6 พ.ค. 2021 เวลา 00:26 • การศึกษา
ชยันโตโมเดล....
ขอพูดถึงอีกสักครั้ง ไหนๆก็เหลือเวลาทำงานอีก ๒ ปีเท่านั้น เผื่อจะเป็นประโยชน์กับใครต่อใครในวงการศึกษาบ้าง มากน้อยไม่เป็นไร
สพฐ.และเขตพื้นที่เคยพูดถึงนวัตกรรมในการบริหารของผอ.ร.ร. ตอนนี้เงียบหายไปแล้ว แต่ช่างมันเถอะ เพราะที่สำคัญกว่านั้นก็คือ..ผมมีและใช้นวัตกรรมการบริหารฯมาครบ ๑๐ ปีพอดี
เริ่มปีการศึกษา ๒๕๕๔ ภายใน ๕ ปีแรก ยังลุ่มๆดอนๆ มีรางวัลติดปลายนวมบ้างเล็กน้อย แต่ตัวเลขผลสัมฤทธิ์ไม่สู้ดี แต่พอมา ๕ ปีหลัง จนถึงปัจจุบัน..มันสุดยอดสุดติ่งกระดิ่งแมวจริงๆ
เหมือนพบไม้งามเมื่อยามขวานบิ่น ค้นพบข้อปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการจากโมเดลของตนเอง..เมื่อใกล้จะเกษียณเสียแล้ว แต่ก็ยังดีที่ยังได้บรรลุถึงสัจธรรมในการทำงาน
ชยันโตโมเดล..ชื่อนี้คุณจำไว้ ไปปรับใช้ได้เลยในโรงเรียนขนาดเล็ก คิดเพิ่มเติมใหม่ก็ได้ให้ตรงกับบริบทที่เป็นอยู่ รับรองได้เลยว่า..ใช้งบประมาณไม่มาก เพราะมีแต่เรื่องของ”หัวใจ”ล้วนๆ
รายละเอียดของนวัตกรรมผมทำเป็นคู่มือฯ ส่วนข้อปฏิบัติที่จำง่ายที่สุดก็คือ ธุรการ one stop service ผลสัมฤทธิ์เริ่มที่อนุบาล พัฒนางานประกันคุณภาพภายในแบบบูรณาการ ประสานเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชน พัฒนาตนและบุคลากร. ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง...โมเดลการทำงาน ผมทำแค่นี้เอง
ธุรการ one stop service..ปีที่คิดนั้นยังไม่มีครูธุรการ ทำแทนครูอยู่หลายเรื่อง เพื่อมิให้ขัดเคืองเวลาสอนของครู ตอนนี้ก็ยังช่วยประคับประคองอยู่ เพราะครูดูเหมือนจะหนักอึ้ง
ผมบอกครูธุรการผู้ใจดีมีเมตตา เธอช่วยไปสอนป.๑ ได้ไหม? ผอ.จะพิมพ์งานให้ ก็เท่านั้นเอง พอ ผอ.เป็นหลักให้ งานรับส่งรับทราบหนังสือข่าวสารก็ถึงครูอย่างรวดเร็ว ไม่เยิ่นเย้อ
งานservice ที่พิชิตใจผมเหลือเกิน ก็คือ ครูผู้สอนไม่ต้องเดินทางไปธนาคาร ไม่ต้องไปประปาไฟฟ้า ผอ.ไปเอง..ถือเช็คไปยังไงก็จบ..ครูการเงินลงทะเบียนและบัญชีก็มีครบ ถูกต้อง เป๊ะ
ผลสัมฤทธิ์เริ่มที่อนุบาล..เป็นงานที่ไม่ถนัดเพราะเรียนจบด้านประถมศึกษา จึงต้องศึกษาและนิเทศติดตามเป็นพิเศษ..มิใช่ครูผู้สอนเป็นเพียงครูจ้างสอน จึงต้องลงไปดูแลแก้ไขปัญหาให้
แต่ “หัวใจ”ของการศึกษา มันอยู่ที่ปฐมวัย ถ้าเด็กอนุบาลอ่านเขียนไม่ได้..ครูคนไหนจะอยากสอนป.๑..เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง ก็ไม่จำเป็นที่เด็กอนุบาล ๓ จะต้องกินนมแล้วก็นอนเท่านั้น
ผมโชคดี..ได้ครูวิทยาศาสตร์มาสอนชั้นอนุบาล..วันๆมีแต่กิจกรรมสังเกตและทดลอง จนผู้ปกครองชอบใจ..ส่งลูกมาเรียนเกินร้อยคนแล้ว..
ประสานเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชน..ไม่เคยคิดว่า “ข้ามาคนเดียว”ผมมีอยู่ในใจหลายกลุ่ม เป็นที่ปรึกษาเรียกใช้ไหว้วานได้ เพราะเขามีวิสัยทัศน์ที่ดีมีจิตอาสาต่อโรงเรียน นำมาร่วมเป็นคณะกรรมการฯ งานราบรื่นไม่มีสะดุด ใครก็หยุดโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้...
พัฒนางานประกันคุณภาพภายในแบบบูรณาการ..ทำอะไรก็ไม่ต้องมากเรื่องมากความไม่ต้องมากโครงการฯ เพราะคนเราน้อย โฟกัสไปที่งานวิชาการ เน้นการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นภาษาไทยเป็นแกนหลัก ทำให้ “การอ่าน”เป็นหัวใจของการเรียนรู้..ในทุกเรื่องราวใน ร.ร.
โดยที่ ผอ.ก็ต้องช่วยสอนหนังสือด้วย มิใช่แค่เดินไปเดินมา อ่านหนังสือพิมพ์และดูทีวีไปวันๆเท่านั้น..เขตพื้นที่ฯลงมาเยี่ยมเยือน ครูก็ไม่ต้องมาเสียเวลาจัดนิทรรศการหลอกเขต ไม่ต้องมาชงกาแฟ ผอ.ทำเองได้ เขตฯเขามาติดตามการเรียนการสอน มิใช่มาให้เงินโรงเรียนแต่อย่างใด...
พัฒนาตนและบุคลากร. ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..เป็นข้อสุดท้าย แต่สำคัญที่สุด ทำอย่างไร?”ศาสตร์พระราชา..จะมั่นคงและยั่งยืน อยู่ในสิ่งแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้..ผมทำแล้ว ทำให้เห็นและเป็นอยู่ และจะพัฒนาต่อไป....
เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ได้ใจตนเอง ให้มีความมุ่งมั่นขยันและอดทน ได้ใจผู้ปกครองที่เห็นการเปลี่ยนทั้งระบบ ๑๐ ปีกับชยันโตโมเดล..คุ้มค่ากับเวลาทุกนาที และเหงื่อทุกหยดที่ไหลรินอยู่เสมอ
จึงอยากบอกว่า..มันไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ อย่าได้เพ้อฝันถ้าไม่ได้ลงมือทำ..ผมไม่เคยคิดว่าผลสัมฤทธิ์จะติดท๊อปเท็น..วันนี้ได้เห็นแล้ว ดังนั้นจงอย่าเสียเวลากับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง อย่าไปห่วงค่าเฉลี่ยระดับประเทศ..แต่ห่วงว่า ครูกับนักเรียนเขาจะอยู่กันอย่างไร?...สอนกันอย่างไร? เพราะเราเป็น...ผู้อำนวยการ...นั่นเอง
ชยันต์
๖ พค.๖๔
โฆษณา