3 พ.ค. 2021 เวลา 15:00 • ธุรกิจ
“Super Air Jet” สายการบินน้องใหม่ในกลุ่ม Lion!?
วันนี้หลายๆคนคงได้เห็นภาพของลวดลายเครื่องบินและชุดเครื่องแบบพนักงานต้อนรับของสายการบินน้องใหม่จากประเทศอินโดนีเซีย “Super Air Jet” กันไปบ้างแล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลเผยแพร่อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับแผนธุรกิจต่างๆโดยละเอียดของสายการบินนี้ เราลองไปไปทำความรู้จักกันเพิ่มเติมจากข้อมูล ณ ปัจจุบันกัน
ผู้ก่อตั้งสายการบินนี้คือคุณ Rusdi Kirana ชาวอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสายการบิน Lion Air ตั้งแต่ปี 1999 ก่อนจะเติบโตกลายเป็น Lion Group ในปัจจุบัน โดยในช่วงเริ่มให้บริการของ Lion Air นั้น สายการบินมีเครื่องบินแบบ Boeing 737-200, McDonnell Douglas MD-82 รวมถึง Yakovlev Yak-42D ให้บริการ
คุณ Rusdi Kirana ภาพจาก Bloomberg
กลุ่ม Lion ปัจจุบันเป็นกลุ่มสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย และยังมีการตั้งสายการบินในต่างประเทศ โดยปัจจุบันประกอบด้วย 5 สายการบิน โดยแต่ละสายการบินมีกลุ่มเป้าหมายและเครือข่ายการบินแตกต่างกันไป ได้แก่
- Lion Air มีฐานการบินในประเทศอินโดนีเซีย เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ มีเส้นทางการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นสายการบินหลักของกลุ่ม Lion ปัจจุบันมีฝูงบิน 143 ลำ ทั้งเครื่องบินลำตัวแคบ (Boeing 737) และลำตัวกว้าง (Airbus A330)
ภาพจาก Airbus
- Wings Air มีฐานการบินในประเทศอินโดนีเซีย เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ให้บริการเส้นทางรองและเส้นทางย่อยในประเทศอินโดนีเซียเป็นหลัก โดยเฉพาะเส้นทางสู่เกาะต่างๆภายในประเทศ ปัจจุบันมีฝูงบิน 67 ลำเป็น ATR72 ทั้งหมด
ภาพจาก Airline inform
- Batik Air มีฐานการบินในประเทศอินโดนีเซีย เป็นสายการบินพรีเมียม มีระบบความบันเทิงทุกที่นั่งรวมถึงมีการบริการเครื่องดื่มและขนมฟรี รวมถึงมีการแยกชั้นโดยสารเป็นชั้นประหยัด และชั้นประหยัดพรีเมียม ให้บริการในเส้นทางภายในประเทศและภูมิภาค ปัจจุบันมีฝูงบิน 76 ลำเป็นเครื่องบินลำตัวแคบทั้งหมด (มีทั้ง Boeing 737 และ Airbus A320)
ภาพจาก Airlines-Airports.com
- Malindo Air มีฐานการบินในประเทศมาเลเซีย โดยชื่อสายการบินเป็นการผสมคำระหว่าง Malay+Indo ให้บริการเส้นทางภายในประเทศมาเลเซียรวมถึงเส้นทางภายในภูมิภาคด้วยผลิตภัณฑ์พรีเมียม อาทิ ระบบความบันเทิงทุกที่นั่งรวมถึงมีการบริการเครื่องดื่มและขนมฟรี ปัจจุบันมีฝูงบิน 25 ลำ (ฺBoeing 737 และ ATR72)
ภาพจาก Malindo Air
- Thai Lion Air มีฐานการบินในประเทศไทย ให้บริการเส้นทางภายในประเทศไทยและเส้นทางภูมิภาค ปัจจุบันมีฝูงบิน 14 ลำเป็น Boeing 737 ทั้งหมด (เคยมีเครื่องบินลำตัวกว้างอย่าง Airbus A330 ให้บริการในเส้นทางระยะกลางแต่ได้คืนเครื่องให้กับสายการบินแม่ไปแล้ว)
✈️สายการบินน้องใหม่ Super Air Jet
มาถึงสายการบินน้องใหม่ที่เราคาดว่าจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Lion โดย ณ ขณะนี้มีการเปิดตัวชื่อสายการบินและชุดเครื่องแบบ รวมถึงเครื่องบินลำแรกที่จะประจำการในฝูงบิน มีประเด็นต่างๆที่น่าสนใจดังนี้
- เครื่องบินลำแรก Airbus A320 ซึ่งจดทะเบียนสัญชาติอินโดนีเซียเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ PK-SAJ โดยเป็นเครื่องบินอายุประมาณ 10 ปี และไม่ได้ทำการใช้เครื่องบินลำเดิมจากภายในกลุ่มสายการบิน แต่เป็นการนำเข้าเครื่องใหม่มา สายการบินเจ้าของก่อนหน้านี้คือ IndiGo จากประเทศอินเดีย มีการจัดที่นั่ง 1 ชั้นโดยสาร 180 ที่นั่ง (คาดว่าน่าจะใช้การจัดที่นั่งแบบเดิม)
- เครื่องแบบลูกเรือรวมถึงสีสันที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ของสายการบินที่มีการเปิดเผยออกมา ใช้สีทองและสีน้ำตาลเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากสายการบินอื่นๆในกลุ่มที่มักจะใช้สีแดงและสีเลือดหมู รวมถึงชื่อสายการบินที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นอินโดนีเซียหรือความเป็น Lion เท่าใดนัก
- Rusdi Kirana ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Lion เคยกล่าวกับสำนักข่าว Bloomberg เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่า การก่อตั้งสายการบินใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิมจะช่วยให้กลุ่ม Lion สามารถก้าวผ่านเรื่องราวร้ายๆที่เคยเกิดขึ้นกับสายการบินไปได้ (คาดว่าหมายถึงเหตุการณ์ Boeing 737MAX ตกเมื่อปี 2018)
- โฆษกของกลุ่ม Lion เปิดเผยกับสำนักข่าว Reuters ว่า Ari Azhari ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารระดับสูงของ Lion Air คาดว่าจะก้าวมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสายการบินน้องใหม่นี้ โดย Super Air Jet จะเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายใหม่นั่นคือคนรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีต่างๆและมีความรักในการท่องเที่ยว ในช่วงแรกจะให้บริการเส้นทางภายในประเทศก่อนที่จะขยายไปสู่เส้นทางต่างประเทศภายหลัง และยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า การก่อตั้งสายการบินใหม่นี้เพราะมองเห็นถึงโอกาสที่ยังคงมีและเปิดกว้างในตลาดภายในประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะความต้องการเดินทางทางอากาศของ “คนรุ่นใหม่”
- คาดว่าต้นทุนในการจัดหาเครื่องบินใหม่ในช่วงนี้จะต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ เพราะหลายสายการบินในโลกนั้นทีการลดขนาดฝูงบินลง ทำให้บริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบินพยายามที่จะปล่อยเครื่องบินออกจากมือให้มากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้กลุ่ม Lion ตัดสินใจจัดหาเครื่องบินเพิ่มและก่อตั้งสายการบินใหม่ในช่วงนี้
ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคของเรา ซึ่งตลาดการบินของอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่มากจากภูมิประเทศที่เป็นเกาะและจำนวนประชากรมากกว่า 100 ล้านคน นับเป็นตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับ 6 ของโลก (ข้อมูลจาก OAG) และอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การบริหารสายการบินในกลุ่มที่น่าสนใจว่าจะออกมาเป็นอย่างไรไม่ให้เกิดการแย่งตลาดหรือแย่งลูกค้ากัน อีกไม่นานจะได้รู้กันแน่นอน
โฆษณา