4 พ.ค. 2021 เวลา 07:24 • ข่าว
กลุ่มเฟสบุ๊ค ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ มีสมาชิกจำนวน 672,000 คนในวันที่เราเขียน
การย้ายประเทศหรือย้ายถิ่นฐานเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากความต้องการที่จะมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถ้าไม่นับสาเหตุจากสงครามกลางเมืองอะนะ ไม่พูดมาก ลงประเด็นกันเลย
✦ ถ้าย้ายกันจริง จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นมาลองคิดกันก่อนว่า คนหนึ่งคนสามารถทำอะไรให้ประเทศได้บ้าง
1. จ่ายภาษี คน ๆ หนึ่งโดนภาษีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าทำอะไรบ้าง เบื้องต้นก็ภาษีเงินได้ คิดเป็นร้อยละตามจำนวนเงินที่หาได้ กับภาษีมูลค่าเพิ่ม ยิ่งใช้จ่ายเยอะก็ยิ่งเสียเยอะ ซึ่งภาษีเป็นรายได้หลักของรัฐ ถ้าเก็บได้เยอะ ก็มีเงินเอาไปใช้จ่าย สร้างนู่นสร้างนี่ จ่ายเงินเดือนข้าราชการ ซื้ออาวุธ ซื้อรถถัง เรือดำน้ำได้เยอะ
2. สร้างผลิตภาพ ขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นทำงานอะไร เช่น ถ้าเป็นลูกจ้าง ก็ช่วยเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจเดินไปได้ พอธุรกิจมีรายได้ มีกำไร ก็จ่ายภาษีนิติบุคคล รัฐได้ตัง ถ้าเป็นเจ้าของกิจการ ก็ช่วยสร้างงาน ทำให้คนอื่น ๆ จ่ายภาษีเพิ่มเติมได้อีก รัฐได้ตังอีก
3. สร้างองค์ความรู้ในสังคม ยิ่งคนเก่ง ๆ มารวมกัน ก็ยิ่งพัฒนาองค์ความรู้ได้ดีมากขึ้น สุดท้ายก็ส่งผลต่อขีดความสามารถของภาคเอกชนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ
1
ดังนั้น หากประเทศ ๆ หนึ่งเสียประชากรไปหนึ่งคน ก็จะจัดเก็บภาษีได้น้อยลงหนึ่งหน่วย เสียผลิตภาพทางเศรษฐกิจหนึ่งหน่วย (อาจจะมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นสร้างอะไรให้กับระบบได้บ้าง) และเสียองค์ความรู้ที่จะช่วยพัฒนาประเทศหนึ่งหน่วย
1
จริงอยู่ที่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ย้ายประเทศตามที่ฝัน เพราะความเป็นจริงมีกำแพงสูงชันในการย้าย ทั้งค่าใช้จ่าย (ในการสอบภาษา ตั๋วเครื่องบิน การกินอยู่เริ่มแรก) ภาษา (จะภาษาอังกฤษหรือภาษาของประเทศที่ต้องการจะไป) และความรู้ (ประเทศที่รับประชากรย้ายถิ่นฐานจะมีเงื่อนไขว่าต้องมีทักษะที่จำเป็นต่อการสร้างเศรษฐกิจของเขา) แต่การที่หลายคนมีความคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับประเทศ ยิ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราด้วย เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ากำลังพัฒนา แสดงว่ามันต้องการความรู้ความสามารถของคนในประเทศมาขับเคลื่อน !
2
✦ ทำไมประเทศปลายทางเขาถึงรับหล่ะ
แน่นอนว่าทุกคนย่อมอยากได้คนเก่งไปพัฒนาประเทศ ชวนคิดว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าสังคมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนคนที่มีแรงทำงานจะน้อยลง ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น รัฐจะเอาภาษีที่ไหนมาเลี้ยงดู ถ้าไม่เก็บจากคนที่มีแรงทำงาน หลายประเทศจึงพยายามดึงดูดแรงงานทักษะสูงเข้าประเทศเพื่อประโยชน์ตามที่เราพูดกันข้างต้น (ภาษี ผลิตภาพ องค์ความรู้) เพื่อให้ประเทศตนแข่งขันและอยู่ได้ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ
1
ปัจจุบันแรงงานไทย 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน (ขอเปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า แรงงาน 3.6 คน ต้องเลี้ยงผู้สูงอายุ 1 คนโดยเฉลี่ย) อีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน อันนี้แค่แนวโน้มประชากรตามที่เกิดจริง ๆ นะ ถ้ารวมว่าแรงงานย้ายหนีจากประเทศออกไปได้ตามที่ฝันอีก อัตราส่วนคงน่ากังวล
1
✦ ไม่มีเรื่องดีเลยหรอ
จริง ๆ ก็มีครับ อ้างอิงตามงานวิจัยในเรื่องการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน ทั้งประเทศต้นทางและปลายทางของแรงงานได้ประโยชน์ทั้งคู่ มากน้อยต่างกัน
ประเทศปลายทางได้ประโยชน์จากการที่แรงงานเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเป็นแรงงาน การจ่ายภาษี และการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงได้ทักษะใหม่ ๆ ที่แรงงานที่ย้ายเข้าไปเสริมเติมให้ และหากเป็นแรงงานทักษะสูง อาจจะช่วยเปิดประตูให้ธุรกิจนั้น ๆ ขยายฐานการลงทุนมายังประเทศที่แรงงานนั้นจากมา (ด้วยการช่วยกรุยทางผ่านทักษะ ภาษา และความคุ้นเคยของแรงงานคนนั้น)
ส่วนประเทศต้นทางของแรงงาน จะได้ประโยชน์จากการส่งเงินกลับของผู้ย้ายถิ่นฐาน (หากมีครอบครัวอยู่ที่ประเทศเดิม) ทุกปี ๆ และหากแรงงานเปลี่ยนใจกลับประเทศ แรงงานก็จะมีทักษะใหม่ ๆ กลับมาพัฒนา หรือมีเงินเก็บ นำมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจของประเทศเดิมด้วย และในด้านสังคม แรงงานส่วนใหญ่จะรับวัฒนธรรมของประเทศที่ตนไปตั้งถิ่นฐานนั้นและนำกลับมาใช้กับประเทศต้นทางโดยไม่รู้ตัว หรือเปลี่ยนมุมมองของบุคคลใกล้ชิดที่อยู่ประเทศเดิม ทำให้วัฒนธรรมของสังคมต้นทางค่อย ๆ พัฒนาไปได้ด้วย (พูดง่าย ๆ คือ รับความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่จะไปอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และนำมาใช้วิพากษ์การกระทำของรัฐในประเทศเดิมของตนได้ดีขึ้น)
1
ในอีกมุม ถึงแม้จะยังไม่ได้ย้ายประเทศ แต่ความต้องการย้ายประเทศนั้นทำให้แรงงานพยายามพัฒนาทักษะตัวเองให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ย้ายไปยังประเทศที่ต้องการได้ แม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ย้ายตามใจหวัง ทำให้ท้ายสุดแล้วประเทศต้นทางมีแรงงานที่มีความรู้มากขึ้น โดยที่ประเทศไม่ต้องทำอะไร (ถ้าไม่นับว่ารัฐทำตัวแย่ ๆ อยู่ไปวัน ๆ อะนะ ซึ่งมันไม่ก็ไม่ใช่เรื่องเลย)
1
ทีนี้เรื่องจะเป็นแบบด้านบนได้ แปลว่าประเทศต้นทางก็ต้องเป็นจุดหมายสุดท้ายของแรงงาน อารมณ์ว่าไปหาทักษะต่างประเทศแปปนึงนะ เดี๋ยวจะกลับมาช่วยพัฒนาประเทศและจ่ายภาษีต่อ คำถามคือประเทศต้นทางดึงดูดให้แรงงานกลับมาหรือเปล่า
✦ สรุปหน่อย
ถ้าสมองไหลในระดับพอเหมาะ ในระยะยาวอาจจะส่งผลดีต่อประเทศ ถ้าแรงงานเลือกที่จะกลับมาพัฒนาประเทศเดิม
แต่ถ้าแรงงานไม่กลับ แล้วยังหาทางย้ายออกเรื่อย ๆ สมองไหล ประเทศขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ธุรกิจในประเทศไม่เติบโต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนแรงงานทักษะสูง การคลังของประเทศแย่ลง จากภาษีที่จัดเก็บไม่ได้ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
คิดยังไงกันบ้างครับ มองว่าอันนี้ก็เป็นแค่กระแส ๆ หนึ่ง เดี๋ยวก็ดับไป หรือมองว่าเป็นเสียงสะท้อนที่รัฐต้องเข้ามาจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง
แชร์กันได้ครับ อยากฟังความเห็นของทุกท่าน
Tell Me More !
เพราะความอยากรู้มีไม่จำกัด
บันทึกไว้อ่านเองซะส่วนใหญ่ แบ่งปันกันได้ตามโอกาส
ติดตามได้ที่
โฆษณา