2 พ.ค. 2021 เวลา 05:29 • หนังสือ
| Read&Share | หนังสือ 12 Rules for life "12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต"
4
12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต
การใช้ชีวิตนั้นไม่ง่ายเลย มีประสบการณ์มากมายที่เราต้องได้พบเจอทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี หากว่าเราไม่ได้มีหลักในการใช้ชีวิตของตนเองหรือหลักการจัดการชีวิตให้เป็นระเบียบบ้าง เราก็จะพบแต่ความโกลาหลของชีวิต และใช้ชีวิตอย่างสะเปะสะปะ
1
แต่ละคนมีวิธีการใช้ชีวิตที่เป็นของตนเอง แต่บางครั้งค่านิยมของสังคมนั้นมีอิทธิพลต่อชีวิตเราอย่างมากจนทำให้เราลืมตัวตนและการใช้ชีวิตของเราไป เมื่อวันใดเราไม่รู้จะใช้ชีวิตอย่างไร อย่างน้อย ๆ ถ้าหากมี “กฎ” ในการใช้ชีวิตที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้เพื่อช่วยจัดระเบียบชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้บ้างก็คงจะดีไม่น้อย และกฎที่ว่านั้นมันก็มีอยู่จริงในหนังสือเล่มนี้
2
หนังสือ “12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต” เขียนโดย Dr. Jordan B. Peterson เป็นหนังสือแนว how to ที่นำเสนอข้อปฏิบัติ 12 ข้อ ที่จะช่วยให้ชีวิตของเราและคนรอบตีวดีขึ้น โดยหนังสือเล่มนี้จะมีการอ้างอิงเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะมาสนับสนุนกฎต่าง ๆ ว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น ซึ่งมีทั้งงานวิจัย ศาสนา และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน ที่อธิบายได้อย่างลึกซึ้งมาก ๆ
2
ทั้งนี้เราจะได้นำเสนอกฎทั้ง 12 ข้อมาสรุปรวมมาให้ทุกคนได้อ่านกันนะ
หนังสือ: 12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต
ผู้เขียน: Dr. Jordan B. Peterson
ผู้แปล: ธีร์ ทิพกฤต
สำนักพิมพ์: อมรินทร์ฮาวทู
กฎข้อที่ 1 "ยืนให้ตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง"
ล็อบสเตอร์ จะมีการแก่งแย่งแข่งขันกันเพื่อชิงอำนาจในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งตัวผู้ที่แข็งแกร่ง ดูน่าเกรงขามที่สุดจะได้ครองพื้นที่ที่ดีที่สุด ได้อาหารที่ดี มีตัวเมียเข้ามาหาเยอะ ล็อบสเตอร์ที่ชนะมักจะมีแนวโน้มที่จะชนะต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนล็อบสเตอร์ที่แพ้ก็มักจะแพ้ไปตลอดเช่นกัน
นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาลักษณะของล็อบสเตอร์ทั้งสองพบว่า ล็อบสเตอร์อับดับสูง (ชนะบ่อย) จะมีหลังที่ยืดตรงดูน่าเกรงขาม ส่วนล็อบสเตอร์อับดับล่าง (แพ้บ่อย) จะมีหลังที่คดงอดูห่อเหี่ยว
และถึงแม้คนเราไม่ใช่ล็อบสเตอร์แต่ก็มีส่วนที่คล้ายกันนั่นก็คือสารเคมีในสมองที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ควบคุมลักษณะท่าทางและการหนีของล็อบสเตอร์ ล็อบสเตอร์อันดับสูงจะผลิตเซโรโทนินออกมาในปริมาณที่มากกว่าล็อบสเตอร์อันดับล่าง
1
ในทำนองเดียวกัน คนที่อยู่อันดับล่าง มีตำแหน่งที่ต่ำ หรือเป็นคนขี้แพ้ จะมีระดับเซโรโทนินที่หลั่งออกมาจากสมองในปริมาณที่ต่ำ ส่งผลให้มีความมั่นใจที่ลดลง มีความเครียดสูง และรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างยากลำบาก และยังแสดงผลต่อลักษณะภายนอกอีกด้วยนั่นก็คือ จะยืนหลังงอ ท่าทางไม่ค่อยมีความมั่นใจ ไม่สง่า นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กที่มีลักษณะดังกล่าวมักถูกเพื่อน ๆ ที่ตัวใหญ่กว่า มีอำนาจกว่า กลั่นแกล้งและเอาเปรียบอยู่เสมอ
2
แล้วจะทำอย่างไรดีหล่ะ ถ้าเราเป็นคนขี้แพ้ ?
บางทีคุณอาจเป็นคนขี้แพ้ หรือไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ถึงจะใช่คุณก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในบุคลิกนั้นไปตลอด สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ ถ้าคุณทำตัวห่อเหี่ยวไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนกับล็อบสเตอร์ที่พ่ายแพ้ คนอื่น ๆ จะมองว่าคุณมีสถานภาพต่ำ และคุณก็จะถูกกดขี่เอาเปรียบได้ง่าย สมองก็จะหลั่งเซโรโทนินออกมาน้อย คุณวิตกกังวลมากขึ้น เศร้ามากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะหนีในเวลาที่ควรลุกขึ้นสู้
1
ให้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการ “ยืนให้ตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง”
การยืนตัวให้ตรงเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพภายนอกทำให้เราดูมีพลังและน่าเกรงขามมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงภายนอกนั้นจะทำให้ภายในของเราค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย คือสมองเราจะหลั่งเซโรโทนินออกมามากขึ้นเมื่อเรายืนหลังตรง ทำให้เรามีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเอง
2
ดังนั้น เมื่อคุณรู้สึกห่อเหี่ยวหรือเป็นผู้แพ้ อย่ายอมจำนนต่อความรู้สึกนั้น จงลุกขึ้นสู้ และยืนให้ตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง !
กฎข้อที่ 2 "ดูแลตัวเองให้ดี เหมือนเวลาที่ดูแลคนอื่น"
เวลาเราเห็นเพื่อนหกล้มมีแผล เราก็จะถามเพื่อนทันทีว่า “เจ็บไหม ? เป็นอะไรหรือเปล่า ?” และถึงแม้ว่าเพื่อนจะบอกว่า “ไม่เป็นไร” เราก็จะลากเพื่อนไปทำแผลให้ได้และดูแลเป็นพิเศษ แต่เมื่อเป็นตัวเราเองหกล้มมีแผลเราไม่ได้เป็นห่วงตัวเองมากขนาดนั้น เพราะเรารู้ดีว่าไม่เป็นอะไรมากหรอกแผลถลอกนิดเดียวเอง
ในเรื่องของความรู้สึกที่ซับซ้อนกว่าแผลถลอกนั้น เราก็มักจะมีแนวโน้มที่จะเห็นอกเห็นใจคนอื่น เอาใจใส่คนอื่น ทำให้คนอื่นมีความสุข มากกว่าที่เราทำให้ตัวเองเสียอีก (โดยเฉพาะคนที่เราแคร์หรือบางทีก็เป็นสัตว์เลี้ยง) นั่นอาจเป็นเพราะว่ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ถ้าหากปราศจากคนอื่น ซึ่งการที่เราเอาใจใส่คนอื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเอาใจใส่คนอื่นมากจนเกินไปจนลืมเอาใจใส่ตัวเองนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย
หากเราดูแลคนอื่นดีแต่ไม่ดูแลตัวเองบ้าง ตัวเราจะเป็นยังไงก็ช่าง ถ้าคนอื่นได้ดีเราก็มีความสุขแล้ว นั่นก็เหมือนว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่น และการที่เรามีความสุขไม่ได้หมายความว่าเราจะได้รับสิ่งที่ดี เพราะคำว่า “สุข” และ “ดี” ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน บางสิ่งอาจจะทำให้เราสุขแต่อาจจะไม่ดีต่อตัวเราก็ได้
2
ดังนั้น อย่าเลือกทำแค่สิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข แต่ต้องทำในสิ่งที่ตัวเองได้ดีด้วย ถ้าคุณดูแลคนอื่นได้ดี ก็แค่เริ่มต้นด้วยการ ดูแลตัวเองให้ดี เหมือนเวลาที่ดูแลคนอื่น
กฎข้อที่ 3 "จงคบหาคนที่อยากให้คุณได้ดี"
ถ้าคุณมีเพื่อนที่คุณไม่อยากจะแนะนำให้ครอบครัวหรือคนที่คุณรักรู้จัก แล้วทำไมคุณยังจะคบกับเขาอยู่อีก เมื่อคุณรู้ดีว่าเพื่อนคนนั้นจะทำให้ชีวิตคุณแย่ลง ทำไมคุณไม่เลิกคบเขาไปล่ะ ? นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าเขาเป็นเพื่อน และคุณเป็นคนซื่อสัตย์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อชีวิตคุณ
1
การคบหากับคนที่ไม่ได้อยากให้คุณได้ดี พวกเขามักจะทำให้ชีวิตคุณแย่ลง
ไม่สนับสนุนเมื่อคุณประสบความสำเร็จ และจะฉุดรั้งคุณไว้ไม่ให้ไปไกลกว่าพวกเขา ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ที่คุณเลือกที่จะถอยห่างคนพวกนี้
แต่เป็นสิ่งที่ดีกว่าถ้ามันจะทำให้ชีวิตคุณก้าวไปข้างหน้า
และแน่นอนว่าไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ เพื่อนของคุณบางคนอาจจะดีและก็มีบางมุมที่ไม่ดี (คุณก็เช่นกัน) ดังนั้น คุณควรจะชั่งน้ำหนักว่าคนที่คุณกำลังคบอยู่จะทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนแปลงไปทางใดมากกว่ากัน แล้วจึงตัดสินใจว่าจะคบหรือเลิกคบ (ซึ่งบางครั้งต้องใช้เวลา แต่ว่าคุ้มค่าแน่นอน)
คุณควรเลือกคบคนที่อยากให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น การเลือกคนที่ดีต่อตัวเองเป็นสิ่งที่ดี หากคุณอยู่ในแวดวงของคนที่อยากให้คุณได้ดี พวกเขาจะส่งเสริมคุณเมื่อคุณทำสิ่งที่ดี และจะตำหนิคุณเมื่อคุณทำสิ่งที่ไม่ดี
1
การคบคนที่อยากให้คุณได้ดีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคุณต้องมีความเข้มแข็งและความกล้ามากพอที่จะอยู่เคียงข้างคนแบบนั้น เพราะบางทีคุณจำเป็นต้องเปลี่ยนค่านิยมบางอย่างที่ไม่ดีของคุณให้เป็นค่านิยมใหม่ที่ดีขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากคนที่คุณคบหา และมันอาจทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวดในตอนแรกที่ต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่นั่นเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก
1
ถ้าคุณมีเพื่อน 100 คน แต่มีเพียงคนเดียวที่อยากให้คุณได้ดี ก็จงเลือกคบคนคนนั้นไว้ เพราะการเลือกคบคนดี 1 คนอาจทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างที่คุณคาดไม่ถึง
ดังนั้น จงคบหาคนที่อยากให้คุณได้ดี แล้วชีวิตของคุณก็จะมีแต่เรื่องดี ๆ
กฎข้อที่ 4 "เปรียบเทียบตัวคุณกับคนที่คุณเป็นในอดีต ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นเป็นในวันนี้"
ถ้าคุณต้องเลือกทำงานระหว่างงาน A ที่คุณได้เงินเดือน 25,000 ส่วนเพื่อนคุณได้เงินเดือน 20,000 กับ งาน B ที่คุณได้เงินเดิอน 30,000 ส่วนเพื่อนคุณได้เงินเดือน 50,000 คุณจะเลือกทำงานไหน ? หากคุณเลือกงาน A คุณอาจจะได้เงินเดือนน้อย แต่คุณจะได้มากกว่าเพื่อนของคุณ หากคุณเลือกงาน B คุณจะได้เงินเดือนมากกว่าเดิมแต่คุณจะได้น้อยกว่าเพื่อนของคุณ
เป็นเรื่องปกติที่คนเรามักมีความรู้สึกต้องการอยู่เหนือกว่าคนอื่น (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่) เพราะนั่นเป็นการกำหนดลำดับขั้นทางสังคมให้กับตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการอยู่รอดในสังคม โดยหากเราไปเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าเราก็จะทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า แต่เมื่อเราไปเปรียบเทียบกับคนที่เก่งกว่าเราก็จะทำให้เรารู้สึกด้อยค่าขึ้นมา
2
สิ่งที่เราคิดว่าเราเก่งกว่าคนอื่น ก็มักจะมีคนที่เก่งกว่าเราในเรื่องนั้น ๆ อีกเสมอ เหมือนสุภาษิตที่ว่า “เหนือฟ้ายังมีฟ้า” และนั่นเป็นความจริง
1
ไม่ว่าเราจะทำบางอย่างเก่งสักแค่ไหน หรือประสบความสำเร็จขนาดไหน ก็ยังมีคนที่ทำให้เรารู้สึกด้อยลงได้อยู่ดี หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เราไม่ได้เก่งที่สุดในอะไรเลย หรือหากเราเก่งที่สุดในตอนนี้อนาคตก็จะมีคนที่เก่งกว่าเราอีกจนเราเทียบไม่ติดอย่างแน่นอน
1
หากจะมีคนอื่นที่เก่งกว่าเรา แล้วยังไงกันล่ะ ? นั่นเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก. คนที่ประสบความสำเร็จได้ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง และไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุดหรือเก่งกว่าคนอื่น แต่ที่พวกเขาเก่งก็เพราะว่าพวกเขาไม่ได้กังวลว่าคนอื่นจะเก่งกว่าหรือยังไง เพียงแต่พวกเขามุ่งที่จะพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น หรือก็คือ พวกเขาไม่ได้เปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น แต่เปรียบเทียบตนเองในวันนี้กับตนเองในอดีตว่าพัฒนาขึ้นหรือเปล่า
3
ไม่ต้องกังวลหรอกหากเพื่อน ๆ ของคุณจะเก่งกว่าคุณขนาดไหน ต้นทุนชีวิตคนเราไม่เท่ากัน ประสบการณ์ของเราแตกต่างกัน เกมชีวิตของคุณเป็นของคุณคนเดียว และไม่จำเป็นจะต้องไปแข่งกับคนอื่น ดังนั้น จงเปรียบเทียบตัวคุณกับคนที่คุณเป็นในอดีต ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นเป็นในวันนี้ แล้วชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น
2
กฎข้อที่ 5 "อย่าให้ลูกของคุณทำสิ่งใดที่จะทำให้คุณไม่ชอบพวกเขา"
เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว ? จริง ๆ แล้วอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าหากเด็กเกิดมาแล้วไม่ได้รับการอบรมบ่มเพาะที่เหมาะสมพวกเขาก็จะแสดงพฤติกรรม ความก้าวร้าว ความเห็นแก่ตัว และนิสัยที่ดิบเถื่อนซึ่งจำเป็นต่อการอยู่รอดของมนุษย์ และในที่สุดพวกเขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่เกเร
เด็กที่เกิดมาทุกคนควรได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่อย่างอบอุ่นและถูกต้อง พ่อแม่นั้นเปรียบเหมือนโลกสมมติของเด็กก่อนที่พวกเขาจะได้พบกับโลกจริง ๆ ถ้าหากพ่อแม่เลี้ยงดูลูกได้อย่างเหมาะสม คือสนับสนุนพฤติกรรมที่ดี และลงโทษหรือคอยปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย เด็กก็จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
ถ้าหากพ่อแม่ที่เอาใจลูกเสมอไม่ว่าพวกเขาจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาก็ไม่ถูกว่ากล่าว นั่นจะทำให้พวกเขาแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เมื่อโตขึ้นก็จะทำพฤติกรรมนั้นอีกเพราะคิดว่าทำได้ และนั่นก็มักจะมีปัญหาใหญ่ตามมา มากไปกว่านั้นหากไม่อบรมดูแลลูก ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อโตขึ้นพวกเขาจะเริ่มต่อต้านพ่อแม่ และการกำจัดนิสัยที่ไม่ดีก็จะยากขึ้น สุดท้ายแล้วพวกเขาก็จะกลายเป็คนที่พ่อแม่เกลียด แต่ถึงยังไงพวกเขาก็ยังเป็นลูกอยู่ดี ทำให้ครอบครัวต้องทนอยู่กับความขมขื่น
6
อย่ารักลูกของคุณในทางที่ผิด จงกล้าที่จะต่อว่าพวกเขาบ้างเมื่อพวกเขาแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่อย่างนั้นคนอื่นที่รักลูกของคุณน้อยกว่าคุณจะต่อว่าลูกคุณแทนให้ ดังน้ัน อย่าให้ลูกของคุณทำสิ่งใดที่จะทำให้คุณไม่ชอบพวกเขา
2
กฎข้อที่ 6 "ดูแลบ้านของคุณให้เรียบร้อยก่อนที่จะวิจารณ์โลก"
เราไม่ควรที่จะไปวิจารณ์บ้านคนอื่นว่าสกปรกหรือไปให้คำแนะนำว่าควรทำความสะอาดบ้านบ้างนะ เมื่อบ้านของเราก็ยังไม่เคยทำความสะอาดเลย
2
ตาของเราสามารถมองเห็นสิ่งรอบตัวได้ชัดเจนกว่าตัวเอง บางครั้งคนเราจึงมักไปตัดสินหรือวิจารณ์พฤติกรรมของคนอื่น แต่ไม่เคยที่จะตระหนักถึงพฤติกรรมของตัวเองบ้างเลย คนที่ชอบวิจารณ์คนอื่นจะเป็นคนที่ เมื่อคนอื่นทำผิดจะมองเห็นแต่เมื่อตัวเองทำผิดจะมองข้าม (เลือกที่จะมองไม่เห็น) แล้วกล่าวโทษสิ่งต่าง ๆ แทน
2
“ถ้าหากคุณยังไม่สามารถสร้างสันติสุขในบ้านของคุณได้ คุณกล้าดียังไงที่จะไปปกครองเมือง” การวิจารณ์มั่ว ๆ นั้นเป็นเพียงการแสดงปมด้อยในตัวเองให้คนอื่นฟัง ดังนั้น อย่าเพิ่งกล่าวโทษสังคม สถานการณ์ หรือคนอื่น ๆ จนกว่าคุณจะจัดระเบียบความคิดประสบการณ์ของคุณให้ดีก่อน และเมื่อความคิดของคุณเป็นระเบียบ คุณก็จะมีวิจารณญาณที่ดีขึ้น สามารถมองโลกอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเมื่อคุณจะต้องวิจารณ์คนอื่นคุณจะรู้ว่าต้องวิจารณ์อย่างไร
เมื่อบ้านของคุณสะอาดดี สงบสุขดี เป็นระเบียบดี เมื่อนั้นคุณก็สามารถให้คำแนะนำการจัดบ้านที่ดีแก่คนอื่นได้
