2 พ.ค. 2021 เวลา 02:46
‘McDonald’s Theory’ ทริกกระตุ้นให้ทีมออกความคิดเห็น ด้วยการนำเสนอ ‘ไอเดียห่วยๆ’
.
.
ลองนึกภาพว่าคุณกำลังจะไปทานข้าวเที่ยงกับเพื่อนร่วมงานของคุณ แต่คุณก็ต้องเจอกับปัญหาโลกแตกจากคำพูดที่ว่า “กินอะไรดี?” และต่างฝ่ายต่างก็พูดว่า “แล้วแต่เลย” หรือ “อะไรก็ได้” จนไม่ได้เลือกสักที
.
และสิ่งที่ Jon Bell ผู้ที่คิดคำเรียก ‘McDonald’s Theory’ ได้ทำก็คือ..การเสนอว่าไปกิน McDonald’s!
.
แต่แล้วไอเดียร้านอาหารจากเพื่อนร่วมงานแต่ละคนก็พวยพุ่งออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ และลงความเห็นกันว่าพวกเขาไม่อยากที่จะไปกิน McDonald’s เป็นอาหารมื้อเที่ยง และนี่ก็จึงเป็นที่มาของทฤษฎีแมคโดนัลด์นั่นเอง
.
โดยเขาได้นิยามความหมายของ McDonald’s Theory ว่า ‘เป็นการจุดประกายให้คนอื่นๆ หรือตัวเราเองนั้นสามารถคิดและนำเสนอไอเดียดีๆ ด้วยการออกไอเดียแย่ๆ ไปก่อน’ ซึ่งถือว่าเป็นไอเดียที่คาดไม่ถึงอย่างมาก ในการที่จะทลายกำแพงแห่งความคิดและกระตุ้นให้คนอื่นเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา
.
โดย Jon Bell ผู้ที่คิดค้น McDonald’s Theory นี้ขึ้นมาก็ได้นำไปใช้ในชีวิตกับการทำงานของเขาอยู่บ่อยๆ โดยเมื่อมีโปรเจกต์ใหม่เข้ามา แน่นอนว่าการเริ่มคิดไอเดียแรกขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ถ้ามีใครเสนอไอเดียแรกขึ้นมาแล้ว ไอเดียที่สองและไอเดียที่สามก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ซึ่งมันก็จริงอย่างที่เขาพูดกันว่า “ก้าวแรกนั้นยากที่สุด”
.
แนวคิดเช่นนี้ก็เหมือนกับการที่ Ann Lamott นักเขียนชื่อดัง เชื่อในคำว่า ‘ดราฟต์แรกห่วยๆ’ และยังเหมือนกับวลีที่ Nike ชอบใช้อย่าง ‘Just Do It!’ หรือที่แปลว่า ‘จงลงมือทำซะ!’ ในขณะที่ McDonald’s Theory ก็เป็นการบอกให้เรานำเสนอไอเดียแรก (ที่อาจจะดูไม่เข้าท่าสักเท่าไหร่) ที่จะทำให้คนอื่นๆ นั้นทนไม่ไหวจนต้องเสนอไอเดียที่ดีกว่าออกมา
.
ซึ่งทั้ง Anne Lamott, Nike และ McDonald’s Theory ก็ได้พยายามที่จะนำเสนอแนวคิดที่คล้ายคลึงกันว่า ‘ก้าวแรกนั้นไม่ได้ยากเหมือนอย่างที่พวกเราคิดไว้’
.
แน่นอนว่าการเริ่มต้นจะต้องใช้ความกล้าอย่างมาก ในการที่จะก้าวข้ามผ่านความไม่แน่ใจในตัวเอง เพราะคนเราเมื่อคิดไอเดียอะไรได้ ก็ชอบที่จะตั้งคำถามและตัดสินในสิ่งที่เราคิดไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ว่า ‘ไอเดียนี้มันเป็นไอเดียที่โง่เง่าจริงๆ’ หรือ ‘ไอเดียนี้มันไม่น่าจะเวิร์กหรอก’ หรือแม้แต่ ‘เราควรจะไปหาไอเดียอื่นดีกว่า’ ซึ่งถ้าทุกคนคิดเช่นนี้ มันก็คงทำให้เราไม่ได้เริ่มต้นก้าวแรกสักที
.
ทำให้เราจึงต้องก้าวข้ามความวุ่นวายในหัวของตัวเองให้ได้ และจงนั่งลงและเริ่มที่จะเขียนอะไรลงไป วาดอะไรลงไป หรือลงมือทำอะไรสักอย่าง และหลังจากนั้นก็ค่อยๆ แก้ไขและปรับเปลี่ยนมันไปก็ได้ เพราะการที่เราโยนไอเดียแรกลงไป ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยึดมันเป็นไอเดียที่เราจะใช้ แต่เป็นการจุดประกายให้เราสามารถคิดถึงไอเดียอื่นๆ ได้มากขึ้น
.
ดังนั้น หากต้องมีการทำงานร่วมกันในทีมเพื่อคิดโปรโจกต์ใหม่ๆ ก็อย่ารอช้าที่จะไปหยิบปากกามาร์คเกอร์ พร้อมกับเดินไปที่ไวท์บอร์ด และเริ่มที่จะโยนไอเดียอะไรก็ได้เข้าไป ถึงแม้ว่าไอเดียนั้นจะแย่หรือจะห่วยสักเพียงใด แต่นั่นก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่จะทำให้ทุกคนในทีมร่วมกันนำเสนอไอเดียที่ดีกว่าออกมา
.
อย่างไรก็ตาม McDonald’s Theory ก็ไม่ได้ติดอยู่แค่การใช้กับเพื่อนร่วมงานหรือในกลุ่มเพื่อนเท่านั้น แต่ทุกๆ คน ไม่ว่าจะอาชีพใดก็ตาม ก็สามารถที่จะนำทฤษฎีแมคโดนัลด์นี้ไปปรับใช้ได้ในหลากหลายเหตุการณ์ที่เราต้องเผชิญในชีวิต
.
ซึ่งถ้าหากคุณเป็นนักเขียน ก็อาจจะเริ่มลงมือเขียน ถึงแม้ว่าดราฟต์แรกมันจะแย่สักเท่าไร แต่ดราฟต์สองมันจะดีกว่านี้แน่นอน หรือถ้าหากคุณเป็นผู้ประกอบการ ก็อย่าลังเลกับไอเดียของคุณ ลองลงมือจดไอเดียแรกของเราไว้ก่อน อย่าไปรอว่าคุณจะมีไอเดียที่สมบูรณ์แบบทันที หรือแม้แต่ว่า ถ้าหากคุณกำลังหาร้านอาหารกับเพื่อนๆ ก็อาจจะเสนอร้านที่คิดว่าพวกเขาจะไม่ชอบที่สุด ที่จะกระตุ้นให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาจะต้องออกไอเดียที่ดีกว่านี้แล้วล่ะ!
.
.
แปลและเรียบเรียง:
.
#MissionToTheMoonPodcast
6
โฆษณา