6 พ.ค. 2021 เวลา 09:00 • ปรัชญา
รู้จักแนวคิดเหตุผลนิยม : ความรู้ติดตัวมาแต่กำเนิดจริงหรือ?
ปรัชญามีสาขาวิชาที่สนใจปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความรู้ของมนุษย์เรียกว่าสาขาญาณวิทยา (epistemology) ซึ่งหนึ่งในประเด็นปัญหาที่กล่าวถึงจะเป็นแหล่งที่มาของความรู้ โดยมีสองแนวคิดสำคัญคือเหตุผลนิยม (Rationalism) และประสบการณ์นิยม (Empiricism)
.
ในครั้งนี้ The MemoLife ขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับลัทธิเหตุผลนิยม อีกหนึ่งแนวคิดที่นักปรัชญาเลื่องชื่อในอดีตหลายท่านมีทัศนะทำนองนี้ เช่น พาร์มินิเดส (Parmenides) เซโนแห่งเอเลีย (Zeno of Elea) เพลโต (Plato) และเซนต์ออกัสติน (St.Augustine)
เหตุผลนิยม ชื่อภาษาอังกฤษคือ “rationalism” มีรากศัพท์จากภาษาละตินคำว่า “ratio” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “reason” และหมายความถึง “เหตุผล” ในภาษาไทย
กลุ่มแนวคิดนี้เชื่อว่า ความรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด และมีลักษณะเป็นเหตุผล ทัศนะคือมนุษย์สามารถมีความรู้ต่าง ๆ ได้โดยอาศัยเหตุผล และให้ความสำคัญกับสมรรถนะทางความคิดของมนุษย์ในการได้มาซึ่งความรู้
.
หลักการพื้นฐานของกลุ่มเหตุผลนิยม มีดังนี้
1) เชื่อว่าเหตุผลเป็นอิสระจากประสาทสัมผัส เหตุผลสามารถทำให้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง
2) ปฏิเสธความรู้จากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส เพราะถือว่าทำให้คนหลงผิดได้
3) ความรู้เป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิด ความรู้เกิดจากความคิดหรือเหตุผลเพียงอย่างเดียว ซึ่งความรู้ที่ได้มานั้นแน่นอนและเป็นสากล
.
เมื่อพูดถึงเหตุผลนิยม จะขาด 'นักเหตุผลนิยมภาคพื้นทวีปยุโรป' (continental rationalists) ไปไม่ได้เลย อันประกอบด้วย เรอเน เดส์การ์ตส์ (Rene Descartes) เบนเนดิค เดอ สปิโนซา (Benedict de Spinoza) และก็อตฟรีด วิลเฮล์ม ไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz)
René Descartes
เดส์การ์ตส์เป็นนักปรัชญาคนแรกของกลุ่มเหตุผลนิยม เขากล่าวว่าเหตุผลเกิดจากสัญชาตญาณที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ เขาเชื่อว่าความรู้ที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นความรู้พื้นฐาน ความรู้อื่น ๆ ต่างก็สามารถคิดต่อจากความรู้เหล่านี้ได้โดยใช้หลักตรรกะ
ด้วยความที่เขาเป็นผู้สงสัยในทุกสิ่ง การคิดหาเหตุผลเท่านั้นจึงเป็นที่มาของความรู้ที่แท้จริง เพราะช่วยให้เขาสิ้นความสงสัยได้ ซึ่งเหตุที่ถูกต้องแน่นอนผลสรุปจึงจะถูกต้อง ถ้าเหตุผิด ผลสรุปก็ย่อมผิดไปด้วย
เดส์การ์ตส์พยายามสร้างหลักการในวิชาปรัชญาว่าจะต้องมีความจริงพื้นฐาน แล้วเขาก็ได้พบว่าความคิดที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด (innate ideas) เท่านั้นที่เป็นจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์ ซึ่งมีความบริสุทธิ์ ไม่ขึ้นกับประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสและไม่อาจคิดจินตนาการเองได้ เช่น ความคิดเกี่ยวกับความไม่สิ้นสุด (infinity) ความคิดเกี่ยวกับความเป็นนิรันดร (eternity)
.
เหตุผลนิยมมุ่งมั่นที่จะปฏิเสธความสงสัย เพราะถือว่าความสงสัยนี้มีความรู้อยู่บางส่วน แต่ความรู้จากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสนั้น ไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นความจริง เช่น ไม้ที่จมอยู่ในน้ำ เรามองลงไปเราเห็นว่าเป็นไม้คดงอ แต่เมื่อหยิบขึ้นมากลับเป็นไม้ตรง หรือรางรถไฟสองคู่ที่เราเห็นว่าบรรจบกันในระยะทางอันใกล้ แต่แท้จริงยังอีกไกลมาก รางรถไฟถึงจะบรรจบ เหล่านี้คือเรากำลังโดนประสาทสัมผัสทางตาหลอกลวงอยู่
.
