1 พ.ค. 2021 เวลา 01:36 • ท่องเที่ยว
วัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา เป็นเมืองโบราณที่มีพัฒนาการมาหลายช่วงเวลา .. บริเวณเกาะเมืองทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีเชื่อกันว่า เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณชื่อ “อโยธยาศรีรามนคร” หรืออโยธยาเก่าก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาของพระเจ้าอู่ทอง
“อโยธยาศรีรามนคร” .. เจริญรุ่งเรืองอยู่ชั่วเวลาหนึ่งด้วยวัฒนธรรมเฉพาะตัว อันเกิดจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมทวาราวดีกับวัฒนธรรมขอม และได้ร้างผู้คนไปเพราะโรคระบาด หลงเหลือไว้เพียงร่องรอยวัฒนธรรมที่เรียกว่า “อู่ทอง” รวมถึงปรากฏมีวัดโบราณอยู่มากมาย
หลายปีหลังจากนั้น พระเจ้าอู่ทองได้สถาปนาเมืองใหม่ในปี พศ. 1893 บนอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ ให้ชื่อว่า “กรุงเทพทวาราสดีศรีอยุธยา” เรียกสั้นๆว่า “กรุงศรีอยุธยา” ซึ่งเจริญรุ่งเรืองเป็นราชธานีที่ยิ่งใหญ่สืบต่อมาอีกถึง 417 ปี โดยมีกษัตริย์จาก 5 ราชวงศ์ปกครอง ก่อนจะเสียกรุงให้กับพม่า
วัดมเหยงค์ .. เป็นหนึ่งในวัดเก่าที่มีหลักฐานว่าได้รับการบูรณะต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ช่วงอยุธยาตอนต้นในรัชสมัยเจ้าสามพระยา และสมัยอยุธยาตอนปลายในรัชสมัยของพระเจ้าท้ายสระ
พงศาวดารเหนือได้บันทึกไว้ว่า พระเจ้าธรรมราชา กษัตริย์องค์ที่ ๘ ของอโยธยา มีมเหสี ชื่อ พระนางกัลยาณี และพระนางเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ ส่วนพระเจ้าธรรมราชาทรงสร้างวัดกุฏีดาว
วัดมเหยงคณ์ ... มาจากศัพท์บาลีว่า มหิยังคณ์ แปลว่า ภูเขา หรือ เนินดิน ซึ่งหากพิจารณาภูมิประเทศของวัดมเหยงคณ์ก็จะเห็นว่า ส่วนพุทธาวาสตั้งอยู่บนเนินสูง จึงอาจจะเป็นที่มาของชื่อวัดแห่งนี้
นอกจากนั้น ชื่อวัดมเหยงคณ์นั้น สันนิษฐานว่าตั้งชื่อตามมหิยังคณะเจดีย์ในลังกาทวีป
วัดมเหยงคณ์เจริญรุ่งเรืองต่อมานับร้อยปี กระทั่งมารกร้าง .. ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2252 เสด็จทอดพระเนตรการปฏิสังขรณ์อยู่เนืองๆ จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้นบนเกาะแห่งหนึ่งทางด้านใต้นอกกำแพงวัด ลักษณะเป็นอาคารตึก 2 ชั้น แบบเดียวกับ ตำหนักวัดกุฎีดาวและตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์
งานปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ใช้เวลานานราว 3 ปี ... พระอุโบสถเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ตรงตำแหน่งเดิม ซึ่งอาจจะเคยเป็นวิหารก็ได้ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและลวดลายปูนปั้นต่างๆ ที่พระอุโบสถแห่งนี้เป็นงานครั้งรัชกาลพระเจ้าท้ายสระอย่างแท้จริง
ตามพงศาวดารกล่าวถึงวัดนี้อาไว้ว่า .. เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2112 พระเจ้ากรุงหงสาวดี ได้ตั้งทัพหลวงบัญชาการอยู่ ณ วัดมเหยงคณ์แห่งนี้ โดยปิดล้อมกรุงศรีอยุธยานานถึง 9 เดือน
วัดมเหยงคณ์ ได้รับการปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2252 และตั้งให้เป็นโบราณสถานของชาติ .. ต่อมาท่านพระครูเกษมธรรมทัต (สรศักดิ์ เขมรสี) และญาติโยมพุทธบริษัท ได้พัฒนาบริเวณวัดที่เคยรกร้างมานาน ให้กลับมาสะอาด โปร่ง จนปัจจุบัน วัดมเหยงคณ์ ก็ได้กลายมาเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐาน ที่เงียบสงบบรรยากาศร่มรื่นแบบกรุงเก่า ซึ่งมีผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้ามาปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก
ฉนวน ... เป็นทางเดินที่มีกำแพงตั้งอยู่ทั้งสองข้างทางเดิน เชื่อมระหว่างซุ้มประตูทางเข้าและพระอุโบสถ ลักษณะกำแพงมีบัวประดับอยู่ด้านบน คล้ายกำแพงแก้ว เป็นทางเดินสำหรับกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูง
พระอุโบสถ ... เป็นโบสถ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาโบสถ์เก่าใน จ. พระนครศรีอยุธยา เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 17 เมตร ยาว 35.2 เมตร ตั้งอยู่บนฐานแอ่นโค้งเป็นรูปท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นรูปแบบของอาคารที่นิยมก่อสร้างในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย และจากการศึกษาพบว่า อุโบสถนี้สร้างทับซ้อนอยู่บนอาคารเดิมในสมัยอยุธยาตอนต้น
ภาพรอบๆพระอุโบสถ ... บนทางเดินรอบโบสถ์ยังปรากฏใบสมา อันเป็นเครื่องบอกและกำหนดขอบเขตของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้
โบสถ์ยังคงมีผนังโบสถ์ หน้าต่าง หน้าบรรณให้เห็น ภายในมี 2 ฐานชุกชี เชื่อว่าเคยมีพระพุทธรูปอยู่ในโบสถ์ถึง 2 องค์ แต่ที่มองเห็น มีเพียงหลวงพ่อหินทรายสักดิ์สิทธิ์ พระประธานในพระอุโบสถที่หักเป็นท่อน
เจดีย์ราย ... เป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีชุดบัวถลาและมาลัยเถารองรับองค์ระฆัง เหนือองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตรและปล้องไฉนตามลำดับ ซึ่งลักษณะเจดีย์ทรงระฆังแบบนี้นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย และจากการศึกษาพบว่า มีการสร้างพอกทับเจดีย์องค์เดิม
เจดีย์ประธาน ... เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
มีทางขึ้น 4 ด้าน เป็นโบราณสถานที่โดดเด่นที่สุดของวัดแห่งนี้
ที่ฐานประทักษิณประดับด้วยประติมากรรมรูปช้างโผล่ออกมาครึ่งตัวอยู่ภายในซุ้มจระนำด้านละ 20 เชือก รวม 80 เชือก โดยช้างแต่ละหัวมีความแตกต่างกัน อันอาจจะสันนิษฐานได้ว่า น่าจะใช้ช่าง 1 คนทำแต่ละหัว
เจดีย์ลักษณะนี้เป็นลักษณะที่ได้รับอิทธิพลมากจากเจดีย์ในลังกาทวีป ที่เรียกกันว่า “เจดีย์ช้างล้อม” ซึ่งไม่ค่อยเห็นในอยุธยา
เจดีย์ช้างล้อม ... สมเด็จพระเจ้าบรมเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าคงเอาแบบอย่างมาจากพระเจดีย์ชัยของพระเจ้าทุษฐคามินีมหาราชในลังกาทวีป ซึ่งทรงช้างชื่อกุณฑลทำสงครามได้ชัยชนะได้ครองราชสมบัติ มีโอกาสทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในลังกาให้รุ่งเรืองยิ่งในสมัยพระองค์
ฐานด้านบนที่รองรับองค์เจดีย์ประธาน ประดับด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานภายในซุ้ม โดยรอบองค์เจดีย์ รวม 20 ซุ้ม
พระพุทธรูปที่แตกหัก ท่ามกลางดอกไม้ที่อยู่เรี่ยดิน ... เป็นความงดงามที่ดูขัดแย้ง และให้อารมณ์เศร้า
ลานธรรมจักษุหรือโคกต้นโพธิ์ เนินดินสี่เหลี่ยมจตุรัสยาว 58 เมตร กว้าง 50 เมตร ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่ตั้งของพลับพลาที่ประทับของพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้
เรามองเห็นซากโบราณสถานเหล่านี้ที่ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวอย่างวังเวงมานานหลายร้อยปี หากอิฐและหินเก่าแก่เหล่านี้พูดได้ คงมีเรื่องราวมากมายที่จะเล่าถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองสมัยก่อน
ขอบคุณเนื้อความบางส่วนจาก : http://www.bansansuk.com/travel/Wat%20Mahaeyong/
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา