4 พ.ค. 2021 เวลา 05:36 • หนังสือ
"ชีวิตนั่นเป็นเรื่องยาก" ประโยคที่เรามักได้ยินจากผู้อื่นหรือแม้แต่ตัวเราก็ยังบอกกับเองแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง
เพราะความสำเร็จและความสุขช่างดูเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับมนุษย์ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด
หนังสือเรื่อง The Road Less Travelled ที่เขียนโดย Dr. M. Scott Peck จิตแพทย์ผู้เชื่ยวชาญในการบำบัดรักษาคนไข้มานานหลายสิบปี ได้เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองเกี่ยวกับผู้คนที่อยากจะประสบความสำเร็จ "โดยส่วนมากผู้คน มักจะไม่รู้จักถึงระบบความคิดและความเชื่อของตนเองอย่างถ่องแท้ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ คนส่วนใหญ่มักไม่ยอมรับตรงจุดนี้ และมักจะมองโลกไม่ตรงตามความเป็นจริง จึงทำให้เกิดความทุกข์ร้อนเศร้าหมองใจตลอดเวลา"
Dr. M. Scott Peck จึงเสนอวิธีการมองโลกที่จะนำมาซึ่งความสุข และความสำเร็จในชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน โดย Dr. M. Scott Peck ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงที่ว่า ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายแบบที่เราคิดจริงๆ ชีวิตนั้นเต็มไปด้วยปัญหา อุปสรรค และสิ่งที่ท้าทายที่คอยให้เราฟันฝ่า ฉะนั้น ในการใช้ชีวิตเราจะต้องมีสติ ระมัดระวังคำพูดและการกระทำของเรา ที่สำคัญคือจะต้องยอมรับว่าตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็จะต้องเผชิญปัญหาอยู่ร่ำไป ชีวิตจึงไม่ใช่ของง่ายอย่างที่เราคิด และเมื่อเรายอมรับได้จะทำให้ความเครียดที่เราลดน้อยลงเ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงตามความเป็นจริง
Dr. M. Scott Peck ยังแนะนำอีกด้วยว่าให้มองอุปสรรคทั้งหลายเป็นเหมือนบทเรียนที่จะฝึกฝนให้เรามีความเข้มแข็ง อดทน และเฉลียวฉลาดมากขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยคนที่จะมีความสุข+ความสำเร็จต้องมีอุปนิสัยและทักษะในการมองโลก ดังนี้
1. ยอมลำบากตอนนี้ เพื่อสบายในวันหน้า (Delay immediate gratification)
จงเผชิญหน้ากับความยากลำบาก คนส่วนใหญ่มักชอบหนีปัญหา โดยแกล้งไปทำสิ่งอื่นเพื่อให้เกิดความสบายใจ และได้แต่หวังว่าเมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็ดีขึ้นเอง การกระทำเช่นนี้ นอกจากจะไม่ช่วยให้ปัญหาคลี่คลายแล้ว ยังจะทำให้ปัญหายิ่งบานปลายและยากต่อการแก้ไข ดังนั้น เมื่อเจอปัญหาต้องนิ่งสงบ ยอมรับความเป็นจริง และใช้สติปัญญาที่มีอยู่ค่อย ๆ ขบคิดและแก้ไข แก้ไม่หมดในครั้งเดียวก็ไม่เป็นไร ค่อยๆแก้ไขไปดีกว่าไม่แก้ไขเลย
2. เลิกโทษผู้อื่นว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาที่กำลังเผชิญ (Acceptance of responsibility)
เลิกโทษปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรานั้นเพราะสาเหตุมาจากผู้อื่น หากเราคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากผู้อื่นแล้วนั้น จะทำให้เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เราควรยอมรับว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้
3. การยอมรับความเป็นจริง (Dedication to reality)
เมื่อเรายอมรับความเป็นจริงที่เราเองกำลังเผชิญอยู่ได้ เราถึงจะสามารถสร้างแผนที่ชีวิตให้ตนเองได้ (Mapmaker) เพราะเรารู้ว่ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร กำลังเผชิญปัญหาแบบไหน และอะไรคือเป้าหมายที่สำคัญในชีวิต โดยไม่ถูกกระแสสังคมลากไปจนหาแก่นสารสาระในชีวิตไม่ได้
แผนที่ชีวิตที่เราสร้างจะต้องชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้และจะต้องปรับแก้ได้ทุกเมื่อตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง บางครั้งเราต้องรู้จักอ่อนน้อมและประนีประนอมบ้าง หรือบางครั้งก็ควรเข้มแข็งและกล้าหาญ หากเราดื้อดึง มีความเป็นตัวของตัวเองมากจนเกินไป จะทำให้เรามองความจริงไม่ตรงตามความเป็นจริง
Dr. M. Scott Peck กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากการมองโลกที่ผิดคิดว่า คนรอบข้างและตัวเราเคยเป็นเช่นไรในอดีตก็ต้องเป็นเช่นนั้น พฤติกรรมทุกอย่างจึงออกมาในรูปของความเคยชิน ทำให้เราอยู่แต่ในอดีต ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน จึงมองไม่เห็นความเป็นจริงตรงหน้า ทำให้มีแต่ความสงสัยและไม่เข้าใจโลก เกลียดโลก เกลียดมนุษย์ หาความสุขไม่ได้ ดังนั้น เราจึงต้องปรับความคิด บุคลิกลักษณะตามความเป็นจริงในปัจจุบัน และเปิดใจยอมรับในทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
4) หาสมดุลให้กับตัวเอง (Balancing)
ทำจิตใจให้เป็นกลางไม่ดีใจหรือเสียใจจนเกินไป เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ โดยนำไปขบคิดพิจารณาก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ
Dr. M. Scott Peck ได้ทิ้งท้ายว่า "หลายคนไม่เต็มใจหรือไม่อาจยอมรับความเจ็บปวด ซึ่งเขาเกรงว่าจะเกิดขึ้นหากยอมสละสิ่งที่พ้นสมัย ใช้การไม่ได้ที่ควรจะทิ้งไปได้แล้ว เขาจึงยึดอยู่กับแบบแผนวิธีคิดและพฤติกรรมเก่าๆ ไปตลอด ไม่อาจแก้ปัญหาวิกฤติในช่วงเปลี่ยนผ่านต่างๆ ชีวิตเขาจึงไม่ได้เจริญงอกงามและมีวุฒิภาวะอย่างแท้จริง"
หนังสือเล่มนี้มปีแปลไทยแล้วชื่อว่า
บทเรียนชีวิตที่จิตแพทย์อยากบอก : The Road Less Traveled
หนังสือที่ช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น หนังสือได้เล่าถึงกระบวนการ "เติบโต" ผ่านมุมมองที่สั่งสมจากประสบการณ์ของจิตแพทย์ ผู้ต้องพบเจอผู้ป่วย/ผู้มีปัญหาชีวิตวันแล้ววันเล่า จนกลายเป็นบทเรียนชีวิต
โฆษณา