Spinoza
สปิโนซาผู้พัฒนาลัทธิเหตุผลนิยมต่อจากเดส์การ์ตส์ มีความเชื่อมั่นในเหตุผลเช่นเดียวกับเดส์การ์ตส์ และถือว่าความจริงสามารถรู้ได้โดยเหตุผล เพราะว่าสิ่งที่จริงมีลักษณะเป็นเหตุผล ไม่มีอะไรที่เหตุผลจะเข้าใจไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติหรือความจริงสิ้นสุด แม้แต่พระเจ้ายังอาศัยความมีเหตุผลในการสร้างโลก ทัศนะดังกล่าวทำให้เหตุผลนิยมของสปิโนซากลายเป็นรหัสยนิยม[1]
สปิโนซาแบ่งความรู้มนุษย์ออกเป็นสามระดับคือ ความเห็น (opinion) ได้มาจากการสังเกตข้อมูล ที่ได้จากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส ซึ่งเขาเห็นว่าไม่น่าเชื่อถือและมีโอกาสผิดพลาดได้มาก
เหตุผล (reason) ได้มาจากการพิสูจน์ประพจน์[2] ด้วยวิธีการแบบเรขาคณิต หรือจากข้อสรุปที่อนุมานเชิงนิรนัย มาจากข้ออ้างในการอ้างเหตุผลแบบจัดประเภท
อัชฌัตติกญาณ (intuition) ได้มาจากการเข้าถึงสารัตถะ[3] ของสิ่งต่าง ๆ โดยความรู้จากสารัตถะ เริ่มต้นจากความรู้เกี่ยวกับสารัตถะของพระเจ้า สปิโนซาเห็นว่าความรู้จากเหตุผลและความรู้จากอัชฌัตติกญาณต่างก็น่าเชื่อถือ แต่อัชฌัตติกญาณจะสูงส่งกว่า เนื่องจากเป็นความรู้ในระดับสารัตถะอันเป็นสากล อีกทั้งเชื่อมโยงสู่พระเจ้า ทำให้รู้ถึงสาเหตุของสิ่งต่าง ๆ อีกด้วย
.
Leibniz
ไลบ์นิซก็มีความเชื่อในเรื่องความคิดติดตัว (innate ideas) เขากล่าวว่าเนื่องจากความคิดติดตัวทั้งปวงมีพร้อมอยู่ในใจของเราแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีความรู้ใดที่จะอ้างได้ว่าเราได้มาจากภายนอก (ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส) เขาเชื่อว่าจิตมนุษย์กระทำการอยู่เสมอแม้อยู่ในสภาพที่ไม่มีความรู้ ขณะไร้สติหรือขณะหลับ
ไลบ์นิซแบ่งความจริงออกเป็นสองประเภทคือ ความจริงจากเหตุผล (truth of reason) เขาเห็นว่าเป็นความจริงที่แน่นอนตายตัว เกี่ยวกับความเป็นจริงในโลกภายนอก การปฏิเสธความจริงแห่งเหตุผลจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในตัวเอง (contradiction)
เช่น การปฏิเสธความจริงจากกฎแห่งเอกลักษณ์ (law of identity) ซึ่งใจความโดยสรุปของกฏนี้คือสิ่งทั้งหลายย่อมเท่ากับตัวของมันเอง เช่นการที่เราเป็นเรา หากเราปฏิเสธ ก็เท่ากับกำลังขัดแย้งว่าเราไม่ใช่ตัวเราเอง
และความจริงจากข้อเท็จจริง (truth of fact) เป็นความจริงที่ได้จากประสบการณ์ สามารถปฏิเสธได้โดยไม่นำมาซึ่งความขัดแย้งในตัวเอง ความจริงเช่นนี้ไม่เป็นสากล เป็นจริงได้ด้วยความบังเอิญ และเป็นจริงกับบางสิ่งในความเป็นจริงของโลกภายนอกเท่านั้น
.
ในทัศนะของแอดมิน เหตุผลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริง ขณะเดียวกันประสบการณ์ซึ่งหล่อหลอมเราก็เป็นอีกส่วนที่สามารถทำให้เราเข้าถึงความจริงได้ แม้บางครั้งประสาทสัมผัสจะหลอกลวงเรา แต่ความนึกคิดของเราบอกกับเราได้ว่าเรื่องไหนจริงหรือเท็จ
แนวคิดหรือลัทธิเหตุผลนิยมให้ความสำคัญกับเหตุผลและความรู้ที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดมาก ๆ แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคะ มีความคิดเห็นอย่างไรก็มาพูดคุยกันได้นะคะ
[1] รหัสยนิยม = เป็นลัทธิหรือความเชื่อที่ว่ามีรหัสยภาวะ (mystery) เป็นภาวะความจริงหรือคุณค่าบางอย่าง ซึ่งบุคคลจะรู้ได้ด้วยการใช้ความสามารถพิเศษ เหนือกว่าการรับรู้โดยทั่วไปของมนุษย์ เช่น การเข้าฌาณ การเข้าถึงพระเจ้า
[2] ประพจน์ = ประโยคบอกเล่าที่มีเนื้อหาหรือความหมาย ความหมายของประพจน์รวมไปถึงสมบัติที่บอกได้ว่าเป็นความจริงหรือความเท็จ
[3] สารัตถะ = คุณลักษณะหรือภาวะอันเป็นเนื้อแท้ ซึ่งทำให้สิ่งหนึ่ง ๆ เป็นตัวของตัวเอง แตกต่างจากสิ่งอื่น ๆ
เรียบเรียงโดย แอดมินแพรวา
เครดิตภาพ : แอดมินใบเตย
#เหตุผลนิยม #นักเหตุผลนิยมยุโรป #ปรัชญา #แนวคิด #TheMemoLife
โฆษณา