6 พ.ค. 2021 เวลา 03:04 • การเมือง
มากพอๆกับที่ผมเศร้าใจกับ “ผลลัพท์” ของศาลรัฐธรรมนูญในกรณี “แป้งออสซี่” แต่โดย “หลักการ” ผมก็เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลฯ
แม้ผลลัพท์อาจจะไม่ได้อย่างใจผมโดยสิ้นเชิง ผมคิดว่าเราควรยึดหลักการเอาไว้ให้แน่นหนา เพราะหลักการที่แน่นหนาจะเป็นการรับประกันว่า เราจะเป็นผดุงความเป็นธรรมอย่างคงเส้นคงว่า
ไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะต้องบิด “หลักการ” ทุกครั้งที่เราอยากได้ “ผลลัพท์” ที่ปรารถนา
เทียบเคียงง่ายๆนะครับ มาตราฐานวิชาชีพของประเทศไหน เขาก็มีองค์กรหน่วยงานกำกับตรวจสอบ เช่น วิศวกร (ใบกว.) แพทย์ (ใบประกอบโรคศิลป์) พยาบาล เภสัชกรรม (อย.) อัยการ ศาล (เนฯ) ฯลฯ
เราจะไปทำงานประเทศนั้น ไปทำมาค้าขายประเทศนั้น เราก็ต้องเคารพกฏกติกาของเขา (และกลับกัน ก็เช่นกัน ถ้าเขามาบ้านเรา)
มาตราฐานประเทศหนึ่งอาจจะสามารถนำมาใช้ในอีกประเทศหนึ่งก็ย่อมได้ ถ้ามีการตกลงกันเอาไว้ล่วงหน้า
วันหนึ่งลูกผมขอไปค้างคืนบ้านเพื่อน
พอขากลับ พ่อเพื่อนพาลูกผมมาส่งที่บ้าน บอกว่า “เมื่อคืนลูกผมนอนดึกโดยไม่มีสาเหตุอันควรนะ” เขา(พ่อเพื่อนลูก)สืบสวนสอบสวน(ลูกผมและพยานอื่นๆ)เรียบร้อยแล้ว ลูกผมโดนตัดสินเป็นอันสิ้นสุดว่าอย่างนั้น
แล้วก็โบกมือบ๊ายบาย แยกย้ายกลับบ้านกันไป
บังเอิญที่บ้านผมมีกฏว่า ถ้านอนดึกโดยไม่มีสาเหตุอันควรสุดสัปดาห์นี้ จะไม่ได้ไปสวนสนุก
ถามว่า “ลูกผมควรจะได้ไปสวนสนุกไหม”
ผมไม่มีอำนาจไปก้าวล่วง กฏกติกา และ ขบวนการสืบสวนสอบสวน ของบ้านเพื่อนลูก (และดุลยพินิจของพ่อเพื่อนลูก) และ แน่นอนว่า ผมก็ไม่ยอมให้พ่อเพื่อนลูกมา ก้าวล่วง กฏกติกา และ ขบวนการสืบสวนสอบสวน ของบ้านผม (ถ้าเหตุเกิดที่บ้านผม)
นอนดึก … แค่ไหนเรียกว่าดึก บ้านผมอาจจะ 5 ทุ่ม ถือว่าดึก บ้านเพื่อนลูกอาจจะแค่ 4 ทุ่ม ก็ถือว่าดึกแล้ว เป็นต้น
เหตุอันควร(ที่นอนดึกได้) … แน่นอนว่า 2 บ้าน เหตุอันควรล้านแปดก็ไม่น่าจะเหมือนกันเดี๊ยะ
กฏเกณฑ์การสืบสวนสอบสวน … ที่บ้านเพื่อน ลูกผมมีสิทธิ์แย้งคำตัดสินไหม ถ้ามี มีสิทธิ์แย้งได้กี่ครั้ง การให้น้ำหนักพยานแต่ล่ะแบบเป็นอย่างไร (วัตถุพยาน ประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม บลาๆ) แน่นอนว่ากฏเกณฑ์การสืบสวนสอบสวนไม่น่าเหมือนบ้านผมเดี๊ยะ
ผมควรเอาคำตัดสินของพ่อเพื่อนลูก (ที่ผมไม่รู้รายละเอียดเลย) มาตัดสินว่า “ลูกผมจะได้ไปสวนสนุก” หรือไม่
บ้านอื่นผมไม่ทราบ แต่หลักการง่ายๆสำหรับบ้านผมคือ ถ้าผมจะให้รางวัล หรือ ทำโทษลูกผม จะต้องเป็นผลลัพธ์จากกฏกติกาของบ้านผม ไม่ใช่ผลลัพธ์จากกฏกติกาของบ้านเพื่อนลูก
ในกรณีสุดโต่ง ความผิดร้ายแรงของบ้านหลังหนึ่ง ไม่ถือว่าเป็นความผิดของบ้านอีกหลังเลย เช่น ทานผลไม้ หรือ เนื้อสัตว์ ต้องห้าม เป็นต้น แน่นอนว่าผมไม่ทำโทษหรือให้รางวัลลูกผม บนพื้นฐานคำตัดสิน(ที่เป็นที่สิ้นสุด)กรณีเหล่านี้ที่เกิดขึ้นจากคืนที่ลูกผมไปค้างบ้านเพื่อนคนนี้
ยกเว้นแต่ว่าผมกับพ่อเพื่อนลูกได้กางรายละเอียดกฏกติกาต่างๆเอามาเทียบเคียงกันแล้วว่า เออ กฏนั้นกฏนี้ใช้ด้วยกันได้นะ และ เราจะยอมรับผลลัพท์การตัดสินสินของกันและกัน
นั่นแปลว่า ผมต้องเคารพคำตัดสินของพ่อเพื่อนลูกที่มีต่อลูกผมในเรื่องที่เกิดที่บ้านเพื่อนลูก และ กลับกัน พ่อเพื่อนลูกก็ต้องเขาเคารพคำตัดสินผมที่มีต่อลูกเขาในเหตุการณ์ที่เกิดที่บ้านผม (knock for knock)
อีกนัยหนึ่ง ... ถ้าผมยอมรับเอาผลคำตัดสินจากกติกาของบ้านเพื่อนลูก เอามาให้คุณให้โทษลูกผม(ในบ้านผม) ก็เท่ากับว่า ผมยอมให้บ้านเพื่อนลูกผมเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของบ้านผมผ่านทางกระบวนการยุติธรรม
แน่นอนว่าเมื่อยึดหลักการนี้ไว้ ก็อาจจะเกิดช่องโหว่แบบ “แป้งออสซี่” กับลูกผมได้ แต่ถ้าผมไม่ยึดหลักการอะไรไว้เลย ผมก็คงไม่เป็นที่เชื่อถือของคนอื่นๆในบ้านผม คือ เมื่อผมอยากให้ผลลัพท์เป็นอย่างไร ผมก็สามารถบันดาลได้โดยไม่ต้องอิงหลักการอะไรทั้งนั้น
ดังนั้นถ้าเป็นผม ครั้งนี้ผมคงต้องกล้ำกลืนให้ลูกผมไปสวนสนุกแม้ผมจะไม่เห็นด้วย 555 แต่ผมจะใช้คราวเคราะห์นี้เป็นบทเรียน แก้หลักการเสียใหม่
เรียกพ่อเพื่อนลูกทุกคน(ที่มักไปค้าง)มาพูดคุยกัน อาจจะไม่ใช่ทุกประเด็นยิบย่อย เอาแค่ประเด็นใหญ่ๆเวลาลูกๆไปค้างบ้านเพื่อนก็ได้ เช่น นอนดึก(เพราะมัวแต่เล่นกันเพลิน) ทำข้าวของมีค่าเสียหาย หรือ ทำร้ายร่างกายกัน เป็นต้น
พ่อๆแม่ๆก็หาข้อกติการ่วมกันในการตัดสิน กำหนดระดับทำโทษ และ ให้ผลการตัดสิน และ ระดับการลงโทษมีผลผูกพัน กับทุกบ้านที่ตกลงกัน เป็นต้น
โฆษณา