Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Islamic study
•
ติดตาม
2 พ.ค. 2021 เวลา 00:29 • การศึกษา
เรื่องเล่าจากหมอ เด็กปอเนาะ EP 7
วิชาตะเซาวุฟ
เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ปอเนาะดาลอสมัยนั้น มีนักศึกษาจำนวนมาก นับพันคน ซึ่งเดินทางมาจากหลายๆจังหวัดในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง ทั้งมาเลเซีย กัมพูชา สิงค์โป พม่า เพราะชื่อเสียงที่ร่ำลือด้านวิชาการ แต่สาเหตสำคัญอีกประการหนึ่งที่ข้าพเจ้ามักจะได้ยินจากผู้ที่มาเรียน คือต้องการมาเอาบารอกัต โดยเฉพาะนักศึกษาที่มีความรู้จากปอเนาะอื่นมาแล้ว บางคนก็มาเรียนที่นี่ช่วงเวลาไม่นาน เพื่อเอาบารอกัต และเพื่อจะเตรียมตัวไปเปิดปอเนาะของตัวเอง
พูดถึงคำว่า "บารอกัต" บางท่านได้แปลเป็นภาษาไทยว่า ความจำเริญ หรือมีบางท่านก็ได้แปลว่า ความศิริมงคล ซึ่ง หมายถึง การที่อัลลอฮ์ได้เพิ่มพูนความดีในสิ่งหนึ่ง เช่น คน สถานที่ หรือสิ่งของ เป็นต้น. การที่เราต้องการเอาบารอกัตจากใคร หรือสิ่งใด นั่นก็คือการขอจากอัลลอฮ์ ให้พระองค์ทรงเพิ่มพูนความจำเริญให้กับเรา เหมือนกับที่พระองค์ได้ให้มีความจำเริญกับคนนั้น หรือสิ่งนั้นนั่นเอง ลักษณะของความมีบารอกัต เช่น ความรู้ที่มีบารอกัต ก็คือความรู้ที่มีประโยชน์ต่อผู้ที่มีความรู้นั้น ในการได้นำความรู้ไปปฏิบัติความดีต่างๆ หรือได้สอนผู้อื่นจากความรู้ที่ตนมี ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นด้วย และผู้คนก็อยากจะมาเรียนรู้จากเขา ต่างกันกับความรู้ที่ไม่มีบารอกัต คือมีความรู้แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามความรู้ที่ตนมี ผู้คนก็ไม่อยากมาเรียนด้วย ทั้งๆที่สามารถจะสอนได้ก็ตาม
เรื่องความมีบารอกัต ของวิชาความรู้นี้ เป็นสิ่งที่ผู้เรียนศาสนาถูกเน้นย้ำอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้รับวิชาความรู้ที่มีประโยชน์ต่อตนเองและต่อผู้อื่น ไม่ใช่แต่เพียงร่ำเรียนจนได้วิชาความรู้ แต่ความรู้เหล่านั้นไม่ได้มีประโยชน์ต่อตนเองในอาคิเราะห์เลย ดังนั้น แม้นว่าเราจะมีวิชาความรู้ไม่มากนัก แต่เป็นความรู้ที่มีบารอกัต ความรู้เหล่านั้นก็จะเพิ่มพูนความดีให้กับเรา ด้วยการที่เราได้นำไปฏิบัตินั่นเอง
บาบอการีม และลูกศิษย์
ปอเนาะดาลอ นั้นเป็นที่เลื่องลือ ในเรื่องความมีบารอกัต มาตั้งแต่สมัยของ บาบออับดุลเราะห์มาน บาบอท่านก่อนหน้าจากบาบอฮุเซน ซึ่งมีลูกศิษย์ของท่านมากมายที่ ออกไปเปิดปอเนาะสืบทอดความรู้ ให้แก่สังคมมุสลิมทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ จนมาถึงยุคของบาบอฮุเซน ท่านก็เป็นผู้ที่มีความเลื่องลือในเรื่องของความเคร่งครัด และดำเนินชีวิตตามแนวทางตะเซาวุฟ และการมีมารยาทที่ดีงาม ท่านเป็นแบบอย่างให้กับบรรดาศิษย์ที่มาเรียน เพราะการเรียนระบบปอเนาะนั้น ก็คือการมาเรียนเพื่อรับการถ่ายทอดความรู้จากครู นอกจากความรู้แล้วก็ได้เรียนรู้และซึมซับวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึมซับมารยาทจากการได้สัมผัส การได้ใกล้ชิดกับผู้เป็นครู ได้รับวิชาความรู้ที่มีความบารอกัต สิ่งเหล่านี้เป็นความผูกพันระหว่างครูกับศิษย์ ซึ่งครูนั้นเปรียบเสมือนบิดาแห่งจิตวิญญาณ เป็นผู้ที่ทำให้ศิษย์สามารถยกระดับจิตวิญญาณให้สูงขึ้น ซึ่งแสดงออกด้วยการมีคุณธรรมและมารยาทที่ดีงาม ความผูกพันและความรักที่มีต่อครูนี่เอง ที่ผูกใจให้เด็กปอเนาะสามารถที่จะอดทนเรียนอยู่ได้นาน นับสิบหรือยี่สิบปีหรือมากกว่านั้น ทั้งๆที่เขารู้ดีว่าเรียนปอเนาะนั้นไม่มีใบปริญญา ไม่มีตำแหน่งงาน ไม่มีตำแหน่งทางสังคม ไม่มีเงินเดือน ไม่มีชื่อเสียง รออยู่ข้างหน้าก็ตาม
บาบอฮุเซน
ในปอเนาะดาลอ มีการสอนตำราวิชาตะเซาวุฟ ที่อ่านเป็นวิริด(เมื่อสอนจบเล่ม ก็เริ่มสอนใหม่ ซ้ำๆ) คือ กิตาบมินฮาญุลอาบิดีน ของอิมามฆอซาลีย์ ซึ่งว่าด้วยเรื่องการพยายามปรับสภาพจิต เพื่อยกระดับจิตใจ โดยขจัดลักษณะของจิตใจที่ไม่ดี เช่นความลำพองตน ความหยิ่งยโส ความอิจฉาริษยา ความรักในชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ ยศตำแหน่ง ไปสู่สภาพของจิตใจที่มีคุณธรรมและจริยธรรม มีความถ่อมตน ยินดีต่อสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงกำหนด พอเพียงในสิ่งที่ตนมี มอบหมายการงานทั้งหลายต่ออัลลอฮ์ และมีความบริสุทธิ์ใจ ในการทำความดีทั้งหลาย เป็นต้น โดยตำราเล่มนี้จะทำการสอนช่วงหลังละหมาดอิชาอ์ ควบคู่กับการเรียนตัฟสีร(อรรถาธิบาย)คัมภีร์อัลกุรอ่าน ของทุกคืน และเป็นช่วงเวลาที่เด็กปอเนาะทั้งหมดจะต้องเรียน ดังนั้นเวลาที่เรียนตำราเล่มนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เด็กปอเนาะทั้งหมด จะมารวมกันที่บาลาย บรรยากาศการเรียนในบาลายจึงคึกคักไปด้วยเด็กปอเนาะจากทุกเขต ตอนที่เรียนกับบาบอฮุเซน ท่านจะสอนที่บาลายริมน้ำ ผู้ที่มาเรียนจะนั่งกันเต็มด้านในบาลาย จนล้นออกมานอกระเบียงทุกด้าน ข้าพเจ้าชอบไปนั่งตรงประตูด้านข้างใกล้กับที่บาบอฮุเซนนั่งสอน เพราะได้เห็นหน้าท่าน ได้ยินเสียงท่านชัดดี ต่อมาในสมัยของบาบอการีม ท่านจะออกมาสอนที่บาลายของท่าน ที่เขตปาแด ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง ข้าพเจ้าเริ่มจะเข้าใจตำราเล่มนี้เมื่อได้มาเรียนกับบาบอการีม เพราะท่านบรรยายเป็นภาษามลายู และภาษาไทย พอนานวันเข้า เมื่อฟังภาษามลายูเข้าใจมากขึ้น ทำให้ความเข้าใจในตำราเล่มนี้ก็ยิ่งมากขึ้นไปด้วย
กิตาบมินฮาญุลอาบิดีน
สิ่งที่ประทับใจประการหนึ่ง ในการเรียนตำราเล่มนี้ ก็คือการที่ บาบอการีม มักจะนำคำกล่าว หรือคำอธิบายตำราเล่มนี้ที่ท่านได้รับมาจาก บาบออับดุลเราะห์มาน มาถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ฟัง
ซึ่งข้าพเจ้าจะจดบันทึกเอาไว้ และเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า คำสอนนี้มาจาก บาบออับดุลเราะห์มาน
เพราะการเรียนศาสนานั้น จำต้องมีการถ่ายทอดความรู้จากหัวอกหนึ่งไปยังอีกหัวอกหนึ่ง ก็คือการถ่ายทอดความรู้จากครูสู่ศิษย์ เช่นนี้เรื่อยไป เช่นนี้แหละความรู้จึงจะมีบารอกัต
บาบอการีมเล่าว่า มีคำสั่งเสียจากบาบออับดุลเราะห์มาน ให้อ่านกิตาบมินฮาญุลอาบิดีนนี้ ในปอเนาะดาลอ อย่างต่อเนื่อง อ่านจบแล้วก็เริ่มอ่านใหม่ วนไปเช่นนี้เรื่อยไป เพราะถ้อยคำในตำราเล่มนี้จะเหนี่ยวนำจิตใจของเราให้รำลึกถึงอัลลอฮ์ และปรารถนาที่จะทำความดี เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดพระองค์ ข้าพเจ้าเองเมื่อได้เรียนตำราเล่มนี้ ผ่านการสอนของบาบอการีม ข้าพเจ้ารู้สึกว่าคำสอนเหล่านั้นค่อยๆทำให้จิตใจผูกพันอยู่กับศาสนา และการปฏิบัติความดียิ่งขึ้น แต่เมื่อคราใดที่ไม่ได้เรียนไม่ได้ฟังสักระยะ ความผูกพันเช่นนั้น ก็จะคลายลง จึงต้องรีบกลับมาเรียนใหม่ หรือหาหนทางให้ได้ฟังคำสอนเหล่านั้นอีก ซึ่งเรื่องของการเรียนตำรามินฮาญุลอาบิดีนนี้ บาบออับดุลเราะห์มานได้เคยกล่าวไว้ ซึ่งข้าพเจ้าได้รับฟังจากศิษย์ของศิษย์ของท่านว่า
“เมื่อเราเป็นผู้รู้แล้ว ตอนนั้นจะไม่มีใครกล้าเตือน กล้าสอนเราในสิ่งที่เราผิดพลาด ดังนั้นเราจึงต้องอ่านหนังสือมินฮาญุลอาบิดีนนี้ อยู่ตลอด เพื่อจะเป็นเสมือนครูที่คอยสอนคอยเตือนเรา”
นอกจากนี้บาบอการีม ก็ได้ย้ำเตือนศิษย์ อยู่เสมอว่า ควรจะนำตำรามินฮาญุลอาบิดีน ไปแปล ไปสอนให้ผู้คนทั่วไปได้เรียน เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการขัดเกลาจิตใจ
ปอเนาะ ที่พักอันเรียบง่าย
ครั้งหนึ่งตอนที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาวิชาตะเซาวุฟ จากครูท่านหนึ่งของข้าพเจ้า ท่านได้พูดให้ข้าพจ้าฟังว่า
“ คนที่เรียนวิชาตะเซาวุฟนั้น สิ่งที่รอเขาอยู่ข้างหน้า คือความต่ำต้อยในสายตาของผู้คนทั่วไป เพราะเมื่อเรียนวิชานี้และได้นำไปปฏิบัติแล้ว จะทำให้ไม่ปราถนาการมีชื่อเสียง การมีตำแหน่งมีหน้ามีตา เป็นที่ยอมรับของผู้คน ไม่ปราถนาความร่ำรวย หรือความสบายในการใช้ชีวิต แต่จะเน้นถึงการมีสภาพจิตใจที่บริสุทธิ ไม่มีความอิจฉา ไม่ความโกรธ ไม่มีความยโสดูแคลนผู้ใด มีความพอใจต่อทุกสภาพการณ์ที่ต้องประสบ มีความพอเพียงในสิ่งที่ตนมี และมีความสุขตามสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ ฟังอย่างนี้แล้วยังจะอยากเรียนวิชานี้อยู่มั้ย “
ข้าพเจ้าได้นำสิ่งที่ครูพูดมาครุ่นคิด และได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งใดกันหรือที่ข้าพเจ้าปราถนาในชีวิตนี้ ถ้าข้าพเจ้าดิ้นรนไขว่คว้าสิ่งที่ผู้คนทั่วไปปราถนา ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ทรัพย์สิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน แน่นอนว่าข้าพเจ้าต้องทุ่มเทเวลาในชวิตให้กับสิ่งเหล่านั้น แล้วข้าพเจ้าจะพบความสุขที่แท้จริงของชีวิตหรือ? เมื่อสิ่งเหล่านั้น เมื่อได้มาแล้วก็ยังอยากได้เพิ่มอีกเพราะไม่รู้จักพอ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าความพอเพียงจะเกิดได้ เมื่อเรามีหัวใจที่รู้จักพอ ซึ่งหัวใจเช่นนั้นจะได้มาก็ด้วยการขัดเกลา ดังนั้นข้าพเจ้าก็ได้เริ่มต้นเดินไปในหนทางของวิชาตะเซาวุฟตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา และนับเป็นสิ่งทีดีสำหรับข้าพเจ้า ที่เป็นหมอและได้ใช้ชีวิตแบบเด็กปอเนาะ ซึ่งมีสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้อีกมากมายหลังจากนั้น
1
1 บันทึก
5
10
1
5
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย