5 พ.ค. 2021 เวลา 03:49 • สุขภาพ
10 ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโภชนาการ
1
เราอาจไม่รู้ตัว แต่ทุกวันเรากำลังตัดสินใจบริโภคโดยมีพื้นฐานมาจากความเชื่อเหล่านี้ บทความนี้จะเปิดเผยความเข้าใจผิดด้านโภชนาการอันดับต้นๆ ที่ผู้คนมีและความจริงที่อยู่เบื้องหลัง
2
การรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้ดี ส่งผลต่อการบริโภคที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ร่างกายที่แข็งแรง และชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น
****1. ปริมาณแคลอรี่สำคัญที่สุดในการลดน้ำหนัก****
ถึงแม้ว่าการเผาผลาญแคลอรี่ให้มากกว่าปริมาณแคลอรี่ที่ทานเข้าไปจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการลดน้ำหนัก แต่ปริมาณแคลอรี่นั้นไม่ใช่สิ่งเดียวที่สำคัญ การอาศัยปริมาณแคลอรี่เพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงตัวแปรอื่นๆอาจส่งผลให้หลายๆคนลดน้ำหนักไม่สำเร็จ แม้จะรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำมากก็ตาม ปัจจัยอื่นๆที่อาจส่งผลต่อการลดน้ำหนัก เช่น ความไม่สมดุลของฮอร์โมน สภาวะสุขภาพ ภาวะพร่องไทรอยด์ การปรับตัวของการเผาผลาญ การใช้ยาบางชนิด และพันธุกรรม เหล่านี้เป็นปัจจัยที่อาจทำให้น้ำหนักลดได้ยากขึ้นสำหรับบางคนแม้จะรับประทานอาหารอย่างเข้มงวด แนวคิดเรื่องแคลอรี่ไม่ได้เน้นถึงความสำคัญของความยั่งยืนและคุณภาพของอาหารในการลดน้ำหนัก ผู้ที่ลดน้ำหนักโดยวิธีนี้สนใจแค่ปริมาณแคลอรี่ไม่ใช่คุณค่าทางอาหาร สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การเลือกทานอาหารที่มีแคลอรีต่ำแต่ก็มีสารอาหารต่ำ เช่น เค้กข้าว และ ไข่ขาว มากกว่าจะเลือกทานอาหารที่มีแคลอรีสูงแต่อุดมไปด้วยสารอาหาร เช่น อะโวคาโด และไข่ทั้งฟอง ซึ่งในระยะยาวรูปแบบการทานอาหารเช่นนี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม
****2. แคลเซียมเสริมจำเป็นต่อสุขภาพกระดูก****
หลายคนทานแคลเซียมเสริมเพื่อให้ระบบกระดูกแข็งแรง อย่างไรก็ตามการวิจัยในปัจจุบันพบว่าการบริโภคแคลเซียมเสริมนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าส่งผลดี การศึกษาบางชิ้นได้เชื่อมโยงอาหารเสริมแคลเซียมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และการเป็นนิ่วในไต นอกจากนี้การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าการทานแคลเซียมเสริมไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักหรือโรคกระดูกพรุน อย่างไรก็ตามหากยังกังวลเกี่ยวกับปริมาณแคลเซียมที่ได้รับเราควรเน้นไปที่การบริโภคแคลเซียมจากแหล่งที่มาตามธรรมชาติ เช่น โยเกิร์ต ปลาทะเล ถั่ว นม และธัญพืช
2
****3. อาหารไขมันสูงไม่ดีต่อสุขภาพ****
ความเชื่อนี้ล้าสมัยและไม่ถูกต้อง หลายคนยังคงกลัวอาหารที่มีไขมันสูงและเลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำโดยหวังว่าการลดปริมาณไขมันจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวม ในความเป็นจริงไขมันในอาหารจำเป็นต่อสุขภาพที่ดี นอกจากนี้อาหารที่มีไขมันต่ำยังเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพรวมถึงกลุ่มอาการเมตาบอลิก และอาจนำไปสู่ความต้านทานต่ออินซูลินและระดับไตรกลีเซอไรด์ที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ อาหารที่มีไขมันสูงหลายชนิดมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากและสามารถช่วยให้ร่างกายมีน้ำหนักที่เหมาะสมและยังดีต่อสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้นอาหารที่มีไขมันสูงได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าอาหารที่มีไขมันต่ำเพื่อกระตุ้นการลดน้ำหนัก (ดูหัวข้อ Keto Diet)
****4. อาหารเช้าเป็นมื้อสำคัญที่สุดของวัน****
ในขณะที่หลายคนคิดว่าการรับประทานอาหารเช้าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับวันใหม่และการมีสุขภาพที่ดี แต่ผลวิจัยหลายฉบับกลับพบว่าความเชื่อนี้อาจไม่ถูกต้องเสมอไปและใช้ไม่ได้กับคนวัยทำงานจำนวนมาก งานวิจัยฉบับหนึ่งพบว่าการงดอาหารเช้าอาจส่งผลให้ปริมาณแคลอรี่ที่บริโภคในภาพรวมลดลง นอกจากนี้การอดอาหารแบบไม่ต่อเนื่อง (Intermittent Fasting) โดยงดอาหารเช้าหรือทานในช่วงหลังของวันมีความสัมพันธ์กับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ดีขึ้นและการลดปริมาณสารบ่งชี้การอักเสบในร่างกาย อย่างไรก็ตามการอดอาหารแบบไม่ต่อเนื่องนี้ยังสามารถทำได้โดยการทานอาหารเช้าเป็นประจำ จากนั้นรับประทานมื้อสุดท้ายในตอนเย็นให้เร็วขึ้นเพื่อรักษาช่วงเวลาการอดอาหารให้ได้ 14–16 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามการงดอาหารเช้าไม่เหมาะกับเด็กและวัยรุ่นที่กำลังเติบโต หรือผู้ที่มีความต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้นเช่น สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง ในความเป็นจริงแล้วอาหารเช้านั้นไม่มีอะไรพิเศษ อาหารแรกที่กินในระหว่างวันคืออาหารเช้าในทางเทคนิค หากไม่หิวในตอนเช้าเราสามารถข้ามมื้อนี้และเปลี่ยนไปรับประทานอาหารกลางวันได้ทันที
2
****5. สารให้ความหวานทดแทนมีประโยชน์ต่อสุขภาพ****
ความสนใจที่เพิ่มขึ้นในอาหารแคลอรี่ต่ำ คาร์โบไฮเดรตต่ำ และอาหารที่ปราศจากน้ำตาล ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (non-nutritive sweeteners - NNS) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แม้การทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอย่างมีนัยสำคัญ แต่การบริโภคสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการก็อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นลบต่อสุขภาพได้เช่นกัน การบริโภคสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ พบว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงลบของแบคทีเรียในลำไส้ และส่งเสริมให้น้ำตาลในเลือดผิดปกติ ยิ่งไปกว่านั้นการบริโภคเป็นประจำยังเชื่อมโยงกับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
****6. ต้องรับประทานอาหารมื้อเล็กๆ บ่อยๆ เพื่อสุขภาพที่ดี****
การรับประทานอาหารมื้อเล็กๆ บ่อยๆ เป็นประจำตลอดทั้งวันเป็นวิธีที่หลายคนใช้เพื่อเพิ่มการเผาผลาญและลดน้ำหนัก อย่างไรก็ตามหากเรามีสุขภาพแข็งแรงความถี่ในการรับประทานอาหารก็ไม่สำคัญตราบเท่าที่ร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอ ผู้ที่มีเงื่อนไขทางการแพทย์บางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคลำไส้แปรปรวน รวมถึงผู้ที่ตั้งครรภ์ อาจได้ประโยชน์จากการรับประทานอาหารที่บ่อยขึ้น แต่การรับประทานอาหารบ่อยๆ ตลอดทั้งวันไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่ารูปแบบการรับประทานอาหารในช่วงเวลาเดิมเป็นประจำนั้นดีที่สุดสำหรับสุขภาพ
****7. อาหารเสริมไม่มีประโยชน์****
แม้การมุ่งเน้นบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการมีสุขภาพที่ดี แต่อาหารเสริม เมื่อใช้อย่างถูกต้องและในรูปแบบที่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์ในหลายๆด้าน สำหรับหลายๆ คนโดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น มีภาวะเบาหวานประเภท 2 หรือผู้ที่ใช้ยากลุ่มสแตติน ยาคุมกำเนิด และยาต้านโรคเบาหวานเป็นประจำ การรับประทานอาหารเสริมอาจส่งผลต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น การทานอาหารเสริมแมกนีเซียมและวิตามินบีพบว่ามีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2 โดยช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน นอกจากนี้ผู้ที่ต้องจำกัดการรับประทานอาหาร ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป สตรีมีครรภ์และต้องให้นมบุตร เป็นตัวอย่างของกลุ่มคนที่อาจได้รับประโยชน์จากการรับประทานอาหารเสริม
****8. ทานอาหารแคลอรี่ต่ำเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดน้ำหนัก****
แม้ว่าการลดปริมาณแคลอรี่จะช่วยลดน้ำหนักได้ แต่การลดแคลอรี่ให้ต่ำเกินไปอาจนำไปสู่การปรับตัวของระบบเผาผลาญในร่างกายและมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว การรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำมากจะช่วยให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้น แต่การทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำมากในระยะยาวจะนำไปสู่การลดอัตราการเผาผลาญอาหาร เพิ่มความรู้สึกหิว และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนความอิ่ม ทำให้การรักษาน้ำหนักในระยะยาวนั้นทำได้ยาก นี่คือเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าผู้ทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักส่วนเกินในระยะยาว
****9. คาร์บทำให้เรามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น****
เช่นเดียวกับที่ไขมันถูกหาว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ คนจำนวนมากหลีกเลี่ยงการทานคาร์โบไฮเดรตเพราะกลัวว่าการบริโภคธาตุอาหารหลักนี้จะทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และผลเสียต่อสุขภาพอื่นๆ ในความเป็นจริงการทานคาร์โบไฮเดรตที่มีคุณค่าทางโภชนาการในปริมาณปานกลางซึ่งอุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุ เช่น การทานผักที่มีราก แป้งจากธัญพืช และพืชตระกูลถั่ว พบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รูปแบบการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของคาร์โบไฮเดรตที่มีเส้นใยสูง ประกอบกับอาหารที่มีไขมันดีและโปรตีน เช่น อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของโรคอ้วน โรคเบาหวาน มะเร็งบางชนิด และโรคหัวใจ อย่างไรก็ตามควรจำกัดอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น เค้ก คุกกี้ เครื่องดื่มรสหวาน และขนมปังขาว เนื่องจากอาหารเหล่านี้สามารถเพิ่มน้ำหนักตัวและความเสี่ยงต่อโรคได้เมื่อรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป
****10. ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากกลูเตนดีต่อสุขภาพมากกว่า****
สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้คือการที่สินค้าปราศจากกลูเตนไม่ได้หมายความว่ามันจะดีต่อสุขภาพ หลายบริษัททำการตลาดคุกกี้ เค้ก และอาหารแปรรูปที่ปราศจากกลูเตน ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าสินค้าที่มีส่วนผสมของกลูเตน ในความเป็นจริงการศึกษาพบว่า 65% ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าอาหารที่ปราศจากกลูเตนมีประโยชน์ต่อสุขภาพและ 27% เลือกที่จะกินอาหารเหล่านี้เพื่อส่งเสริมการลดน้ำหนัก แม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากกลูเตนจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีอาการแพ้แต่ก็ไม่ได้มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากไปกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีกลูเตน ในขณะที่การรับประทานอาหารที่ปราศจากกลูเตนนั้นปลอดภัยเราก็ควรระลึกเสมอว่าการรับประทานอาหารใดๆ ที่ต้องอาศัยการแปรรูปไม่น่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าการรับประทานอาหารนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ที่ไม่มีอาการแพ้หรือไม่ เนื่องจากงานวิจัยในด้านนี้กำลังพัฒนาจึงมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตเราจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกลูเตนและผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมได้ดีขึ้น
โฆษณา