5 พ.ค. 2021 เวลา 08:53 • ความคิดเห็น

ย้ายประเทศ

13 สิ่งที่ควรต้องมี หรือต้องรู้ ก่อนย้ายไปอยู่ประเทศอื่น
📍ป้าพาคะ หนูดีและเพื่อน ๆ อยากย้ายประเทศ ควรเตรียมตัวอย่างไรคะ
🌱แม้ ! คำถามเข้าสมัยเชียวค่ะ ม่ะ มาคุยกัน
#ย้ายประเทศกันเถอะ
ข้อหนึ่งที่ต้องมี คือ..ทักษะหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะ..ที่เรียกว่า STEM
ป้าขอตอบตามที่ค้นคว้ามา รวมกับประสบการณ์ที่เคยไปอยู่ที่ UK มาช่วงหนึ่งนะคะ
📍13 สิ่งที่ควรต้องมี หรือรู้ ก่อนย้ายไปอยู่ประเทศอื่น
1. ต้องรู้หรือเลือกว่าจะไปอยู่ประเทศไหน อันนี้เราต้องมีจุดมุ่งหมายก่อนว่าเราสนใจประเทศไหน และในทำนองกลับกัน*เราพอจะมีสิทธิ์ที่ประเทศนั้นจะรับเราหรือไม่เมื่อเราติดต่อ ขอวีซ่าแล้วจะผ่านหรือเปล่า เพราะประเทศที่เราฝันอยากย้ายไปอยู่กัน น่าจะเป็นประเทศที่เจริญแล้ว เจริญกว่าไทยเรา
2. ต้องศึกษาถึงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความเป็นมารวมถึงการสร้างชาติของประเทศที่เราจะย้ายไปอยู่ เราจะได้เข้าใจ เตรียมตัว ปรับตัว ให้เข้ากับเค้าได้ ดูว่าเรามีนิสัยเหมือนประชากรในประเทศนั้น ๆ หรือไม่
2
👉เรื่องนี้แม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยเช่น อาหารมื้อเช้า เรายังต้องปรับตัวและปรับความคิด ป้าพาเองเหมือนคนไทยทั่ว ๆ ไปที่ต้องกินข้าวเช้าร้อน ๆ กลางวันก็กินข้าว และเย็นก็กินอีก ตรงนี้ถ้าเราจะไปอยู่(ไม่ว่าจะชั่วคราว/ถาวร)โปรดรู้ไว้ด้วยว่า
🔺คนชาติตะวันตกเค้ากินอะไรที่ง่าย ๆ และเย็น ๆ เป็นอาหารเช้า โฮมสเตย์ที่ป้าไปอยู่ เค้าเตรียมธัญญพืช นมสด กาแฟ และน้ำเปล่า(น้ำก๊อกประปา)ไว้ให้ นี่คือครบเครื่องที่สุดแล้ว
🔺กลางวันโปรเฟซเซอร์ของป้ากินลูกแพร์ 1 ลูก และชาร้อน
🔺มื้อเย็นเท่านั้นที่เค้าจะกินอาหารซึ่งมักเป็น พายแบบอังกฤษ, แซนด์วิช หรืออาหารเส้น(ถ้าหรูหราหน่อย)
1
📌สรุปตรงนี้
เค้าไม่ได้ให้เวลากับการรับประทานอาหารเหมือนที่เรากินกันในไทย
เรื่องงานช่าง
คู่มือของเครื่องมือ ไม่ว่า เครื่องดูดฝุ่น เครื่องเป่าผม เครื่องมือทำแลบ หรือโทรศัพท์ เค้าอ่านคู่มือกันจนจบก่อนการใช้งาน
ไม่เหมือนคนไทยส่วนใหญ่ ที่ซื้อมาหรือจะใช้ก็ใช้เลย ลุยเลย
ถ้าติดขัดทำไม่ได้ พี่ไทยเราใช้วิธีไปถามช่าง..
🔺จริงสิ ป้าพาไม่เคยเห็นบู๊ตส์ ร้านซ่อม โต๊ะรับซ่อม หรือรับแก้ไขเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้เลยนะคะ(ข้อมูล 9+ ปีก่อน)
3
- การค้นคว้าในห้องสมุด ต่อให้โลกก้าวหน้าล้ำยุคขนาดไหน คนของเค้ายังนิยมการเข้าห้องสมุดไปค้นคว้า ไปอ่านหนังสือ หรือเพื่อไปใช้เครื่องคอมพ์พิวเตอร์ ใช้แฟ้มเก็บงาน ไมโครฟิล์ม ในห้องสมุด ร่วมกับการค้นในอินเทอร์เน็ต
🔺ตรงนี้ในไทยเรา ป้าพายังเห็นน้องบางคนในที่ทำงาน หาข้อมูลโดยการรอ รอที่จะถาม เคยถามไปว่า รอถามใคร น้องคนเดิมตอบว่า ถามใครก็ได้สักคน..
ซึ่งแตกต่างกันมากกับชนชาวตะวันตก บ้านเค้า คนส่วนใหญ่มักไม่ใคร่ถาม แต่จะค้นคว้า ลงมือหาอ่านเองก่อนแล้วค่อยถาม แตกต่างกับบ้านเราอย่างเห็นได้ชัด
👉ครั้งหนึ่งป้าพาต้องเดินทางด้วยรถเมล์ไปสถานีรถไฟเพื่อออกต่างเมือง ถามคุณเลขา(เรายังชินกับการถามถึงเรื่องสายรถเมล์) เธอตกใจมากและบอกว่าเธอก็ไม่รู้ แล้วเธอก็นั่งทำหน้าเฉย ตอนนั้นป้ายังไม่รู้ว่า เราควรค้นเอง..คิดแบบคนไทยว่าเดี๋ยวไปถามเด็กคนไทยในหอพักเดียวกันเอา
❤️โชคดีว่าคุณเลขาอีกคนหนึ่งค่อนข้างสนิทกันและชินกับคนไทยรีบเดินมาบอกว่า ป้าจะต้องกดค้นหาเอาเองจากอินเทอร์เน็ต เพราะคำถามแบบนี้อยู่นอกเหนือขอบเขตการทำงาน จึงเพิ่งถึงบางอ้อ
📌ส่วนใหญ่แล้วประเทศที่ใคร ๆ ก็อยากย้ายไปอยู่ คือประเทศที่พัฒนาแล้ว คนหรือประชากรของเค้ามีคุณภาพ นิสัยหลัก ๆ คือ มีวินัย มีการศึกษา คิดอะไรแบบเป็นเหตุเป็นผล กฎหมายคือกฎหมาย กฏต่าง ๆ ในบ้านเมือง ที่ทำงาน สังคมคือกฏเหล็ก ไม่มีการอะลุ้มอล่วยเวลาเผลอทำผิดกฏแบบบ้านเรา ตำรวจทำงานแบบตรงมาก ศาลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีคำแก้ตัวค่ะ
3. ต้องเพิ่มพูนภาษาและการสื่อสาร
ก่อนย้ายไปอยู่ ต้องเตรียมการสื่อสารด้วยภาษาให้ดี อย่างน้อยต้องพูดให้รู้เรื่อง ภาษาเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราใช้ภาษาของประเทศนั้น ๆ ได้เท่ากับประชาชนของเค้าหรือเกือบเทียบเท่า เราจะอยู่รอดปลอดภัยอย่างสุขสบายขึ้นมาก
👉การพูดคุยภาษาท้องถิ่นของประเทศได้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เราจะไปซื้อของในห้างร้าน หรือพูดจาซักถามผู้คนทั่วไปได้ ใช้ภาษาเพื่อผูกมิตรได้ เพื่อการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเรา
บางคนอาจเตรียมตัวในการใช้ภาษากลาง เช่นภาษาอังกฤษ จีน หรือภาษากลางอื่น ๆ ขึ้นกับประเทศที่เราเลือกจะย้ายไปอยู่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม การฝึกฝนจนพูดภาษาท้องถิ่นได้ย่อมได้เปรียบกว่ามาก
4. ต้องมีเพื่อนที่พูดภาษาของประเทศนั้นได้ดี ถ้า..
👉ถ้าเตรียมภาษายังไม่คล่องเราต้องมีคนที่พูดภาษาของประเทศนั้นได้ดีมาก อยู่ใกล้ ๆ เพื่อเป็นล่ามให้ในช่วงแรกหรือกรณีฉุกเฉิน อาจเป็นสามี ภรรยา เพื่อน แฟน หรือญาติของเราค่ะ
🔺บางที่เช่น UK บังคับเลยว่าคะแนนสอบภาษาอังกฤษ IELTS ต้องเท่าไหร่สำหรับการไปอยู่แบบไหน อย่าลืมศึกษาด้วยค่ะ
5. ต้องมีทักษะอื่นที่นอกเหนือจากวิชาชีพหรือแขนงวิชาที่เราเรียนจบมา เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นทักษะที่ไม่ใช่การคิดเท่านั้น
👉หมายความว่าต้องเป็นทักษะแบบ
"ลงมือคิด>หาวิธีทำ>ลงมือทำ>แล้วทำจริงจนสำเร็จ>ใช้แก้ไขปัญหาในองค์กรที่เราสังกัดอยู่ได้" อันนี้เป็นที่ต้องการค่ะ
📌คนแบบที่มีทักษะหรือ skill ในการทำงานได้สำเร็จ
6. อายุต้องพอดี
อายุที่พอเหมาะกับที่ประเทศเจริญแล้วต้องการ ส่วนใหญ่คือช่วง 26-38 ปี
👉อายุน้อยเกินไป ถูกมองว่าไม่มีทักษะ ไม่มีประสบการณ์ ในขณะที่อายุมากเกินไป จะยากต่อการปรับตัวหรือพัฒนา และถ้าทำได้ก็ถูกมองว่าเหลือเวลาทำงานน้อย เพราะจะต้องปรับตัวในช่วงแรกอีก 2-3 ปี
7. ต้องมีทักษะหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะ ที่เรียกว่า STEM ซึ่งเป็นที่ต้องการมากกว่าสาขาเฉพาะอื่น ๆ
📌STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์(Science), เทคโนโลยี(Technology), วิศวกรรม(Engineering), และ คณิตศาสตร์(Mathematics) ซึ่งก็คือสาขาหรือแขนงวิชาสำคัญ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิต
8. ต้องมีทุนสำรองเลี้ยงตัวอย่างน้อย หกเดือนแรก เพราะจะต้องรอปรับตัว ปรับความคิด หาที่พำนัก ดำเนินการเรื่องเอกสาร..
ซึ่งบอกได้เลยว่า ประเทศยิ่งเจริญยิ่งละเอียดรอบคอบ การจะให้เราเซ็นต์สัญญางาน สัญญาประกัน สวัสดิการ ตรวจแล้วตรวจอีก สัมภาษณ์หลายรอบ
👉เช่น ต้องมีหนังสือรับรองจากต้นสังกัดที่ให้ทุนกรณีเป็นนักเรียนทุน หรือต้นสังกัด หรือส่วนงานฝั่งเค้าที่จะรับเราเข้าทำงาน..ขั้นตอนนี้ยุ่งยากมาก
9. ต้องมีร่างกายที่แข็งแรง ข้อนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ใบรับรองแพทย์จากประเทศไทยเรื่องโรควัณโรค โรคติดต่อบางโรค หรือ โควิด19 เท่านั้น แต่เราต้องมีร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคเรื้อรัง หรือไม่ป่วยด้วยโรคร้ายเช่นมะเร็ง ด้วย
📌อันนี้จำเป็นมาก ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง เราอาจทนกับอากาศที่หนาวหรือแปรปรวนไม่ได้และเมื่อเจอการทำงานแบบจริงจังของที่นั่น เราอาจล้มป่วยได้
🔺ถ้าหากป่วยเพราะโรค โรคยาก หรือโรคเรื้อรัง เราอาจมีสิทธิ์ถูกส่งกลับ ถ้าเราใช้สิทธิ์การรักษานานหรือเรื้อรัง มีเพื่อนเล่าว่าต้นสังกัดงานแทบทุกที่เลยที่เพ่งเล็งเรื่องป่วยนี้..อย่างไรก็ตามขึ้นกับแต่ละที่ค่ะ เพราะเค้าไม่ชอบแน่ถ้าต้องดูแลเรานาน ๆ
10. ต้องมีทักษะในการทำอาหาร การทำงานบ้าน ซักผ้าถูเรือน..
👉หัดทำอาหารกินเอง แรก ๆ เพื่อความอยู่รอด เมื่อทำได้ทีละอย่างสองอย่าง วันเวลาแต่ละวันมีความสุขที่ได้คิด ลองออกแบบเมนู จับคู่วัตถุดิบของพื้นเมืองที่นั่น เอามาทำอาหารไทย mixed match and modify
❤️เช่น..อยากกินส้มตำแบบไทย ทำไงดี..ใช้แอปเปิลเขียว กะปิ น้ำปลา หอมแดงแขก กระเทียมฝรั่ง กุ้งแห้ง น้ำมะขาม(ใช้ของพื้นเมืองราคาถูกกว่าซื้อของไทยส่งมาขาย, แอปเปิลเขียวลั้นดั้นสมัยนั้น ลูกละ 25 เพนนีเท่านั้น จานนี้ถูกกว่ากินที่ร้านข้างทางในไทยค่ะ)
11. ต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าสุขภาพดี แข็งแรง ทั้งกายและสภาพจิต และต้องมีใบรับประกันว่าไม่มีเชื้อโควิดด้วย อ้อ ใบรับรองการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ด้วย
12. ต้องมีประกันสุขภาพหรือสวัสดิการ อันนี้สำคัญมาก และนับจากนี้ไปยิ่งสำคัญทวีคูณ เพราะเรื่องโควิด19 ค่ะ
13. ต้องได้วีซ่า เรื่องนี้ต้องแน่นอน>>ต้องศึกษาเรื่องเกียวกับกงสุล immigration ให้ละเอียดลึกซึ้งเพื่อใช้ในการ apply สมัครเข้าประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าเราจะไปอยู่ในประเทศอะไร เราต้องมี พาสปอร์ต วีซ่าหรือใบอนุญาตให้พำนักในประเทศนั้น ๆ
📌วีซ่า ใบอนุญาตให้พำนัก แล้วแต่แต่ละประเทศ ป้าพาไปอังกฤษ ขอบอกว่ายากมาก ไปมาหลายรอบเกือบ 6-7 ครั้งค่ะ ทั้ง ๆ ที่ได้ทุนจากต้นสังกัดไปนี่ล่ะค่ะ เราต้องศึกษาวิธีการขอวีซ่าให้ละเอียดและตรงประเทศค่ะ
🌟อื่น ๆ ที่ต้องมีประกอบการขอวีซ่า
- ต้องมีที่พำนัก ที่พัก จะเป็นโรงแรม(ช่วงแรก) หอพัก อพาร์ตเม้นท์ แมนชั่น หรือบ้านเช่า
*ที่พักอาศัยที่ต่างประเทศ(ต่อไปขอใช้ว่า ตปท)ไม่สามารถหิ้วกระเป๋าแล้วเดินดุ่ม ๆ เข้าไปขอเข้าพักแบบไทยเรา ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะเข้าพักได้ ต้องมีจดหมายหรือหนังสือรับรองจากที่ทำงาน สถาบันที่ไปเรียน และ/หรือ บางที่พักเราต้องมีสถานภาพทางการเงินที่มั่นคง(เพื่อจ่ายค่าที่พักให้เจ้าของได้ในระยะยาว)เช่นสมุดบัญชีธนาคาร
*ซึ่งต้องบอกเลยว่าการเปิดบัญชีธนาคารของต่างประเทศยาก..มาก
🔺ป้าเคยเปิดในสามประเทศที่ยาก..ญี่ปุ่น เยอรมันและอังกฤษ..กว่าจะเปิดได้ เหนื่อยค่ะ
- สถานภาพทางการเงิน และบัญชีธนาคาร
บางทีอาจพออนุโลมว่ามีบัตรเอทีเอ็มเพื่อกดเงินจากธนาคารมาใช้ได้ แต่ระวัง ที่พักหลายแห่ง ต้องการหลักฐานแสดงสถานภาพทางการเงินที่ชัดเจนแบบบัญชีธนาคาร
ป้าพาฝากไว้
📌นอกจาก 13 ข้อแล้ว อีกเรื่องคือ เรื่องเพื่อนค่ะ
ไม่ได้แยกข้อต่างหากเพราะเป็นเรื่องแล้วแต่คน ป้าว่าการหาเพื่อนแท้ที่ประเทศนั้นสักหนึ่งคนได้ก็จะเป็นการดีมาก หาเพื่อนเป็นคนที่นั่น make a new best friend ให้ได้ เพื่อนคือกัลยาณมิตร ใช้ได้ทุกที่ ทุกประเทศ แม้เราอยู่ในไทย ไม่ได้ย้ายประเทศ เราก็ต้องมีกะเค้าค่ะ "เพื่อน" น่ะ
เพื่อนสนิทที่ hydepark ป้าพารู้จักเธอจากการทำอาหารกินกันบ่อย ๆ เธอเป็นคนฮ่องกง จบแพทย์ที่อังกฤษ เธอสวยมากและเรียนเก่งมากด้วยค่ะ(ภาพนี้ขออนุญาตเธอก่อนนำลงโซเชียล)
📌แถมท้าย>>> มีเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่รู้จะใส่ไว้ตรงไหน เป็นเหมือนทักษะสำหรับการเอาตัวรอด ยกตัวอย่างที่ตัวเองเจอมา ข้างล่างค่ะ
- เจอแก๊งตกทอง ใช่แล้วแม้กระทั่งกลางกรุงลอนดอนก็มีแก๊งตกทอง
🌟ไว้เล่าต่างหากนะคะอีกบทความหนึ่ง(โฆษณาไว้ก่อน)
- ฝนตกและลมแรงตลอด ต้องมีหัวพลิกแพลงหาเสื้อกันฝนตัวยาวใหญ่และหนา เหมือนของตำรวจในซีรีส์ทีวี มาใส่ ใช้ร่มไม่พอ ร่มพังไปหลายคัน
- เดินทางด้วยการเดิน ต้องมีรองเท้าเดินดี ๆ จดจำเส้นทางที่สั้น เรียบและเร็วเพื่อการเดินที่ไม่เหนื่อย ถนนในกรุงลอนดอนพัฒนามาจากเส้นทางขี่ม้า ทางเดินจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ เยอะอยู่ เราต้องหาเส้นที่เรียบสักหน่อยค่ะ
👉เดินเพื่อประหยัดสตางค์ไว้ใช้เรื่องสำคัญอื่น ๆ เช่นค่าที่พัก หอพักเอกชนที่มีคอนแทคกับรพ.มหาลัย ราคาสูงมาก ราคาห้องประหยัดสุด(ห้องเล็กเตียงเดี่ยว ห้องน้ำรวม) ราคาสูงถึง4-5 หมื่นบาทไทย ในขณะที่เราได้ทุนไปแค่เดือนละ56,000+หมื่นบาทไทย..นานมาแล้วนะคะ
- การใช้ทู้บ รถไฟฟ้า..ค่อยเล่าค่ะ..
..
วันที่ไปเดินเที่ยวกับเพื่อนสนิทที่ hydepark
ขอขอบคุณทุกการเข้ามาอ่าน กดไลค์ เม้นต์ และแชร์ค่ะ
เมี้ยว ๆ ราตรีสวัสดิ์ค่ะ ดึกแล้ว
References
1. Want to work abroad? Here are 12 things you need to do
2. HOW TO FIND A JOB IN LONDON AS A FOREIGNER: CHALLENGE ACCEPTED
3. ลิ้งค์ขอวีซ่าเข้าอังกฤษ
โฆษณา