จงดูแลบ้านของคุณให้เรียบร้อยก่อนที่จะวิจารณ์โลก
กฎข้อที่ 7 "ทำสิ่งที่มีความหมาย ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายทันใจ"
การกินของหวานอร่อย ๆ เรามักจะได้รับความพึงพอใจอย่างรวดเร็ว แต่การออกกำลังกายนอกจากจะเหนื่อยแล้ว กว่าจะได้หุ่นสวย ๆ ดี ๆ ก็ใช้เวลาเป็นเดือน ๆ แต่ว่าถ้ามองในระยะยาวนั้นประโยชน์ที่ได้รับจากการออกกำลังกายนั้นมีมากกว่าการกินของหวานแน่นอน
การทำสิ่งที่ง่ายแล้วได้ผลลัพธิ์ทันทีทันใดมักเป็นสิ่งที่ยั่วยวนสมองของเราให้อยากทำมากกว่าสิ่งที่ต้องใช้เวลาและความพยายามในการทำและผลลัพธิ์ต้องรอนานกว่าจะเห็นผล หรือก็คือสมองของเราชอบสิ่งที่ง่ายและเร็ว มากกว่าสิ่งที่ยากและนาน
สิ่งที่เราได้มาง่าย ๆ ก็มักจะเสียไปได้ง่าย ๆ เช่นกัน และมักจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีความหมายต่อชีวิตของเรามากนัก แต่สิ่งที่เราต้องใช้ความพยายามกว่าจะได้มา มักจะเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตเรา และเป็นสิ่งที่ทำให้เราภาคภูมิใจในตนเอง
เวลาของเรามีจำกัด เราจึงควรต้องโฟกัสในการทำสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตเราให้มากขึ้น และไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่ได้มีความหมายต่อเรา เมื่อตอนเราแก่จะได้ไม่ต้องมานั่ง.เสียใจหรือเสียดายภายหลัง ดังนั้น จงทำสิ่งที่มีความหมาย ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายทันใจ
กฎข้อที่ 8 "จงพูดความจริงหรืออย่างน้อยก็ไม่โกหก"
การพูดความจริงนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ความจริงนั้นก็มักทำให้เราหรือคนอื่นเจ็บปวดที่จะต้องยอมรับมัน บางครั้งเราจึง “โกหก” หรือบิดเบือนความเป็นจริงนั้น ๆ ไป เพื่อให้เราหรือคนอื่นรู้สึกสบายใจมากกว่า ซึ่งการโกหกอาจจะทำให้รู้สึกดีหรือทำให้สามารถหลีกหนีปัญหาบางอย่างได้ก็จริง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าการโกหกจะเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป และการโกหกเล็ก ๆ หลาย ๆ ครั้ง ก็อาจจะนำพาความหายนะมาได้โดยไม่รู้ตัว
คนที่ใช้ชีวิตด้วยการโกหกจะพยายามควบคุมบงการความเป็นจริงด้วยการรับรู้ ความคิด และการกระทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธิ์ที่ตนเองต้องการ การใช้ชีวิตแบบนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานสองข้อ คือ
1.) ความรู้ปัจจุบันที่ฉันมีเพียงพอแล้วที่จะกำหนดว่าอะไรดีอย่างไม่อาจเถียงได้ไปจนถึงอนาคต
1
2.) ความเป็นจริงจะแย่จนไม่อาจยอมรับได้หากว่าฉันไม่ลงมือทำอะไรเลย
การโกหกนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่เป็นการหนีปัญหาต่างหาก! และการโกหกซ้ำ ๆ นั้นส่งผลให้สมองของเราจดจำพฤติกรรมการโกหกไว้ ซึ่งทำให้การโกหกกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกของเราไปโดยไม่รู้ตัว
ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เราตื่นสายแล้วเพื่อนโทรมาตามสมองของเราจะประมวลผลอย่างรวดเร็วเพื่อแต่งเรื่องราวต่าง ๆ ที่ดูสมเหตุสมผลขึ้นมาเพื่อโกหกเพื่อนไปว่า ป่วย ปวดหัว ท้องเสีย เราจะได้ไม่ถูกตำหนิ และบางครั้งเราก็เชื่อว่าเรามีอาการดังกล่าวจริง ๆ พร้อมมีเหตุผลมากมายมาสนับสนุนให้มันกลายเป็นเรื่องจริง ทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่ใช่ความจริงเลยซักอย่าง
3
“เหตุผล” เป็นเครื่องมืออันทรงพลังอย่างยิ่งต่อความคิด ความเชื่อ แต่มันก็มีข้อเสียคือมัน “หลงตัวเอง” การที่เรามีเหตุผลต่อเรื่องต่าง ๆ นั้นมันทำให้เราเชื่อว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้อง เพียงเพราะเรามีเหตุผล และคนที่หลงไปกับพลังของเหตุผลของตัวเองนั้นมักจะไม่รับฟังเหตุผลของคนอื่น ดังนั้นเราจึงเห็นคนที่มีปัญหากันเนื่องจากมีความคิด ความเชื่อ หรือเหตุผลที่ต่างกัน
1
สิ่งเดียวที่เป็นกลางและสิ่งเดียวที่จะสามารถนำมาแก้ปัญหาได้ก็คือ “การพูดความจริง” ที่เป็นความจริง ไม่ใช่สิ่งที่คิดว่าเป็นความจริง
1
ความจริงเป็นสิ่งที่เรียบง่าย การที่เราพูดความจริงออกมาจะเป็นการคลายปมความซับซ้อนของความคิดออก ความจริงนั้นชัดเจน เด็ดขาด ถ้าหากคุณพบกับสถานการณ์ที่ทำให้ลำบากใจที่จะต้องโกหก ก็แค่ให้พูดความจริงออกมา พูดออกมาจากหัวใจ ไม่ต้องกังวลว่าคนที่รับฟังอาจจะรู้สึกแย่ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นสิ่งยอมรับได้ ดีกว่าต้องโกหกแล้วสร้างกำแพงของความสัมพันธ์อันมัวหมองขึ้นมา
1
ดังนั้น จงพูดความจริง หรืออย่างน้อยก็ไม่โกหก แล้วโลกของเราจะดีขึ้น
1
กฎข้อที่ 9 "สงสัยไว้ก่อนว่าคนที่คุณกำลังฟังอาจรู้บางสิ่งที่คุณไม่รู้"
การพูดนั้นเป็นการนำเสนอประสบการณ์ แนวคิด ของตนเองให้ผู้อื่นฟัง ซึ่งคนที่พูดเก่งก็จะพูดได้อย่างลื่นไหล โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่ตนเองเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์อันโชกโชนมาก่อน ก็มักจะอยากเล่าให้คนอื่นฟัง แต่หลายครั้งที่คนช่างพูดไม่ค่อยช่างฟังเท่าไหร่ เมื่อได้ฟังคนอื่นพูด อยู่ ๆ ก็รู้สึกคันปากขึ้นมาจนห้ามใจไม่ให้พูดแทรกได้ยาก โดยเฉพาะถ้าผู้พูดมีความเห็นต่างจากเราแล้วล่ะก็...สมองก็มักจะปิดกั้นการรับรู้ แล้วรอพูดสวนทันทีถ้าได้จังหวะงาม ๆ และนั่นอาจจะทำให้เราพลาดอะไรบางอย่างไป
1
คนเราพูดเก่งกว่าฟัง เพราะเราพูดกันอยู่ทุกวัน (พูดกับตัวเองในหัว) รวมถึงมีคนที่สอนเทคนิควิธีการพูดมากมาย แต่ไม่ค่อยมีใครได้สอนเทคนิควิธีการฟังมากนัก ทำให้บางครั้งคนที่เรากำลังพูดด้วยทำท่าทีว่าฟังเราอยู่ แต่เมื่อเราพูดจบเขาก็พูดสิ่งที่เขาคิดออกมาแทนโดยไม่ทันจะพิจารณาหรือประมวลผลสิ่งที่เราพูดเลย (ทั้ง ๆ ที่บางครั้งก็เป็นเรื่องเดียวกัน) และหลายครั้งปัญหาไม่ได้เกิดจากการพูดแต่เกิดจากการไม่ฟังต่างหาก
1
การฟังนั้นยาก เพราะว่าเมื่อเราฟังจะเป็นการเปิดประตูยอมให้แนวคิด ทัศนคติ ที่มาจากผู้พูดเข้ามาในสมองเรา ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและทัศนคติของเรา (มนุษย์กลัวการเปลี่ยนแปลง) การฟังอาจทำให้สิ่งที่เราเชื่ออยู่สั่นคลอน สิ่งที่เราคิดว่าถูกต้องอาจจะไม่ถูกต้องอีกต่อไป ดังนั้น หากผู้พูดไม่ใช่คนที่เรายอมให้ความคิดเขามีอิทธิพลต่อเราก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะรับฟังคน ๆ นั้นได้อย่างแท้จริง (ลองคิดดูตอนเรากำลังฟังคนที่เราไม่ชอบพูดหรือแนะนำอะไรสักอย่างให้เราฟังสิ)
มีเทคนิคอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราฟังได้ดียิ่งขึ้น นั่นก็คือให้เราจับใจความเรื่องที่ฟังแล้วพูดทวนในสิ่งที่ฟังมาตามที่เราเข้าใจให้ผู้พูดฟังว่าตรงกับสิ่งที่เขาจะสื่อหรือไม่ เทคนิคนี้จะช่วยให้เราได้ทบทวนเนื้อหาที่ฟังมาอย่างรอบคอบและถ้าหากขาดตกบกพร่องส่วนไหน ผู้พูดจะช่วยเสริมให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้น ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจไปในทางเดียวกัน การกระทำเช่นนี้ยังช่วยลดการโต้เถียงที่ไร้สาระได้ด้วย เมื่อเราทวนสิ่งที่คู่กรณีพูดมาให้เขาฟัง เขาจะได้พิจารณาคำพูดของตัวเองซ้ำและบางทีเขาก็อาจจะนึกขึ้นได้ว่าตนเองบกพร่องในการสื่อสารส่วนไหนบ้าง การโต้เถียงจะดูเบาลงและเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น
1
คนเราไม่จำเป็นต้องฟังคนอื่นเลยถ้าหากเราเป็นคนที่สมบูรณ์แบบและความรู้ประสบการณ์ทุกอย่างที่เรามีนั้นเพียงพอต่อการใช้ชีวิตบนโลกอย่างมีความสุข แต่มนุษย์นั้นไม่มีใครสมบูรณ์แบบ และความรู้ประสบการณ์ในโลกนี้มากมายนักกว่าที่เราจะเข้าใจได้ทั้งหมด การรับฟังผู้อื่น ไม่ว่าใครก็ตาม อาจทำให้เราได้รู้อะไรบางอย่างที่เราไม่รู้ การฟังเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเพราะอาจทำให้เราฉลาดขึ้น (ซักนิดนึงก็ยังดี) และเราก็จะไม่ต้องยึดติดกับความรู้ประสบการณ์เดิม ๆ อีกต่อไป
1
ดังนั้น สงสัยไว้ก่อนว่าคนที่คุณกำลังฟังอาจรู้บางสิ่งที่คุณไม่รู้ และบางสิ่งนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคุณก็เป็นได้
กฎข้อที่ 10 "จงพูดอะไรให้ชัดเจน"
เด็กหญิงสังเกตเห็นมังกรตัวเล็กเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน จึงบอกคุณแม่ไปว่า “แม่คะ….มีมังกรอยู่ในบ้านเรา” คุณแม่บอกกับเด็กหญิงไปว่า “ไม่มีมังกรหรอก นั่นมันเป็นแค่แมวเท่านั้นแหล่ะ” เมื่อเวลาผ่านไปมังกรเริ่มตัวใหญ่ขึ้น เด็กหญิงจึงบอกกับคุณแม่อีกครั้งว่า “แม่คะ...มีมังกรอยู่ในบ้านเรา” คุณแม่ก็ยังตอบกลับเด็กหญิงไปว่า “ไม่มีมังกรหรอก นั่นมันเป็นแค่แมวที่ตัวใหญ่ขึ้นเท่านั้นแหล่ะ” เมื่อเวลาผ่านไปอีกจนกระทั่งมังกรตัวใหญ่มากจนมันบินเอาบ้านทั้งหลังขึ้นไปบนฟ้า ลูกสาวบอกคุณแม่ว่า “แม่คะ...บ้านเราอยู่บนหลังมังกรแล้ว มันมีมังกรจริง ๆ นะคะ” คุณแม่จึงตอบกลับไปว่า “ใช่แล้วจ้ะ...มีมังกรอยู่จริง ๆ แล้วมันก็มีอยู่มาตลอด” จากนั้นมังกรก็หดตัวเล็กลงเท่าลูกแมวอีกครั้ง คุณแม่จึงถามว่า “ทำไมมังกรมันถึงทำตัวมันให้โตขึ้นขนาดนั้นกันนะ” เด็กหญิงจึงตอบไปว่า “บางทีมันแค่อาจจะอยากให้ใครซักคนมองเห็นมันเท่านั้นเอง”
2
บางครั้งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาเรารับรู้ว่าเกิดปัญหาขึ้นแต่กลับทำเป็นมองไม่เห็นมัน ไม่พูดถึงมัน จนกระทั่งปัญหานั้นใหญ่ขึ้น ชัดเจนขึ้น และมันก็จะแสดงออกมาในรูปแบบที่เราอาจจะคาดไม่ถึงแล้วไม่ทันตั้งตัว เหมือนมังกรที่อยู่ในบ้านมาเสมอแต่เมื่อเราไม่มองมันอย่างชัดเจนหรือตั้งใจที่จะไม่มองอย่างชัดเจนมันก็พร้อมที่จะทำลายล้างเมื่อตอนที่เราอ่อนแอ
1
เมื่อเราได้ยินเสียงประหลาดในป่าตอนกลางคืน มันอาจเป็นเสือ สิงโต หรือกระรอก ถ้าหากเราไม่ไปมองดูมันอย่างชัดเจนแล้วล่ะก็ มันจะเป็นอะไรก็ได้และเรามักจะคิดว่ามันเป็นเสือหรือสิงโต ซึ่งจริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นแค่กระรอกเท่านั้นเอง
สิ่งที่ไม่ชัดเจนหมายความว่ามันไม่ใช่แค่สิ่งเดียว มันคือหลายสิ่ง และหลายสิ่งนั้นมากเกินไปสำหรับเรา เมื่อเราพูดอะไรที่ไม่ชัดเจน คนอื่นก็จะสามารถตีความสิ่งที่เราพูดได้หลายอย่างซึ่งอาจจะไม่ตรงตามสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารออกไป และปัญหาก็มักเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ในทำนองเดียวกันการพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจะเป็นการบอกว่ามีมังกรอยู่ในบ้านและเราก็จะสามารถจัดการปัญหานั้นได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าหากไม่บอกปัญหาอย่างชัดเจนในที่สุดปัญหานั้นก็จะพยายามให้ตัวมันชัดเจนในรูปแบบที่อาจจะสายเกินแก้ เหมือนกับมังกรที่ทำตัวใหญ่ขึ้นเพื่อให้คนมองเห็นมัน
1
ดังนั้น ต้องระบุปัญหาให้ชัดเจน ตรงจุด แล้วสื่อสารให้ถูกต้อง อย่าปัดเศษฝุ่นไว้ใต้พรม อย่าทำเป็นมองไม่เห็นมังกรที่อยู่ในบ้าน จงพูดมันออกมา อย่ารอให้สายเกินไป จงพูดอะไรให้ชัดเจน
กฎข้อที่ 11 "อย่าไปยุ่งเวลาที่เด็ก ๆ กำลังเล่นสเกตบอร์ด"
เด็ก ๆ มักจะชอบเล่นอะไรที่ผาดโผน ท้าทาย และบางครั้งก็อาจจะทำให้บาดเจ็บได้ แต่ว่านั่นก็ไม่ได้เสี่ยงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต ยกตัวอย่างเช่น การเล่นสเกตบอร์ด ที่เด็ก ๆ มักจะล้มทุกครั้งเมื่อเริ่มเล่น และมักจะได้แผลถลอกกลับบ้านเสมอ แต่การเล่นธรรมดา ๆ ทั่วไปยังไม่เร้าใจพอ พวกเขาจึงไปเล่นในที่อันตรายมากขึ้น เช่น ราวบันได หรือเล่นท่าที่ไม่ธรรมดา จนทำให้บางครั้งอาจล้มจนต้องเข้าเฝือกกันได้เลย
