2 พ.ค. 2021 เวลา 12:59 • ปรัชญา
อะไรคือนิโรธ ภาวะที่ไม่มีทุกข์นั่นเองคือนิโรธหรือนิโรธก็คือภาวะที่สามารถดับกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง ภาษาพระเรียกว่า นิ พ พ า น
เราจะไปถึงนิพพานได้โดยปฏิบัติด้วย " ม ร ร ค " ซึ่งเป็นข้อที่สี่ของอริยสัจ ในที่นี้ก็คืออริยมรรคมีองค์แปดประการ เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิ และจะไปจบด้วยสัมมาสมาธิ ใครอยากบรรลุนิพพานก็ปฏิบัติตามมรรคทั้งแปดนี้ พระพุทธเจ้าของเรานั้นได้ตรัสรู้อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สำเร็จเป็นพระอรหันตสัมพุทธเจ้า
กฎของอริยสัจสี่นั้น ผู้เขียนขอสรุปง่าย ๆ เหลือ 2 คำ คือ ที่ใดมีทุกข์ ที่นั่นมีหนทางดับทุกข์ จำเรื่องแม่กิมไล้ได้ไหม ทุกข์เกิดจากตรงไหน คำด่าของพี่ชาย แล้วดับทุกข์ได้ก็เพราะคำด่าของพี่ชายเหมือนกัน อย่างเช่นเสื้อผ้าเราสกปรก อยากให้มันสะอาด เราต้องไปซื้อความสะอาดมาจากข้างนอกไหม ไม่ต้อง โยมซักเสื้อให้ดี ความสกปรกอยู่ที่ไหนความสะอาดก็อยู่ที่นั่น สิ่งที่มาช่วยให้สะอาดเป็นเพียงเหตุปัจจัยภายนอก แต่เวลาสะอาดมันก็สะอาดขึ้นมาตรงที่ที่มันเคยสกปรกนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ที่ใดมีทุกข์ ที่นั่นก็ต้องมีตัวดับทุกข์ ที่ใดมีปัญหา ที่นั่นก็มีเฉลย
หลักของอริยสัจเมื่อความทุกข์เกิดขึ้น หนทางดับทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น ดังนั้น จากหลักอริยสัจ ทุก ๆ ครั้ง เมื่อเรามีความทุกข์เกิดขึ้นมาในชีวิต อย่าไปกลัวทุกข์ เพราะเมื่อเกิดความทุกข์ก็จะเกิดความดับทุกข์ตามมาด้วย ผู้เขียนขอเปรียบง่าย ๆ ว่า ความทุกข์ก็เหมือนเปลือกทุเรียนนั้นเอง แล้วความสุข นิโรธ นิพพาน ก็เปรียบเสมือนเนื้อทุเรียนนั้นเอง ความทุกข์อยู่ตรงไหน หนทางดับทุกข์ก็อยู่ที่นั่น คือทุกอย่างย่อมมีเหตุและผลอยู่ในตัว
หลักอริยสัจสี่ สรุปง่าย ๆ ก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นไปตามเหตุและผล ถ้าผลของทุกข์มีอยู่ เราก็ต้องหาวิธีดับเหตุแห่งทุกข์นั้นให้ได้ หลวงพ่อชาท่านใช้คำง่าย ๆ ว่าที่ใดมีปัญหา ที่นั่นมีเฉลย ฉะนั้น เมื่อเราเจอปัญหาต่าง ๆ มากมายเข้ามาในชีวิต อย่าไปคิดฆ่าตัวตาย อย่าไปทำร้ายตัวเอง ดู และหาสาเหตุให้ดี ๆ พอเรื่องมันคลี่คลาย ความสุขก็จะตามมาเอง เหมือนกับเรื่องของแม่กิมไล้ที่ผู้เขียนเล่า ถึงที่สุดถ้าเราไม่ยอม เดี๋ยวเราก็จะค้นพบสาเหตุเอง นี่คือคติที่เราได้รับจากทุกข์ และการดับทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านเป็นมนุษย์ แต่ท่านเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ก็เพราะว่าท่านฝึกหัดพัฒนาตนฉันใด เราทุกคนเป็นมนุษย์ถ้าเราค้นพบหนทางดับทุกข์ และพัฒนาตน วันหนึ่งเราก็จะดับทุกข์ได้เหมือนกันฉันนั้น พูดอีกอย่างหนึ่งว่า พระองค์ท่านดับทุกข์ได้ เราก็ดับทุกข์ได้ เพราะว่าพระองค์ก็คน เราก็คนเหมือนกัน
วันไหนที่มีทุกข์อย่ายอมให้แก่ความทุกข์ ทุกข์มีไว้ให้ดับทุกข์ ไม่ใช่ให้ดับชีวิต บางคนพอมีความทุกข์เกิดขึ้นก็ยิงตัวตาย คิดว่าถ้าตายก็ดับทุกข์ มันไม่ดับหรอก ถ้าชาตินี้โง่ในชาติหน้าก็โง่อีก ไปเกิดใหม่ก็ยังโง่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ถ้าโง่ในชาตินี้ต้องแก้ไขให้ดี แก้ให้ดีในชาตินี้ พอชาติหน้าก็จะหายทุกข์เอง นี่คืออริยสัจสี่
ที่ใดมีทุกข์
ที่นั่นก็มีหนทางดับทุกข์
อย่าพกความโง่ข้ามภพข้ามชาติเลย
• • • • •
ว.วชิรเมธี
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "กลั่นทุกข์ให้เป็นสุข" | Suffering
|ความทุกข์เกิดขึ้นมาไม่ใช่เพื่อทำให้เราท้อ
|แต่เกิดขึ้นมาเพื่อให้เราก้าวต่อไปจนพบความสุข
โฆษณา