6 พ.ค. 2021 เวลา 00:13 • หุ้น & เศรษฐกิจ
3 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ warrant
หลายคนที่ลงทุนในตลาดหุ้น และได้ warrant มา แล้วสงสัยว่า warrant คืออะไร เราต้องใช้สิทธิแลกหุ้นสามัญตามที่เขากำหนดไว้ไหม หรือ ถือไปได้เรื่อยๆ เลยรึเปล่า ต้องทำอย่างไร มาอ่านโพสนี้กัน
มาเริ่มกันที่ มารู้จักกันก่อนว่า warrant คืออะไร?? แล้วทำไมบริษัทต้องออก warrant??
Warrant คือ ใบแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญมักจะเรียก warrant ว่า “หุ้นลูก” ส่วนหุ้นสามัญ เรียก “หุ้นแม่” ถ้าได้มาสามารถใช้สิทธิ์แปลงเป็นหุ้นแม่ได้ แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อขอเปลี่ยนจาก warrant เป็นหุ้นแม่ ซึ่งราคาที่จ่ายเพิ่ม ก็คือ ราคาใช้สิทธิ
Warrant ถึงจะเรียกว่า “หุ้นลูก” แต่มันไม่ใช่หุ้นจริงๆ นะ มันเป็นแค่ใบแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ ถ้าปล่อยจนหมดอายุของที่บริษัทที่ออกกำหนดไว้ ค่าของมันจะเป็น 0
ลองไปดูตัวอย่างกัน จะได้เข้าใจมากขึ้น
บริษัทมานี ส้มตำ จำกัดมหาชน อยากได้ทุนมาขยายร้านส้มตำ เพื่อจะได้ขยายไปทั่ว AEC แต่ไม่อยากกู้เงิน บริษัทจึงออก เป็น warrant ซึ่งบริษัทจะกำหนดอายุและระยะเวลาการใช้สิทธิของ warrant ตามระยะเวลาที่บริษัทต้องการใช้เงิน และสามารถชะลอผลกระทบจาก Dilution Effect ได้ เพราะจะมีการให้ใช้สิทธิเปลี่ยนเป็นหุ้นแม่ หรือหุ้นสามัญได้เป็นช่วงๆ ตามเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งยังลด Debt to Equity Ratio (อัตราส่วน หนี้สิน/ ทุน) ได้ เพราะส่วนนี้เมื่อถูกใช้สิทธิจะเป็นเข้ามาอยู่ในส่วนทุนไม่เหมือนการกู้เงินที่จะเข้ามาอยู่ในหนี้สิน ทำให้ หนี้สิน/ ทุน เพิ่มสูงขึ้น
2. แล้วเราจะได้ Warrant มาได้ยังไง??
ปกติ warrant มักจะแจกฟรีให้ผู้ถือหุ้นเดิมเพื่อดึงดูดใจ ให้มาเพิ่มทุน เช่น ให้ warrant 4:1 คือ 4 หุ้นเดิมได้ warrant 1 ใบ ช่วยดึงดูดความน่าสนใจในการเพิ่มทุน ทำให้บริษัทมีโอกาสได้เงินเพิ่มทุนครบตามจำนวน หรือบริษัทสามารถออก warrant เสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด หรือเสนอขายให้กับบุคคลโดยทั่วไปได้
แล้วบริษัทมานีส้มตำจำกัด มาหชน แจก warrant ฟรีให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม บริษัทมานีจะได้เงินไปขยายร้านส้มตำได้ยังไง
ได้เงินสิ!! เพราะการเอา warrant ไปแลกเป็นหุ้นสามัญต้องจ่ายเงินให้บริษัท ลองไปดูตัวอย่างกัน
บริษัทมานีส้มตำ จำกัด มหาชน
หุ้นมานีกำหนดวันที่จะขึ้น XW วันที่ 31 ม.ค. 62
โดยอัตราส่วนที่จะได้ warrant คือ 4:1
อัตราส่วนการแปลงสภาพ คือ 1:1 ราคาใช้สิทธิ์ 40 บาท
เริ่มใช้สิทธิ์ได้ 31 มี.ค. 62 และแปลงได้ทุก 3 เดือน วันสุดท้าย 31 มี.ค.64
มาค่อยๆ ไล่ดูกันว่าแต่ละบรรทัดที่บริษัทมานีประกาศไว้คืออะไร
หุ้นมานี จะเป็นหุ้นสามัญ หรือที่เรียกว่าหุ้นแม่ ส่วน warrant คือหุ้นลูกของหุ้นมานี จะเขียนแบบมี w ต่อท้าย แบนี้ “มานี-W”
XW = excluding warrant คือไม่ได้สิทธิในการได้ warrant จะเป็นแบบนี้นะ
คนที่ถือหุ้นมานีจนถึงวันที่ 31 ม.ค. (หรือซื้อหุ้นมานีมาวันที่ 30 ม.ค. 62) ก็จะมีสิทธิได้รับ warrant ตามที่กำหนด
โดย “อัตราส่วนที่จะได้ warrant คือ 4:1” ตรงนี้หมายความว่า คนที่มีหุ้นเดิมของมานี 4 หุ้น จะมีสิทธิได้รับ มานี-w 1 หุ้น
“อัตราส่วนการแปลงสภาพ คือ 1:1 ราคาใช้สิทธิ์ 40 บาท” ถ้าจะเอา มานี-w 1 หุ้น มาเปลี่ยนเป็นหุ้นมานี จะเปลี่ยนได้ 1 หุ้น และต้องจ่ายให้เข้าบริษํทมานี 40 บาทต่อหุ้นนะ ถึงจะได้เป็นหุ้นมานีมา
“เริ่มใช้สิทธิ์ได้ 31 มี.ค. 62 และแปลงได้ทุก 3 เดือน วันสุดท้าย 31 มี.ค.64” จะเริ่มใช้สิทธิการแปลง มานี-w ไปเป็นหุ้นมานีได้ครั้งแรกวันที่ 31 มี.ค. 62 และเขาให้แปลงได้ทุก 3 เดือน (ไม่ได้เปิดโอกาสให้แปลงได้ทุกวัน เขาจะมีวันเวลากำหนดไว้ ให้ใช้สิทธิได้ช่วงไหนบ้างนะ) และอย่าลืมดูวันสุดท้ายที่จะสามารถแปลงสิทธิได้ เพราะถ้าเรายังถือจนถึงวันสุดท้านแล้วยังไม่แปลง มูลค่าของ warrant นั้น จะเท่ากับ 0 คือไม่มีค่าเลยนะ และ warrant ตัวนั้นๆก็จะหายไปจากตลาด
ถ้าเราไม่มีหุ้นมานีอยู่เดิม แต่อยากได้ มานี-w เราสามารถเข้าไปหาซื้อได้ในกระดานหุ้น เพราะมันจะซื้อขายเหมือนหุ้นทั่วไป แต่มันต่างจากหุ้นนะ มันมีวันหมดอายุ!!
3. ได้ Warrant มา แล้วจะทำยังไงต่อ??
ซึ่งจะมี 3 ทางเลือก
1. เอาไปแปลงสิทธิ์แลกหุ้นมานีมา
2. เอา มานี-w ไปขายในกระดานหุ้น
3. ปล่อย มานี-w หมดอายุไป
แล้วเราควรเลือกแบบไหน
มี 2 สิ่งที่ต้องดูก่อนที่จะเอา warrant ไปซื้อเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญ คือ ราคาหุ้นต้นทุนของเราเทียบกับราคาหุ้นในตลาดตอนนั้น และ มูลค่าของกิจการเหมาะสมกับราคาหรือเปล่า
ถ้ามานะมีหุ้นมานีเดิม 400 หุ้น มานะได้ มานี-w มา 100 หุ้น ได้มาฟรี เพราะอัตราส่วนที่จะได้ warrant คือ 4:1
ราคาหุ้นที่มานะต้องจ่ายเพื่อซื้อหุ้นมานีครั้งนี้ = เงินค่า warrant + เงินที่ใช้แลกหุ้นแม่
เงินค่า warrant ซึ่งมานะได้มาฟรี = 0 บาท ที่ต้องเขียนไว้เพราะบางคนไปซื้อ warrant มาจากกระดานหุ้น จะได้ไม่ลืม
ส่วนอัตราการแปลงสิทธิ์ คือ 1:1 (ตามที่บริษัทมานีกำหนดไว้) ดังนั้น 1 warrant แลกได้ 1 หุ้นแม่
ซึ่งราคาที่ต้องใช้เปลี่ยนเป็นหุ้นแม่คือ 40 บาท ดังนั้น ราคาหุ้นแม่ที่มานะซื้อครั้งนี้คือ 40 บาทต่อหุ้น
ถ้ามานะเอา warrant ไปแลกครั้งนี้ จะเท่ากับซื้อหุ้นแม่ที่ราคา 40 บาท
คราวนี้เราก็เอาราคา 40 บาท มาเทียบดูราคาหุ้นมานีในตลาดขณะนั้น และดูว่ามูลค่าของกิจการเหมาะสมกับราคานี้ไหม
ถ้าราคาหุ้นแม่ในตลาดถูกกว่าราคานี้ หรือมูลค่ากิจการไม่คู่ควรกับราคานี้ ก็ไม่น่าแลก เช่นถ้าราคาต้นทุนเราที่จะใช้แลกหุ้นแม่ คือ 40 บาท แต่หุ้นมานีในตลาดหุ้น ซื้อขายกันที่ 20 บ. แบบนี้ถ้าเราอยากได้หุ้นมานี เราควรจะไปซื้อหุ้นมานีจากตลาดหุ้นเลยจะดีกว่า เพราะจะเห็นว่า ซื้อจากตลาดถูกกว่าครึ่งหนึ่งเลย
ซึ่งถ้าไม่แลก แต่มี warrant อยู่ในมือก็สามารถเอาไปขายในกระดานหุ้นได้
ดังนั้น warrant คือ คือใบแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ ซึ่ง warrant อาจได้มาฟรี เนื่องจากบริษัทแจกให้ผู้ถือหุ้นเดิม หรือซื้อมาจากตลาดก็ได้ เมื่อเราได้มาแล้วก็อาจไปแลกเป็นหุ้นสามัญ หรือเอา warrant ไปขายต่อโดยไม่ใช้สิทธิแลกหุ้นสามัญก็ได้ แล้วแต่เรา ซึ่งถ้าจะเอา warrant ไปซื้อเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญ คือ ราคาหุ้นต้นทุนของเราเทียบกับราคาหุ้นในตลาดตอนนั้น และ มูลค่าของกิจการเหมาะสมกับราคาหรือเปล่าด้วยนะ
#warrant
#w
#วอแรนท์
#หุ้นลูก
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
โฆษณา