2
ผู้ใหญ่ที่เห็นเด็กเล่นอะไรที่อันตรายก็มักจะเข้าไปห้ามปรามโดยไม่ให้พวกเขาเล่นแบบนั้นอีก หรือแม้กระทั่งไปสร้างสิ่งกีดขวาง ทำลายพื้นที่การละเล่นอันเร้าใจของเด็ก ๆ จนเหลือเพียงพื้นที่ที่ปลอดภัย ไม่ก็สร้างกฎระเบียบเคร่งครัดต่าง ๆ นานา เพื่อกีดกันไม่ให้พวกเขาได้พบเจออันตราย
ทะเลที่สงบนิ่งย่อมไม่ขัดเกลาความสามารถของลูกเรือได้ เช่นเดียวกัน ถ้าเด็ก ๆ อยู่ในการควบคุมดูแลที่ปลอดภัยเกินไป พวกเขาก็จะขาดประสบการณ์ที่จะเผชิญกับอันตรายหรือปัญหาที่ร้ายแรง ไม่มีเด็กคนไหนวิ่งแล้วไม่เคยหกล้ม และถ้าพวกเขาไม่เคยหกล้มพวกเขาก็จะวิ่งไม่เป็น ถ้าหากปล่อยให้เด็ก ๆ ได้แต่ปั่นจักรยานสี่ล้อที่ไม่มีวันล้ม พวกเขาก็ไม่มีทางปั่นจักรยานสองล้อได้
1
การพบเจอกับความเจ็บปวด ความท้าทาย และการก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง นั้นจะขัดเกลานิสัย ความสามารถให้คนคนนั้นแข็งเกร่งขึ้น เก่งขึ้น แต่ในทางกลับกันถ้าหากอยู่แต่ในพื้นที่ปลอดภัยคนคนนั้นก็จะอ่อนแอ ไร้เดียงสา และไร้ความสามารถในที่สุด เพราะโลกนี้มีปัญหามากมาย อันตรายมากมาย ที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน ดังนั้นอย่าเอาความกลัวของเราไปจำกัดความสามารถของคนอื่น
1
ปล่อยให้เด็ก ๆ ได้เผชิญกับความกลัว ความท้าทาย ความเจ็บปวดบ้างในแบบของพวกเขา ถ้าหากความเสี่ยงนั้นไม่ได้มากมายจนเกินไป โดยหน้าที่ของผู้ใหญ่ก็เพียงสอดส่องดูแลและไม่ควรเข้าไปยุ่งหากไม่จำเป็น (ต้องใช้วิจารณญาณและวุฒิภาวะในการพิจารณา) ดังนั้นก็แค่ อย่าไปยุ่งเวลาที่เด็ก ๆ กำลังเล่นสเกตบอร์ด แล้วพวกเขาจะเรียนรู้เองว่าอย่าเล่นจนต้องมีอะไรหัก
กฎข้อที่ 12 "หยุดเพื่อลูบแมวที่คุณเจอตามถนนบ้าง"
ในหนึ่งวันของเรานั้นเรามักจะพบทั้งความสุขและความทุกข์ปะปนกันไป แต่มันก็จะมีช่วงเวลาที่เราพบกับความทุกข์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนั่นอาจทำให้ชีวิตเราหดหู่ อ่อนแอ เครียด ไปซะหมด
และเมื่อเรารู้สึกเหนื่อยกับชีวิต มองอะไรก็มืดแปดด้าน นั่นเป็นเพราะว่าเราเลือกที่จะมองแต่ด้านที่มืด และความทุกข์ก็บดบังแสงสว่างจนทำให้เรามองไม่เห็น แต่เชื่อเถอะว่าในวันที่แย่ที่สุดก็ยังมีสิ่งดี ๆ มากมายรอให้เราไปสัมผัส เพียงแต่เราต้องสังเกตให้เห็นเท่านั้นเอง
ความสุขนั้นอยู่ที่ปัจจุบัน การที่เราเป็นทุกข์มักเกิดจากสมองของเราไปกังวลกับอดีตที่ผ่านมาหรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง จนทำให้เราลืมที่จะจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน แล้วเมื่อความสุขผ่านมาเราจะเห็นมันได้อย่างไรเล่า บางทีในวันที่แย่ ความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะมาในรูปแบบของการสังเกตเห็นเด็ก ๆ ที่มีความสุขจากการแต่งชุดคอสเพลย์ดาบพิฆาตอสูร หรืออาจเป็นแมวข้างถนน ที่เดินมาอ้อนขอเศษอาหารหรือขอเพียงให้เราลูบหัวมัน
การที่จะก้าวข้ามความยากลำบากในวันที่แย่ได้ก็ต้องหัดจดจ่ออยู่กับปัจจุบันบ้าง บางทีโลกอาจจะไม่ได้เลวร้าวไปซะหมด ยังมีสิ่งดี ๆ รอบตัวอยู่เสมอถ้าเราตั้งใจที่จะมองเห็นมัน ดังนั้น อย่ามัวแต่เดินก้มหน้าก้มตา อย่าจมไปกับอดีต และอย่ากังวลกับอนาคตมากเกินไป อยู่กับปัจจุบัน...ในวันที่แย่ก็ยังมีสิ่งดี ๆ รอคุณอยู่ หยุดเพื่อลูบแมวที่คุณพบเจอตามถนนบ้าง
1
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา ถ้าหากมีข้อแนะนำหรืออยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็สามารถคอมเมนต์มาได้เลย :)
สามารถติดตามเราเพิ่มเติมได้จาก
Facebook Page:
โฆษณา