2 พ.ค. 2021 เวลา 09:43 • การเมือง
“สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม” ย้อนอดีตขบวนการแรงงานยุคแรกของไทย
1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล หรือที่เรียกกันว่า “May Day”
ความสำคัญของวันนี้ก็คือ การเฉลิมฉลองให้กับผู้ใช้แรงงานทุกคน ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม เป็นผู้รังสรรค์และเป็นฟันเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้ก้าวเดินต่อไปมาทุกยุคทุกสมัย
สวัสดิการต่างๆ ที่แรงงานยุคใหม่อย่างเราๆ ได้รับกัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าจ้างที่เป็นธรรม วันหยุด การจำกัดชั่วโมงทำงาน หรือเงินชดเชยต่างๆ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในอดีต วันแรงงานจึงมีนัยยะที่สะท้อนให้เห็นพลังทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมทางชนชั้นที่ผ่านมา
 
วันหยุดวันแรงงานปีนี้ นอกจากจะชวนทุกคนมารำลึกถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานแล้ว เลยอยากจะพาย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์จุดเริ่มต้นของขบวนการแรงงานในประเทศไทยของเรากันซักหน่อย ผู้ใช้แรงงานยุคคุณปู่ คุณทวด เขาเคลื่อนไหวอะไรกันนะ?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ก่อนหน้าที่แรงงานไทยจะเข้ามามีบทบาทในภาคอุคสาหกรรมนั้น แรงงานจีนหรือกุลีจีนอพยพจากแผ่นดินใหญ่นี่เขามีบทบาทมาก่อน ตั้งแต่โน่นเลยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
นอกจากนี้ยังรวมตัวกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ให้ความคุ้มครองแรงงานจีนด้วยกันในทำนองกลุ่มสมาคมลับ หรือที่เรียกกันว่า “อั้งยี่”
พวกนี้มีอิทธิพลมากขนาดทำให้รัฐบาลหวั่นเกรงได้เลยทีเดียว เพราะบทบาทของแรงงานจีนที่เกาะกุมอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ชาวจีนอยู่ในภาวะที่อาจต่อรองค่าแรงและปรับปรุงสภาพการทำงานของตนได้จากการก่อจลาจล ซึ่งจะเสียหายอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของไทย
ด้านรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีกลไกในการควบคุม “อั้งยี่” ได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากการใช้กำลังปราบปรามเมื่อสถานการณ์เกิดเหตุรุนแรงแล้วเท่านั้น
กุลีจีน ภาพจาก http://www.phuketdata.net/main/index.php?option=com_easygallery&act=photos&cid=4034&Itemid=26
ตัดภาพมาที่แรงงานไทย เมื่อยุคที่การเกณฑ์แรงงานตามระบบไพร่เริ่มลดความสำคัญ พวกเขายังพอใจที่จะอยู่ในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก หรือเป็นแรงงานรับจ้างชั่วครั้งชั่วคราวเมื่อหมดฤดูทำนาที่บ้านเกิด
แรงงานอีสานจากที่ราบสูงจะรวมกลุ่มกันดั้งด้นบุกป่าฝ่าดงตามนายฮ้อยมาค้าแรงงานในย่านเกษตรกรรมของกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง และจะกลับไปทำนาที่บ้านเกิดของตัวเองอีกครั้งในปีถัดไป
ส่วนหนึ่งก็เพราะการทำงานในภาคอุคสาหกรรม โดยมากยังต้องอาศัยเครือข่ายและการคุ้มครองของสมาคมอั้งยี่ ภาคอุตสาหกรรมและการบริการของประเทศขณะนั้นยังไม่ขยายตัวเติบโตมากพอที่จะมีโรงงานหรือความต้องการแรงงานมากพอที่จะรองรับแรงงานไทยมากนัก จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้แรงงานไทยลังเลที่จะตัดสินใจเข้ามาทำงานในเมืองด้วย
แรงงานำไทยในภาคเกษตรกรรม ภาพจาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=35
จุดเริ่มต้นของแรงงานไทย
แล้วแรงงานไทยเริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมช่วงไหนล่ะ?
คำตอบคือ ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 (ทศวรรษ 2460 เป็นต้นไป) ด้วยสาเหตุกว้างๆ 2 ประการ คือ
1. การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ
ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ เจริญเติบโตขึ้นเป็นเมืองศูนย์กลางของระบบราชการและการค้า ประชากรของกรุงเทพฯ ทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากประมาณ 500,000 คนในทศวรรษ 2450 เป็นกว่า 800,000 คนในทศวรรษ 2480
ขณะที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจโน้มนำไปในลักษณะของการเป็นประเทศอุตสาหกรรม ที่เปิดโอกาสให้ “ทุนภายในประเทศ” ได้ขยายตัวเติบโตขึ้นแทนที่กิจการของชาวตะวันตกที่หยุดชะงักหรือต้องถอนตัวออกไปภายหลังสงคราม
โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าไปครอบครองกิจการธนาคารและการขนส่งสินค้าทางเรือที่พ่อค้ายุโรปเคยครอบครองตลาด เพื่อส่งออกสินค้ายุทธปัจจัย เช่น ยางพารา ดีบุก และข้าว ตลอดจนผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ ภาวะดังกล่าวนี้ทำให้ “กลุ่มทุนภายในประเทศ” ได้โอกาสการสะสมทุนจากการค้าในช่วงสงครามจนสามารถขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้น
ในเขตกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงมีการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรงงานทำไม้ขีด เบียร์ สุรา บุหรี่ สบู่ ยากันยุง โรงฟอกหนัง โรงกลึง ฯลฯ เส้นทางและเครือข่ายทางการคมนาคม เช่น รถไฟ รถราง ท่าเรือ ฯลฯ ก็เพิ่มขึ้นด้วย
โรงงานเหล่านี้ต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก โรงงานบุหรี่ที่ก่อตั้งในทศวรรษ 2470 จ้างแรงงานกว่า 1,000 คน ในส่วนของกิจการต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น การประปา การไฟฟ้า ท่าเรือและกิจการรถรางแต่ละแห่งจ้างแรงงานไม่ต่ำกว่าแห่งละ 1,000 คน
การเพิ่มขึ้นของโรงงานต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของเมืองได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ความต้องการแรงงานในเมืองมีมากขึ้น จนแรงงานจีนที่มีแต่เดิมไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด การอพยพของแรงงานไทยในชนบทเข้ามาทำงานในเมืองก็เริ่มอัตราเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากแรงงานอพยพแล้ว “ชนชั้นกลางในเมือง” ซึ่งเป็นประชากรสำคัญในกรุงเทพฯ ก็ได้เติบโตและเข้าไปมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง
คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานชาวจีนที่ถูกกลืนเป็นไทยแล้วหรือกลุ่มคนไทยที่มีการศึกษา มักเป็นประกอบกิจการในการค้าขนาดเล็ก เป็นผู้จัดการธุรกิจ เสมียนตามบริษัทต่าง ๆ พนักงานโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงกิจการบริการ เช่น คนขับรถ กลุ่มผู้ชำนาญงานเบ็ดเตล็ด และพนักงานตามโรงแรมและร้านอาหาร
2. การลดลงของแรงงานจีน
หลังจากพ.ศ.2470 เป็นต้นมา จำนวนชาวจีนอพยพลดปริมาณลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นผลให้รัฐบาลพยายามจำกัดการอพยพเข้าประเทศของแรงงานจีนมากขึ้น
นโยบายของรัฐในช่วงทศวรรษ 2470-2480 ก็พยายามจำกัดบทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีนด้วย เนื่องจากเกรงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอิทธิพลของอั้งยี่ อุดมการณ์คอมมิวนิสต์และความฝักใฝ่ในแนวคิดชาตินิยม ซึ่งบรรดานายทุนชาวจีนในขณะนั้นล้วนแล้วแต่มีบทบาทสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในจีนด้วย
การอพยพของแรงงานจีน ภาพจาก https://thailabourmuseum.org/%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1/
รัฐบาลจึงพยายามสนับสนุนให้คนไทยเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น ระหว่างพ.ศ.2478-2479 ได้มีการออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อคุ้มครองบางอาชีพของคนไทยและเพื่อเป็นการกีดกันไม่ให้ชาวจีนเข้ามาแย่งงานจากคนไทย เช่น อาชีพหาบเร่ ขายอาหาร ตัดผม ขับสามล้อ และการจ้างงานในโรงงานฆ่าสัตว์
เปิดโอกาสให้แรงงานไทยได้เข้ามาทำงานในกิจการสาธารณูปโภค กิจการรัฐวิสาหกิจและกิจการอื่น ๆ มากขึ้น ในกิจการโรงสีข้าว ซึ่งก่อนหน้านี้มีแต่แรงงานชาวจีน ก็เริ่มมีแรงงานชาวไทยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับแรงงานชาวจีนปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป และเพิ่มมากขึ้นจนในทศวรรษ 2490 สัดส่วนของแรงงานไทยมีจำนวน 24,540 คน คิดเป็นร้อยละ 15.11 ขณะที่แรงงานจีนมีจำนวน 19,310 คน คิดเป็นร้อยละ 9.75
คนถีบสามล้อรับจ้างและคนขับแท็กซี่ซึ่งเป็นแรงงานไทย ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทตามท้องถนนในกรุงเทพฯ มากขึ้น แทนที่กิจการรถลากที่ดำเนินการโดยชาวจีน ปริมาณของแรงงานไทยในอาชีพบริการเหล่านี้ มีปริมาณสูงขึ้นตามการขยายตัวของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง
ในกิจการสาธารณูปโภค กิจการรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกิจการมีความเกี่ยวพันกับรัฐบาลก็ล้วนว่าจ้างแรงงานไทยเป็นหลักด้วยเช่นกัน
ยกแรก การต่อสู้ของแรงงานรถรางไทย
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปลายทศวรรษ 2460) เป็นต้นมา จึงเริ่มมองเห็นบทบาทของแรงงานไทยต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ชัดขึ้น
แรงงานไทยเหล่านี้เข้าทำงานในกิจการธุรกิจขนาดต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่ประสบกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง มีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ย่ำแย่ จึงเกิดการร่วมกลุ่มกันและเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานของตน
แรงงานมุ่งหวังที่จะให้นายจ้างปฏิบัติกับลูกจ้างในลักษณะเหมือนความสัมพันธ์ในชนบทที่มีการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างเห็นอกเห็นใจกัน พวกเขารู้สึกว่าการปฏิบัติตนของนายจ้างเอารัดเอาเปรียบแรงงานมากจนเกินไป
ในปลายทศวรรษ 2470 ถึงทศวรรษ 2480 คนงานกุลีได้รับค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 75-80 สตางค์สำหรับผู้ชาย และ 60 สตางค์สำหรับผู้หญิง ส่วนช่างฝีมือจะได้รับสูงสุดวันละ 2.47 บาท
สำหรับชั่วโมงการทำงานนั้น กรรมกรในกรุงเทพฯ ต้องทำงานเฉลี่ยอาทิตย์ละ 50-55 ชั่วโมง ระยะเวลาการทำงานนี้ไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนขึ้นอยู่กับนายจ้างเป็นส่วนใหญ่ ในบางโรงงานแรงงานอาจต้องทำงานมากกว่าวันละ 12 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุดพักผ่อน แรงงานไม่มีสิทธิ์ออกเสียงใด ๆ
การอยู่อาศัยก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากนายจ้างและไม่มีสวัสดิการใด ๆ รองรับ ทั้งอาหารและที่พักอาศัยจึงเป็นภาระของแรงงานที่จะต้องรับผิดชอบเอง แรงงานส่วนมากจึงเช่าห้องแถวรวมกันอย่างแออัด
เกิดเป็นชุมชนแออัดและเป็นที่ไม่น่าดูในสายตาของชนชั้นนายทุนและภาครัฐ หรือต้องอาศัยตามโรงฝิ่นเป็นที่หลับนอน ซึ่งนั่นหมายความว่าแรงงานจะต้องเป็นลูกค้าของโรงฝิ่นนั้นด้วย
สาวิตร ฤทธิเดช บุตรของถวัติ ฤทธิเดช ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “กรรมกร” ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้แรงงาน ได้เล่าสภาพการทำงานของกรรมกรรถรางในขณะนั้นว่า
"…กรรมกรรถรางสมัยนั้น ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี 4 เพื่อนำรถรางออกจากโรงเก็บทั้ง 4 แห่ง คือถนนตก สะพานเหลือง สี่แยกแม้นศรี และ
บางกระบือ ให้เดินเที่ยวแรกเวลา 05.00 น. และไปเลิกเที่ยวสุดท้ายเวลา 22.00 น.
เงินเดือนตั้งแต่ 35-75 บาท สูงกว่านั้นต้องอยู่ในตำแหน่งนายตรวจ ขอให้คำนวณระยะเวลาการทำงานดู ก็คงจะพออนุมานได้ว่าชาวต่างชาติเขาใช้แรงงานของคนไทยอย่างใด…"
บางโรงงานยังมีการเอารัดเอาเปรียบจากแรงงานเพิ่มเติมจากสภาพการทำงานที่ย่ำแย่อยู่แล้วแต่เดิมมากขึ้นไปอีก ดังปรากฏในจดหมายร้องเรียนว่า
"…ประเพณีอันหนึ่งระหว่างเจ้าของโรงสีต่าง ๆ กับลูกค้าผู้นำข้าวมาขายให้แก่โรงสีว่า ในจำนวนราคาข้าวเกวียนหนึ่ง ๆ เจ้าของโรงสีจะชักไว้เกวียนละ 3 บาท คงไม่จ่ายให้เต็มตามราคาที่ได้ตกลงซื้อขายกัน
โดยเป็นที่เข้าใจกันแล้วว่าจะเก็บเอาเงินที่ชักไว้นี้มาเฉลี่ยให้แก่เหล่ากรรมกรผู้ขนข้าวที่ซื้อขายกันนั้น
…ครั้นต่อมา พวกเจ้าของโรงสีต่าง ๆ ได้ชักเงินราคาข้าวไว้เกวียนละ 3 บาทก็จริงแต่คงได้เฉลี่ยให้กรรมกรผู้ขนข้าวเพียงเกวียนละ 1 บาท 50 สตางค์ คงชักไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย 1 บาท 50 สตางค์
…มาบัดนี้พวกเจ้าของโรงสียิ่งกระทำรุนแรงขึ้นไปกว่านั้นอีก กล่าวคือได้เอาเงินที่ชักไว้เกวียนละ 3 บาทดังกล่าวมาแล้ว ลงเฉลี่ยแก่กรรมกรผู้ขนข้าวเพียงเกวียนละ 60 สตางค์เท่านั้น คงชักไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียถึง 2 บาท 40 สตางค์…"
ความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่นายจ้างเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ทำให้แรงงานตอบโต้การกระทำดังกล่าวด้วยการยื่นคำร้องและข้อเสนอไปยังนายจ้างและรัฐบาล หากไม่ได้รับการตอบสนองก็จะนัดหยุดงาน
ใน พ.ศ. 2466 คนงานรถรางจำนวน 122 คน ได้ยื่นประท้วงต่อนายจ้างเรื่องถูกตัดค่าจ้างและเรื่องการตั้งกฎระเบียบควบคุมแรงงานอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังร้องทุกข์เรื่องความโหดร้ายของหัวหน้าคนงานที่ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างรุนแรงด้วย
เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองเป็นที่น่าพอใจจึงได้มีการนัดหยุดงาน และยื่นคำร้องไปยังรัฐบาล การนัดหยุดงานดังกล่าวกลายเป็นกรณีพิพาทรุนแรงที่ยืดยาวและนับเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งบานปลายไปจนมีการปะทะกันระหว่างตำรวจและคนงานเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์
หนังสือพิมพ์กรรมกรของนายถวัติ ฤทธิเดช ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเหตุการณ์ในขณะนั้นว่า
"…นายจ้างน่าเลือดเอาเปรียบกันคั่นหนึ่งล่ะน่ะ และยิ่งกว่านั้น นายจ้างผู้คิดเอาเปรียบอีกยังพยายามใส่ข้อแม้ลงในสัญญานั้นว่า
ถ้าทำดังนี้เป็นผิดต้องถูกตัดเงินเดือนเท่านั้น ลูกจ้างเหล่านี้ได้รับค่าจ้างไม่คุ้มกันเลย
ด้วยเหตุนี้การที่จะเรียกว่าทาษคงไม่ผิด…"
ในการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของกรรมกรรถรางครั้งนั้น ถวัติมองว่า เป็นการรวมพลังเพื่อต่อต้าน “อ้ายตัวมหาวายร้ายที่คอยทำการทุจริตอยู่ คือคอยพยายามหาทางตัดเงินเดือนแก่คนงานรถรางจนแทบกลับตัวไม่ทัน”
ซึ่งถือว่าเป็นการรวมพลังของแรงงานไทยที่ปรากฏขึ้นชัดเจนเป็นครั้งแรก และสร้างความสั่นสะเทือนต่อบรรดานายจ้างและรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นต้องเข้ามาเจราจาด้วยตนเอง กรณีพิพาทจึงยุติลงและกิจการรถรางสามารถดำเนินต่อไปได้
เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้ส่งผลสะเทือนต่อเนื่องให้เกิดการรวมกลุ่มของแรงงานและเกิดการประสานความร่วมมือของกลุ่มแรงงานกับกลุ่มปัญญาชน ที่มีเจตนารมณ์ในการเป็นกระบอกเสียงต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงาน โดยมี
นายถวัติ ฤทธิเดช นักเขียนหัวก้าวหน้าและผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์กรรมกรเป็นผู้นำ
ถวัติ ฤทธิเดช นักเขียน นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า และผู้นำกรรมกรยุคแรก ภาพจาก https://prachatai.com/journal/2021/01/91115
“ถวัติ ฤทธิเดช” คณะกรรมกร และ “สมาคมคนงานรถรางแห่งสยาม”
ถวัติ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2437 ในครอบครัวของชาวสวนแห่งอำเภอบางช้าง เขาเริ่มชีวิตการทำงานในตำแหน่งเสมียนแห่งกรมอู่ทหารเรือ แล้วหันเหวิถีชีวิตมาสู่การเป็นนักหนังสือพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2466 และเริ่มต้นบทบาททางสังคมและการเมืองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
หนังสือพิมพ์กรรมกรของถวัติประกาศตัวอย่างเต็มที่ในการให้การสนับสนุนการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน นายถวัติ ฤทธิเดช และคณะทำงานของเขาได้การก่อตั้ง “คณะกรรมกร” ขึ้น เพื่อเคลื่อนไหวเผยแพร่อุดมการณ์ของชนชั้นแรงงานในหมู่คนงานรถรางและเผยแพร่ผ่านสาธารณชนโดยใช้หนังสือพิมพ์กรรมกรเป็นกระบอกเสียง
มีการตีพิมพ์บทความที่มีแนวคิดวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมถึงข่าวและบทความเกี่ยวกับสิทธิกรรมกรในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการนำเหตุการณ์และแนวคิดของการปฏิวัติรัสเซีย (ค.ศ.1917) มาตีพิมพ์เผยแพร่ เพื่อให้แรงงานไทยได้รับรู้และตระหนักในพลังของชนชั้นกรรมาชีพด้วย
“คณะกรรมกร” ประกอบไปด้วยนักหนังสือพิมพ์ อดีตข้าราชการและนักเคลื่อนไหวอื่น ๆ ซึ่งเป็นผลผลิตของสังคมเมืองใหม่อันประกอบไปด้วยชนชั้นที่หลากหลายมากขึ้น มีผู้นำคนสำคัญได้แก่ นายถวัติ ฤทธิเดช ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร นายสุ่น กิจจำนงค์ และขุนสมาหารหิตะคดี ทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับแรงงาน จัดหาที่ประชุม ช่วยคนงานเขียนคำร้องและก่อตั้งองค์กรแรงงานของตนเอง
“คณะกรรมกร” ถือได้ว่ามีบทบาทอย่างมากในการจุดประกายให้กลุ่มคนงานได้ตระหนักในสิทธิและพลังของชนชั้นแรงงาน ซึ่งถือเป็นหน่ออ่อน ๆ ของแนวคิดทางการเมืองที่กำลังเติบโตมากขึ้นในหมู่ผู้ใช้แรงงาน
ภาพจาก https://thailabourmuseum.org/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A3/
สายสัมพันธ์ระหว่างนายถวัติ ฤทธิเดชกับกลุ่มคนงานหลังจากเหตุการณ์การประท้วงของกรรมกรรถรางเมื่อพ.ศ.2466 ยังคงเกี่ยวพันสืบเนื่องกันอย่างแนบแน่น โดยถึงแม้ภายหลังจากนั้นไม่นานนัก หนังสือพิมพ์กรรมกรจะต้องปิดตัวลงในพ.ศ.2468 อันเนื่องมาจากปัญหาทางด้านทุนทรัพย์และการถูกเพ่งเล็งจากทางรัฐบาล แต่ถวัติก็ยังคงติดต่อกับกลุ่มแรงงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อหาทางเคลื่อนไหวให้มีการจัดตั้งองค์กรแรงงานอย่างถูกต้อง
ในพ.ศ.2475 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองบรรยากาศของการกระพือแนวคิดประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้แรงโหมขึ้น ถวัติซึ่งมีชื่อเสียงในการต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงานและวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และมีสายสัมพันธ์อันดีกับนายปรีดี พนมยงค์ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า
“…มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะรวบรวมอิทธิพลฝ่ายกรรมกรเข้าสนับสนุนคณะราษฎรและคณะรัฐบาลนี้” และเห็นเป็นโอกาสที่จะอาศัยสถานการณ์ที่เปิดกว้างมากขึ้นนี้จัดตั้งองค์กรแรงงานให้จงได้
ในเดือนกันยายาน พ.ศ.2475 ผู้นำกรรมกรรถรางแห่งบริษัทสยามคอร์ปอเรชั่นได้แก่ นายสาย ปฐมสุข นายฮวด ทรัพย์พอกพูน นายสุข สำเภาโภค นายนายศิริ แย้มผกา และนายถม (ไม่ทราบนามสกุล) ได้ล่ารายชื่อกรรมกรรถรางเพื่อทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะราษฎรเพื่อเรียกร้องให้คณะราษฎรได้ช่วยเหลือในการกำกับดูแลการบริหารงานของบริษัทสยามคอร์ปอเรชั่นที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาการจ้างงานกับแรงงาน
เพื่อขอให้มีการกำหนดข้อบังคับในการที่เป็นธรรมกับฝ่ายแรงงาน อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่ประสบผลสำเร็จนัก จึงนำไปสู่การตกลงร่วมกันที่จะต้องมีการจัดตั้งองค์กรที่มีความชัดเจนเพื่อประสิทธิภาพในการต่อสู้เคลื่อนไหว และขอให้ถวัติช่วยเป็นปากเสียงในการต่อสู้ร่วมกับกลุ่มของตน
การตกลงกันระหว่างถวัติและกลุ่มผู้นำแรงงานได้นำไปสู่มติเป็นเอกฉันท์ในการจัดตั้ง “สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม” ขึ้น อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2475 “ถือเป็นองค์กรแรงงานยุคแรกในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะกรรมกรรถรางและกรรมกรที่ทำงานในกิจการที่เกี่ยวข้องกับรถรางเพื่อที่จะ
“ก. อบรมให้มีความประพฤติและศีลธรรมอันดี ข. แลกเปลี่ยนความรู้ ค.ส่งเสริมความสุข ความรื่นเริง อนามัย ฆ. ช่วยเหลือสมาชิกที่แก่เฒ่า ง. ทุพพลภาพ ประหยัดทรัพย์” และ “จ. สามัคคีธรรม” ร่วมกัน
ภาพจาก https://prachatai.com/journal/2021/01/91115
แม้ว่าสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามจะเป็นองค์กรเฉพาะกลุ่มของแรงงานที่มีอาชีพเดียวกันเท่านั้น ยังไม่ใช่สหภาพแรงงานหรือองค์กรที่สามารถรวมกลุ่มแรงงานในหลากหลายอาชีพเข้าด้วยกันแต่คงอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของแรงงานไทยกลุ่มอาชีพอื่นๆ อยู่ด้วย
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2477 คนงานโรงสีข้าวนัดหยุดงานเพื่อประท้วงการลดลงของค่าจ้าง ซึ่งนายจ้างอ้างว่าเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งถวัติมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวนี้ การหยุดงานเริ่มกินระยะเวลานานและเริ่มมีการใช้ความรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจสำคัญ ๆ หลายแห่ง รัฐบาลจึงได้เข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาดและส่งตำรวจมาควบคุมแรงงานเพื่อบังคับให้เลิกหยุดงาน ผู้นำคนงานถูกเนรเทศ ส่วนถวัติถูกส่งฟ้องศาล
ในปีเดียวกันนั้นยังมีการประท้วงเพื่อเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการของคนงานรถราง คนงานได้นัดกันหยุดงานและมีการยึดทรัพย์สินของรถไฟ ปิดกั้นสะพานและจับตัวข้าราชการเป็นตัวประกัน รัฐบาลจึงได้ทำการแทรกแซงเพื่อยุติการนัดหยุดงาน และหาทางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
การปราบปรามอย่างรุนแรงเป็นผลให้สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามแตกสลายลง ประกอบกับอิทธิพลของนายปรีดี พนมยงค์ที่สนับสนุนฝ่ายแรงงานและมีสายสัมพันธ์อันดีกับถวัติ ก็เริ่มถดถอยลงในคณะรัฐบาล ทำให้ฝ่ายทหารมีโอกาสใช้มาตรการเด็ดขาดในการปราบปรามฝ่ายแรงงานมากขึ้น
ด้านถวัติเองแม้ยังคงทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้ใช้แรงงาน แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ได้สบายนัก เขาดำรงชีพด้วยการเขียนบทความขายและนำเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือกรรมกร ฐานะของครอบครัวถวัติยากจนลงเป็นลำดับ
จนกระทั่งนำสมบัติทั้งของตนและภรรยาออกขายเพื่อยังชีพ และช่วยเหลือกรรมกรที่มาขอความช่วยเหลือ เขาต้องเขียนหนังสือถึงตี 4 ตี 5 ตรากตรำไม่ได้พักผ่อน ใน พ.ศ. 2493 เมื่อขึ้นไปทำธุระที่ จ.เพชรบูรณ์ เขาติดเชื้อมาลาเรีย และรักษาตัวที่โรงพยาบาลวชิระเพียง 5 วัน ก็ถึงแก่กรรม เมื่ออายุ 56 ปี ในวันที่เขาถึงแก่กรรมทั้งบ้านมีเงินเหลืออยู่เพียง 1 บาทเท่านั้น ปิดตำนานผู้นำกรรมกรไทยยุคแรกอย่างน่าเวทนา
แม้การเคลื่อนไหวของแรงงานรถรางไทยในยุคแรกจะไม่อาจพูดได้ว่าประสบผลสำเร็จมากนัก และยังไม่สามารถจัดตั้งองค์กรแรงงานที่เป็นตัวแทนของกลุ่มแรงงานทั้งหมดทุกสาขาอาชีพได้
ถึงกระนั้น “สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม” ซึ่งถือเป็นองค์กรแรงงานไทยองค์กรแรกไทย เป็นจุดเริ่มต้นที่บ่มเพาะประสบการณ์และความคิดทางการเมืองให้กับการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานไทย ซึ่งจะพัฒนาไปการเคลื่อนไหวที่มีแนวทางชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้น
โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2488 - พ.ศ. 2500) ที่การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานได้ขยายวงกว้าง แรงงานสามารถยกระดับการรวมตัวกันเป็นองค์กรในระดับชาติภายใต้การนำของ “สหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นองค์กรที่ประสานงานของสมาคมกรรมกรทั้ง 51 แห่ง
และสามารถผลักดันให้รัฐบาลการออกพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรก ที่ให้ความคุ้มครอง สิทธิประโยชน์ การจัดตั้งสหภาพแรงงานและสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานได้เป็นผลสำเร็จ
การประท้วงของกลุ่มแรงงานใน ทศวรรษ 2490 https://www.matichon.co.th/local/news_546220
อ้างอิง
พอพันธ์ อุยยานนท์, “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจกรุงเทพฯ กับพัฒนาการแรงงานราคาถูก (1855-1980),” รวมบทความประวัติศาสตร์ ,19 (มกราคม 2540): 23.
ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ (เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม, 2546).
มูลนิธิอารมณ์ พงษ์พงัน, ประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานไทย (กรุงเทพฯ: มูลนิธิอารมณ์ พงษ์พงัน, 2532).
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. ชีวิต ความคิด และการต่อสู้ของถวัติ ฤทธิเดช : เมื่อแรงงานคิดหาญ เปลี่ยนแปลงโลก ใน ประวัติศาสตร์แรงงานไทย กุลีจีน-14 ตุลาฯ-วีรบุรุษกรรมกร. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, 2542.
โฆษณา