5 พ.ค. 2021 เวลา 12:17 • ท่องเที่ยว
พระราชวังจันทรเกษม อยุธยา .. มิวเซียมที่กรุงเก่า
พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก (คลองคูขื่อหน้า) ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา … เป็นพระราชวังที่ปรากฏหลักฐานตามพระราชพงศาวดารสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2120 ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
วัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยามเสด็จจากเมืองพิษณุโลกเพื่อมาเฝ้าพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา ... พระราชวังแห่งนี้พระนเรศวรทรงใช้เป็นกองบัญชาการรับศึกหงสาวดีเมื่อปี พ.ศ. 2129
นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง 8 พระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์
ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 พระราชวังจันทรเกษมได้ถูกทิ้งร้างไป ..จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2404 ทรงโปรดฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชิดเชื้อพงศ์เป็นแม่กองในการดูแลก่อสร้างพระตำหนักและพลับพลาที่ประทับ จึงได้มีปรับปรุงบูรณะ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาที่พระองค์เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และโปรดพระราชทานนามว่า “พระราชวังจันทรเกษม” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2436
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน “พระราชวังจันทรเกษม” ให้เป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่า โดยใช้ “พระที่นั่งพิมานรัตยา” เป็นที่ทำการ เมื่อครั้งที่ “พระยาโบราณราชธานินทร์” ดำรงตำแหน่ง “สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า” ได้มีการจัดสร้างอาคารที่ทำการภาค ขึ้น แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจาก “พระที่นั่งพิมานรัตยา” มาตั้งที่อาคารที่ทำการภาค
พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้รวบรวมวัตถุสิ่งของสำคัญในบริเวณกรุงเก่าและบริเวณใกล้เคียงไว้เป็นจำนวนมาก มาเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังจันทรเกษม … จนในปี พ.ศ. 2445 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงแนะนำให้พระยาโบราณราชธานินทร์ จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่เรียกว่า โบราณพิพิธภัณฑ์ โดยใช้ตึกโรงม้าพระที่นั่งเป็นที่เก็บรวมรวม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุต่างๆ จากโรงม้าพระที่นั่งเข้ามาเก็บรักษาและตั้งแสดงที่บริเวณอาคารพลับพลาจตุรมุข และต่อเติมระเบียงตามแนวอาคารด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก เพื่อจัดตั้งวัตถุ ศิลาจารึก และประติมากรรมต่างๆ ใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์ว่า “อยุธยาพิพิธภัณฑ์”
ต่อมา ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2479 กรมศิลปากร ได้ประกาศให้อยุธยาพิพิธภัณฑ์เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในนาม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม”
สถาปัตยกรรม
สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และที่ทำการมณฑลเทศาภิบาล จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้ง
กำแพงพระราชวัง … ปัจจุบันก่อเป็นกำแพงอิฐ มีใบเสมา มีประตูด้านละ 1 ประตู รวม 4 ด้าน แต่เดิมนั้นคาดว่ามีกำแพง 2 ชั้น เช่นเดียวกับวังหลวง
พลับพลาจตุรมุข … ตั้งอยู่บริเวณกำแพงด้านหน้าชานของพลับพลา ในสมัย ร.4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารพลับพลาทรงจตุรมุขแฝด เพื่อใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกงานว่าราชการ และที่ประทับในเวลาเดียวกัน ต่อมาแต่เดิมทีบริเวณที่ตั้งพลับพลาจตุรมุขซากแนวอาคารก่ออิฐถือปูน
ตั้งอยู่ติดกับกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอาคารเครื่องไม้ บนชานพลับพลาก่ออิฐถือปูน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตัวพลับพลาขึ้นใหม่บนรากฐานเดิมซึ่งเหลือเพียงซาก่ออิฐถือปูนของชานพลับพลาใช้เป็นที่ประทับและเป็นท้องพระโรง สำหรับว่าราชการขณะเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา ลักษณะเป็นพลับพลาจตุรมุขแฝดมีมุขด้านหน้า 3 มุข ด้านหลัง 3 มุข หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา
หน้าบันของมุขทั้ง 6 ของเดิมปั้นปูนประดับเป็นลายพระราชลัญจกรต่าง ๆ ไม่ซ้ำกันคือ
ด้านหน้ามุขกลาง เป็นลายพระราชลัญจกรมหาโองการ
ด้านหน้ามุขเหนือ เป็นลายพระราชลัญจกรครุฑพ่าห์
ด้านหน้ามุขใต้ เป็นลายพระราชลัญจกรหงส์พิมาน
ด้านหลังมุขกลาง เป็นลายพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว
ด้านหลังมุขเหนือ เป็นลายพระราชลัญจกรไอยราพต
ด้านหลังมุขใต้ เป็นลายพระราชลัญจกรสังข์พิมาน
สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาชัยวิชิต (นาก ณ ป้อมเพชร) บูรณะครั้งหนึ่งและใช้เป็นศาลาว่าการเมืองกรุงเก่า เมื่อพุทธศักราช 2439 พุทธศักราช 2447 ใช้เป็นที่ตั้งอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน
ต่อมาพุทธศักราช 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาโบราณราชธานินทร์ซ่อมใหม่อีกครั้งหนึ่งในความอำนวยการของราชบัณฑิตยสภา ซ่อมครั้งนี้ได้รื้อตัวพลับพลาหมดทั้งหลัง เสา รอด ตง ขื่อ หล่อเฟโรคอนกรีตแทนของเดิม ทรงพลับพลาเดิมนั้นเตี้ยอยู่ให้ขยายสูงขึ้นไปอีกศอกหนึ่ง ฝาคงใช้ไม้ตามเดิม หน้าบันทั้ง 6 ลายปูนปั้นของเดิมชำรุด เปลี่ยนเป็นลายไม้แกะสลักแทนและยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้
กลางท้องพระโรงจึงทอดพระราชอาสน์ของรัชกาลที่ 4 ไว้ตรงกลางประดับด้วยนพปฎลมหาเศวตฉัตรเก้าชั้นบนเพดาน
ซึ่งจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ต่าง ๆ เรียกว่า อยุธยาพิพิธภัณฑสถาน เช่น กระโถนท้องพระโรง 1 คู่
กลองมโหระทึก 1 คู่
กรอบไม้ซึ่งเป็นกระจกเงาบานใหญ่แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาแบบศิลปะอิมพีเรียล
พระแท่น เตียงไม้ขนาดใหญ่ชุดเฟอร์นิเจอร์ไม้มะเกลือพนักลายหินแบบจีน ห้องด้านขวาจัดแสดงพระพุทธรูป เช่น พระพุทธรูปหินทรายปางนาคปรก ศิลปะขอม ส่วนห้องด้านขวาเป็นเครื่องใช้ห้องน้ำแบบฝรั่ง
พระที่นั่งพิมานรัตยา ... เป็นหมู่ตึกกลางพระราชวัง มี 4 หลัง คือ อาคารปรัศว์ซ้าย อาคารปรัศว์ขวา พระที่นั่งพิมานรัตยา และศาลาเชิญเครื่อง
ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปดัดแปลงให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยแบบไทย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นไม้ หลังคามุงกระเบื้อง ใต้ถุนสูง ก่ออิฐเป็นห้อง ๆ อาคารชุดนี้ประกอบด้วยอาคารใหญ่ 2 หลัง ขยายต่อกัน มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าและหลัง
ทางด้านหน้าของอาคารใหญ่เป็นลานโล่ง มีเรือนขวางขนาดเล็กขนาบ 2 ข้าง เรียกปรัศว์ซ้ายและปรัศว์ขวา (ปรัศว์ – ข้าง, สีข้าง) ในปีพุทธศักราช 2439 ได้ใช้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า
พระที่นั่งพิมานรัตยา จัดแสดงประติมากรรมที่สลักจากศิลา เป็นเทวรูปและพระพุทธรูปนาคปรก ศิลปสมัยลพบุรี
พระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยา พระพิมพ์
และเครื่องไม้แกะสลัก
ศาลาเชิญเครื่อง ...ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของกลุ่มพระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นลักษณะอาคารแบบโถงตะวันตกหลังคามุงกระเบื้อง
พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง)... ตั้งอยู่บริเวณกำแพงด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ เป็นอาคารหอสูง 4 ชั้น ที่สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาในสมัย ร. 4 ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งตามแนวรากฐานอาคารเดิม และใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดวงดาว
เป็นอาคารทรงหอ 4 ชั้น ขนาด 15.80 เมตร x 17.00 เมตร สูง 22 เมตร ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ สันนิษฐานว่าสร้างครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้พังลงตั้งแต่ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามรากฐานเดิมแล้วพระราชทานนามว่า หอพิสัยศัลลักษณ์ ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดวงดาว ต่อมาเมื่อพื้นที่ภายในพระราชวังจันทรเกษม ถูกใช้เป็นที่ทำการมณฑลกรุงเก่า จึงทำหน้าที่เป็นหอสังเกตุการณ์และติดเครื่องสัญญาณเตือนภัยของมณฑลกรุงเก่า
ตึกที่ทำการภาค (อาคารมหาดไทย)... เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างขนานไปกับแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ สร้างขึ้นในสมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า
อาคารมหาดไทย หรือ ตึกที่ทำการภาค เป็นอาคารรูปตัว L ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ตั้งอยู่ชิดกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ ขนาดกว้าง 10.00 เมตร ด้านทิศตะวันตกยาว 50.00 เมตร ด้านทิศใต้ยาว 65.00 เมตร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ใช้เป็นตึกที่ทำการภาคต่อมาจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475 หลังจากนั้นยังได้ใช้เป็นที่ทำการของอัยการจังหวัด สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานสหกรณ์จังหวัด และสำนักงานคลังเขต 1 จนกระทั่งพุทธศักราช 2536 จึงได้ส่งคืนให้เป็นที่ทำการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
ตึกโรงม้าพระที่นั่ง ... ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น
อาคารสโมสรเสือป่า ... ตั้งอยู่บริเวณกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันออก สร้างขึ้นในสมัย ร.6 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงปั้นหยาชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้อง ขนาด 11.20 เมตร x 20.00 เมตร ตั้งอยู่ด้านหลังพระที่นั่งพิมานรัตยา สร้างขึ้นในสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้สำหรับเป็นที่ชุมนุมกองเสือป่าของมณฑลกรุงเก่า ภายหลังเป็นที่ตั้ง “สำนักงานหอสมุดแห่งชาติ”
ระเบียงจัดตั้งศิลาจำหลัก ... ใช้สำหรับเป็นที่เก็บรักษาบรรดาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ แต่เดิมสร้างเป็นระเบียงหลังคามุงสังกะสี ยาวไปตามแนวกำแพงด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก
ระเบียงจัดตั้งศิลาจำหลัก แต่เดิมสร้างเป็นระเบียง หลังคามุงสังกะสียาวไปตามแนวกำแพงด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันออก ใช้สำหรับเป็นที่เก็บรักษาบรรดาโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์ได้รวบรวมได้
ในปีพุทธศักราช 2537 นับเป็นที่น่ายินดีว่า อาคารพระที่นั่งพลับพลาจตุรมุข หอพิสัยศัลลักษณ์ และอาคารสโมสรเสือป่า ได้รับพระราชทานรางวัลสถาปัตยกรรมไทยอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามโดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เป็นองค์พระราชทานรางวัล นับเป็นเกียรติยศ และความภาคภูมิใจของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา