพระกรรณ ประดับกระจก แบบครอบพระเศียร สวมกรองศอ สังวาลไขว้ประดับด้วยกระจังและตาบทับทรวง พาหุรัดทองข้อพระกรและข้อพระบาท สวมพระธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ ตามแบบ “ทรงเครื่องใหญ่” ของกษัตริย์หรือพระจักรพรรดิราชา
พระพักตร์กลมรูปไข่ พระขนงโก่งโค้งเป็นสันคมมาบรรจบกันที่ตรงกลางเหนือพระนาสิกทรงชมพู่โด่ง เว้นช่องกลางพระนลาฏไว้เพื่อต่อเป็นสันคมของพระนาสิก พระเนตรเหลือบมองต่ำ ปลายพระเนตรชี้ขึ้นสูง โปนพระเนตรโค้งใหญ่รับกับพระขนง พระเนตรล่างที่เปิดเหลือบเป็นลอนโค้งปลายแหลม แอ่นโค้งที่ตรงกลางพระกาฬเนตร ริมพระโอษฐ์บาง กลางริมพระโอษฐ์บนโค้งลงตามร่องเนื้อ ริมพระโอษฐ์ล่างโค้งรับตาม ปลายแหลมโค้งขึ้นตรงกับพระกาฬเนตรแบบแย้มพระสรวล พระหนุนูนกลมตรงกลางรับกับร่องเนื้อจากพระนาสิก พระกรรณกลมซ้อนเป็นชั้นปลายยอดแหลมบายศรี ติ่งพระกรรณเว้าโค้งออกเจาะเป็นช่องยาวปลายประดับด้วยกุณฑลที่โค้งออกตามติ่งพระกรรณ ตามงานพุทธศิลป์แบบช่างหลวงสมัยพระเจ้าปราสาท
ฐานพระพุทธรูปมีลักษณะคล้ายบัลลังก์แอ่นกลางเล็กน้อย ชั้นบนสุดเป็นฐานบัวหงายประดับกระจกสามชั้น ย่อมุมเข้าในแบบย่อมุมท้องไม้ ฐานหน้ากระดานลายประจำยามก้ามปูสลับลายรูปหกเหลี่ยมทรงรีติดกระจกสีเป็นแถบรัดรอบฐาน แล้วย่อมุมจรดกับฐานสิงห์
วิหารน้อย ... ด้านข้างของพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาเขียวนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ภัทรบิฐ หรือ “พระคันธารราฐ” ซึ่งแกะสลักขึ้นจากหินตะกอนเนื้อละเอียดสีเข้มออกเขียว (Bluish Limestone) ความสูงขนาด 5.20 เมตร
.. เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ถูกเคลื่อนย้ายนำมาประดิษฐานไว้ที่วิหารทวารวดี ณ วัดทุ่งพระเมรุ จังหวัดนครปฐม โดยเป็นพระพุทธรูปสำคัญในความหมายของพระพุทธเจ้าสมณโคตมตามแบบคติลังกามหาวิหารที่นิยมในยุคทวารวดี
... แต่เดิมมีเพียงพระเศียร พระพาหาท่อนบน และส่วนองค์ถึงพระชงฑ์ .. ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการบูรณะให้สมบูรณ์
.. เล่าลือกันว่าพระองค์นี้อัญเชิญมาจากลังกา ตามจารึกบนผนังวิหารที่กล่าวไว้ว่า “.. พระคันทานุราชสิลา มาแต่เมืองลังกาก่อนโพ้น ..” แต่นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นของเก่า มีอายุกว่าพันปีมาแล้ว น่าจะมาจากเมืองทราวดีที่อยู่บริเวณภาคกลางมากกว่าจะมาจากเมืองลังกา
พุทธศิลป์ .. พระพุทธรูปประทับนั่งบนบัลลังก์ มีลักษณะการนั่งแบบตัวตรงบนเกาอี้ (ภัทรบิฐ) พระอุรุแยกถ่างออก พระชงฆ์ห้อยลงมาแยกห่างจากกันแบบนั่งเก้าอี้มีขาสูง นิยมทำพระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงการจีบพระอังคุลีกับพระดัชนีเป็นวงกลม หมายถึงการเทศนาพระธรรมจักร หรือปางแสดงธรรม “วิตรรกมุทรา” (Vitarka mudra) พระหัตถ์ซ้ายนิยมทำพระหัตถ์จับชายลูกบวบจีวรดึงรั้งขึ้นมาหรือวางไว้บนพระเพลาครับ
ลวดลายบนคานพนักพิงและพนักพิง มีลายสำคัญอย่างลายเครื่องประดับต่อเนื่อง ลายคาดหน้ากระดาน (ปัฏฏะ) ทำเป็นลายดอกไม้ต่อเนื่อง (ดอกซีกดอกซ้อน) เป็นลายตาบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดที่ทำเป็นสี่เหลี่ยมแคบ สลับด้วยพุ่มดอกไม้วงรีที่มีกระหนกกลีบดอกล้อม 4 กลีบ ระหว่างดอกกับตาบประดับด้วยกระหนกใบนกขดสลับไปมา คั้นลายหลักด้วยลายรูปประคำ (ลูกปัดอัญมณี) เป็นสายยาว ส่วนปลายของพนักพิง เป็นรูปตัวมกรคายตัววยาลกะ (สิงห์มีเขา) ในท่ายกขาหน้าทะยานแบบศิลปะปัลลวะ
ส่วนของประภามณฑล ที่อาจถูกประดับภายหลัง สลักลายดอกไม้กลมสลับต่อเนื่องกับลายดอกไม้ในกรอบข้าวหลามตัด ล้อมรอบด้วยกระหนกใบไม้ม้วนขนาบข้างด้วยลายรูปประคำ (ลูกปัดอัญมณี) และลายกระหนกรัศมีแบบเปลวเพลิง แตกต่างไปจากส่วนของพนักพิง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของลวดลายศิลปะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 ที่ได้รับอิทธิพลมาจากงานศิลปะของราชวงศ์ปาละแล้ว
พระพุทธรูปองค์นี้ผ่านกาลเวลามายาวนานกว่า 1,400 ปี ถูกทุบทำลาย เคลื่อนย้าย ปฏิสังขรณ์ซ่อมแซม แปรเปลี่ยนไปตามคติความเชื่อของแต่ละยุคสมัยมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ความงามของประติมากรรมพระพุทธรูปประทับนั่งบนบัลลังก์แบบกรีก-ยุโรปที่วิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุนี้ ก็ยังคงเป็นพุทธศิลป์ในยุคทวารวดีที่มีความงดงามที่สุดในประเทศไทย (และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) อยู่เสมอ
พระพุทธรูปอื่นในวิหารน้อย และภาพเขียนบนผนัง ลบเลือนมากแล้ว
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา